top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว Money Lecture



รีวิวหนังสือ Money Lecture

เรียนหนึ่งครั้ง ใช้ได้ทั้งชีวิต

.

.

ขอขอบคุณหนังสือจากสำนักพิมพ์ Amarinhowto นะครับ

.

‘การเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ไม่ใช่วิชาเลือก แต่เป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องลงทะเบียน’

.

แค่คำนิยมที่นายปั้นเงินเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ก็คงจะพอเห็นภาพถึงความสำคัญที่เราควรจะหยิบหนังสือ Money Lecture มาเปิดอ่าน หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนวิชาการสอนความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานที่เขียนได้สนุกกที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่านมา ต้องยอมรับว่าผู้เขียน คุณ เบสท์ ลงทุนศาสตร์นั้นเก่งจริงๆ

.

ถ้าใครเคยติดตาม Podcast ลงทุนศาสตร์อยู่บ้าง ก็คงจะพอรู้ว่าคุณเบสท์แกเป็นกูรูด้านการเงินและการลงทุน ที่เริ่มศึกษาการลงทุนในหุ้นตั้งแต่เรียนจบ จนตอนนี้ประสบความสำเร็จมากมายในวงการการลงทุน จนกลายเป็นนักลงทุนแบบเต็มเวลาและทำงานอดิเรกเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการเงินและการลงทุนให้กับคนอื่นต่อ

.

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ติดตามฟังคุณเบสท์มาโดยตลอด และชอบเทคนิคการเลือกซื้อหุ้น รวมถึงจิตวิทยาการลงทุนคุณเบสท์เล่าอยู่บ่อยครั้ง แต่เอาจริงคือตัวผมเองก็ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้การเงินที่แน่นเท่าไหร่ หลายๆเรื่องก็ได้ยินแบบปากต่อปาก ได้ยินเป็นครั้งเป็นคราว แต่ไม่ได้มี ‘ภาพกว้าง’ ที่เป็นเหมือน mind map คอยยึดโยงสิ่งเหล่านั้นเข้าด้วยกัน

.

หนังสือเล่มนี้จึงเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดนี้ได้ดีมาก หนังสือ Money Lecture เป็นเหมือน ‘ภาพกว้างๆ’ ของโลกการเงินที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคนอย่างหนีไม่ได้ สิ่งต่างๆ ตั้งแต่ รายรับรายจ่ายแต่ละวัน ภาษี ประกันภัย การออมเงิน การลงทุนหุ้น การลงทุนกองทุน จนไปถึง bitcoin มีส่วนที่เกี่ยวโยงกันอยู่นั่นก็คือ สมการการเงินที่เปลี่ยนชีวิต เป็นสมการที่ทุกคนที่ลงเรียนวิชานี้ต้องรู้ ต้องจำได้ เพราะมันเป็นเหมือนจุดตรงกลางของ mind map ที่ยึดโยงเรื่องต่างๆที่กล่าวข้างต้นเข้าด้วยกัน

.

สมการดังกล่าวคือ รายได้ = ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น + เงินออม เงินลงทุน + ค่าใช้จ่ายตามต้องการ

.

หนังสือเล่มนี้จะหยิบสมการนี้มาตีแผ่ ทำให้รู้จักวิธีคำนวณเงินแบบพื้นฐานที่ต้องรู้ ถ้ายังอยากมีเงินใช้ตอนเกษียณและพาผู้อ่านเข้าไปยังจักรวาลของการลงทุน เครื่องมือที่จะทำให้เราไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่เราต้องการได้

.

