top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว The Why Cafe





รีวิวหนังสือ The Why Cafe

คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง

.

.

“คำถาม 3 ข้อ และเต่าตนุเจ้าปัญญา”

.

“เหตุใดคุณจึงมาที่นี่”

“คุณกลัวตายไหม”

“คุณพึงพอใจกับชีวิตหรือยัง”

.

.

(1)

The why are here café หรือเรียกสั้นๆว่า the why café เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มเล็กๆ เล่าเรื่องราวของ จอห์น ชายหนุ่มผู้หลงทาง ขับรถเข้ามายังคาเฟ่แห่งหนึ่งที่ไม่รู้จัก ในที่อันไกลโพ้น และชีวิตของเขาก็ได้เปลี่ยนไปหลังจากการเจอคาเฟ่ในวันนั้น

.

.

(2)

เล่าเรื่องย่อๆกึ่งสปอย (แต่หนังสือแนวพัฒนาตัวเองก็ไม่ได้มีอะไรหักมุมอยู่แล้ว) ก็คือ จอห์นเป็นผู้ที่กำลังทำงานหนัก และต้องการวันหยุดพักผ่อน เพื่อรีชาร์จตัวเองจากชีวิตที่เหนื่อยล้า

.

ในวันลายาวๆของขา เขาจึงขับรถไปตามแผนที่วางไว้ แต่แล้วก็เกิดอุบัติเหตุบนถนนในที่เขากำลังมุ่งหน้าไป ทำให้จอห์น ต้องหักรถกลับ และขับไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดหมาย

.

น้ำมันที่ใกล้หมด และใจที่ล่องลอยของจอห์น เลยทำให้เขาหักเลี้ยวรถ เข้ามายังซอยลับแลแห่งหนึ่ง เพราะว่าเขาทั้งเหนื่อย ทั้งมึนงง และหิวมาก คาเฟ่ที่ปรากฎตัวออกมาจึงดึงดูดความสนใจเขา และบังคับให้เขาเลี้ยวรถเข้าไปจอดหน้าคาเฟ่ในทันที

.

(3)

การมาที่ the why café ไม่เพียงแต่ช่วยให้จอห์นอิ่มท้อง แต่ยังชวนให้จอห์นกลับมาขบคิดชีวิตตัวเอง เมื่อจอห์นหยิบเมนูขึ้นมาดูก็เจอกับคำถามสามข้อด้านหลังเมนู

.

“เหตุใดคุณจึงมาที่นี่”

“คุณกลัวตายไหม”

“คุณพึงพอใจกับชีวิตหรือยัง”

.

พอจอห์นจ้องมองคำถามแรก ข้อความหลังเมนูก็เปลี่ยนเป็น “เหตุใดฉันจึงมาที่นี่” เหมือนเป็นการบังคับให้จอห์นถามตัวเอง

.

จอห์นจึงเริ่มหาตัวช่วยในการตอบคำถามนี้จากเคซีย์ และไมค์ พนักงานเสิร์ฟสาวสวย และพ่อครัวทำอาหารเจ้าของร้าน

.

.

(4)

บทสนทนากับเคซีย์ และไมค์ ช่วยคลายปม ความสงสัยของจอห์นว่า แท้จริงแล้ว คำถาม ทั้ง 3 ข้อเกี่ยวข้องยังไงกับชีวิตจอห์น และช่วยเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิตของจอห์นไปยังไงบ้าง

.

.

โดยสรุปจึงอาจกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้พยายามหาวิธีในการตอบคำถาม 3 ข้อนี้

.

หรือถ้าจะให้ชัดกว่าเดิมก็คือ การพยายามหาวิธีตอบคำถามในข้อแรก “เหตุใดคุณจึงมาที่นี่” “why are you here?” นั่นเอง

.

ส่วนคำถามอีก 2 ข้อที่เหลือทำหน้าที่ซัพพอร์ตคำถามข้อแรกเท่านั้น

.

.

(5)

หลังอ่านหนังสือ ผมมีความเห็นว่าจริงๆแล้ว ประเด็นในหนังสือมีน้อยมาก และตัวอย่างก็มีที่เป็นรูปธรรมจริงๆเพียง 2-3 ตัวอย่างเท่านั้น

.

นอกนั้นหนังสือเพียงเล่าให้เห็นถึงความสำคัญของการตอบคำถามข้อแรก ซึ่งจะโยงไปกับ การตามหา “เป้าหมายของการมีชีวิต” หรือ ปชม.

