รีวิว How to Ikigai
วิถีอิคิไก
.
ขอขอบคุณหนังสือใหม่ดีๆจากสำนักพิมพ์ Change และซีเอ็ดนะครับ
.
ต้องบอกว่าส่วนตัวผมสนใจแนวคิดแบบอิคิไกมากๆ และติดตามอ่านหนังสือเกี่ยวกับอิคิไกมาโดยตลอด (แม้จะยังไม่ครบทุกเล่มก็ตาม)
.
เล่มนี้ก็โดนตั้งแต่ชื่อเรื่องที่ว่ากันด้วย การนำหลักการอิคิไกมาใช้กับการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วๆไปจริงๆ เพราะยอมรับว่าหลักอิคิไกจริงๆ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และเป็นนามธรรมพอสมควร
.
เล่มนี้คนเขียนเป็นชาวแคนาดาที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น แต่ก็เติบโดตและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในแคนาดา ซึ่งนี่เป็นอีกจุดที่น่าสนใจของหนังสือ เพราะอ่านแล้วรู้สึกเหมือนการเอาปรัชญาของญี่ปุ่นมาตีความแบบตะวันตกและย่อยออกมาเป็น หลัก howto ที่เข้าใจง่าย
.
การรีวิวเล่มนี้ก็ขอรีวิวสั้นๆ และหยิบเรื่องที่ส่วนตัวผมคิดว่าน่าสนใจ มาเล่าให้ฟังนะครับ เพราะถ้าเล่าหมดก็อาจจะยาว และเป็นการสปอยเนื้อหาด้วย เพราะเนื้อหาบางส่วนของเล่มนี้เหมือนอ่านนวนิยายเรื่องสั้นเลยครับ มีตัวเอก และมีภารกิจที่ตัวเอกต้องออกไปทำ และสุดท้ายก็ได้บทเรียนอันล้ำค่ากลับมา
.
.
.
เริ่มกันที่ความหมายของคำว่าอิคิไก กันเลยครับ หนังสือได้เล่าที่มาอย่างน่าสนใจว่า อิคิไก เป็นคำที่มาจากหมู่บ้านโอกินาวา หมู่เกาะเล็กๆทางตอนใต้ของญี่ปุ่นที่มีอากาศร้อนทั้งปี ประชากรก็มีอาศัยกันจำนวนไม่มาก แต่มีวัฒนธรรมอันน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ กลุ่มนักดำน้ำผู้หญิงหรือที่ถูกเรียกว่า ‘อามะ’ ซึ่งแปลว่าคนงมหอย ที่โดยปกติจะมารวมตัวกันที่ชายหาดตั้งแต่เช้าตรู่เป็นประจำทุกวันเพื่อลงไปงมหอยใต้มหาสมุทร (หอยเองมีชื่อว่า ikikai ซึ่งเป็นที่มาขงอคำว่า ikigai) และเก็บหอยกลับมาเพื่อเป็นอาหารหรือเป็นเครื่องประดับของคนในหมู่บ้าน ที่น่าสนใจคือกลุ่มอามะทำแบบนี้ในตอนเช้าของทุกๆวันไปจนกว่าร่างกายของเธอจะไม่ไหว เหมือนกับพวกเธอหลงใหลในการดำน้ำหาหอยนี้มาก
.
แต่จริงๆแล้ว หลักการอิคิไกเพิ่งมาเป็นที่รู้จักขงผู้คนทั่วโลกได้ไม่นานเมื่อ Marc Winn ได้อ่านเรื่องราวอันน่าสนใจของคนในหมู่บ้านโอกินาวา แล้วสรุปความออกมาเป็นแผนภาพเวนน์ ที่มีวงกลม 4 วงที่ซ้อนทับกนอยู่ จนเกิดเป็นวงกลมตรงกลาง ที่ตอนแรก Marc ตั้งใจให้เป็นคำว่า ‘จุดมุ่งหมาย’ แต่เพื่อความหมายอันลึกซึ้งเขาจึงเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘Ikigai’ และถือเป็นการทำให้แนวคิดอิคิไกแพร่หลายออกไปทั่วโลก
.
ส่วนตัวที่ผมชอบมากที่สุดของหนังสือ คือ การนำหลักคิดแบบอิคิไก มาเชื่อมโยงเข้ากับหนังสือชื่อดังทรงอิทธิพลทั้งหลายในโลกปัจจุบัน ตั้งแต่ การมี Growth Mindset, การลงมือทำอย่างต่อเนื่องไม่ลดละ หรือการมี Grit, การตั้งคำถามที่ทำให้เราเริ่มออกค้นหาอิคิไก จากหลักการของ Simon Sinek หนังสือ Start with Why, การค้นหาจุดแข็งของ Don Clifton จากหนังสือ Strength Finder 2.0
.
.
นอกจากนี้หนังสือยังเชื่อมโยงไปถึง หลักการทางพระพุทธศาสนา หลักการทำสมาธิให้ตัวเองตื่นรู้และมีสติตลอดเวลา ไปจนถึงทฤษฎีของนักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง Maslow เพราะจริงๆแล้วหลักการของอิคิไกก็มีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวกอยู่มาก สิ่งที่ผมสะดุดมากที่สุดจากการนำหลักอิคิไกมาเชื่อมโยงกับ ความต้องการ 5 ขั้นของ Maslow ก็คือ การที่ผู้เขียนอธิบายว่าความต้องการสี่ขั้นแรก ไล่ตั้งแต่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค, ความปลอดภัย ความรู้สึกมั่งคงทางการเงิน, ความต้องการทางสังคม, และการรู้สึกมีตัวตน รู้สึกมีค่า รู้สึกได้รับการยอมรับ เป็นสิ่งที่เราต้องการในทุกๆวัน
.
