top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา



เล่มที่ 5: Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา

.

‘growth mindset เรื่องที่ทุกคนต้องรู้ในศตวรรษนี้’

.

ดูเหมือนจะเป็นคำสุดเกร่อที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากสำหรับคำว่า growth mindset หรือว่ากรอบความคิดแบบพัฒนาได้ แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมายของคำนี้จริงๆ

.

แน่นอนว่า growth mindset มีที่มาจากหนังสือ Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตาของหนังสือ Carol S. Dweck เล่มนี้ ซึ่งถือเป็นใจความหลักที่หนังสือต้องการจะสื่อ จากความหนากว่า 360 หน้าในเล่ม

.

โดย Prof. Dweck เป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาลัยแสตนฟอร์ด ที่มีชื่อเสียงมากจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับจิตวิยาและการพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งงานวิจัยเลื่องชื่อของอาจารย์ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง การมีความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ‘คนเราพัฒนาได้’ หรือนิยามของ growth mindset นั่นเอง

.

ผู้เขียนเปรียบเทียบ mindset 2 แบบของคนแต่ละคนคือ fixed mindset (กรอบความคิดแบบตายตัว) และ growth mindset (กรอบความคิดแบบพัฒนาได้) ให้ชัดๆถึงผลลัพธ์ในการเรียน การทำงาน รวมไปถึงชีวิตแต่งงาน ซึ่งแน่นอนว่าคนที่มี growth mindset หรือเชื่อว่าตัวเองเรียนรู้ได้ พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ทำให้ดียิ่งขึ้นได้มักจะได้ผลลัพธ์สุดท้ายที่ดีกว่าเสมอ

.

.

.

ความเห็นส่วนตัวต้องบอกว่า หนังสือน่าเบื่อมาก ชวนง่วงนอน และเนื้อหาวนไปวนมาค่อนข้างมาก ตัวอย่างในหนังสือก็เก่ากึ้ก เพราะตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2006 บริษัทธุรกิจต่างๆ คือเกิดในโลกยุคก่อน คือยุคของคนเขียนที่อายุประมาณรุ่นพ่อแม่ผม รวมไปถึงนักกีฬาที่ถูกพูดถึงบ่อยๆก็เป็นนักกีฬาดังในยุคก่อน เช่น จอห์น แมคเอนโรว นักเทนนิสเจ้าอารมณ์ผู้ฟาดงวงฟาดงาใส่กรรมการ ตวาดคนดู เขวี้ยงไม้แร็กเก็ตเป็นว่าเล่น เอาจริงๆคือผมเกิดไม่ทัน และไม่อินกับตัวอย่างนี้ ถึงจะชอบดูเทนนิสมาก

.

ไม่ต้องพูดถึงกีฬาอื่นๆที่ไม่ได้สนใจอย่าง เบสบอล อ่านก็คืออ่านผ่านๆข้ามๆ สนใจแค่ประเด็นหลักของหนังสือเท่านั้น

.

ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเป็นเหมือนผมคือ ชอบคอนเซ็ปต์มาก แต่เนื้อหาคือง่วงโคตรๆ ผมแนะนำให้เน้นอ่านบทสรุปของแต่ละบท และดึงประเด็นสำคัญจากแต่ละบท ซึ่งอาจต้องใช้ความพยายามมากหน่อย มากกว่าเล่มอื่นๆที่จัดย่อหน้าให้อ่านง่าย

.

แต่อย่างไรก็ตาม ตามที่เห็นจากคะแนน ผมให้ไว้สูงมากถึง 9.75 เพราะเล่มนี้เหมือนเป็นวิชาบังคับว่าทุกคนที่อยากเริ่มพัฒนาตัวเอง ต้องเริ่มอ่านจากเล่มนี้จริงๆ เพราะต้องมี mindset ที่ถูกต้องในการพัฒนาตัวเองก่อน

.

และแน่นอนว่าอ่านเสร็จแล้ว ก็ช่วยให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ของ growth mindset มากขึ้นละครับ นับเป็นหนังสือเปลี่ยนโชคชะตาของจริง ความน่าเบื่อก็คิดๆซะว่าเป็นยาขมละกันครับ

.

ผมสรุปสั้นๆ 3 เหตุผลที่ควรอ่านก่อนอายุ 30

1) คนจะเริ่มพัฒนาตัวเอง ต้องเริ่มจากการปรับ mindset ตัวเองให้ถูกต้องก่อน

.

