top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว The Joy of Missing out



















สรุป และ รีวิวหนังสือ ยินดีที่ (ไม่) ได้รู้

The Joy of Missing Out: Live More by Doing Less

. ขอขอบคุณหนังสือใหม่ ส่งตรงจากสำนักพิมพ์ Cactus ของ B2S ด้วยนะครับ

.

📖สรุปหนังสือ

.

“ บางครั้งชีวิตที่ตึงเกินไปก็ทำให้เราเคร่งเครียดเกินจำเป็น เราต้องรู้จักปล่อยวาง เลือกทำเฉพาะสิ่งสำคัญจริงๆ ใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบ และเปิดรับทุกสิ่งในปัจจุบัน”

.

Joy of Missing out (JOMO) เป็นคำที่เลียนแบบมาจากคำว่า Fear of Missing out (FOMO) ที่คนเป็นกันอย่างมากมายในยุคนี้ เนื่องจากมีข้อมูลข่าวสารเผยแพร่กันมากมายบนโซเชียลมีเดีย จนหลายๆคนติดกับงอมแงม และไม่หันไปทำอย่างอื่น เพียงเพราะว่ากลัวจะพลาดเรื่องสำคัญไป

.

JOMO คือคำนามที่มีความหมายตรงกันข้าม ตามหนังสือ ให้นิยามไว้ 2 ความหมาย

1. ความฉลาดทางอารมณ์ที่เป็นเหมือนยาต้านความวุ่นวายในชีวิต จงใจเลือกอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน เปิดใจรับทุกสิ่งรอบๆตัว และไม่เร่งรีบ

2. ฟีลลิ่งดีๆ และความรู้สึกอิ่มเอมใจที่เลือกทำสิ่งสำคัญของตัวเองอย่างแท้จริง และปล่อยวางสิ่งที่ควรทำ, ต้องทำ หรือเรื่องอื่นที่ไม่สำคัญไป

.

.

โดยรวมหลังอ่านจบแล้ว ตามความเข้าใจของผมเอง หนังสือเล่าภาพของคนที่มีสภาวะวุ่นวายทางจิตใจ มีเรื่องให้ต้องทำมากมายในแต่ละวัน และพอจบวันทีไรก็ยังรู้สึกว่าไม่ถูกเติมเต็ม เพราะเหมือนจะทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง

.

เรื่องเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับช่วงวัยกลางคน ที่กำลังรุ่งโรจน์ในชีวิตการงาน และกำลังเริ่มมีชีวิตครอบครัวที่ไปได้สวย ทั้งงานที่ถาโถมด้วยตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือความวุ่นวายจากการที่บางคนอาจออกมาเปิดธุรกิจของตัวเองเช่น ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ พอมารวมกับความรับผิดชอบและหน้าที่ของการเป็นพ่อแม่คน โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกยังเล็ก ดูจะเป็นอะไรที่เอ่อล้นกำลังของเราในแต่ละวันอย่างมาก

.

หนังสือเล่มนี้จึงพยายามคิดกลยุทธ์ในการแก้ไข ความรู้สึกเอ่อล้นเหล่านี้ และช่วยให้เราได้ใช้แต่ละวันให้ผ่านไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อให้เราได้พบกับฟีลลิ่งแบบ JOMO ที่จะช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้จบวันอย่างสวยงาม

.

เปรียบเทียบกับกลยุทธ์ในการบริหารแต่ละวันของเราให้เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่ถูกเติมเต็ม เหมือนการหยิบลูแก้วใส่โหล ทีละลูกๆ จนเต็มโหล ลูกแก้วแต่ละลูกคือ สิ่งสำคัญของเราที่เราทำได้เสร็จสิ้นในวันนั้น

.

โดยหนังสือเหมือนจะเป็น howto เน้นๆ โดยมีสวนเน้นหลักๆคือ การบริหาร เวลา พลังงาน และความมุ่งมั่น ให้ตอบโจทย์ชีวิตที่เราอยากมีอยากเป็น

.

หนังสือแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก แต่ละส่วนมี 3 บทย่อย โดยใน 4 ส่วนจะเป็น ขั้นตอน howto หลักๆในการสร้าง JOMO ตั้งแต่การค้นหาตัวเองไปจนถึงการสร้างจังหวะให้กับแต่ละวัน

.

.