ในขณะที่ความต้องการขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด คือการรู้จักตัวตนที่แท้จริง เป็นความต้องการเพียงบางวัน บางครั้งบางคราว แต่มันกลับมีความสำคัญกับชีวิตเราในองค์รวม เพราะมันเป็นความต้องการการเติบโต การพัฒนาศักยภาพของตัวเอง การได้ใช้สิ่งที่ตัวเองมีออกไปอย่างเต็มที่ ซึ่งผู้เขียนตีความหมายสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอิคิไกของแต่ละคนนั่นเอง
.
.
.
เนื่องจากหนังสือเป็นลักษณะของ Howto ตลอดเล่มจึงมีการอธิบายว่า เราจะค้นพบอิคิไกของตัวเราได้ยังไงบ้าง โดยส่วนตัวแล้วสิ่งที่ผมคิดว่าหนังสือสื่อออกมามากที่สุดคือ เรื่องการเริ่มจากวงกลม 2 วงแรกก่อนเสมอ นั่นหมายความว่า การที่เราจะหาอิคิไกของตัวเองให้พบ เราต้องเริ่มจากการทำสิ่งที่ตัวเองรัก และสิ่งที่ตัวเองถนัด ทำมันไปเรื่อยๆ ทำมันไปทุกวัน และถ้ามันเป็นอิคิไกของเราจริงๆแล้ว วงกลมอีกสองวงที่เหลือจะเกิดขึ้นมาเอง ตัวอย่างมากมายในหนังสือก็เล่าถึงเรื่องของคนที่ทำสิ่งที่รักและสิ่งที่ถนัดอยู่ทุกๆวัน จนกลายมาเป็น youtuber ชื่อดัง หรือเป็น blogger ผู้นำทางไลฟ์สไตล์ และแน่นอนว่าพอทำสิ่งเหล่านี้มาถึงจุดหนึ่ง โลกก็จะต้องการเราเอง และเราก็ทำมันออกมาเป็นผลงาน เพื่อให้ได้รับรางวัลตอบแทนกลับมาได้
.
หนังสือมีศัพท์สวยๆของวงกลมสองวงแรกว่า ‘อิคิไกครึ่งรูปแบบ’ และมีศัพท์เรียกวงกลมทั้ง 4 วงว่า ‘อิคิไกเต็มรูปแบบ’
.
วงกลมสุดท้ายที่หนังสือพูดถึงจึงไม่ใช่การทำใน ‘สิ่งที่ได้เงิน’ แต่มันคือการทำใน ‘สิ่งที่ได้รางวัลตอบแทน’ มากกว่า ซึ่งรางวัลเหล่านี้อาจจะอยู่ในรูปแบบของการเติมเต็มความรู้สึก โอกาสในการทำสิ่งอื่นๆต่อไป หรือแม้แต่กำลังใจที่ได้รับจากคนอื่นๆซึ่งนำมาใช้เป็นแรงขับเคลื่อนที่จะตื่นขึ้นมาทำสิ่งเดิมในวันพรุ่งนี้ต่อ หนังสือจึงแนะนำไม่ให้เราเริ่มที่การเลือกทำในสิ่งที่หาเงินได้มากๆก่อน
.
นอกจากนี้แล้ว หนังสือยังมีเทคนิคในการค้นหาอิคิไกประจำตัวของเราอีกมากมายตั้งแต่ การถามเพื่อนและคนรอบตัวให้ช่วยสะท้อนตัวตน การไปขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ การฝึกตั้งสมาธิและมีสติอยู่กับสิ่งตรงหน้า รวมไปถึงการลองใช้ ‘Iki-gap years’ หรือการใช้ ‘gap year แบบผู้ใหญ่’ ซึ่งหมายถึงการลาออกจากงานมาลองค้นหาตัวเองเป็นเวลา 1 ปี โดยอาจเริ่มตั้นแต่ลงมือทำสิ่งต่างๆที่เคยลิสต์ไว้ว่าอยากทำ เดินทางท่องเที่ยว ไปทำงานอาสา หรือทำงานที่ได้ช่วยเหลือผู้คน
.
.
.
เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากนำมาเล่าให้ฟังคือ การแยกระหว่างคำว่า ‘งาน’ กับ ‘ผลงาน’ อย่างแรกคือการทำตามหน้าที่เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนไว้เลี้ยงชีพ อย่างหลังคือการทุ่มเทพลังกาย พลังใจเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่มีความหมายทั้งต่อตัวเราเองและต่อผู้อื่น
.
เราจึงควรโฟกัสไปที่การสร้างผลงานให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยใช้พรสวรรค์และศักยภาพที่เรามี ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้มักจะวนกลับมาเป็นลูป คือยิ่งเราสร้างผลงานให้คนอื่นมากเท่าไหร่ เราก็จะได้รับรางวัลตอบแทนกลับมามากเท่านั้น เหมือนวงจนอิคิไกที่วงกลมทั้งสี่วงหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
.
.
.
กล่าวโดยสรุปแล้ว หนังสืออ่านสนุก ไม่ยาวเกินไป ไม่เวิ่นว้อ และได้ข้อคิดดีๆใหม่ๆมากมาย โดยเฉพาะความเข้าใจหลักการอิคิไกอย่างเป็นรูปธรรมและการนำหลักการมาปรับใช้ในการทำงานได้ง่ายขึ้น
.
.
.
...................................................................
ผู้เขียน: Tim Tamashiro
ผู้แปล: เขมขวัญ
จำนวนหน้า: 200 หน้า
สำนักพิมพ์: เชนจ์พลัส, สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์: 1/2021
.......................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือควรอ่านก่อน30 #100ควรอ่านก่อน30 #HowtoIkigai #วิถีอิคิไก #TimTamashiro #change+
Comentários