2) หนังสือช่วยเพิ่มความเข้าใจกับคำสุดเกร่ออย่าง growth mindset และเข้าใจถึงผลลัพธ์ของคนที่มี mindset แตกต่างกัน

.

3) ฝึกทนกับยาขมของความน่าเบื่อในการอ่าน กับหนังสือที่เป็นย่อหน้ายาวๆ ยาวเป็นพืดและตัวอย่างที่ไกลตัว เก่า ไม่รู้จักและไม่ได้สนใจ

.

.

33 ข้อที่ได้หลังอ่านหนังสือ Mindset: ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา

.

.

1. ปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์เกิดความเชี่ยวชาญบางอย่างนั้นไม่ใช่ความสามารถที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่มาจากการจัดการอย่างมีจึดมุ่งหมาย

.

2. ผู้ที่เกิดมาฉลาดที่สุดเลยอาจไม่ได้ลงเอยด้วยการเป็นคนที่ฉลาดที่สุด

.

3. กรอบความคิดมีอยู่ 2 แบบคือ fixed mindset (กรอบความคิดแบบตายตัว) และ growth mindset (กรอบความคิดแบบพัฒนาได้)

คนมีกรอบคิดแบบ fixed mindset เชื่อว่าคุณสมบัติของตัวเองเป็นสิ่งตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ ต้องหมั่นพิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอว่าตัวเองมีคุณสมบัติแบบนั้น

คนที่มีกรอบคิดแบบ growth mindset เชื่อว่าคุณสมบัติพื้นฐานของเราเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ด้วยความพยายาม แม้เราจะแตกต่างกันในทุกๆด้าน แต่ทุกคนเติบโตได้ด้วยความพยายามและประสบการณ์การเรียนรู้

.

4. growth mindset ทำให้มนุษย์เติบโตขึ้นและเผชิญหน้ากับความท้าทายที่สุดในชีวิตได้

.

5. คนที่มี fixed mindset ทำให้เรารู้สึเหมือนถูกปฏิเสธ ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง รังเกียจตัวเอง โลกไม่ยุตธรรม โลกรังแกเรา ชีวิตห่วยแตก เราเกิดมาโชคร้าย แต่คนที่มี growth mindset ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น เราต้องพยายามมากขึ้น เราต้องทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้นในครั้งถัดไป

.

6. คนที่มี fixed mindset ทำให้เราคิดว่าทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบตั้งแต่ครั้งแรกที่เราทำ เราไม่ต้องพยายามทำอะไรเพิ่มเติม แต่คนที่มี growth mindset เชื่อว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว เราพยายามค่อยๆเปลี่ยนแปลง ทำให้เรื่องต่างๆดีขึ้นได้ มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การเผชิญหน้ากับความท้าทายและก้าหน้าขึ้นเรื่อยๆ

.

7. คนที่มี fixed mindset ทำให้เราไม่อยากลองวิชาใหม่ ไม่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะเกิดความเครียด และกลัวว่าเราจะทำสิ่งใหม่ไม่ได้คนที่มี growth mindset ทำให้เราเปิดใจ คิดว่าการเรียนรู้วิชาใหม่คือแหล่งบ่มเพาะความรู้และพกรพัฒนาตัวเอง

.

8. คนที่มี fixed mindset ทำให้เรามองความล้มเหลวเป็นสิ่งที่หยุดความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการได้เกรดไม่ดี แพ้การแข่งขัน ถูกไล่ออก หรือถูกปฏิเสธ แต่คนที่มี growth mindset ทำให้เรามองว่าความล้มเหลวคือการที่เรายังพัฒนาไม่เต็มที่ และเรายังไม่ได้ใช้ศักยภาพของเราอย่างเต็มที่

.

9. คนที่มี fixed mindset ทำให้เราเลือกทำสิ่งที่เรามั่นใจว่าทำได้ เลือกทำแต่สิ่งที่เรามั่นใจว่าจะสำเร็จ แต่คนที่มี growth mindset ทำให้เราเชื่อว่าการจะได้มาซึ่งสติปัญญาต้องอาศัยความพยาม เราจะยอมท้าทายตัวเองและทำในสิ่งที่ยากกว่า

.

10. คนที่มี fixed mindset จะไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ เพราะไม่อยากเปิดเผยจุดอ่อนของตัวเอง ในขณะที่คนที่มี growth mindset จะยอมเสี่ยงลงทุนทำอะไรให่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาในระยะยาว

.