ผมจะขอสรุปแต่ละบทแบบคร่าวๆไว้ให้ลองอ่านกันนะครับ

ส่วนที่ 1 – ค้นพบตัวเอง

ส่วนแรกของหนังสือจะเริ่มจากคำถามที่น่าสนใจอย่าง ‘วันนี้คุณทำอะไรบ้าง’

.

ซึ่งจริงๆแล้วอาจเป็นคำถามที่รบกวนจิตใจใครหลายคน เพราะว่าหลายๆครั้ง เมื่อจะจบวันอยู่แล้ว แต่ความรู้สึกของเราคือทำอะไรไม่เสร็จตามที่ตั้งใจไว้สักอย่าง

.

บางทีอาจจะเป็นเพราะว่า เรามีอะไรที่จ้องทำมากเกินไป หรือบางทีอาจจะเกิดจากการที่เราไม่ได้เลือกทำสิ่งที่มันสำคัญจริงๆ เราเลยรู้สึกแบบนั้น

.

หนังสือจึงให้เราเริ่มจากการค้นพบสิ่งสำคัญจริงๆของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องไม่ใช่แค่เรื่องการงานแต่ควรจะครอบคลุมชีวิตทั้ง 3 ด้าน คือ

- หน้าที่การงาน

- ชีวิตส่วนตัว

- เรื่องในบ้าน

.

ชีวิตในภาพใหญ่ของเราก็เหมือนการปั่นจักรยาน ซึ่งเราจะต้องปั่นไปข้างหน้าอยู่เสมอ โดยพยายามรักษาสมดุลของด้านต่างๆเอาไว้ ไม่ให้ล้ม

.

สมดุลดังกล่าว ก็รวมถึงด้านหน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว และเรื่องต่างๆที่ต้องทำในบ้าน ถ้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีมากเกินไป ก็อาจจะไปกระทบเรื่องอื่น และทำให้จักรยานล้มลงได้

.

เราจึงต้องรู้จักการบริหาร 3 สิ่งที่ใช้เป็นแรงขับเคลื่อจักรยาน นั่นก็คือ ‘เวลา’ ‘พลังงาน’ และ ‘ความมุ่งมั่น’

.

3 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรามีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละวัน มันจึงเป็นการสำคัญมากที่เราจะเลือกใช้วัตถุดิบเหล่านี้อย่างชาญฉลาดเพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

.

คำถามถัดมาคือ เราจะบริหาร 3 สิ่งนี้ยังไงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

.

คำตอบที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดคือ ‘เลือกทำในสิ่งที่สำคัญจริงๆกับชีวิตของเรา’

.

เราต้องยอมปล่อยความเชื่อเก่าๆทิ้งไปว่าการทำหลายสิ่งหลายอย่างให้ได้ปริมาณมากที่สุดคือเรื่องที่ดี เพราะนั่นคือสาเหตุของปัญหาความหงุดหงิดเมื่อจบวัน

.

กลับกันนั้น สเตปป์แรก เราต้องค้นหาตัวเองให้เคลียร์กับตัวเองก่อนว่า เราต้องการอะไรจริงๆ อะไรคือสิ่งสำคัญจริงๆสำหรับชีวิตของเรา เทคนิคที่หนังสือนำเสนอในเรื่องนี้คือ การค้นหา ภารกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมของตัวเอง

.

สรุปง่ายๆคือ

ภารกิจ คือ สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้เสร็จในปัจจุบัน

วิสัยทัศน์ คือ ภาพฝันในอนาคต ในที่ที่เราอยากไป ในสิ่งที่เราอยากเป็น

ค่านิยม คือ กรอบที่ช่วยจำกัดพฤติกรรมและการตัดสินใจของเรา

.

เปรียบเทียบกับบริษัทแล้ว เราจำเป็นต้องเขียน 3 สิ่งข้างต้นออกมาให้ชัดเจน เพราะมันจะเป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำและการตัดสินใจของเราในแต่ละวัน

.

หนังสือยังย้ำว่าเราควรจะรีบหา 3 สิ่งนี้ให้เร็วที่สุด เราจะได้เลือกใส่ทรัพยากรอันจำกัดของเราให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเรามีเวลาอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะถ้าเราลองคิดมันออกมาเป็นรายเดือน หรือทุกเช้าวันจันทร์ที่เราต้องตื่นไปทำงาน

.

เช่น ถ้าตอนนี้เราอายุ 35 ปี และวางแผนจะเกษียณตอนอายุ 65 ปี เราจะมีเวลาเหลืออีก 30 ปีในการทำงาน พอตีออกมาแล้วก็คือ 360 เดือน 7,800 วันทำงาน และ 1,560 เช้าวันจันทร์ที่ยังเหลือ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้เยอะเลย

.

เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีเวลาเล่นกับลูกจนลูกอายุ 18 ปี เราก็จะมีเพียง 936 คืนวันศุกร์ที่ใช้เวลาดีๆร่วมกัน และถ้าตอนลูกเราอายุ 10 ปี เราก็จะเหลือเพียง 416 คืนวันศุกร์เท่านั้น

.

หนังสือปิดบทสั้นด้วยเรื่องของการมี ‘ดาวนำทาง’ เราทุกคนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีดาวนำทางเป็นของตัวเอง เหมือนตอนเด็กๆที่เรามองดาวบนฝ้าเพดานของเรา ดาวนำทางจะช่วยให้เราเข้าใจว่า ชีวิตในแต่ละวันจะพาเราไปยังจุดไหน

.

.

ส่วนที่ 2 - ค้นหาความชัดเจน

.

ส่วนที่ 2 นี้เหมือนเป็นส่วนต่อขยายของส่วนแรก เป็นตัวช่วย support ให้แผนการของเราที่จะเดินทางตามดาวนำทางของเราประสบความสำเร็จ

.

เรื่องแรกคือเรื่องการทำความมุ่งมั่นให้ชัดเจน โดยเราจะต้องกำหนดขอบเขตของสิ่งที่เราจะทำในแต่ละวัน เพราะการไม่กำหนดขอบเขตนั้นทำให้เราไม่มีหลักเกณฑ์ในการยึดเหนี่ยว และทำอะไรตามอำเภอใจเรื่อยๆ จนไม่เกิดประสิทธิภาพขึ้นมา ซึ่งในทางกลับกัน เมื่อเราจำกัดขอบเขตที่ชัดเจน มันจะเพิ่มความเป็นไปได้ว่า แต่ละวันนั้นเราควรจะทำอะไรบ้าง และช่วยทำให้เราคิดวิธีทำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

.

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การไม่กำหนดขอบเขตอะไรเลย อาจจะทำให้เราต้องพบเจอกับข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่อาจมาเกินกว่าที่เราจะรับไหว มนุษย์เรามีขีดจำกัดของสมองในการประมวลผลในแต่ละวัน เราจึงรับข้อมูลได้ในปริมาณที่จำกัด การรับข้อมูลใหม่ในปริมาณที่พอดีๆ ยังช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินผลอีกด้วย

.

นอกจากนี้แล้วหนังสือยังเล่าถึงความเชื่อผิดๆ 3 อย่าง ที่คนส่วนมากชอบเข้าใจผิดกัน

1) ทำหลายอย่างพร้อมกันแปลว่าเราทำได้มีประสิทธิภาพ

.

ข้อนี้ไม่จริงอย่างมาก เพราะสมองของเราประมวลผลได้ทีละอย่าง การที่ดูเหมือนว่าเราทำได้หลายๆอย่างพร้อมกันนั้น ที่จริงแล้วคือ การที่เราบังคับให้สมองสลับการประมวลผลไปมาระหว่างสองสิ่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้สมองล้าได้ง่าย และไม่เกิดประสิทธิภาพในการคิดประมวลผลอีกด้วย

.

2) ทำงานต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดพัก

.

เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่เข้าใจผิดกันอย่างมาก เพราะความจริงแล้ว คนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ สมองทำงานได้ต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ต้องการการพัก

.

โดยปกติแล้ว คนเรามีนาฬิกาชีวิตอยู่ที่ประมาณ 90-120 นาที นั่นหมายความว่า เราจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องได้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมง แล้วเราก็จำเป็นที่จะต้องหยุดพักให้สมองได้ฟื้นตัว ก่อนจะกลับมาเริ่มวงจรการทำงานใหม่

.

การรู้จักหยุดพักจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

.

3) เทคโนโลยีนั้นดีกว่าเสมอ

.

หนังสือแนะนำว่า งานบางอย่าง โดยเฉพาะเวลาที่เรากำลังได้ข้อมูลที่เป็นเรื่องสำคัญ เราควรจะจดมันลงในกระดาษ แทนที่จะใช้การพิมพ์ จะได้เป็นการบังคับให้สมองเราจดจำเรื่องสำคัญนั้นได้ดีขึ้น

.

.

