top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว Factfulness จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน



รีวิวหนังสือ Factfulness

จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน

.

‘หนังสือที่จะมาเปลี่ยนความคิดเราว่า โลกใบนี้มันดีกว่าที่เราคิดมาก และพวกเราเองนั่นแหละที่เข้าใจผิดคิดลบไปไกล’

.

ต้องบอกก่อนเลยว่า นี่ไม่ใช่หนังสือที่จะมาสอนให้เราเป็นคนคิดบวก แล้วเอาความเชื่อลบๆเกี่ยวกับโลกออกไปทั้งหมด แต่เป็นหนังสือที่จะมาตีแผ่ความจริงจากสถิติ จากตัวเลขจริงที่เก็บมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในส่วนต่างๆของโลก และจากผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติและแพทย์ผู้เดินทางไปยังดินแดนทั่วโลก

.

คนเขียนไม่ใช่พวกโลกสวย แต่เป็น ‘พวกมองโลกตามความเป็นไปได้’ หรือมองโลกตามสถิติ ข้อเท็จจริง และสิ่งที่มันควรจะเป็น

.

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการตีแผ่ความเข้าใจข้อเท็จจริงของโลกหลายๆประการ และวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้คนเรามักมองโลกแย่กว่าที่มันควรจะเป็น และนี่ก็คือสาเหตุที่หนังสือโฆษณาไว้บนปกว่า เป็นหนังสือที่ บิล เกตส์ ซื้อแจกนักศึกษาจบใหม่ทุกคนในอเมริกา

.

........................................................................................................................................

.

หนังสือเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ 13 คำถามอย่างเช่น

ข้อ 1. ในประเทศทั้งหมดในโลกที่มีรายได้น้อยทุกวันนี้ มีเด็กผู้หญิงจำนวนเท่าไหร่ที่จบการศึกษาระดับประถม

A) ร้อยละ 20

B) ร้อยละ 40

C) ร้อยละ 60

.

.

ข้อ 3. ใน 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนประชากรโลกที่อยู่อย่างยากจนข้นแค้นมีจำนวน

A) เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

B) เท่าเดิม

C) ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง

.

.

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าคนทั่วๆไปเมื่อเห็นคำถามสองข้อนี้เป็นครั้งแรก ก็คงจะเลือกตอบข้อ A ด้วยกันทั้งสองข้อ (รวมถึงตัวผมด้วยที่เลือกตอบ A ทั้งสองข้อ) ซึ่งก็ไม่น่าแปลก เพราะทุกๆวันนี้ที่เรารับข่าวสาร หรือข้อมูลต่างๆที่เราเห็นในอินเตอร์เน็ตก็มักจะชี้ให้เราเชื่อไปว่า โลกใบนี้มันแย่เหลือเกิน ปัญหาต่างๆในโลกมันปะทุรุนแรงขึ้นในทุกๆวัน

.

แต่ความจริงแล้ว ผู้เขียนเฉลยไว้ชัดเจนว่า คำตอบของทั้งสองข้อนี้คือ C ซึ่งหมายความว่า โลกใบนี้อาจไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด และโลก ณ ปัจจุบันก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

.

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กาประเมินแบบทดสอบทั้ง 13 ข้อที่ว่านี้ มีคนตอบถูกเป็นสัดส่วนน้อยมาก โดยเฉพาะผู้ทำแบบทดสอบจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา ประเทศในทวีปยุโรป และญี่ปุ่น ที่บอกว่าน้อยมากนี่คือ ตอบถูกเฉลี่ยแค่ 2 ข้อนะครับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถูกน้อยกว่าการเดาสุ่ม (ผู้เขียนเปรียบกับฝูงลิงชิมแปนซี ที่หยิบคำตอบมั่วๆก็ได้ประมาณ 4 ข้อแล้ว) ดังนั้นถ้าเราตอบผิดทั้งสองข้อ ก็แปลว่าเราเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่นั่นเอง ไม่เหมือนลิงแชปนซี (ฮา55)

.

......................................................................................................................................

.

และการที่คนเข้าใจโลกผิดอย่างมหันต์นี่เองที่ทำให้ผู้เขียนพยายาม ค้นคว้า วิจัย และหาสาเหตุสำคัญของการมีความเชื่อผิดๆดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนก็ได้ค้นพบว่าสาเหตุที่แท้จริงแล้วมากจากสัญชาตญาณอันเกินจริงไปมาก และมุมมองต่อโลกอันเป็นลบที่เกินจริงและติดหนึบในหัวของเรามานาน

.

