รีวิวหนังสือ The Frame ชนะตั้งแต่ความคิด
.
ขอขอบคุณหนังสือดีๆจากสำนักพิมพ์ AmarinHowto นะครับ
.
‘กรอบความคิด คือหน้าต่างของหัวใจที่ทำให้เรามองทุกอย่างในชีวิตด้วยปัญญา’
.
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย อาจารย์ชเวอินช็อล ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาลัยแห่งชาติโซลในเประเทศเกาหลี ต้องบอกเลยว่าเป็นหนังสือที่โคตรจิตวิทยา เพราะทั้งเล่มมีการทดลองเชิงจิตวิทยามากกว่า 100 การทดลอง และผู้เขียนก็นำการทดลองเหล่านั้นมาใช้อธิบายแนวคิดเรื่อง ‘กรอบความคิด’ ที่กำหนดพฤติกรรมของคนเราโดยไม่รู้ตัว
.
ยอมรับว่า ไม่ใช้หนังสือที่รีวิวง่าย เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ของเล่มเกี่ยวข้องกับการทดลองทางจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ถ้าจะหยิบการทดลองมาเขียนเล่าในรีวิวนี้ก็คงจะยาวเกินไป เพราะแต่ละการทดลองก็มีรายละเอียดของตัวเอง และต้องอ่านให้ครบถึงจะเก็ทถึงผลลัพธ์ที่น่าถึงจากการทดลองเหล่านั้น
.
ดังนั้นผมจะยกมาแค่คร่าวๆว่า แก่นของหนังสือ หรือใจความหลักที่ผู้เขียนพยายามอธิบายผ่านการทดลองเหล่านั้นคืออะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าทั้งเล่มล้วนเกี่ยวข้องกับ ‘กรอบความคิด’
.
‘กรอบความคิด’ คือกรอบที่กำหนดมุมมองที่เรามีต่อโลก เปรียบเหมือนแว่นตาที่เราที่เราสวมใส และคอยกำหนดไว้ว่าเราจะมองเห็นโลกเป็นสีอะไร มองเห็นโลกดีร้ายอย่างไร ทั้งยังกำหนดทัศนคติที่เรามีต่อคนอื่น มุมมองต่อปัญหาต่างๆ การเปรียบเทียบสิ่งต่างๆรอบๆตัว กรอบความคิดจึงเป็นตัวเหมือนผู้ช่วยที่ชักนำเราให้มองไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่ก็จำกัดขอบเขตการมองของเราให้อยู่ในกรอบดังกล่าวด้วย
.
ตัวอย่างเรื่องเล่าที่อธิบายถึงกรอบความคิดที่ดีที่สุดคือ เรื่องพระราชาผู้ต้องการให้โลกเป็นสีชมพู แต่ทำยังไงก็ตามพระองค์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนทุกๆอย่างบนโลกให้เป็นสีชมพูได้ แม้จะจับคนมาย้อมตัว ทาสีปราสาท ทาสีรถ ทาสีถนน ทาสีตึกรามบ้านช่องต่างๆ แต่สุดท้ายท้องฟ้าและผืนน้ำก็ยังไม่เป็นสีชมพู วิธีเดียวที่ทำให้พระองค์เห็นทุกอย่างเป็นสีชมพูได้ คือการใส่แว่นตาที่ใส่เลนส์พิเศษสีชมพูไว้นั่นเอง
.
กรอบความคิดที่หนังสือเล่ามีหลากหลายแบบ ตั้งแต่กรอบความคิดแบบยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง กรอบความคิดการมองโลกแบบเฉลี่ย กรอบความคิดแบบคน หรือแบบสถานการณ์ กรอบความคิดอิงปัจจุบัน กรอบความคิดอิงชื่อ และกรอบความคิดด้านการเงิน ซึ่งหนังสือจะมาเล่าว่ากรอบความคิดแต่ละแบบส่งผลอย่างไรต่อชีวิตเรา และถ้าเรามีปัญญารู้เท่าทันกรอบความคิดเหล่านี้ เราจะใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง
.
โดยรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นการบอกเล่างานวิจัยทางจิตวิทยาและพฤติกรรมที่น่าสนใจ ที่ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์อ่านเจอมา และรวบรวมเป็น theme เดียวกันคือเรื่องกรอบความคิด และแน่นอนว่าหลังจากเล่าผลลัพธ์อันน่าทึ่งของงานวิจัยต่างๆแล้ว ผู้เขียนก็มาเขียนสรุปสั้นๆว่าเราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการทดลองแต่ละอัน
.
หนังสืออ่านสนุกมากจริงๆ เพราะการทดลองที่ผู้เขียนยกมาเล่า คือจบภายในตอนสั้นๆ แบบ 2-3 หน้า และล้วนแต่ให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งทั้งนั้น ทั้งผู้เขียนและผู้แปลก็อธิบายขั้นตอนการทดลองแบบละเอียด เข้าใจง่าย เอาง่ายๆคืออ่านแล้วไม่งงแน่ๆ ตามขั้นตอนทดลองได้เข้าใจแน่ๆ
.
อารมณ์ตอนอ่านจบก็จะออกเสียง ว้าวว อะไรประมาณนั้นครับ เพราะการทดลองที่ผู้เขียนยกมาคือ ผลลัพธ์มักจะต่างจากที่เราใช้ความรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นนะเมื่ออ่านวิธีทดลองในครั้งแรก
.
เล่มนี้ผมขอเน้นย้ำแรงๆเลยว่าดีจริงครับ คุ้มค่ากับการอ่านแน่นอน สนุกพร้อมได้อ่านเรื่องใหม่ๆไปพร้อมๆกัน
.
และอีกเช่นเคยครับ ผมขอยกเรื่องราวของกรอบความคิด 8 แบบ ที่ผมชอบมากที่สุดมาฝากกันครับ
.
1) กรอบความคิดคืออะไร เล่นบทบาทอะไรกับเราบ้าง
.
กรอบความคิดจำกัดขอบเขตการรับรู้และการคิด ทั้งยังเป็นตัวตัดสินการรับรู้และการคิดของคนเราด้วย กรอบความคิดประกอบไปด้วย บริบท มุมมอง การคาดคะเน เกณฑ์การประเมินต่างๆ
.
กรอบความคิด คือ บริบท เพราะเมื่ออยู่ในบริบทที่ต่างกัน เราก็อาจจะตัดสินใจทำสิ่งต่างๆต่างกัน เช่นปัญหาเรื่องการดึงคันโยกกับการผลักคนลงไปเพื่อหยุดรถไฟไม่ให้ทับคน
.
กรอบความคิด คือ นิยาม ที่เรากำหนดให้กับสิ่งต่างๆรอบตัวเรา เช่นถ้าเราให้นิยามกับเวลาที่เรามีว่า เราเหลือมันไม่มากละ เราก็คงจะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดได้คุ้มค่ามากขึ้น
.
กรอบความคิด คือ คำศัพท์ การเลือกใช้คำศัพท์ที่ต่างกัน ก็อาจทำให้การตอบสนองต่อคำศัพท์เหล่านั้นแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การเลือกใช้คำศัพท์ในการตั้งชื่อกระทรวง ชื่อโครงการ แม้กระทั่งชื่อประกัน หรือที่เรารู้จักกันว่าคือ ประกันชีวิต (Life Insurance) ไม่ใช่ ประกันการเสียชีวิต (Death Insurance) ทั้งๆที่มันคือเงินที่เราจะได้รับเมื่อเราเสียชีวิตเท่านั้น
.
กรอบความคิด คือ คำถาม แน่นอนว่าการตั้งคำถามที่ต่างกัน ย่อมโน้มน้าวให้ผู้ตอบ เลือกตอบคำตอบที่แตกต่างกันได้
.
