รีวิว Atomic Habit เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น
.
‘Tiny Changes, Remarkable Results’ เปลี่ยนนิสัยของตัวเองเพียงวันละ 1% พอสะสมไปเรื่อยๆ ในหนึ่งปีเราก็จะดีกว่าเดิม 37 เท่าแล้ว
.
เป็นเหมือนการอ่านภาคต่อของหนังสือ The Power of Habit แต่เล่มนี้เน้นไปที่ howto เปลี่ยนนิสัยของตัวเอง สร้างนิสัยดีๆ กำจัดนิสัยแย่ๆ ค่อยๆเปลี่ยนในหลักวันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาว มีการระบุวิธีการเปลี่ยนและตัวช่วยต่างๆที่ชัดเจน ต่างกับเล่มแรกที่ดูจะเน้นไปที่หลักวิทยาศาสตร์เบื้องหลังการก่อตัวของนิสัยมากกว่า
.
Atomic Habit ก็คือนิสัยเล็กๆในแต่ละวัน ที่พอรวมเข้าด้วยกันหลายๆวันแล้ว จะกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล แต่ความเป็นจริงก็คือมันตะต้องผ่านจุดเปลี่ยนผัน เหมือนเป็นจุดที่น้ำแข็งละลายก่อน นิสัยใหม่ถึงจะก่อตัวขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่ทำให้คนมากมายล้มเลิกความตั้งใจจากการสร้างนิสัยใหม่ไปเสียก่อน
.
อะตอมเล็กๆเป็นเพียงส่วนประกอบของโมเลกุล นิสัยก็เป็นส่วนประกอบของสิ่งที่ใหญ่กว่า การจะสร้างนิสัยได้นั้นให้โฟกัสไปที่ กระบวนการการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน นี่แทบจะเป็นคัมภีร์สำคัญของหนังสือเล่มนี้เลย ‘เน้นกระบวนการสร้างนิสัยใหม่ในแต่ละวัน เพื่อรอดูผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลง’
.
คำถามสำคัญคือ นิสัยคืออะไร เล่มนี้อธิบายสั้นๆว่า นิสัยเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาซ้ำ นานพอจนกระทั่งเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำในทุกเช้า การกินอาหารที่ประโยชน์ การออมเงิน การชมคนอื่น การอ่านหนังสือ เป็นต้น วงจรของนิสัยก็มีอยู่ 4 ลำดับคือ ปัจจัยกระตุ้น ความปราถนา การตอบสนอง และรางวัล ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ว่านิสัยเกิดขึ้นได้อย่างไรแล้ว เราก็จะอัดวิธีที่หนังสือนำเสนอเข้าไปเปลี่ยนแปลงนิสัยได้
.
หลังจากนั้นก็เป็นส่วนสำคัญของหนังสือคือ เรื่องกฎ 4 ข้อที่จะช่วยเปลี่ยนนิสัยในแต่ละวันของเราได้
.
กฎข้อที่ 1: ทำให้ชัดเจน
เป็นการกำหนดเวลาและสถานที่ในการทำนิสัยหนึ่งให้ชัดเจน อาจเอานิสัยใหม่ที่อยากให้เกิดมาต่อยอดจากนิสัยที่ทำอยู่เดิม เช่นหลังจากกินข้าวเสร็จ ฉันจะอ่านหนังสือเป็นเวลา 10 นาทีบนโต๊ะทำงาน หรือถ้าเจอบันได ฉันจะเดินขึ้นแทนการขึ้นลิฟต์เพื่อเป็นการออกกำลังกาย หรือถ้าฉันอยากได้อะไร ฉันจะรอ 24 ชั่วโมงก่อนตัดสินใจกดสั่งซื้อ
.
นอกจากนี้ยังอาจใช้การจัดปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างนิสัยดี และไม่เอื้ออำนวยต่อนิสัยที่ไม่ดี เช่น การกำหนดพื้นที่ให้สามารถแยกแยะได้ง่าย เช่นพื้นที่ห้องนี้สำหรับการนอน อีกห้องสำหรับการทำงาน หรือการเอาโทรศัพท์ไปไว้ไกลๆเมื่อต้องการมีสมาธิในการเขียนงาน หรือถ้าเราใช้เวลากับ social media มากเกินไปก็กดยกเลิก Facebook ในมือถือดีกว่า
.