หนังสือยังแนะนำถึงเทคนิคที่จะช่วยลด ‘ความรู้สึกท่วมท้นจนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน’ โดยอาศัยวิธีการจำแนกประเภทงาน เพื่อให้เรารู้ว่า เราควรจะทำงานไหนก่อน และงานไหนที่เราควรโยนไว้ทีหลัง

.

เทคนิคมีความคล้าย ไอเซนฮาวร์ เมตริกซ์ซึ่งแบ่งงานออกเป็น 4 ประเภทตามความสำคัญ และความเร่งด่วน

.

แต่หนังสือจัดให้เหลือเพียง 3 ประเภทเท่านั้น คือ

1. งานร้อน (สำคัญ + เร่งด่วน) - ต้องทำเลยเดี๋ยวนี้

.

2. งานที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะ – งานที่เป็นโครงการสำคัญของเรา และสะท้อนเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ของเราในระยะยาว งานส่วนใหญ่แล้วล้วนมาตกในช่องนี้ทั้งสิ้น ถ้าเราบริหารชีวิตในแต่ละวันอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ทำในสิ่งที่สำคัญจริงๆในแต่ละวัน

.

3. งานที่ปรับให้เข้ากับเวลาได้ – งานที่ไม่ได้เร่งด่วนอะไร แต่เราชอบทำกันเป็นประจำเช่น การเช็คอีเมล

.

ผู้เขียนแนะนำว่า เราควรทำงานประเภทสุดท้ายเพียงแค่ไม่กี่ครั้งต่อวัน และจำกัดช่วงเวลาที่จะทำงานเหล่านั้นอย่างชัดเจน เช่นแค่ 4 ครั้งต่อวัน หลังกินข้าวเสร็จและก่อนเข้านอน เป็นต้น

.

ส่วนงานอื่นๆนั้น หนังสือก็ยังแนะนำหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่า งานไหนไปเข้ากับประเภทอะไร

.

หลักเกณฑ์ที่ว่าชื่อว่า CLEAR

C – connect to your north star

มีความสอดคล้องกับดาวนำทางของเรา

L – Linked to a goal

เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของเรา

E – essential

สำคัญจริงๆกับชีวิตในแบบที่เราอยากเป็น

A – advantageous

เป็นประโยชน์กับตัวเรา

R – reality-based

อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ทำได้จริง

.

ถ้างานไหนเราติ๊กถูกทุกข้อ ก็แปลว่างานนั้นคือ ‘งานที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะ’ ซึ่งเป็นงานสำคัญที่เราควรทำจริงๆ

.

.

ส่วนที่ 3: สร้างความเรียบง่าย

.

อีก 2 ส่วนต่อจากนี้จะเป็นเหมือนเครื่องมือที่ไว้ช่วยตอนที่เราลงมือทำงานจริงๆในแต่ละวัน

.

แน่นอนว่าเราอาจมีโครงการที่ใหญ่เท่าช้าง เพราะฉะนั้นขั้นตอนแรกคือการทำช้างให้เป็นตัวเล็กๆ แบ่งงานใหญ่ๆให้กลายเป็นงานเล็กๆก่อน ช้างตัวใหญ่ทั้งตัว อาจดูน่ากลัว แต่ถ้าแยกส่วนแล้ว เราก็จะพุ่งเข้าใส่งานนั้นได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

.

พูดง่ายๆคือ เราชนะเรื่องเล็กๆ เพื่อไปยังเรื่องที่ใหญ่กว่าเดิม

.

หลังจากนั้นเราต้องหาตัวช่วยที่ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น นั่นคือ ‘การสร้างความเคยชิน’ โดยมี 4 กระบวนการง่ายๆคือ

1) ทำความเข้าใจความเคยชิน

2) ระบุสิ่งเตือนใจ

3) กำหนดพฤติกรรม

4) วางแผน

กระบวนการเหล่านี้ หนังสือนำมาจากหนังสือเรื่อง The Power of Habits ผมจึงขอไม่ลงรายละเอียดมาก

.

การสร้างความเคยชินเปรียบเหมือนการสร้างระบบอัตโนมัติ ซึ่งมันอาจจะดูเหมือนสิ่งที่ทำให้เราขึ้นเกียจ แต่ความจริงแล้วถ้าเราไม่มีระบบอัตโนมัติ เราก็อาจจะอยู่ในความเสี่ยงที่จะไม่ได้ทำอะไรเลย

.

เหมือนกับการที่ลูกๆของผู้เขียน กำหนดวันซักผ้าขึ้นมาเอง และค่อยๆทำให้มันกลายเป็นระบบอัตโนมัติ การจัดการเรื่องในบ้านจึงราบลื่นขึ้น

.