กรอบความคิด คือ ลำดับ เพราะคนเรามักจะเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้า การเลือกลำดับในการรับรู้ประสบการณ์จึงมีความสำคัญมาก เหมือนเจ็บมากก่อนและเจ็บน้อยทีหลัง เราก็จะรู้สึกว่าโดยรวมแล้วประสบการณ์นั้นไม่ได้เจ็บปวดเท่าไหร่ เทียบกับ เจ็บน้อยก่อนแล้วมาเจ็บมาก
.
กรอบความคิด คือ ความปรารถนา สั้นๆง่ายคือคนเรามักจะเห็นในสิ่งที่อยากเห็น เช่นถ้าวันหนึ่งเราหิวมาก เราก็จะค้นพบว่าข้างทางถนนที่เราผ่านทุกวันมีร้านอาหารอยู่เยอะมาก ทั้งๆที่วันอื่นๆเราไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน
.
.
2) กรอบความคิดสูง vs กรอบความคิดต่ำ
.
สิ่งหนึ่งที่หนังสือแนะนำคือ ให้เราพยายามมี ‘กรอบความคิดสูง’ มากกว่า ‘กรอบความคิดต่ำ’
.
กรอบความคิดสูง คือ การมองหา ความหมาย เป้าหมาย วิสัยทัศน์ และสร้างสิ่งที่ดีที่สุด ในขระที่ กรอบความคิดต่ำคือ การมองหารายละเอียด ขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลามากมั้ย ยากง่ายแค่ไหน
.
ซึ่งการทำงานแบบเดียวกัน ถ้าเรามองแบบกรอบความคิดสูง เราจะรู้สึกถึงคุณค่าในงานที่เราทำ และคุณค่าในตัวเอง ในขณะที่ถ้ามองแบบกรอบความคิดต่ำ เราอาจมองไม่เห็นคุณค่าเหล่านั้น และเกิดคำถามมากมายที่คาใจตัวเอง
.
ตัวอย่างเช่น คนกวาดถนนที่มองว่า งานของเขาคือ การทำความสะอาดมุมหนึ่งของโลกอยู่ ซึ่งเป็นวิธีการมองแบบกรอบความคิดสูง และทำให้เขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ในขณะเดียวกัน ถ้าเขามองว่างานของเขามันเป็นงานที่น่าเบื่อ เหม็น ไม่มีประโยชน์ เขาก็คงจะเกิดความสงสัยกับชีวิตเขาเป็นแน่
.
.
3) กรอบความคิดแบบความเป็นเจ้าของ vs ประสบการณ์
.
หนังสือแนะนำว่าให้เราใช้กรอบความคิดแบบประสบการณ์มากกว่าความเป็นเจ้าของ เพราะว่าประสบการณ์ล้วนเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์กับคนที่เราทำกิจกรรมเหล่านั้นด้วย และมักจะมอบคุณค่าต่อชีวิตให้มีคุณภาพสูงกว่าการเป็นเจ้าของอะไรบ้างอย่าง
.
กรอบความคิดแบบการเป็นเจ้าของ คือ การครอบครองสิ่งของ การซื้อมาเพื่อเป็นเจ้าของ ในขณะที่กรอบความคิดแบบประสบการณ์คือ การซื้อประสบการณ์การท่องเที่ยว การไปดูคอนเสิร์ต หรือทำกิจกรรมใดๆร่วมกับคนหนึ่ง แม้จะทำกิจกรรมนั้นคนเดียวก็นับเป็นประสบการณ์ได้
.
หนังสือแนะนำว่า เมื่อเวลาผ่านไป คุณค่าของความเป็นเจ้าของจะลดน้อยลง ในขณะที่คุณค่าของประสบการณ์จะมีแต่เพิ่มมากขึ้น เช่น ตอนเราซื้อรองเท้าคู่ใหม่มาก็คงจะเห่อมาก แต่ใส่ไม่กี่ครั้งก็คงจะเบื่อและรู้สึกเฉยๆไปเอง แต่กับประสบการณ์ไปเที่ยว เรามักจะจำได้ดีเสมอ ยิ่งเวลาผ่านไปนานๆ ความทรงจำพวกนั้นยิ่งมีค่าต่อเรามากขึ้นไปอีก
.
