รีวิวหนังสือ Money 101
เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข
.
'อะไรบ้างนะที่ทุกคนควรรู้เมื่อเริ่มหาเงิน...ฮิ้ววว'
.
หนังสือ Money 101 เขียนโดนโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ the Money Coach เจ้าของพอดแคสต์ the Money Case by the Money Coach และ the Money Growth by the Money Coach
.
ต้องบอกว่าถ้าใครฟังพอดแคสต์ของโค้ชหนุ่มอยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนไม่ได้มีอะไรใหม่เท่าไหร่ เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่แกก็เล่าไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะในพอดแคสต์ตอนต้นๆ แต่ถ้าใครยังไม่เคยฟังพอดแคสต์หรืออยากทวนเนื้อหาการเงินขั้นพื้นฐาน เล่มนี้ก็ยังเป็นคำตอบที่ดีอยู่
.
โดยรวมหนังสือเป็นการปรับ mindset เกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการวางแผนการเงินแบบสุดจะพื้นฐาน ที่ทุกๆคนที่ทำงานและมีเงินเก็บควรจะรู้ไว้ เพราะจะได้ไม่เป็นเดือดเป็นร้อนเมื่อไม่มีเงิน และมีเงินใช้พอไปจนถึงตอนเกษียณ
.
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะเป็นพิเศษที่จะอ่านกันตั้งแต่วัยก่อน 30 ตั้งแต่จบใหม่ๆยิ่งดี หรือเอาเข้าไปในหลักสูตรมัธยมปลายยิ่งดีไปใหญ่ เพราะคนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการเงินที่ถูกต้องอยู่มาก
.
คำถามที่น่าจะคาใจหลายคนคือ ช่วงนี้มีหนังสือการเงินแนวนี้ออกมาหลายเล่ม แต่ละเล่มต่างกันยังไง? ส่วนตัวขอเปรียบเทียบความต่างระหว่าง Money 101 และ Money Lecture ของลงทุนศาสตร์คร่าวๆ ดังนี้
แม้ทั้งสองเล่มจะเหมาะสำหรับมือใหม่ในวงการการเงินส่วนบุคคลเหมือนกัน แต่
1) Money Lecture เน้นให้ความรู้พื้นฐานของโลกการเงินแบบเป็นลำดับขั้น มากกว่าหนังสือของโค้ชหนุ่ม Money 101 เนื้อหาค่อนข้างมีความกระโดดไปมา และมีดอกจันทร์ที่เป็นคำอธิบายเสริม ส่วนท้ายหน้ากระดาษอยู่มาก ทำให้ต้องอาศัยการจับใจความและวาดออกมาเป็นแผนผังใหญ่ที่เชื่อมโยงบทต่างๆด้วยตัวเองพอสมควร
2) Money Lecture เน้นเนื้อหาการลงทุน เพราะลงทุนศาสตร์ถนัดเรื่องหุ้นอยู่แล้ว และใช้การเปรียบเปรยกับดวงดาวในจักรวาลให้เห็นภาพและจำง่าย ในขณะที่ Money 101 ไม่ได้เน้นเรื่องลงทุนเท่าไหร่
3) Money 101 เน้นไปที่การปรับ mindset ด้านการเงิน และการมีความเข้าใจที่ถูกต้องในการวางแผนการเงินเพื่อให้มีสภาพคล่อง ไม่เป็นหนี้ และมีเงินเก็บพอสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณ ในขณะที่ Money Lecture ไม่ได้เน้นเรื่องเหล่านี้สักเท่าไหร่
4) Money 101 มีเคสการเงินแทรกอยู่พอสมควร อาจเป็นเพราะโค้ชหนุ่มแกเป็นโค้ชที่ช่วยแก้ปัญหาทางการเงินมาเยอะมาก ตัวอย่างจริงเลยเยอะ ทั้งตัวอย่างที่น่าเอาอย่างเช่นคนที่ขยันเก็บออม กับตัวอย่างที่ไม่ควรทำตามเช่น คนที่ซื้อรถใหม่เพียงเพราะหน้าตาทางสังคม หรืออวดเพื่อนจนกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของตัวเอง
5) ทั้งสองเล่มอ่านง่าย โดยเฉพาะ Money 101 ที่มีหลากสี และมีแผนภาพประกอบ ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาง่ายมากขึ้น และยังทำให้จำเรื่องที่ควรจำดีขึ้นด้วย
6) ภาษาที่ใช้มีความเป็นตัวเองในทั้งสองเล่ม คือ ลงทุนศาสตร์ก็จะกวนๆ อ่านแล้วต่อเนื่องได้ความเป็นภาษานิยายผสมหน่อย ในขณะที่ Money 101 ภาษาสนุกๆสไตล์โค้ชหนุ่ม สั้นๆ ห้วนๆ เข้าใจง่าย แทรกความฮาตลอดเล่ม
.