11. คนที่มี fixed mindset จะทำให้เรารู้สึกฉลาดตอนที่เราทำบางสิ่งบางอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ในขณะที่คนที่มี growth mindset จะทำให้เนรารู้สึกฉลาดตอนที่กำลังได้เรียนรู้

.

12. คนที่มี fixed mindset เชื่อว่าคะแนนจากแบบประเมินจะเป็นตัวตัดสินสติปัญญาของเราไปตลอดชีวิต ในขณะที่คนที่มี growth mindset จะไม่ยอมให้แบบทดสอบพวกนี้มากำหนดคุณค่าขอวเรา แต่ถ้าเราทำแบบทดสอบได้คะแนนไม่ดี เราก้จะใช้มันเป็นแรงผลักดันให้มุ่งมั่นพัฒนาตัวเองต่อไป

.

13. คนที่มี fixed mindset เลือกความสำเร็จมากกว่าการเติบโต และชอบพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ อยู่เหนือกว่าคนอื่น ในขณะที่ คนที่มี growth mindset เลือกการเติบโตเหนือความสำเร็จ และไม่ได้ต้องการพิสูจน์ตัวเองกับคนอื่นๆ

.

14. คนที่มี fixed mindset จะยอมให้ความล้มเหลวเป็นตัวกำหนดชีวิตของเราไปตลอด และแม้ว่าเราจะมีพรสวรรค์ก็จะไม่ได้แสดงมันออกมา แต่คนที่มี growth mindset จะทำให้เรารู้สึกว่าแม้จะเจ็บปวด แต่เราก็ยังเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ และยังมีความสำเร็จอื่นๆรอเราอยู่

.

15. คนที่มี fixed mindset ทำให้เรากลัวการพยายาม เพราะความพยายามทำให้เราหมดข้อแก้ตัวว่า ถ้าเราพยายามหรือลงมือทำเราก็ควรจะทำได้แล้ว แต่จริงๆแล้วเราไม่มีทางรู้เลยว่าจริงแล้วความพยายามจะพาเราไปที่จุดไหน

.

16. คนที่มี fixed mindset เชื่อว่าความสำเร็จมาจากพรสวรรค์ และความพยายามมีไว้สำหรับคนที่ไม่มีความสามารถ

.

17. ข้อเสียหลักๆของ คนที่มี fixed mindset คือทำให้เราเสียโอกาสดีๆ เพราะว่าเราประเมินความสามารถของตัวเองต่ำเกินไป และเราทึกทักเอาเองว่าพรสวรรค์อย่างเดียวพาเราไปถึงจุดที่สำเร็จได้

.

18. เราต้องตระหักไว้ว่าอดีตไม่ได้เป็นตัวตัดสินชีวิตของเรา เพราะความสามารถของเรานั้นเป็นสิ่งที่พัฒนาให้ดีขึ้นได้เสมอ

.

19. จากงานวิจัย เกือบทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ หากมีเงื่อนไขในการเรียนรู้ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นทักษะวิชาการ กีฬา ดนตรี หรือทักษะอะไรก็ตาม

.

20. การชมของคนที่มี fixed mindset คือการชมคนทีผลลัพธ์ ผลงาน ในขณะที่การชมคนของคนที่มี growth mindset คือการชมที่ ความพยายามจะทำสิ่งนั้นย่างสุดความสามารถ

.

21. การชมทั้ง 2 แบบนั้นสามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะว่าคนที่โดนชมด้วยผลลัพธ์จะกลัวการทำผลลัพธ์ไม่ได้ดี จนไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ที่ท้าทายความสามารถตร ไปจนกระทั่งอาจโกหกผลลัพธ์ขอตัวเองได้ เพราะไม่อยากไม่ถูกชม ในขณะที่การชมที่ความพยายามจะยิ่งทำให้คนๆนั้นพยายามมากขึ้นต่อไป

.

22. สำหรับนักกีฬา คนที่มี fixed mindset คือคนที่อยากอยู่เหนือกว่าใครๆ ในขณะที่คนที่มี growth mindset จะแค่อยากซ้อมให้ตัวเองเก่งขึ้น และลงแข่ง

.

23. นักกีฬาที่มี fixed mindset จะไม่ต้องความรับผิดชอบความสามารถ และแรงจูงใจของตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองเป็นสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว ไม่ได้อยู่ในกระบวนการพัฒนา จึงชอบโทษสภาพแวดล้อม โทษสิ่งรอบตัวทุกอย่าง ยกเว้นโทษตัวเอง

.