.
4) กรอบความคิดแบบยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
.
คนเรามักจะหลงตัวเอง ชอบคิดว่าตัวเองอยู่ท่ามกลาง Spotlight ที่มีแต่คนมอง ทุกคนให้ความสนใจกับตัวเองในทุกๆวัน เหมือนถ้าวันไหนเรามีทรงผมแย่ๆ (ที่มาของสำนวน Bad hair day) เราก็มักจะคิดไปว่าทุกคนต้องเห็นสิ่งแย่ๆเหล่านั้น ทั้งที่จริงๆแล้วอาจไม่มีใครสนใจเราเลยก็ได้ นอกจากตัวเราเอง เพราะทุกๆคนก็สนใจแต่เรื่องของตัวเองกันทั้งนั้นแหละ
.
อีกเรื่องที่ชอบมากก็คือ การที่คนเรามักจะประเมินว่าตัวเราเองมีความสลับซับซ้อน ไม่มีคนเข้าใจ ในขณะที่คนอื่นเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียบง่าย สามารถทำความเข้าใจง่ายๆ เราจึงมักจะให้คำอธิบายกับตัวเองแตกต่างจากคนอื่น และมักหาคำแก้ตัวมาให้ตัวเองได้เสมอ
.
หนังสือจึงแนะนำว่าเราควรฝึกใช้นิสัยการอธิบายตัวเองกับคนอื่นในแบบเดียวกัน เพราะคนอื่นก็มีความสลับซับซ้อนไม่ต่างจากเราเลย
.
.
5) กรอบความคิดคน vs สถานการณ์
.
เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากว่าการกระทำของคนเราเกิดขึ้นเพราะตัวบุคคลเอง หรือสถานการณ์พาไป ตัวอย่างเช่นการสังหารโหดในค่ายนาซี เกิดจากความโหดร้ายของคนเรา หรือเป็นเพราะสถานการณ์ในกองทัพและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาพาไป
.
สิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับกรอบความคิดสองแบบนี้คือ คนเรามักจะทำตามคนอื่น เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่อยู่กันหลายๆคน อยู่กับคนหมู่มาก หรือง่ายๆคือทำตามฝูงชน โดยเฉพาะถ้าเราทำอะไรแตกต่างอยู่คนเดียว ก็มักเป็นการยากที่เราจะกล้ายอมรับการตัดสินใจที่แตกต่างเหล่านั้น เรื่องนี้ลองไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ที่การทดลองเลือก เส้นตรงที่ความยาวเท่ากันนะครับ
.
แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ ถ้าเรารู้ว่ามีคนคิดเหมือนเรา ตัดสินใจเหมือนเราเพิ่มมาแค่คนเดียว เราก็จะยึดมั่นในสิ่งที่เราเชื่อมากขึ้น และกล้าแสดงสิ่งที่เราเชื่ออกมามากขึ้น
.
นี่จึงเป็นสาเหตุว่าจริงๆแล้ว ทั้งตัวคนเอง และสถานการณ์ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจของคนเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดอีกนัยหนึ่งคือ ปัจจัยทั้งภายนอก และภายในล้วนแล้วส่งผลต่อการตัดสินใจของเรา
.
.
6) กรอบความคิดแบบ ‘ฉันคือสถานการณ์’
.
คนเรามักจะประเมินอิทธิพลของตัวเองต่อคนอื่นน้อยเกินไป เรามักสนใจแต่อิทธิพลที่คนอื่นมีต่อตัวเอง
.
ยกตัวอย่างเช่น เราใส่หน้ากากป้องกันโรคระบาด ด้วยเหตุผลว่า ‘ป้องกันตัวเองจากคนอื่น’ มากกว่าที่จะใส่เพราะต้องการ ‘ป้องกันคนอื่นจากตัวเอง’ ในกรณีที่เราติดเชื้อมาแต่ยังไม่รู้ตัว
.