โดยสรุปแล้ว เน้นให้อ่านทั้งสองเล่มเลย เพราะหนังสือมีเนื้อหาที่ไม่ทับซ้อนกันพอสมควร ถ้าควรอ่านเล่มไหนก่อน ส่วนตัวผมเชียร์ Money 101 ครับ ปรับ mindset กันก่อน แล้วค่อยไปสนุกกับโลกแห่งการลงทุน
.
ยังไงเดี๋ยวจะผมจะมาเขียนสรุปข้อคิดดีๆหลังอ่านหนังสือ Money 101 อีกทีนะครับ แต่ข้อแรกที่ต้องนึกถึงเลยคือ ชีวิตเรามันเริ่มจากการตั้งเป้าหมายก่อน ว่าเราอยากมีชีวิตแบบไหน อยากมีไลฟ์สไตล์ยังไง แล้วเราต้องใช้เงินเท่าไหร่มาตอบสนองไลฟ์สไตล์เหล่านั้น พอรู้แล้วเราจึงเข้าสู่กระบวนการว่า เราจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง และต้องทำอะไรบ้าง จึงจะได้เงินจำนวนที่มากพอในการตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ชีวิตที่เราต้องการ
.
สุดท้ายแล้วเราอาจเรียกการใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ที่เราต้องการโดยมีเงินคอยเกื้อหนุนอยู่เสมอว่า ‘อิสรภาพทางการเงิน’ ซึ่งการจะไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้ต้องค่อยๆเริ่มไปทีละขั้น จากการมีสภาพคล่อง มีเงินเหลือใช้ และค่อยๆสะสมความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
.
จริงๆหนังสือสอนขั้นตอนการวางแผนทางการเงินไว้ละเอียดพอสมควร โดยเฉพาะการวางแผนคำนวณทุนตอนเกษียณ โดยพิจารณาถึงแหล่งรายได้ การออมและการลงทุนของเรา โดยไม่ลืมที่จะนำเงินเฟ้อเข้ามาพิจารณาด้วย
.
อีกเรื่องที่ส่วนตัวผมคิดว่าโค้ชหนุ่มทำไว้ดีมาก คือการแบ่งแผนการเงินออกเป็น 3 แผน คือ แผนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน (Plan C) แผนทุนเกษียณรวย (Plan B) และแผนทุนเกษียณเร็ว (Plan A) โดยเงินที่เรามีต้องเริ่มจากการ Plan C คือหักเงินออมอย่างต่ำ 10% จากรายได้เอาไว้สำรองในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเงินจำนวนนี้จะอยู่ในรูปเงินฝากธนาคาร กองทุนรวมตราสารหนี้ สลากออมสิน และสลากธกส.
.
ในขณะที่ Plan B คือการลงทุนระยะยาวที่ทำให้เรามีเงินใช้เพียงพอหลังจากเกษียณ ทั้งเครื่องมือภาคบังคับ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญ และเครื่องมือลงทุนอื่นๆ เช่น RMF SSF ประกันชีวิต หุ้นสามัญ/ หุ้นสหกรณ์ และอื่นๆ
.
ส่วน Plan C คือการลงทุนที่จะช่วยให้เราเกษียณตัวเองได้อย่างรวดเร็ว หรือก็คือสร้าง Passive Income ให้มัมากกว่ารายจ่ายที่จำเป็นในชีวิตเรา โดยหลักการคือการยืมเงินคนอื่นมาลงทุน (Other People’s Money: OPM) และการใช้ทรัพยากรของคนอื่นมาช่วยเราลงทุน (Other People’s Resource: OPR) โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และการสร้างธุรกิจ สร้างทรัพย์สินทางปัญญา เรียกสั้นๆว่าการใช้พลังทวี
.
สุดท้ายแล้วโค้ชหนุ่มยังสร้างบ้าน 1 หลังแห่งการมีอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากการมีสุขภาพทางการเงินที่ดี และกลับไปยึดโยงกับการมีความรู้ทางการเงินที่ดี มีความรับผิดชอบทางการเงินของตัวเอง และมีวินัยในการออมและการลงทุน
.
โดยรวมแล้ววิชาการเงินนี่เป็นวิชาบังคับสำหรับทุกคนจริงๆ และการเข้าใจหลักพื้นฐานในการวางแผนการเงินก็เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย
.
.
.
………………………………………………………………………………………………………
ผู้เขียน: จักรพงษ์ เมษพันธุ์
สำนักพิมพ์: ซีเอ็ดยูเคชั่น
จำนวนหน้า: 216 หน้า
เดือนปีที่พิมพ์: 2019
………………………………………………………………………………………………………
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อน30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #Money 101 #เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข #จักรพงษ์เมษพันธุ์ #ซีเอ็ดยูเคชั่น
Comments