รีวิวหนังสือ คิดแค่ 1 แต่ได้ผล 100
.
.
หนังสือคิดแค่ 1 แต่ได้ผล 100 เขียนโดยโมะริกะวะ อะริกะ อดีต CEO คนก่อนของ LINE ผู้ปลุกปั้น LINE จนดังและมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในประเทศ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย
.
สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดของหนังสือก็คงหนีไม่พ้นชื่อเสียงของคนเขียน เพราะอย่างที่ทราบๆกันว่า แอพพลิเคชัน LINE ได้หลายเป็น แอพพลิเคชันหลักของคนไทยไปแล้ว คนไทยส่งข้อความหากัน แชร์รูป นัดรวมกลุ่มกันก็ผ่านแอพพลิเคชันดังกล่าวนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจมากว่า คนที่เป็นเหมือนแม่ทัพในการช่วยบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชันสุดโด่งดังนี้ เขามีแนวคิดยังไงบ้าง
.
และนี่ก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ อดีตคนดังระดับ CEO ของบริษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่นลงมือเขียนหนังสือด้วยตัวเอง เพื่อกลั่นกรอง ประสบการณ์และแนวคิดในการบริหารบริษัทผู้สร้าง LINE จนประสบความสำเร็จ ในเวลากว่า 12 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งประธานผู้บริหารนี้ ก็ได้มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายเกิดขึ้นกับบริษัท การได้อ่านหนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนการได้อ่านความคิดที่ตกผลึกแล้วอีกขั้นหนึ่งของท่านประธานผู้มากความสำเร็จคนนี้
.
จริงๆแล้ว แอพพลิเคชัน LINE ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทฮันเกมเจแปน บริษัทผู้ผลิตเกมที่ข้ามชาติมาจากเกาหลี แต่ด้วยการนำทัพของโมะริกะวะ อะกิระ บริษัทจึงได้พัฒนาแอพพลิเคชันสื่อสารและส่งข้อความบนมือถือ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศอย่าง LINE เนื่องด้วยประธานโมะริกะวะเห็นว่า ปรัชญาหลักในการบริหารบริษัทคือการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนอองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเนื้อหาทั้งเล่มจะสะท้อนแนวคิดดังกล่าวอยู่เรื่อยๆ
.
ยอมรับว่าหลังอ่านจบ อีกสิ่งที่ท่านประธานเน้นย้ำไปมาอยู่ในหลายบทคือ เรื่อง ‘การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของคนเก่ง’ เข้าใจว่าด้วยความที่เป็นบริษัทญี่ปุ่น ระเบียบการทำงาน โครงสร้างองค์กร รวมถึงระเบียบความคิดของคนยุคก่อนๆจึงอาจมีหลงเหลืออยู่มาก การจะปลุกปั้นบริษัทเทคโนโลยีให้เกิดไอเดียใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ประธานโมะริกะวะ จึงนับเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ช่วยให้คนเก่งได้แสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารความคิดสร้างสรรค์
.
เรื่องอื่นๆ ในหนังสือก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่คอยซัพพอร์ตเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการลดการประชุมที่ไม่จำเป็น การไม่ต้องมีคู่มือวางแผนการทำงาน การไม่ต้องมีการแบ่งปันข้อมูลทุกๆอย่างให่คนทุกคนรู้
.
โดยรวมๆแล้ว บางข้อก้อาจอ่านแล้วรู้สึกขัดๆไปบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง เพราะดูเหมือน ประธานโมะริกะวะจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ จนไม่ได้มีการพูดถึงมิติอื่นๆในการบริหารบริษัทโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำการตลาด (ซึ่งส่วนตัวเป็นรื่องที่ผมสงสัยมาก) แต่ผมก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีความกระตือรือร้นในการเสาะหาไอเดีย และการพัฒนาบุคลกรให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้อยู่เสมอๆ
.