หนังสือเริ่มด้วยคำถามสำคัญที่สุดคือทำไมเราต้องเรียนรู้เรื่องการเงิน ซึ่งคุณเบสท์ให้คำตอบไว้น่าสนใจมาก

1) สร้างกำไร

2) สร้างกระแสเงินสด

3) อยู่รอดได้

ผมว่าจุดนี้มันเป็นจุดตั้งต้นที่ดีมาก ก่อนที่เราจะเข้าไปทำความรู้จักกับสมการเปลี่ยนชีวิต และค่อยๆรู้จักการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่เราทุกคนต้องทำเพื่อให้มีเงินใช้ตลอดชีวิต สูตรและวิธีคำนวณมูลค่าเงินที่เรามี เพื่อจะทำให้เราเข้าใจความลี้ลับของระบบเงินตรา และผู้เล่นต่างๆที่ชื่อว่า ประกันภัย หุ้น ภาษี ทองคำ และอื่นๆที่เข้ามากระทบกับการเงินของเรา

.

.

เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก ปกติหนังสือแต่ละเล่มที่ผมอ่านคือจะอ่านแล้วพัก อ่านแล้วพักเป็นระยะ แต่เล่มนี้บอกเลยว่า ไม่พักเลย เพราะอ่านจบปุ๊ปก็อยากรู้เรื่องต่อไปต่อ คุณเบสท์ใช้ภาษาที่ง่ายมากจริงๆ ทั้งที่ผมและทุกๆคนก็รู้ว่าการเงินไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยสมาธิอย่างสูงในการทำความเข้าใจ แต่เล่มนี้บอกเลยว่าไม่งง ไม่ติด อ่านแล้วเคลียร์อยู่นะ

.

และที่ชอบที่สุดคือสำนวนภาษาที่สนุก เห็นภาพ ช่วยให้จำได้ คำเปรียบเทียบคือคัดสรรลูกเชอร์รี่มาดีมาก อีกอย่างคือความกลมกล่อมที่อ่านแล้ว กวนเล็กๆ ยิ้มเล็กๆ อืมม...ไม่หนักไป แต่มี key takeaways ติดออกมาอยู่เรื่อยๆ

.

แต่อย่างที่ผู้เขียนบอกไว้ชัดเจนว่า หนังสือเล่มนี้เปรียบเหมือน การเงิน 101 วิชาพื้นฐานที่นักศึกษาเข้าใหม่ทุกคนต้องลงทะเบียน แต่ละเรื่องที่คุณเบส์เล่าจึงเหมือนถูก simplified มาหมดแล้ว ถ้าใครที่มีพื้นฐานการเงินอยู่แล้วคงจะรับรู้ได้ถึงความสลับซับซ้อนและความยุ่งยากในการคำนวณตัวเลขต่างๆที่หนังสือกล่าวถึง ถ้าใครสนใจส่วนไหนเพิ่มเติมก็ควรจะไปหาวิชาเฉพาะด้านนั้นๆลงทะเบียนต่อ เช่น ถ้าสนใจเรื่องกองทุน ก็คงจะต้องไปเรียน กองทุน 101 ต่อ หรือถ้าอยากรู้ลึกๆเรื่องภาษี ก็ต้องไปเข้าคลาส ภาษี 101 ต่อไป

.

โดยสรุปแล้ว อ่านจบได้ความรู้แน่นอนครับ ภาพ mind map ในหัวที่ยึดโยงตัวละคนในโลกการเงินตัวต่างๆปรากฏขึ้นมาแน่นอน ใครไม่เคยเข้าใจว่าเราทำประกันไปทำไม ก็คงจะได้ความเข้าใจมากขึ้นแน่นอน ใครงงว่าเงินเฟ้อ กับอัตราดอกเบี้ยของการฝากเงินในธนาคารมีความสัมพันธ์กันยังไง อ่านเล่มนี้ก็กระจ่างขึ้นแน่นอน

.

อยากแนะนำให้ผู้อ่านรีวิวทุกคนลองซื้ออ่านดูนะครับ หรือจริงๆถ้าพูดให้เอ็กซ์ตรีมขึ้นไปอีกคือ อยากให้หนังสือเล่มนี้ถูกบรรจุลงในแบบเรียนของนักเรียนม.ปลายทุกๆคนจริงๆครับ บังคับไปเลยว่าทุกคนต้องเรียน ต้องรู้ เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และเศรษฐกิจประเทศก็ดีขึ้นตามไปด้วยครับ

.