.

ฉะนั้นหนังสือจึงเป็นเครื่องย้ำให้เราลองถามคำถามนี้กับตัวเองดูเวลาไปยังสถานที่ต่างๆ “เหตุใดฉันจึงมาที่นี่” หรือถ้าอธิบายให้ง่ายขึ้นก็คือ “นี่เรากำลังทำอะไรอยู่?” “สิ่งที่ทำอยู่มันตอบเป้าหมายการมีชีวิตของเรารึเปล่า”

.

.

(6)

จอห์นเป็นคนหนึ่งในหลายๆคนที่ไม่เคยถามคำถาม “เหตุใดฉันจึงมาที่นี่” กับตัวเอง และใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยการทำงานหนัก เพียงเพื่อให้ตังเองหาเงินได้มากขึ้น และเอาไปซื้อของในราคาที่มากขึ้น เพื่อตั้งหน้าตั้งตาหาเวลาที่จะได้ใช้สิ่งของเหล่านั้นเมื่อมีเวลา

.

แต่ก็เป็นไปตามที่คาด จอห์นไม่เคยเจอเวลาที่ต้องการดังกล่าว เมื่อเขาซื้อของที่แพงขึ้น เขาก็ต้องหาเงินให้มากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงการทำงานให้หนักขึ้น และวงจรนี้ก็เริ่มหมุนวนไปรอบแล้วรอบเล่า

.

สุดท้ายจอห์นก็ตั้งหน้าตั้งตารอวันที่ตัวเองเกษียณจากงาน เพื่อจะได้ใช้ชีวิตรูปแบบที่ตัวเองต้องการสักที

.

กรณีของจอห์นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ถ้าเราไม่เคยถามคำถาม “เหตุใดฉันจึงมาที่นี่” กับตัวเอง และไม่เคยค้นหา ปชม. ของตัวเอง

.

.

(7)

ผลกระทบของการไม่เคยค้นหา ปชม. ของตัวเอง จะยังส่งผลกระทบไปยังคำถาม ข้อที่ 2 และ 3 บนเมนูร้านคาเฟ่อีกด้วย

.

เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่รู้ว่าเราเดินทางไปยังที่ต่างๆทำไม เราก็คงยังไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ และนั่นก็ทำให้เรากลัวตาย และไม่พึงพอใจกับชีวิต

.

คนที่ไม่กลัวตาย คือคนที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการครบแล้ว และมีความพึงพอใจกับชีวิตตัวเอง ความตายจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนเหล่านี้

.

แต่คนส่วนใหญ่กลัวตาย เพราะรู้สึกว่ายังไม่ได้ใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ อาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการอะไร และตั้งหน้าตั้งตาทำงานไปเรื่อยๆ รอวันเกษียณอายุ เพื่อหวังที่จะได้เริ่มชีวิตที่ตัวเองต้องการใหม่ในวันนั้น

.

.

(8)

แต่แน่นอนว่าถ้าเราไม่รู้ ปชม. ของตัวเอง วันนั้นก็จะไม่เคยมาถึง และเราก็ยังวนอยู่ในวงจรอุบาทก์ไปเรื่อยๆ

.

หนังสือจึงเสนอให้เราหมั่นถามคำถาม “เหตุใดฉันจึงมาที่นี่” กับตัวเอง และพยายามหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะจากวิธีต่างๆ เช่นการอ่านหนังสือ การออกไปลองประสบการณ์แปลกใหม่ การออกไปเจอพบปะพูดคุยกับผู้คนต่างๆ

.

เพราะถ้าเราได้คำตอบของคำถาม “เหตุใดฉันจึงมาที่นี่” แล้ว เราก็จะรู้ ปชม. ของตัวเอง และหลุดพ้นจากวงจรดังกล่าวได้

.

.

(9)

เรื่องเต่าตนุ ก็เป็นอีกเรื่องที่ให้ข้อคิดดีมาก

.

กล่าวคือ มีหญิงสาวอยู่คนหนึ่งดำน้ำแบบ snorkelling อยู่ใกล้ๆชายหาด และบังเอิญได้ไปพบกับเต่าตนุตัวหนึ่งที่มาว่ายน้ำเล่นเช่นกัน

.

หญิงสาวพยายามว่ายน้ำเข้าหาเต่าตัวดังกล่าวด้วยตีนกบที่สวมอยู่ ดูไม่น่าจะเป็นเรื่องยากมาก

.