หนังสือแบ่งออกเป็นข้อย่อยๆ หลายๆข้อ อ่านง่าย จบในตัว เป็นเหมือนข้อคิดสั้นๆของท่านประธาน คล้ายๆหนังสือแปลเล่มอื่นๆจากญี่ปุ่น ความยาวไม่มาก อ่านแปปเดียวก็จบ
.
สิ่งหนึ่งที่ผมติดนิดๆคือชื่อหนังสือ ที่ไม่ได้สะท้อนถึงเนื้อหาเท่าไหร่นัก แต่ถ้าใครอยากรู้ความคิดของคนปลุกปั้น LINE จนประสบความสำเร็จ ยังไงเล่มนี้ก็ห้ามพลาดครับ
.
และอีกเช่นเคยครับ ผมขอเลือกนำ 5 ข้อที่ผมชอบมากที่สุดหลังอ่านหนังสือ คิดแค่ 1 แต่ได้ผล 100 มาฝากกันครับ
.
1) สิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารบริษัท คือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
..
.
ตั้งแต่บทนำ ผู้เขียนก็ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่สร้างคุณค่าให้ลูกค้า นับว่าเป็นปรัชญาการบริหารของบริษัท LINE อย่างแท้จริง
.
เพราะผู้เขียนเชื่อว่าถ้าบริษัทตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภคได้อยู่เรื่อยๆ สิ่งอื่นๆก็จะตามมาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกำไร เรื่องภาพลักษณ์ของบริษัท เรื่องความพึงพอใจของพนักงานที่ได้สร้างคุณค่าใหม่ๆให้เกิดกับตัวลูกค้า รวมถึงความยั่งยืนขององค์กร
.
เรียกได้ว่า เทคนิคการบริหารของผู้เขียนสะท้อนแนวคิดเรื่องนี้อย่างชัดเจนมาก เพราะมันเป็น ‘แก่นแท้’ ของการบริหาร
.
ไม่แข่งขัน ไม่ต้องมีการวางแผน ไม่ต้องประชุมมากมาย ไม่ต้องจูงใจพนักงาน ไม่ต้องมีวิสัยทัศน์ ทิ้งความสำเร็จเดิมๆซะ ล้วนแต่มาเติมเต็มแก่นแท้ของแนวคิดดังกล่าว
.
.
2) รักษาสภาพการแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการทำงานของพนักงาน
.
อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้นว่าสิ่งที่อาจเรียกว่าสำคัญที่สุดที่ประธานโมะริกะวะพยายามเน้นย้ำ เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆออกส่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุกนต่อการทำงานของพนักงาน
.
การรักษาไฟในตัวของพนักงานก็เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนเป็นผลลัพธ์ของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนดังกล่าว ประธานโมะริกะวะจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของพนักงานเด็ดขาด เขาเพียงแต่จัดเตรียมสิ่งที่จำเป็น และกำจัดอุปสรรคต่างๆที่ขัดขวางการสร้างสรรค์งานของพนักงานเท่านั้น
.
สิ่งที่ผู้เขียนเปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพมากๆ คือการเปรียบเทียบกับการแข่งขันฟุตบอล เขาเปรียบว่าโค้ชที่นั่งเฝ้าอยู่ข้างสนามคงจะไม่ไปออกคำสั่งให้ผู้เล่นแต่ละคน ‘เตะด้วยเท้าขวา’ ‘ส่งบอล’ หรือ ‘ยิงประตู’ แต่จะปล่อยให้ผู้เล่นได้เล่นตามสัญชาตญาณของตัวเอง เขามีหยน้าที่เพียงช่วยซัพพอร์ตให้ผู้เล่นได้เล่นตามแบบของตัวเองอย่างเต็มที่เท่านั้น
.
.
3) ทิ้งความสำเร็จที่ตัวเองสร้างไว้ไปเรื่อยๆ
.
หลักคิดในการบริหารที่น่าสนใจของท่านประธานโมะริกะวะคือ การที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ยึดติดกับผลงานควาสำเร็จในอดีต
.
