รีวิว Who moved my cheese?
ใครเอาเนยแข็งของฉันไป
.
‘จงอย่ายึดติดกับเนยแข็งก้อนที่มีอยู่ จงเตรียมพร้อม และโอบรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ’
.
‘เนยแข็ง’เปรียบเสมือน สิ่งที่ผู้คนแสวงหาในชีวิต
เช่น งาน ความสัมพันธ์ เงินทอง บ้านหลังใหญ่ สุขภาพ ความสงบร่มเย็นในใจ ทุกคนต่างรู้ดีว่า เนยแข็งของตัวเองคืออะไร
ส่วน ‘เขาวงกต’ เปรียบเสมือน สถานที่ที่ผู้คนใช้เวลาออกตามหาสิ่งเหล่านั้น
เช่น ในองค์กรที่ทำงาน ชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่
.
ใครเอาเนยแข็งของฉันไป (Who moved my cheese?) เป็นหนังสือการปรับ mindset เรื่องการจัดการความเปลี่ยนแปลง เขียนโดย Dr. Spencer Johnson
หนังสือใช้วิธีการเล่านิทานเปรียบเทียบ ให้เห็นถึงความต่างของแนวคิดและวิธีในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงของคนแต่ละประเภท
หนังสือเล่าเรื่องผ่าน 4 ตัวละครหลัก ประกอบได้ด้วย หนู 2 ตัว และคนตัวเล็กอีก 2 คน
เป็นการเล่าแบบตอนเดียวจบในหนังสือ 100 หน้า เนื้อเรื่องสั้น ๆ ง่าย ๆไม่ซับซ้อน แต่ให้ข้อคิดที่ดีมาก ๆ
.
ตัวละคร 4 ตัวในเรื่อง คือ
1. Sniff (สนิฟ)
เป็นหนู ที่ชอบทำจมูกฟืด ๆ (ตามชื่อเลย) เพื่อเสาะหาเบาะแสของความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น และพยายามคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงไว้แต่เนิ่น ๆ
.
2. Scurry (สเคอรี่)
เป็นหนูที่วิ่งกระโจนอย่างเร่งรีบเข้าหาความเปลี่ยนแปลง (ตามชื่อเช่นกัน) อาจเรียกว่าเป็นตัวละครที่สามารถตอบสนองเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุด
.
3. Haw (ฮอว์)
คนตัวเล็ก ผู้ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในทีแรก แต่ก็ค่อย ๆ ปรับตัวแบบช้า ๆ
ค่อย ๆ เปลี่ยนmindset เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
อาจช้ากว่าหนู 2 ตัวแรก แต่ก็โอบรับการเปลี่ยนแปลง และลงมือแสวงหาเนยแข็งก้อนใหม่
.
4. Hem (เฮม)
คนตัวเล็ก ผู้ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น
เมื่อได้พบกับเนยแข็งซึ่งเป็นสิ่งที่แสวงหาแล้ว ก็มักจะดื่มด่ำอิ่มเอมกับเนยแข็งก้อนนั้น จนลืมไปว่า มันอาจไม่ได้อยู่อย่างนั้นเสมอไป
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นคนที่ไม่ปรับตัว ไม่ยอมออกไปเสาะหาเนยแข็งก้อนใหม่
เขาเอาแต่นั่งรอ และหวังเพียงแต่ให้เนยแข็งก้อนเดิมกลับมาหาเขาอีกครั้ง
.
.
เล่าสรุปเนื้อเรื่องย่อ ก็ประมาณว่า
ตัวละครทั้ง 4 ตัวต้องวิ่งเข้าไปในเขาวงกตเพื่อตามหา ‘เนยแข็งก้อนใหญ่’ ที่ซ่อนอยู่ด้านในเขาวงกตแห่งนั้นอยู่ทุกวัน
ซึ่งอยู่มาวันหนึ่งตัวละครทั้ง 4 ตัวก็ได้พบกับ ‘สถานีเนยแข็งขนาดใหญ่’ ที่ซึ่งมีเนยแข็งอยู่จำนวนมาก
ทุกคนจึงหยุดออกตามหา แล้วตัดสินใจตั้งรกรากอยู่แถวนั้นเพื่อจะได้เดินมากินเนยแข็งได้อย่างสบายในทุก ๆ วัน
.