กฎข้อที่ 2: ทำให้น่าดึงดูดใจ
เป็นการให้รางวัลกับตัวเองสั้นๆเพื่อสร้างแรงจูงใจ เวลาเราต้องทำสิ่งที่ต้องทำ (แต่อาจไม่อยากทำ) หรือต้องออกแรงพยายามได้สำเร็จ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สมองหลั่งโดปามีน ทำให้เรารู้สึกพอใจเป็นครั้งคราว เช่น หลังพักเที่ยง ฉันจะโทรหาลูกค้าสำคัญ 3 คน พอโทรหาลูกค้าครบ 3 คนแล้ว ฉันจะนั่งไถ Facebook เช็คผลกีฬาที่อยากรู้ได้
.
นอกจากนี้เรายังอาจพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสังคมที่มีพฤติกรรมที่เราอยากทำเป็นบรรทัดฐานของกลุ่มอยู่ เพราะเรามักจะถูกหล่อหลอมโดยค่านิยมของคนรอบตัว ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง คนมีอำนาจ คนมีอิทธิพล เรื่องนี้ทำกันจนถึงการเปลี่ยนความเชื่อ ที่เราจะต้องปรับทัศนคติต่อพฤติกรรมหนึ่งๆด้วย เช่น เปลี่ยนจากการมองการออกกำลังกายว่าเป็นภาระ เป็นการสร้างโอกาสให้ร่างกายได้แข็งแรง สุขภาพได้รับการเยียวยา อารมณ์ได้สดชื่น เป็นต้น
.
กฎข้อที่ 3: ทำให้เป็นเรื่องง่าย
แน่นอนว่าคนเราไม่ชอบทำอะไรที่มันยุ่งยาก ต้องออกแรงมาก เราจึงควรจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างนิสัยของเราให้มากที่สุด เช่น ถ้าจะตื่นไปวิ่งออกกำลังกายตอนเช้า ก็สวมรองเท้าวิ่งไว้เลย ใส่ชุดวิ่งตอนนอนด้วย ตื่นมาจะได้ลุกขึ้นไปวิ่งได้ทันที หรือถ้าอยากวาดรูป ก็จัดปากกา ดินสอ กระดาษบนโต๊ะทำงานให้พร้อมสำหรับการลงมือทำ และอย่ามัวแต่ไปคิดแผนมาก ให้เริ่มทำไปเลย ยังไงกระบวนการเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำอยู่แล้ว
.
นอกจากนี้อาจแบ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นยาก หรือต้องใช้ความพยายามมากออกมาเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นง่ายๆก่อน แล้วค่อยเพิ่มระดับความยากทีหลัง เช่นถ้าจะวิ่งมาราธอน ก็เริ่มจากการเดินให้ครบ 10 นาทีก่อน แล้วค่อยเพิ่มระดับเป็น เดินให้ครบ 10,000 ก้าว วิ่งให้ครบ 10 กิโล และข้ามไปที่วิ่งมาราทอน เอากฎ 2 นาทีที่หนังสือเสนอมาลองใช้ดู คือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ให้เริ่มทำ 2 นาทีแรกก่อน เดี๋ยวเราก็จะค่อยๆสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมาเอง
.
กฎข้อที่ 4: ทำให้น่าพึงพอใจ
เป็นกฎที่เอาไว้ช่วยให้เราพัฒนานิสัยต่อไปได้ในระยะยาว เพราะหลายๆนิสัยให้รางวัลตอบแทนในระยะยาว แต่เป็นเหมือนการลงโทษในระยะสั้น เช่นการอ่านสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย การกินผัก การออกไปวิ่งออกกำลังกาย วิธีที่จะช่วยให้เราทำนิสัยพวกนี้ได้ต่อเนื่องคือการติดตามวัดผล และพยายามให้ feedback กับตัวเอง เป็นการ track ดูว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายแค่ไหนแล้ว เราต้องพัฒนาปรับปรุงในจุดไหนอีก
.
รวมไปถึงการป่าวประกาศแผนการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เพื่อน หรือคนอื่นเป็นพยาน เพราะคนเรามักจะอับอายถ้ารู้ว่า เราทำตามแผนไม่สำเร็จ และมีคนอื่นที่รับรู้แผนเราอยู่ด้วย
.