สัญชาตญาณอันเกินจริงดังกล่าวก็แบ่งออกได้เป็น 10 สัญชาตญาณดังต่อไปนี้

สัญชาตญาณที่ 1: สัญชาตญาณแห่งการแบ่งแยก – แบ่งทุกอย่าเป็นสองกลุ่มที่สุดโต่ง เช่นพวกเราที่พัฒนาแล้ว กับพวกเขาที่ยังไม่พัฒนา แล้วละเลยกลุ่มที่เหลือที่อยู่ตรงกลางทั้งหมด

.

สัญชาตญาณที่ 2: สัญชาตญาณแห่งความเป็นลบ – มองทุกอย่างเป็นลบไว้ก่อน ตามที่ข่าวรายงาน หรือตามความทรงจำที่บิดเบือนของเรา โดยไม่ได้แยกแยะว่าที่มันเป็นอยู่แย่จริงๆ หรือกำลังแย่ลงกว่าแต่ก่อน และมองเห็นเรื่องลบๆก่อนเรื่องดีเสมอ

.

สัญชาตญาณที่ 3: สัญชาตญาณแห่งเส้นตรง – เรามักทึกทักไปเองว่าแนวโน้มทุกอย่างจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างเป็นเส้นตรง เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรบนโลก แต่ความจริงแล้ว ยังมีกราฟแนวโน้มอีกหลายรูปแบบที่เป็นไปได้ เช่น เส้นโค้งลง เส้นโค้งขึ้น กราฟรูปตัวเอส เป็นต้น

.

สัญชาตญาณที่ 4: สัญชาตญาณแห่งความกลัว – เรื่องที่ติดตัวอยู่ในยีนส์เรามาแต่โบราณกาล เรามักกลัวกับเรื่อง การก่อนการร้าย ภับธรรมชาติอย่างเกินจริงไปมาก อาจเพราะข่าวสารที่ถูกคัดกรองให้นำเสนอแต่เรื่องร้าย (มีแต่ข่าวเครื่องบินตก ไม่มีข่าวเครื่องบินบินถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ) การที่คิดว่าเรื่องร้ายๆจะเข้าถึงตัวเราได้ง่ายเกินจริง และที่สำคัญ จิตใจที่ไม่สงบ

.

สัญชาตญาณที่ 5: สัญชาตญาณแห่งขนาด – บางครั้งเราโดนขนาดของตัวเลขหลอกให้ตกใจ หรือเข้าใจความจริงผิดมาก เราต้องหาร และเทียบทำให้อยู่ในรูปสัดส่วนให้สามารถเปรียบเทียบตัวเลขได้อย่างสมเหตุสมผลก่อน

.

สัญชาตญาณที่ 6: สัญชาตญาณแห่งการเหมารวม – เรามักเหมารวมทุกๆอย่างจากข้อมูลที่เรามี จนลืมพินิจพิเคราะห์ถึงความแตกต่าง และสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้คนที่เราเห็นเป็นในแบบที่เราไม่ทันได้คิดก็เป็นได้

.

สัญชาตญาณที่ 7: สัญชาตญาณแห่งโชคชะตา – บางครั้งเรามักคิดว่าเพราะโชคชะตา หลายๆสิ่งหลายๆอย่างคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่จริงๆแล้วทุกๆอย่างล้วนกำลังเปลี่ยนแปลง แต่มันอาจเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนแนะนำให้ลองถามค่านิยมในสังคมในยุคเรากับยุคของปู่เราดูก็จะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้ชัดมากขึ้น

. สัญชาตญาณที่ 8: สัญชาตญาณแห่งมุมมองด้านเดียว - เรามักมองเรื่องต่างๆจากด้านที่เราถนัด หรือใช้เครื่องมือที่เราเชี่ยวชาญมองปัญหาต่างๆกมากเกินไป เราต้องฝีกมองปัญหาจากหลายๆด้าน ใช้เครื่องมือที่ต่างจากเดิม และลองฟังคนที่คิดต่างจากเราดูบ้าง

.

สัญชาตญาณที่ 9: สัญชาตญาณแห่งการตำหนิ – คนเรามักชอบมองหาคนผิด ซึ่งหลายๆครั้งก็กลายเป็นแพะรับบาป ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว ธุรกิจ ผู้ลี้ภัย ชาวต่างชาติ ผู้มีอำนาจ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยี เราควรมองหาสาเหตุของปัญหาไม่ใช่ระบุตัวคนทำผิด และควรมองหาการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบไม่ใช่ตัววีรบุรุษ

.