ลืมบอกไปอีกอย่างว่า แต่ละบทจะมีแบบฝึกหัดย่อยๆท้ายบท เหมือนเป็น quiz เมื่อจบชม.อยู่ด้วยครับ ช่วยให้เราตกผลึกเนื้อหาและประเมินความรู้ทางการเงินที่เรามีกับสถานการณ์จริงของเราได้ด้วย

.



เลือก 5 ข้อออกมายากมาก แต่จะนำจุดที่ผมว่า คนอ่านอ่านแล้วเกิดแรงกระตุ้นไปซื้อหนังสือเล่มจริงมาอ่านละกันนะครับ

.



1) 3 เป้าหมายของการบริหารเงิน

.

คำถามแรกที่ทุกคนคงถามว่าเราบริหารเงินไปทำไม เราเรียนรู้ไปทำไม

.

อย่างแรกก็คือ การสร้างกำไร (make profit) ซึ่งคำนวณง่ายๆจาก กำไร = รายได้ - รายจ่าย

ส่วนเหตุผลก็ง่ายๆสั้นๆครับ ถ้าไม่มีกำไรเราก็ไม่มีอะไรจะกิน

.

ข้อที่สอง คือสร้างกระแสเงินสด (generate cash flow)

กระแสเงินสดคงเหลือ = กระแสเงินเข้า - กระแสเงินออก

ถ้าเรามีที่ดินร้อยแปลง บ้านร้อยหลัง แต่ไม่มีเงินในกระเป๋าหรือในแอพพลิเคชั่นบนมือถือสักบาท เราก็คงจะซื้อข้าวหน้าปากซอยได้ลำบากขึ้น

.

ข้อสาม อยู่รอดได้ (stay solvency)

ความมั่งคั่งสุทธิ = สินทรัพย์ - หนี้สิน

เมื่อเจอสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 เหมือนในปัจจุบันนี้ การอยู่รอดได้ก็กลายเป็นเรื่องจำเป็น การใช้ชีวิตในวันที่เศรษฐกิจย่ำแย่ได้ คือตัวตอบว่าเราอยู่รอดได้ในระยะยาว

.

.



2) รายได้ = ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น - เงินออม เงินลงทุน - ค่าใช้จ่ายตามต้องการ

.

สิ่งสำคัญคือ เราต้องเรียงลำดับตามนี้เลย คือเมื่อเงินเดือนเข้า ได้รายได้มา เราต้องนำไปหักค่าใช้จ่ายจำเป็น พวกค่าน้ำค่าไฟ ค่ากินค่าอยู่ก่อน แล้วนำส่วนที่เหลือไปฝากธนาคาร และไปลงทุนเพื่อต่อยอดสินทรัพย์ และสุดท้ายถึงค่อยนำมาซื้อของไม่จำเป็น อย่างการซื้อเสื้อผ้ารองเท้าฟุ่มเฟือย การไปเที่ยวต่างประเทศ

.

เป็นที่ชัดเจนว่าถ้าเราลำดับผิด เราจะไม่เหลือเงินออม และเงินลงทุน ซึ่งจะทำให้เราอาจอยู่ไม่รอดเมื่อเจอเศรษฐกิจ

.

.



3) เป้าหมายการเงินแบบ SMIRT

.

แน่นอนว่าการจะบริหารการเงินส่วนบุคคลต้องเริ่มจากการตั้งเป้าหมายก่อน เราจะเก็บเงิน เราจะลงทุนไปเพื่ออะไร เพื่อเป้าหมายระยะสั้นอย่างการไปเที่ยวญี่ปุ่น เป้าหมายระยะกลางอย่างการซื้อบ้าน หรือระยะยาวอย่างการเกษียณ

.