แต่พอเธอว่ายเข้าไปใกล้ เต่าตนุก็ว่ายออกไปด้วยความรวดเร็ว และทิ้งห่างจากตัวหญิงสาวไปเรื่อยๆ จนเธอยอมแพ้

.

แน่นอนว่าเธอย่อมไม่เข้าใจว่าทำไมเต่าตนุถึงได้ว่ายน้ำเร็วกว่าเธอ ทั้งๆที่เธอก็มีทั้งหน้ากาก snorkelling ช่วยหายใจ และตีนกบเพิ่มแรงถีบใต้น้ำอีก

.

.

จุดนี้เองที่ทำให้เธอได้ค้นพบความลับข้อสำคัญของโลกใบนี้

.

เต่าตนุจะออกแรงถีบตัวเองเฉพาะเวลาที่มีคลื่นซัดมาในทางที่ตัวเต่ากำลังมุ่งหน้าไป และจะหยุดว่ายเมื่อคลื่นดังกล่าวซัดสวนทางกับทางที่ตัวมันกำลังเคลื่อนที่

.

ต่างกับหญิงสาวที่ออกแรงว่ายน้ำ ถีบขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าคลื่นจะซัดไปทางไหนก็ตาม

.

พอถูกคลื่นซัดมาในอีกทางหนึ่ง แรงที่เธอออกไปจึงเสียเปล่า และตัวเธอเองก็ไม่มีแรงเหลือพอที่จะว่ายน้ำได้เต็มที่ในตอนที่มีคลื่นช่วยซัดเธอไปในทางที่เธอกำลังมุ่งหน้าไป

.

.

(10)

เรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง

.

ถ้าเรามีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนแล้ว เรารู้ว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปทางไหน เรารู้ว่า “เหตุใดฉันจึงมาที่นี่” เราต้องดูปัจจัยแวดล้อมต่างๆว่า สิ่งไหนที่ช่วยผลักดันให้เราเคลื่อนไปยังเป้าหมายได้ง่ายขึ้น และสิ่งใดที่เป็นตัวถ่วงคอยพัดเราออกจากเป้าหมายของเรา

.

สิ่งที่ช่วยผลักเราไปสู่เป้าหมาย ก็เหมือนคลื่นที่ช่วยซัดพาตัวผู้หญิงคนนั้นไปยังเต่าตนุที่เธอต้องการ แต่สิ่งที่เป็นตัวถ่วงเราให้ออกจากเป้าหมายก็เหมือนคลื่นที่ดันผู้หญิงคนั้นกลับฝั่ง

.

.

(11)

ในชีวิตจริง เราอาจะพบเจอคลื่นทั้งสองแบบอยู่มากโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคลื่นที่พัดพาเราออกจากฝั่ง

.

“พวกโฆษณาทั้งหลาย ที่มาบอกให้เราซื้อของ หรือลองไปทำนู่นนี่นั่น ที่เราไม่ได้ต้องการไปทำ” นั่นเอง

.

ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ถูกพบได้มากในในโกลยุคโซเชียลมีเดีย ที่มีแต่สิ่งยั่วยวนใจ ให้เราอยากซื้อ อยากลอง อยากเป็นเจ้าของ

.

.

(12)

แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่มันไม่ได้ตอบโจทย์เป้าหมายเรานี่และ ที่จะพาเราไปสู่วงจรอุบาทก์ และทำให้เราเคลื่อนออกจาก ปชม. ของเรา

.

เพราะแน่นอนว่าถ้าเราหลงไปซื้อสิ่งที่โฆษณาชักชวนอยู่บ่อยๆ เราก็จะไม่มีแรงและเวลามากพอที่จะพาตัวเองไปสู่ ปชม.ของเรา เหมือนหญิงสาวที่ออกแรงได้ไม่เต็มที่เมื่อมีคลื่นมาช่วยขับเธอไปหาเต่าตนุ

.

และการยิ่งซื้อของเยอะ ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนที่ต้องหาเงินให้ได้มากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงการทำงานหนักขึ้น วนไปอีกไม่รู้จบ

.

หลังจากที่เรารู้ ปชม. ของเราแล้ว เราขึงต้องระวัง “คลื่น” ที่จะมาซัดเราออกจากสิ่งที่เราต้องการด้วย

.