อาจกล่าวได้ว่า หลายๆครั้ง ถ้าเราทำอะไรสำเร็จขึ้นมา เราก็คงจะรู้สึกภาคภูมิใจและอยากจะผูกพันกับความสำเร็จเหล่านั้นต่อไป แต่ในโลกอินเตอร์เน็ตที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความต้องการของผู้บริโภคมีไม่สิ้นสุด การยึดติดแต่กับความสำเร็จครั้งก่อนๆ คงไม่อาจช่วยให้บริษัทอยู่รอดในระยะยาวได้
.
เรื่องนี้ผมเห็นด้วยมากครับ เพราะว่าเราคงเห็นกันมาบ่อยครั้งแล้ว สำหรับการเกิด disruption ในหลายอุตสาหกรรม จนหลายๆบริษัทต้องปิดตัวลงไป โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
.
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่ผู้เขียนเล่าคือ การให้ฝ่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมปล่อยมือจากนวัตกรรมที่สร้างเสร็จแล้วไป หลังจากที่นวัตกรรมดังกล่าวได้รับความนิยมแล้ว และให้ฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาเข้ามารับช่วงต่อ แม้ฝ่ายสร้างสรรค์ยังอาจรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่สร้างมาอยู่ แต่ท่านประธานก็อยากให้ฝ่ายดังกล่าววางมือ และตั้งใจกลับไปพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆออกมาอีก
.
.
4) กำจัดทุกอย่างที่ไม่จำเป็นทิ้งไป
.
เริ่มตั้งแต่ฝ่ายวางแผน คู่มือการทำงาน การประชุมยิบย่อยที่ไม่จำเป็น การแบ่งปันข้อมูล และกฎระเบียบต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ท่านประธานโมะริกะวะมองว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็น และคอยฉุดรั้งให้พนักงานทำงานได้ประสิทธิภาพน้อยลง
.
ท่านประธานอยากให้ทุกคนจดจ่ออยู่กับงานของตัวเอง และไม่ต้องไปสนใจสิ่งอื่นๆที่ดูเกินความจำเป็น และอยู่นอกเหนือ scope งานของตัวเอง โดยให้ทุกคนตั้งเป้าเหมือนกันว่า จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาเพื่อตอบสนองต่อควมต้องการของลูกค้าให้เร็วที่สุด
.
.
5) เพิ่ม ‘คุณภาพ x ความเร็ว’ ให้ได้มากที่สุด
.
.
กฎเหล็กของทุกบริษัทที่อยู่ในอุตสากรรมอินตอร์เน็ตและเทคโนโลยี คือความรวดเร็วในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และคุณภาพที่ตรงใจลูกค้า
.
การเน้นสร้างสินค้าที่ได้คุณภาพมากเกินไปจึงอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น การเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
.
เช่นแอพพลิเคชันLINE ผู้เขียนเล่าว่าหลังจากทราบมาว่า pain point จริงของผู้ใช้งาน คือต้องการส่งข้อความหาคนอื่นด้วยความรวดเร็ว คีย์เวิร์ดจึงอยู่ที่ ‘ความรวดเร็ว’ ‘ความสะดวก’ ‘ใช้งานง่าย’ ‘ไม่ซับซ้อน’ ผู้เขียนจึงตัดฟังก์ชันอื่นๆที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด
.
.
.
………………………………………………………………………….
✍🏻ผู้เขียน: โมะริกะวะ อะริกะ
✍🏻ผู้แปล: โยซุเกะ, บรรเจิด ชวลิตเรืองฤทธิ์
🏠สำนักพิมพ์: Welearn
📚แนวหนังสือ: บริหารธุรกิจ, พัฒนาตัวเอง
…………………………………………………………………………..
.
.
สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #reviewหนังสือ #คิดแค่1แต่ได้ผล100 #โมะริกะวะอะริกะ #โยซุเกะ #บรรเจิดชวลิตเรืองฤทธิ์ #สำนักพิมพ์Welearn #Welearn #หนังสือบริหารธุรกิจ #หนังสือพัฒนาตัวเอง
Comments