สองสิ่งสุดท้ายที่หนังสือเน้นย้ำคือ การที่เราเลือกสนามแข่งให้เหมาะสมกับพันธุกรรมของเรา เพื่อจะเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ ตัวอย่างที่หนังสือยกมาอย่างสรีระที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของนักวิ่งระยะไกล และนักว่ายน้ำ ถ้าเราเลือกสนามแข่งที่ตรงกับสรีระร่างกายของเรา เราก็จะสร้างความได้เปรียบที่มากกว่า ทริคก็คือลองมองหาสนามการแข่งขันที่เราได้ใช้ศักยภาพของเราอย่างเต็มที่ ไม่ง่ายจนเกินไป และไม่โหดจนเกินไป
.
ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ การไม่ยึดติดกับตัวตนเดิมของเรา เพื่อให้เราได้สร้างนิสัยใหม่ พฤติกรรมใหม่ๆ ก้าวไปสู่ความเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องใช้สิ่งยึดติดเดิมๆอย่าง ฉันเป็น CEO ที่เก่งที่สุด ฉันเป็นนักกีฬาเหรียญทอง ฉันเป็นทหารที่ชนะสงคราม เพราะถ้าวันหนึ่ง เราสูญเสียตัวตนเปลือกนอกเหล่านี้ไป เราก็ยังมีคุณค่าในแบบอื่นๆได้
.
โดยรวมแล้วอ่านสนุกมาก หลายๆเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เหมือนจะเขียนๆกันมาในหนังสือพัฒนาตัวเองเล่มอื่นๆแล้ว แต่การเล่าเรื่องของผู้เขียนทำให้เล่มนี้อ่านเพลินมาก มีตัวอย่างที่น่าสนใจ และข้อสรุปจากตัวอย่างที่เอามาประยุกต์ใช้ได้
.
สิ่งที่ผมว่าหนังสือน่าจะทำได้ดีกว่านี้คือเรื่องของการจัดหมวดหมู่ทริคต่างๆในการพัฒนานิสัย ส่วนตัวมีความรู้สึกถึงความทับซ้อนของหลายๆหมวด ทำให้คนอ่านจำทริคไปใช้ยากขึ้น ตัวอย่างเช่น เรื่องการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการทำพฤติกรรมใหม่ๆ ผมรู้สึกว่ามีแทรกเข้าไปอยู่ในกฎทุกข้อ คือผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก จนอาจจะมากที่สุด แต่ถ้าจัดกลุ่มให้ชัดเจน ก็จะทำให้คนอ่านจำกฎแต่ละข้อได้ดียิ่งขึ้น
.
สำหรับเหตุผลที่ควรอ่านก่อนอายุ 30 มีหลักๆ 3 ข้อนะครับ
ข้อแรก : เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนิสัยเล็กๆในแต่ละวัน
เพราะว่าถ้าเราสร้างนิสัยดีดีได้เร็ว และเลิกนิสัยที่คอยดูดเวลาของเราไปในแต่ละวัน เราก็จะยิ่งมีโอกาสในการประสบความสำเร็จมากขึ้น ตัวอย่างเช่น นิสัยการเก็บออมเงิน นิสัยการออกกำลังกาย การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือเลิกนิสัยติดโซเชียล นิสัยติดซีรีย์เป็นต้น
.
ข้อสอง: เพื่อลองนำทริคที่หนังสือ เสนอไปใช้กับการฝึกเปลี่ยนนิสัยจริง
ไม่ว่าจะเป็นกฎการเริ่มทำเรื่องง่ายๆ 2 นาที การพาตัวเองไปอยู่ในสังคมวัฒนธรรมที่มีพฤติกรรมที่เราต้องการจะเป็น รวมถึงการสร้างปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดนิสัยใหม่
.
ข้อสาม: เพื่อเป็นแรงผลัดกันในการเปลี่ยนแปลงนิสัย
หนังสือมีตัวอย่างมากมายในเล่มที่ล้วนเป็นคนที่สำเร็จในการเปลี่ยนแปลงนิสัย สร้างนิสัยที่ดี อย่างการลดน้ำหนัก และเลิกนิสัยที่ไม่ดี อย่างการสูบบุหรี่
.
โดยรวมแล้วครบรสชาติมากครับ มีทั้งตัวอย่าง มีทั้งหลักการทางวิทยาศาสตร์ คำอธิบายอย่างละเอียด และกราฟที่แสดงผลลัพธ์งานวิจัยอันน่าทึ่ง 300 กว่าหน้าอ่านเพลินๆไม่กี่วันก็จบแล้วครับ
.
.
.