24. นักกีฬาที่มี growth mindset จะไม่ได้มีความสุขที่เอาชนะ แต่มีความสุขในการได้เรียนรู้ พัฒนา และใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ในการแข่งขัน

.

25. นักธุรกิจหรือผู้บริหารที่มี fixed mindset อาจเกิดโรค CEO คือ หลงภาคภูมิใจในความสามารถของตัวเอง ไม่ค่อยฟังคนอื่น และหยุดพัฒนา อาจชอบใช้อำนาจด้วย ในขณะที่นักธุรกิจหรือผู้บริหารที่มี growth mindset จะแสดงพฤติกรรมตรงกันข้าม

.

26. นักธุรกิจหรือผู้บริหารที่มี fixed mindset จะแสวงหาการยอมรับ ในขณะที่ นักธุรกิจหรือผู้บริหารที่มี growth mindset จะคิดถึงแต่พลังงานและความเป็นไปได้ในการบริหารองค์กร จะตื่นเต้นกับการได้พัฒนาธุรกิจของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังทำให้พวกเขาบริหารองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนกลุ่มแรก

.

27. นักธุรกิจหรือผู้บริหารที่มี growth mindset จะใช้ประโยชน์จากข้อผิดพลาดและข้อมูลย้อนหลับ (feedback) ทำให้พัฒนาไปได้ไกลกว่านักธุรกิจหรือผู้บริหารที่มี fixed mindset มาก

.

28. นักธุรกิจหรือผู้บริหารที่มี growth mindset จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาคือแหล่งเรียนรู้ของพนักงาน และสอนพนักงานทักษะเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้

.

29. คนที่มี fixed mindset มักจะมีความคิดผิดกับชีวิตคู่ว่า ถ้าเกิดมาคู่กันไม่ต้องใช้ความพยายามในการปรับตัว ต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง และเชื่อว่าปัญหาต่างๆเป็นตัวบ่งชี้ถึงข้อบกพร่องในนิสัยของอีกฝ่าย ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องพวกนี้มักไม่เป็นความจริงเลย

.

30. สำหรับเด็กที่โดนบูลลี่ที่โรงเรียน ถ้ามี fixed mindset แล้วก็จะอยากแก้แค้น อยากจะล้างแค้นพวกอันธพาลให้สาสม ในขณะที่เด็กที่มี growth mindset จะมองว่าพวกอันธพาลมีปัยหาด้านจิตใจที่อยากมีความภูมิใจในตัวเอง แล้วอยากยื่นมือเข้าช่วยคนที่มีปัญหาพวกนี้ ให้พวกเขากลายเป็นคนที่ดีกว่านี้

.

31. ถ้าเราเป็น พ่อแม่ ครู หรือโค้ช อย่าใช้คำพูดที่ชื่นชมพรสวรรค์และคุณสมบัติของเด็กๆ หรือคนที่เราดูแล แต่ต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจว่าเราภูมิใจในความพยายามของพวกเขา

.

32. เด็กที่มี fixed mindset จะรู้สึกตลอดเวลาว่าตัวเองถูกประเมิน ถูกตัดสินด้วยคำพูดของพ่อแม่ ของครู ของโค้ช แต่เด็กที่มี growth mindset จะรู้สึกว่ากำลังได้รับการช่วยเหลือ

.

33. มรดกที่สำคัญที่เราถ่ายทอดให้คนที่เราดูแลได้ คือการปลูกฝัง growth mindset ในตัวพวกเขาและช่วยให้พวกเขาดึงเอาศักยภาพของตัวเองมาใช้ได้อย่างเต็มที่

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

............................................................................................................

ผู้เขียน: Carol S. Dweck (แครอล เอส ดเว็ค), Ph.D.

ผู้แปล: พรรณี ชูจิรวงศ์

สำนักพิมพ์: Welearn

แนวหนังสือ: จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง, howto

จำนวนหน้า: 360 หน้า

ราคหลังปก: 275 บาท

ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาไทย: 2018

........................................................................................................................

.

#100เล่มควรอ่านก่อนอายุ30 #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #‎หลังอ่าน‪#‎รีวิวหนังสือ‪#หนังสือ2021#mindset #ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา #growthmindset #fixedmindset #CarolSDweck #Welearn #หนังสือพัฒนาตัวเอง


4,164 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page