นี่ก็เป็นเพราะว่าเรามักไม่คิดว่าเราเองก็มีอิทธิพลต่อคนอื่นเหมือนกัน เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องโรคระบาด แต่ยังรวมถึงการแพร่กระจายของรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือการหาว จริงๆแล้วเราสามารถส่งต่อสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่รู้ตัว
.
หนังสือจึงแนะนำให้เราคิดว่า ตัวเราเองก็ล้วนเป็นสถานการณ์ต่อคนรอบตัวเราด้วยเช่นกัน ไม่ต่างกับที่เราคิดว่าคนอื่นเป็นสถานการณ์ต่อตัวเรา
.
.
7) กรอบความคิดอิงปัจจุบัน
.
คนเรามักจะตัดสินอดีตหรืออนาคตตัวเองจากมุมมองในปัจจุบัน
.
เราจึงสามารถเปลี่ยนให้เราชื่อว่าตัวตนในอดีตของเราเป็นให้เป็นไปในแบบที่เราต้องการในปัจจุบันได้ แม้ความจริงจะไม่เป็นเช่นนั้น ตัวตนของเราในอดีตอาจไม่ได้แย่อย่างเราคิด อาจดีกว่าตัวตนในปัจจุบันด้วยซ้ำ แต่เพื่อไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ เราจึงมักคิดไปว่าตัวตนในอดีตต้องแย่มากๆ เพื่อให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยๆ ตัวตนในปัจจุบันของเราก็ยังดีกว่าในอดีต
.
หรือแม้ตัวตนในอนาคตเราก็มักจะคิดว่า ตัวตนในอนาคตต้องสมบูรณ์แบบมากกว่าตัวตนในปัจจุบัน ต้องทำงานเก่ง ต้อง productive ต้องใช้เวลาอย่างคุ้มค่า แต่แท้จริงแล้วเรามักจะประเมินตัวตนในอนาคตสูงเกินไป
.
หนังสือจึงแนะนำให้เราตระหนักถึงอคติการบิดเบือนเหล่านี้ก่อนที่จะประเมินตัวตนของเราในอดีต หรือแผนการในอนาคต
.
8) กรอบความคิดตามชื่อ
.
เรามักจะถูกชื่อเปลี่ยนความคิดของเราแบบไม่รู้ตัวเสมอ
.
เรื่องเงินเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ถ้าเราคิดว่าเงินที่หามาได้เป็นเงินที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของเรา เราก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาเงินจำนวนนั้นไว้ ในขณะที่ ถ้าเราคิดว่าเงินที่ได้มาคือเงินได้เปล่า หลายๆครั้งเราก็มักจะใช้เงินเหล่านั้นไป โดยไม่คิดให้ถี่ด้วย และไม่ค่อยเสียดายถ้าต้องเสียเงินก้อนนั้นไป
.
หรือแม้กระทั่งอิทธิพลของเงินจำนวนเล็กน้อยรายวัน กับเงินก้อนโตๆ ที่พวกนักโฆษณามักเอามาใช้หลอกลวงผู้บริโภค เช่นแทนที่จะบอกว่าต้องเสียงานรายปีจำนวน 2000 บาท/ปี ก็พูดว่าเสียเพียง 5 บาท/วัน แต่ความจริงแล้วคนซื้อต้องจ่ายเท่ากัน
.
ทั้งนี้ก็เพราะคนเรามักจะไม่ค่อยเสียดายเงินจำนวนน้อย แต่มักจะเสียดายเงินก้อนใหญ่ๆ
.
.
………………………………………………………………………….
ผู้เขียน: ชเวอินช็อล
ผู้แปล: อาสยา อภิชนางกูร
สำนักพิมพ์: AmarinHowto
แนวหนังสือ: จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง
…………………………………………………………………………..
.
.
สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
.
#หลังอ่าน#รีวิวหนังสือ#หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #reviewหนังสือ#Theframe #ชนะตั้งแต่ความคิด #ชเวอินช็อล #อาสยาอภิชนางกูร
Comments