60 ข้อควรรู้ก่อนอายุ 30 จากหนังสือ Atomic Habits
.
1. ความสำเร็จเป็นผลมาจากนิสัยที่ทำเป็นกิจวัตร ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งเดียวในชีวิต
.
2. สร้างนิสัยดีๆให้ตัวเองเพียงวันละ 1% เราจะพัฒนาตัวเองไปมากถึง 37 เท่าใน 1 ปี
.
3. นิสัยเหมือนดอกเบี้ย มันจะทบต้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราสั่งสมแต่ความเครียด เราก็จะกลายเป็นคนขี้หงุดหงิดและเสียสุขภาพในที่สุด แต่ถ้าเราสั่งสมแต่ความรู้ จากการอ่านหนังสือ หรือฟังคนสำเร็จ เราก็จะมีไอเดียดีๆตุนไว้มาก โลกทัศน์ของเราก็จะกว้างไกล และโอกาสต่างๆก็จะลอยมาหามากกว่าคนอื่น
.
4. ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการสะสมจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราทำจนผ่านจุด trigger point จุดหนึ่ง ระหว่างนั้นผู้เขียนเล่าว่ามันเป็น ภาวะแห่งศักยภาพที่ซ่อนเร้น เราจึงต้องอดทนจนกว่าศักยภาพของเราจะผ่านจุดนั้นและได้มีโอกาสปลดปล่อยออกมาจริงๆ
.
5. ตั้งเป้าหมายไว้ แล้วลืมไปซะ โฟกัสไปที่กระบวนการในการทำให้มันเกิดแทน โฟกัสไปที่นิสัยเล็กๆในแต่ละวัน
.
6. อะตอมเป็นเพียงสิ่งเล็กๆของโมเลกุลที่ใหญ่กว่า นิสัยก็เป็นสิ่งเล็กๆสำหรับผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเช่นกัน
.
7. การเปลี่ยนนิสัยอย่างมีประสิทธิภาพคือ การให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราอยากจะเป็น ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เราต้องการเฉยๆ
.
8. การเปลี่ยนแปลงนิสัยในระดับที่ลึกที่สุดนั้น คือการเปลี่ยนความเชื่อที่เรามีต่อตัวตนของตัวเราเองได้
.
9. นิสัยคือ พฤติกรรมที่แสดงออกซ้ำ นานพอที่จะกลายเป็นการกระทำอย่างอัตโนมัติ
.
10. จุดประสงค์ของการมีอยู่ของนิสัยคือ การใช้มันแก้ปัญหาชีวิตโดยใช้พลังและความพยายามอย่างต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
.
11. นิสัยทุกรูปแบบมี 4 กระบวนการที่เหมือนกันคือ ปัจจัยประตุ้น ความปราถนา การตอบสนอง และรางวัล
.
12. กฎ 4 ข้อของการเปลี่ยนแปลงนิสัยคือ การทำให้ชัดเจน การทำให้น่าดึงดูด การทำให้เป็นเรื่องง่าย การทำให้น่าพึงพอใจ
.
13. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต้องเริ่มจากการมีสติรู้ตัวเสมอ เราต้องรู้ตัวก่อนว่านิสัยเดิมของเราคืออะไร ก่อนจะลงมือเปลี่ยนมัน
.
14. สูตรลัดในการสร้างนิสัยใหม่ให้สำเร็จคือ การใช้กลยุทธ์จับคู่นิสัยใหม่กับเวลา และสถานที่ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน
.
15. อีกสูตรลัดสู่การนิสัยใหม่อย่างมีประสิทธิภาพคือ การจับคู่นิสัยใหม่ให้เข้ากับนิสัยเดิมที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน
.
16. จงจัดปัจจัยกระตุ้นนิสัยใหม่ที่ดีไว้ในสภาพแวดล้อมที่เห็นได้อย่างชัดเจน
.
17. นิสัยของเราไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยประตุ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับบริบทแวดล้อมด้วย
.
18. กลวิธีในการกำจัดนิสัยแย่ๆ คือ การทำให้นิสัยแย่ๆนั้นคลุมเครือ เห็นไม่ชัดเจน
.
19. การควบคุมตัวเองเป็นกลวิธีที่ได้ผลในเวลาสั้นๆ แต่ไม่ใช่ในระยะยาว
.
20. ความคาดหวังว่าจะได้รางวัลเป็นสิ่งที่ทำให้เราแสดงพฤติกรรมออกมา ไม่ใช่รางวัลจากการกะทำนั้น เพราะนี่เป็นกลไกการหลั่งโดปามีน
.