สัญชาตญาณที่ 10: สัญชาตญาณแห่งความเร่งด่วน - อย่าด่วนตัดสินใจ หลายๆครั้งการรีบตัดสินใจเป็นสาเหตุนำมาซึ่งการตัดสินใจผิดๆ เราลองหยุดพักหายใจ แล้วลองหาข้อมูลอื่นๆมาประกอบคำยืนยันก่อน ค่อยตัดสินใจ

.

.

เดี๋ยวยังไงถ้ามีโอกาส ผมจะมาเล่ารายละเอียดของ สัญชาตญาณจอมลวงแต่ละข้อกันอย่างละเอียดอีกทีนะครับ

.

.......................................................................................................................

ถามว่าเรารู้เรื่องเหล่านี้แล้วได้อะไร แน่นอนว่าผู้เขียนหนังสือบอกว่า อย่างแรกก็คือช่วยให้เราแน่ใจว่าตัวเองฉลาดกว่า ลิงชิมแปนซี มีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อโลก คลายความกังวลอันเกินจริง และความเครียดจากเรื่องดราม่าที่อาจไม่เป็นจริง รู้ทันสัญชาตญาณแง่ลบอันตราย และฝึกมองโลกตามความเป็นไปได้ หรือฝึกมองโลกจากข้อเท็จจริง

.

ส่วนตัวผมคิดว่า การรู้ข้อเท็จจริงก็เหมือนการได้รับรางวัลจากการมีชีวิจอยู่บนโลก เปรียบเหมือนการทำภารกิจตามหาสมบัติสักอย่าง และพอได้ค้นพบสมบัตินั้นก็คงดีใจที่ได้รู้ว่า ไอสิ่งที่เขาพูดกันมา แท้จริงแล้วมันคืออะไร และแน่นอนว่าการไม่รู้คือสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะมันสร้างความกลัว และสร้างความเชื่อผิดๆกับเรา และยังอาจทำให้เราเอาความเชื่อผิดนี้ไปเผยแพร่ต่ออีกก็เป็นได้

.

หนังสือเล่มนี้ผมเลยจัดอยู่ในหมวดความรู้ทั่วไป แน่นอนว่ามันเกี่ยวข้องการพัฒนาตัวเอง แต่การได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เหมือนเราจะรู้แต่จริงๆแล้วเราไม่รู้อะไรเลย อาจเป็นสาส์นที่สำคัญกว่าจากหนังสือเล่มนี้

.

.............................................................................................................................

.

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะแชร์ในโพสต์นี้คือ เรื่องระดับรายได้ของประชากรในโลก 4 ระดับ (ซึ่งอยู่ในหัวข้อสัญชาตญาณข้อแรก) แก่นของเรื่องนี้คือการอธิบายชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนตามระดับของเงินที่หาได้ต่อวัน โดยแบ่งเป็นสี่ระดับ และข้อมูลทางสถิติบอกว่าอัตราส่วนของผู้คนลนโลกที่อยู่ในระดับที่ 1: ระดับที่ 2: ระดับที่ 3: ระดับที่ 4 คือ 1:3:2:1

.

โดยถ้าอธิบายสั้นๆสำหรับภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละระดับคือ

ระดับที่ 1: มีรายได้ 1 ดอลลาร์ต่อวัน ต้องเดินวันละมากกว่า 1 กิโลเท้าเปล่าเพื่อไปตักน้ำจากบ่อโคลนสกปรก ใช้ฟืนประกอบอาหาร กินข้าวบดสีเทาที่ปลูกเอง อดอาหารบ้างเป็นบางครั้งเพราะไม่มีอะไรจะกิน ถ้าป่วยไม่มียารักษาโรค ตายได้ทุกเมื่อ เป็นความยากจนข้นแค้นขั้นสุด การจะขึ้นไประดับที่ 2 ต้องมีชีวิตให้รอดและขายผลผลิตที่เหลือให้มากพอ (ประชากรประมาณ 1พันล้านคนทั่วโลก มีชีวิตอยู่ในระดับนี้)

.

ระดับที่ 2: มีรายได้ 4 ดอลลาร์ต่อวัน มีเงินมากพอที่จะซื้อรองเท้า ซื้อจักรยาน ใช้เวลาไปตักน้ำเหลือเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง มีเงินมากพอที่จะซื้อผัก ซื้อไข่ไก่ โดยไม่ต้องปลูกเอง มีเงินมากพอที่จะซื้อเตาแก๊ส แต่ไม่พอที่จะซื้อตู้เย็น มีไฟฟ้าใช้พอสมควร แต่ถ้าเจ็บป่วยก็ต้องขายสินทรัพย์เพื่อแลกกับยา และมีโอกาสตกไปอยู่ในระดับที่ 1 อีกครั้ง ส่วนการจะขึ้นไประดับที่ 3 ต้องหางานในโรงงานเสื้อผ้าท้องถิ่นให้ได้ (ประชากรประมาณ 3 พันล้านคนทั่วโลก มีชีวิตอยู่ในระดับนี้)

.