ผมยังชอบการเปรียบเทียบของหนังสือที่เปรียบ การทำสิ่งเล็กๆต่างให้กลายมาเป็น ‘การสร้างแรงกระแทกแบบโดมิโน’ โดยเฉพาะโดมิโนที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น นั่นคือการที่เราทำสิ่งเล็กๆให้เสร็จด้วยตัวช่วยต่างๆที่หนังสือนำเสนอ เพื่อทำให้เกิดแรงกระเพื่อมที่ใหญ่ขึ้น และทำสิ่งที่ใหญ่กว่าเดิมได้

.

.

ส่วนที่ 4: สร้างจังหวะที่กลมกลืน

.

ส่วนสุดท้าย เหมือนเป็นตัวช่วยเสริม ที่นำมาเพิ่มเติมจากส่วนที่ 3 อีกที เช่น การที่เราต้องรู้จักพักเมื่อเหนื่อย

.

เราอาจมีวันที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ แต่เราก็ยังสามารถปรับกำหนดการของเรา ทำให้มีความยืดหยุ่น และพักบ้างถ้าวันไหนหมดแรง อย่าให้วันเหล่านี้มาทำอะไรแผนการการใช้ชีวิตแบบ JOMO ของเรา

.

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเทคนิคอื่นๆที่น่าสนใจอย่างการตอบตกลงและปฏิเสธให้ถูกจังหวะ หรือเทคนิคที่บอกว่าเราไม่ควรคิดว่าเรากำลังสู้กับโลกทั้งใบอยู่ เทคนิคพวกนี้เป็นตัวช่วยชั้นดีในการเติมลูกแก้วของเราให้เต็มโหลในแต่ละวัน

.

ลองไปหาอ่านเพิ่มเติมดูกันได้ครับ มีเทคนิคเล็กๆน้อยๆอีกเพียบ

.

.

📖รีวิวหนังสือ

.

โดยรวมแล้ว หนังสือไม่ได้มีคอนเทนต์ที่แปลกใหม่อะไรมากมาย เพราะหลายๆเรื่องตั้งแต่เรื่องการตั้งเป้าหมาย การจัดลำดับความสำคัญของงานที่ทำ รวมไปถึงการทำกิจวัตรให้เป็นระบบ ก็ถูกพูดถึงอย่างมากมายในหนังสือหลายๆเล่ม

.

แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็น key message ที่สำคัญของหนังสือ คือการที่เราเกิดความรู้สึก JOMO ในแต่ละวัน คือการที่ใช้ชีวิตไปแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบ แต่ได้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

.

เป็นเหมือนการนำหลักการเพิ่ม productivity ทั้งหลายของหนังสือจากฝั่งตะวันตกมาผสมให้เข้ากับความเรียบง่าย ไม่วุ่นวาย และการใช้ชีวิตที่มุ่งเน้นปัจจุบันของทางตะวันออก

.

โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าอยากให้ลองอ่านที่ผู้เขียนเล่าถึงเหตุการณ์ JOMO ดูครับ เพราะคิดว่าหลายๆคนน่าจะเคยเจอ หรือมีเพื่อนเคยเป็นกัน แต่ไม่ค่อยมีหนังสือเล่มไหนบรรยายออกมาได้ละเอียดแบบเล่มนี้

.

ส่วนพวกทริคเพิ่ม productivity ต่างๆ ก็ลองอ่านผ่านๆดูก็ได้ครับ ถ้าเคยเห็นมาก่อนอยู่แล้ว

.

แต่ผู้เขียนเขียนสนุกมาก มีการใช้การเปรียบเทียบ และตัวอย่างที่เห็นภาพชัด เช่นในกรณีการใช้จังหวะการพักแบบฉลาม อยากให้ลองหาอ่านกันดูครับ

.

ขอปิดท้ายว่าปกหนังสือเล่มนี้สีสวยมากครับ สำนักพิมพ์ Cactus ออกแบบได้งดงามมาก

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

......................................................................................................................................

ผู้เขียน: Tanya Dalton

ผู้แปล: ณพศรี รอดเจริญ

สำนักพิมพ์: Cactus Publishing

จำนวนหน้า: 280 หน้า

เดือนปีที่พิมพ์: เมษายน 2564

ISBN: 9786164992290

หมวดหมู่: จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง

......................................................................................................................................

.






198 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page