21. ใช้วิธีจับคู่พฤติกรรมที่เราอยากทำ กับพฤติกรรมที่เราต้องทำ เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดให้พฤติกรรมที่เราต้องทำ
.
22. ยิ่งพฤติกรรมนั้นน่าดึงดูดเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสในการเกิดนิสัยนั้นๆมากขึ้นเท่านั้น
.
23. วัฒนธรรมที่เราอยู่ คนรอบตัว คนส่วนใหญ่ และคนมีอำนาจ มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของเราโดยไม่รู้ตัว
.
24. เคล็ดลับในการสร้างพฤติกรรมที่เราพึงประสงค์คือการพาตัวเองไปอยู่ในวัฒนธรรมที่มีบรรดัดฐานในการทำพฤติกรรมเหล่านั้น หรือยกย่องให้คุณค่ากับพฤติกรรมที่เราพึงประสงค์จะมีว่าเป็นที่ยอมรับทั่วไปของสังคม
.
25. เพราะถ้าพฤติกรรมใดน่ายกย่องนับถือ เราจะมีแนวโน้มเลียนแบบการทำพฤติกรรมนั้นโดยไม่รู้ตัว
.
26. ทุกพฤติกรรมมีแรงจูงใจอยู่ในระดับผิวเผิน และมีความปราถนาที่อยู่ในระดับลึกลงไป
.
27. นิสัยใดๆก็ตามจะน่าดึงดูดเมื่อมันถูกนำมาเชื่อมโยงกับความรู้สึกในทางบวก และจะไม่น่าดึงดูดถ้ามันถูกเชื่อมโยงกับความรู้สึกในทางลบ เราจึงต้องเลือกจับคู่นิสัยและความรู้สึกให้เหมาะสม
.
28. รูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การฝึกฝน ไม่ใช่การวางแผน
.
29. จงให้ความสำคัญกับการดำเนินการ ไม่ใช่การอยู่ระหว่างการดำเนินการ
.
30. ระยะเวลาที่เราทำพฤติกรรมใดๆก็ตาม ไม่สำคัญเท่าจำนวนครั้งในการทำพฤติกรรมนั้นๆ
.
31. เพราะการทำพฤติกรรมเดิมๆซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เราทำพฤติกรรมนั้นโดยอัตโนมัติสร้างขึ้นมาเป็นนิสัย
.
32. สร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้พฤติกรรมอันพึงประสงค์เกิดได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
.
33. สร้างสภาพแวดล้อมที่จะขัดขวางให้พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์เกิดได้ยากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
.
34. ลดอุปสรรคขัดขวางการทำพฤติกรรมที่ดี คนเรามักเลือกทำในสิ่งที่ทำได้ง่ายสุดก่อนเสมอ
.
35. ใช้กฎ 2 นาทีเริ่มต้นฝึกนิสัยที่ทำได้ง่ายที่สุดก่อน เช่นถ้าอยากวิ่งมาราธอน ก็เริ่มจากการเดินให้ได้วันละ 10 นาที แต่ทำต่อเนื่องทุกวัน
.
36. ยิ่งเราเริ่มต้นทำพฤติกรรมอันพึงประสงค์ได้ต่อเนื่องมากเท่าไหร่ เราจะมีความตั้งใจทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นเท่านั้น
.
37. สร้างมาตรฐานของตัวเองให้ได้ก่อน ที่เราจะก้าวข้ามระดับความยากขึ้นไปอีกขั้น
.
38. การตัดสินใจอะไรเพียงครั้งเดียว อาจเป็นตัวกำหนดนิสัยที่ดีของเราได้ในระยะยาว เช่น การซื้อที่นอนเพื่อสุขภาพ หรือการตัดบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ
.
39. การนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การกระทำเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างพฤติกรรมอันพึงประสงค์ได้
.
40. กฎสูงสุดของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคือ สิ่งใดได้รับรางวัลทันทีจะถูกทำซ้ำ แต่สิ่งใดได้รับการลงโทษทันทีจะถูกหลักเลี่ยง
.
41. การจะทำนิสัยหนึ่งให้ได้ต่อเนื่อง เราต้องรับรู้ถึงความสำเร็จในการฝึกนิสัยนั้นแบบทันที แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
.