ระดับที่ 3: มีรายได้ 16 ดอลลาร์ต่อวัน แต่แลกมากับการทำงานหนักกว่าวันละ 16 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน แต่มีชีวิตที่ดีขึ้น มีตู้เย็น มีก๊อกน้ำประปา ไม่ต้องไปตักน้ำในบ่ออีกต่อไป มีมอเตอร์ไซค์เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก เจ็บป่วยก็มีเงินเก็บเพียงพอที่จะรักษา และถ้าสามารถส่งลูกหลานเรียนจบมัธยมปลายได้ ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวและยกระดับไปที่ระดับที่ 4 ได้ (ประชากรประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลก มีชีวิตอยู่ในระดับนี้)

.

ระดับที่ 4: มีรายได้มากกว่า 32 ดอลลาร์ต่อวัน เรียนในโรงเรียนอย่างน้อย 12 ปี มีรถยนต์ขับ นั่งเครื่องบินไปเที่ยวพักผ่อนต่างประเทศได้ กินข้าวนอกบ้านได้เดือนละหลายครั้ง เป็นผู้บริโภคที่ร่ำรวย ซึ่งก็คือผู้อ่านทุกคนนั่นเอง ผมเชื่อว่าตัวผมและเพื่อนๆรอบตัว รวมถึงคนรู้จักของผมทั้งหมดก็มีชีวิตอยู่ในระดับนี้ ซึ่งจริงๆแล้วผู้เขียนเล่าว่ากลุ่มพวกเรานี่แหละที่มักมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโลกใบนี้ และมักมองคนอีก 6 พันล้านคนที่เหลือแบบผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง (ประชากรประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลก มีชีวิตอยู่ในระดับนี้)

.


ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ผมอ่านแล้วตกใจ และรู้สึกดีกับชีวิตที่เป็นอยู่ของตัวเองไปพร้อมๆกัน ไม่น่าเชื่อว่าคนส่วนใหญ่บนโลกยังมีชีวิตที่แย่กว่าที่เราเป็นอยู่กันมาก โดยเฉพาะคนในระดับที่ 1 ที่ยังต้องอดเมื้อกินมื้อ และขาดการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

.

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดจริงๆที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ และเราควรจะอ่านกันก่อนอายุ 30 อย่างมาก คือเรื่องข้อเท็จจริงของโลกใบนี้ที่เรายังไม่รู้กันอีกมาก

.

พวกเราที่ใช้ชีวิตกันมาแบบสบายๆ ไม่ต้องเดือดร้อนทุกข์ยากอะไร และมักมีมุมมองต่อคนไกลๆส่วนอื่นของโลกผิดเพี้ยนไป ยิ่งควรเข้ามาอ่านข้อเท็จจริงในหนังสือเล่มนี้กันใหญ่ เราจะได้เข้าใจโลกมากขึ้น อินไปกับเรื่องราวของคนที่อยู่ส่วนอื่นของโลกมากขึ้นแต่อยู่บนฐานของความเข้าใจที่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่มองคนเหล่านั้นแย่จนเกินไป หรือไม่ไปคิดว่าโลกมันเลวร้ายจนเกินเยียวยาแล้ว

.

เพราะจริงๆแล้ว พวกเราทุกคนอาจมีส่วนช่วยให้ โลกใบนี้ดีขึ้นในทุกๆวันก็เป็นได้

.

.

.

………………………………………………………………………………………………………

ผู้เขียน: ฮันส์ โรสลิง,โอลา โรสลิง,อันนา เรินน์ลุนด์

ผู้แปล: นพ. นที สาครยุทธเดช

สำนักพิมพ์: AmarinHow To, สนพ.

จำนวนหน้า: 368 หน้า

เดือนปีที่พิมพ์: 5/2019

………………………………………………………………………………………………………

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

.

#Factfulness #จริงๆแล้วโลกดีขึ้นทุกวัน #ฮันส์โรสลิง #โอลาโรสลิง #อันนาเรินน์ลุนด์ #นพ.นทีสาครยุทธเดช #AmarinHowTo


199 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page