โดยแนวคิดที่คุณเบสท์แนะนำแตกต่างจากการตั้งเป้าหมายแบบ SMART ตรง 2 ตัวกลางคือ

I, Important = ระดับความสำคัญ ที่เบสท์แบ่งง่ายเป็น Want (ต้องการ) และ Need (จำเป็น)

ชัดเจนมากคือ การไปเที่ยวเป็นระดับ Want ในขณะที่การมีเงินใช้หลังเกษียณ Need

.

อีกตัวคือ R, Risk-acceptance = ความเสี่ยงที่รับได้เป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะไปเกี่ยวโยงกับการเลือกสินทรัพย์ในการลงทุน

.

ส่วนอีกสามตัวที่เหลือ เหมือนการตั้งเป้าหมายแบบ SMART เลยครับ Specific, Measurable, และ Time-bounded

.

.



4) ความลี้ลับของเงินตรา

.

เรื่องลี้ลับที่สุดของเงินตรา คือมูลค่าของมันมีความสัมพันธ์โดยตรงกับเวลา เนื่องจากการมีอยู่ของเงินเฟ้อซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งการที่มูลค่าเงินตราแปรผันตรงตามกาลเวลานั้น ทำให้มูลค่าของเงินที่เรามีอยู่ในปัจจุบันไม่เท่ากับเงินที่เราจะมีในอนาคต เรื่องนี้ทำให้เราต้องรู้จักการคำนวณ มูลค่าเงินในปัจจุบัน (Net Present value: NPV), มูลค่าเงินในอนาคต (Future Value: FV) และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหนังสือเล่มนี้อธิบายไว้ค่อนข้างละเอียดทีเดียวครับ

.

.

.



5) จักรวาลของการลงทุน

.

ชอบการเปรียบเทียบของคุณเบสท์มาก การลงทุนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลเหมือนดาราจักรที่เราอยู่ เราต้องไปทำความรู้จักการลงทุนแต่ละแบบ

- เงินร้อนๆบนดาวพุธกับเงินฝากและสลากออมทรัพย์

- ดาวศุกร์ที่ปกคลุมไปด้วยบรรยากาศของหนี้กับตราสารหนี้

- ดาวอังคารและถิ่นที่อยู่....ของอัญมณีบนกรวดทราย หรือหุ้นวิเศษบนกองหุ้นมากมายในตลาดหลักทรัพย์

- ดาวพฤหัสบดี ขุดขึ้นจากดิน....กับทองคำ สร้างก่อด้วยหิน....กับอสังหาริมทรัพย์ และบินฟ่องล่องลอย....กับตราสารอนุพันธ์

- พื้นพิภพของกองทุนรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจน่าลงทุนที่สุดสำหรับมือใหม่

.

.



6) ได้โปรดหาเงินอย่างมีความสุข

.

สิ่งสุดท้ายที่อาจารย์เบสท์ฝากไว้สำหรับวิชาการเงินส่วนบุคคล การเงินนั้นสำคัญ แต่การใช้ชีวิตหาเงินในแต่ละวันก็สำคัญไม่แพ้กัน การมองออกไปข้างทาง ชื่นชมความงามระหว่างหาเงินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยที่จะเติมเต็มจิตวิญญาณและความสุขในใจของคนเรา

.

เมื่อมีเงินถึงจุดหนึ่งแล้ว ความสุขของคนเราอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากับเงินที่หามาได้เพิ่มอีกต่อไป

.

.

.

………………………………………………………………………….

✍ผู้เขียน: ภก. กิตติศักดิ์ คงคา (เบสท์ ลงทุนศาสตร์)

🏬สำนักพิมพ์: Amarinhowto

📚แนวหนังสือ: การเงินส่วนบุคคล

…………………………………………………………………………..

.

.

📚สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

‪#‎หลังอ่าน‪#‎รีวิวหนังสือ‪#หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #‎reviewหนังสือ#MoneyLecture #เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต #ลงทุนศาสตร์ #เบสท์ลงทุนศาสตร์ #กิตติศักดิ์คงคา #สำนักพิมพ์Amarinhowto #หนังสือการเงินส่วนบุคคล






832 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page