เมื่อนานวันเข้า ความเคยชินในการเดินมากินเนยแข็งก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครทั้ง 4
แต่สิ่งที่ต่างกันคือคนตัวเล็กทั้ง 2 คือ เฮม และ ฮอว์ ‘เริ่มเอารองเท้าวิ่งไปเก็บ’ แล้วเดินเอื่อยเฉื่อยไปหาก้อนเนยแข็งในสถานี นั้น
ในขณะที่หนู 2 ตัว สนิฟ และ สเคอรี่ ‘ยังคงแขวนรองเท้าวิ่งไว้ที่คอ’ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะวิ่งกลับเข้าไปเขาวงกต ในกรณีที่เนยแข็งในสถานีนี้หมด และต้องออกตามหาสถานีเนยแข็งอันถัดไป
.
และแล้วอยู่มาวันหนึ่งเนยแข็งที่สถานีที่ทั้ง 4 อยู่ ก็หายไป ทั้ง 4 ตัวละครต่างตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่ทั้ง 4 ก็ตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวต่างกัน
และนี่เองคือไฮไลท์ของหนังสือเล่มนี้
.
หนังสือเล่าให้เห็นถึงความต่างของการตอบสนองต่อเหตุการณ์เนยแข็งที่หายไปของตัวละครทั้ง 4
โดยหนูสนิฟ และสเคอรี่ แม้จะตกใจแต่ก็เอารองเท้าที่ผูกไว้ที่คอมาใส่ แล้วออกวิ่งกลับเข้าไปในเขาวงกตเพื่อตามหาสถานีเนยแข็งแห่งถัดไปทันที
ในขณะที่ คนตัวเล็กทั้ง 2 ยังคงตกใจกับการหายไปของเนยแข็ง ไม่มีการตอบสนองต่อเหตุกาณ์ใด ๆ ยกเว้นแต่จะโทษดินฟ้าอากาศว่า ‘ใครเอาเนยแข็งของฉันไป’
.
แต่สักพักหนึ่งฮอว์ ก็เริ่มค่อย ๆ ปรับตัวได้ เขาค่อย ๆ เปลี่ยน mindset จากเป็นคนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ มายอมรับการหายไปของเนยแข็ง และเริ่มหยิบรองเท้ามาสวมเพื่ออกวิ่งตามหาเนยแข็งอีกครั้ง
ฮอว์วิ่งกลับเข้าไปในเขาวงกต และค่อย ๆ ปรับความคิดของตัวเอง
ระหว่างทางตามหาเนยแข็งก้อนใหม่นั้น เขารู้สึกท้อ และหลายครั้งก็ยังคงคิดถึงเนยแข็งก้อนที่หายไป
แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ และเดินต่อไปเรื่อย ๆ
ฮอว์ทิ้งร่องรอยไว้ตามทางเดิน เผื่อสักวันเฮมจะยอมทิ้งสถานีเนยแข็งแห่งนั้น และกลับมาเดินตามหาเนยแข็งอีกครั้งในเขาวงกต
.
เพราะแม้ฮอว์จะออกเดินไปสักพักแล้ว เฮมก็ยังนั่งจมกองทุกข์อยู่กับก้อนเนยแข็งที่หายไป
และเอาแต่หวังว่าสักวันหนึ่งเนยแข็งก้อนนั้นจะกลับมาหาเขาอีกครั้ง
.
หนังสือเน้นย้ำถึงมุมมองของฮอว์ที่ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะปรับมุมมองตัวเองเพื่อออกเดินทางตามหาเนยแข็งอีกครั้ง
ฮอว์ค่อย ๆ เรียนรู้มุมมองของหนูทั้ง 2 ตัว ที่ออกเดินนำหน้าเขาไปไกลแล้ว
และพยายามชักชวนเฮมให้โอบรับความเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนตัวเองบ้าง
.
ถ้าให้เทียบกับตัวละครทั้ง 4 ตัวนั้น
เราทุกคนควรมีคุณสมบัติแบบสนิฟ และสเคอรี่ คือ การหมั่นตรวจสอบร่องรอยความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น และการลงมือปรับแผนเมื่อความเปลี่ยนแปลงอันไม่คาดฝันเดินทางมาถึง
.