42. อย่าหยุดหรือล้มเลิกการฝึกนิสัยใหม่กลางคัน โดยไม่จำเป็น
.
43. ใช้การติดตามวัดผลการสร้างนิสัยใหม่ เช่นการกากบาทลงในปฏิทินเพื่อดูว่า เราทำพฤติกรรมนั้นได้ต่อเนื่องหรือไม่
.
44. การเห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเราจะได้เห็นหลักฐานอันชัดเจนของพัฒนาการของตัวเรา
.
45. หากเราหยุดทำพฤติกรรมครั้งแรกไปแล้ว พยายามอย่างเต็มที่ที่จะหลีกเลี่ยงการหยุดเป็นครั้งที่ 2
.
46. หาพยานที่จะมาช่วยเป็นคนคุมพฤติกรรมของเรา อาจเป็นเพื่อน คนรอบตัว เพราะคนเรามักจะแคร์ว่าคนอื่นคิดกับเรายังไง และไม่อยากให้คนอื่นมองเราในด้านไม่ดี หรือทำอะไรไม่สำเร็จ
.
47. การสร้างพันธะสัญญาในการทำอะไรอย่างหนึ่ง จะช่วยเพิ่มบทลงโทษทางสังคมได้ เราจึงอาจเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับพยานที่เรากำหนดขึ้นให้ช่วยเฝ้าดูพฤติกรรมของเรา
.
48. การรู้ว่ามีคนอื่นเฝ้าดูเราอยู่ เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เราฝึกนิสัยต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
49. เลือกสนามแข่งขันที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อสร้างความได้เปรียบ และโอกาสในการชนะการแข่งขันนั้น
.
50. เลือกสร้างนิสัยที่เหมาะสมกับตัวเราเอง เพราะความสอดคล้องกับธรรมชาติของตัวเราจะช่วยทำให้นิสัยนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายโดยธรรมชาติ
.
51. พันธุกรรมจะสร้างความได้เปรียบอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย แต่จะกลายเป็นจุดอ่อนร้ายแรงในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม
.
52. พันธุกรรมไม่ได้ช่วยให้เราเลิกทำงานหนัก แต่จะบอกว่าเราควรจะทุ่มเทพลังงานที่มีให้กับการทำอะไร
.
53. ประยุกต์ใช้กฎของโกลดิล็อกส์ที่กล่าวว่า คนเราจะเกิดแรงกระตุ้นสูงสุดก็ต่อเมื่อได้ทำสิ่งที่ต้องดึงศักยภาพสูงสุดที่ตัวเองมีออกมา ไม่ง่ายจนเกินไป และไม่โหดจนเกินไป
.
54. อุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อการสร้างความสำเร็จ ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่คือความเบื่อหน่าย
.
55. ความแตกต่างจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราสามารถทำสิ่งๆหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอแม้จะเกิดความเบื่อหน่าย เพราะไม่ว่าใครก็ทุ่มเททำงานหนักได้เสมอถ้ามีแรงจูงใจที่มากพอ
.
56. การทำนิสัยได้อย่างอัตโนมัติ + การฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง = ความเชี่ยวชาญ
.
57. ข้อเสียของนิสัยคือ บางครั้งเรามักจะมองข้ามความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นได้
.
58. การวิเคราะห์ย้อนกลับคือกระบวนการทำให้เรามีสติอยู่กับการทำสิ่งๆนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ
.
59. อย่ายิดติดในอัตลักษณ์ผิวเผินที่เราเป็น เพราะถ้าเราไปยึดติดกับอัตลักษณ์เฉพาะด้านมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งก้าวหน้าได้น้อยลงเท่านั้น
.
60. ใช้กระบวนการ ทำให้เห็นชัดเจน ทำให้น่าดึงดูด ทำให้เป็นเรื่องง่าย ทำให้น่าพอใจอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่เรื่อยๆ และอย่าลืมมองหาหนทางที่เราจะดีขึ้นได้วันละ 1 เปอร์เซ็นต์
.
.
.
ซื้อหนังสือได้ที่
.
.
......................................................................................................................................
ผู้เขียน: James Clear (เจมส์ เคลียร์)
ผู้แปล: ประพาฬรัตน์ ยงมานิตชัย
สำนักพิมพ์: Change
หมวด: จิตวิทยา พัฒนาตัวเอง (howto)
จำนวนหน้า : 328
ตีพิพม์ครั้งแรก : 7/2020
................................................................................................................
.
Comments