หรือเราต้องทำตัวเหมือนเต่าตนุ ผู้ปล่อยตัวปล่อยใจไปเฉยๆเมื่อเจอคลื่นที่ซัดสวนทางเราเข้ามาเมื่อเรากำลังเคลื่อนตัว และเก็บแรงไว้ใช้ตอนที่คลื่นซัดมาในทางเดียวกับที่เรากำลังเคลื่อนตัวสู่จุดหมาย

.

.

(13)

โดยสรุปแล้วผมคิดว่ามีเพียง 2 ประเด็นใหญ่ๆ ที่หนังสือนำเสนอ คือ การตามหาเป้าหมายการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง และการรู้จักใช้สิ่งต่างๆรอบตัวเป็นแรงขับเคลื่อน และเมินเฉยต่อสิ่งที่ถ่วงเราจากการมุ่งไปสู่เป้าหมาย

.

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็เริ่มจากการที่เราหมั่นถามตัวเองว่า “เหตุใดฉันจึงมาที่นี่” อยู่บ่อยๆ

.

.

(14)

ผมชอบที่หนังสือเป็นเรื่องเล่าสั้นๆ มีเรื่องราว มีตัวละครที่จดจำง่าย 2-3 ตัว และมีฉากประกอบเป็นคาเฟ่ ที่ช่วยให้ผู้อ่านจำข้อคิดจากหนังสือได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการเขียนแบบ howto เป็นข้อๆเหมือนหนังสือพัฒนาตัวเองเล่มอื่นๆหลายเล่ม

.

ให้อารมณ์เดียวกับ คิดแบบยิวทำแบบญี่ปุ่น วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอรี่ย์ หรือ the max strategy

.

จริงๆแล้วเล่มนี้ตีพิมพ์ต้นฉบับครั้งแรกตั้งแต่ปี 2003 แต่เพิ่งได้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา

.

.

(15)

สุดท้ายนี้ ถามว่าเหมาะกับใคร ผมว่าคนที่เริ่มอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง จะเหมาะมาก เพราะการตามหาเป้าหมายของชีวิต แทบจะเป็นหลักการข้อแรกๆของหนังสือพัฒนาตัวเองทุกๆเล่ม

.

แต่ข้อเสียคือ หนังสือตื้นมาก ตัวอย่างน้อย มีแค่ตัวอย่างเต่าตนุ และนักธุรกิจกับคนตกปลา (ที่หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินกันมาหลายครั้งแล้ว) ที่เป็นตัวอย่างเด่นๆ

.

ยังไงก็ตาม ผมคิดว่าการตามหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ถ้าเริ่มได้ตั้งแต่อายุน้อยก็ยิ่งดี เพราะมันจะช่วย shape เส้นทางที่เราจะทำต่อไปในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าในชีวิตการทำงาน

.

เล่มนี้จึงอาจเป็นอีกเล่มหนึ่งที่อ่านได้ก่อน 30 ก็จะดีมาก

.

.

ฝากไว้สุดท้ายคือ ใครๆก็คงอยากจะมี “ค่ำคืนปาฏิหารย์” ที่เราพบเจอกับผู้วิเศษที่จะเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาล แบบจอห์นกับ the why café

.

แต่ผมคิดว่า น้อยคนนักที่จะมีค่ำคืนแบบนั้น ชีวิตดูเหมือนจะเป็นการสะสมค่ำคืนธรรมดาที่มีเรื่องวิเศษเล็กน้อยเกิดขึ้นมากกว่า เพราะสิ่งเล็กน้อยที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลต่อตัวเราให้เราเป็นในแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

.

เพราะฉะนั้นแล้วอย่าไปรอคอยค่ำคืนวิเศษที่จะเปลี่ยนชีวิตเลยครับ มาใช้ชีวิตในทุกๆวัน แล้วมองหาสิ่งวิเศษเล็กๆกันดีกว่า

.

.

.

.

.

………………………………………………………………………….

ผู้เขียน: John Strelecky

ผู้แปล: ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ

สำนักพิมพ์: Biblio

แนวหนังสือ: พัฒนาตัวเอง

…………………………………………………………………………..

.

.

สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

.

.

‪#‎หลังอ่าน#หนังสือควรอ่านก่อน30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 ‪#‎รีวิวหนังสือ‪#หนังสือ2021 #หนังสือ2564 #‎reviewหนังสือ#TheWhyCafe #คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง #JohnStrelecky #ธิดารัตน์เจริญชัยชนะ #สำนักพิมพ์Biblio #หนังสือพัฒนาตัวเอง






3,508 views0 comments

Σχόλια


Post: Blog2_Post
bottom of page