เราอาจต้องเริ่มฝึกฝนแบบฮอว์ คือค่อย ๆ ปรับ mindset การยอมรับความเปลี่ยนแปลงไปทีละนิด
อาจไม่จำเป็นต้องทำได้ตั้งแต่ครั้งแรก แต่การค่อย ๆ ฝึกตัวเองนั้น ก็จะพาเราไปสู่การเป็นคนใหม่ได้
.
แต่คนที่เราไม่ควรเอาอย่างคือเฮมที่ให้ตายยังไงก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
และเอาแต่หวังว่าโชคชะตาจะใจดีกับตัวเอง ส่งมอบเนยแข็งก้อนโตกลับมา โดยที่ไม่ต้องลงมือทำอะไร
.
ส่วนต่อไปเป็น 5 ข้อคิดที่ผมได้จากหนังสือใครเอาเนยแข็งของฉันไป นะครับ
.
1) หมั่นเสาะหาร่องรอยของความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
.
การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งสำคัญ
เพราะหลาย ๆ ครั้ง มันมักจะมีสิ่งบ่งชี้เล็ก ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอ
.
เราต้องหัดทำตัวเป็นหนูสนิฟ ที่คอยทำจมูกฟืด ๆ เสาะหาความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้
และเตรียมแผนในการรับมือการความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
เหมือนสนิฟที่เอารองเท้าห้อยไว้ที่คออยู่ตลอดเวลา
.
.
2) ลงมือปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
.
การปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงให้รวดเร็วเป็นข้อได้เปรียบ
และอาจสร้างโอกาสอื่นให้กับชีวิตของคนเราได้
.
เราต้องทำตัวเป็นหนูสเคอรี่ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เราต้องพยายามมองหาวิธีในการปรับตัวเองให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง
ในหนังสือเล่มนี้คือการวิ่งกลับเข้าไปในเขาวงกตอย่างรวดเร็วเพื่อตามหาเนยแข็งชิ้นถัดไป
ในชีวิตจริง นั่นอาจหมายถึง เราอาจต้องหางานอันใหม่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับงานที่เราทำอยู่ขึ้นมา
.
หรือแม้แต่การมองหาช่องทางการสร้างรายได้แบบใหม่
ในช่วงการระบาดของ COVID-19 จะเห็นชัดเจนมากว่า เนยแข็งของหลายคนอาจหายไปโดยไม่ทันตั้งตัว
แต่มีไม่กี่คนที่ทำตัวเป็นสเคอรี่ นั่นคือการมองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และลงมือสร้างรายได้จากโอกาสใหม่นั้นโดยเร็ว
.
.
3) องค์กรเองก็ควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ
.
องค์กรเองยังควรทำตัวเป็นหนูสนิฟและสเคอรี่ เพื่อให้ตัวเองมีโอกาสอยู่รอด
แม้ในวันนี้องค์กรจะมีสถานีรายรับขนาดใหญ่
แต่การเกิดเทคโนโลยี ดิสรับชั่น (technology disruption) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการระบาดของ COVID-19 ก็อาจทำให้สถานีดังกล่าวหายวับไปในพริบตา
.
ในช่วงการระบาดของ COVID-19 จะเห็นว่ามีหลายองค์กรที่ต้องปิดตัวลง
ธุรกิจมากมายก็ล้มหายตายจาก จากการขาดรายได้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ดังนั้นแล้ว การหมั่นตรวจหาความเปลี่ยนแปลงที่มีโอกาสเกิดขึ้น รวมถึงการลงมือปรับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างรวดเร็วนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรยุคใหม่ที่อยากแข่งขันได้ในระยะยาว
.
.
4) เลือกผู้นำที่มี mindset รับการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม
.
เรื่องแนวคิดและวิธีการในการรับการเปลี่ยนแปลงอาจกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการคัดเลือกผู้นำองค์กร หรือคนที่จะเข้าทำงานก็เป็นได้
ในมุมองค์กร แต่ละองค์กรอาจเลือกได้ว่าควรจะสนับสนุกคนประเภทไหน และคนประเภทไหนที่องค์กรทุกองค์กรคงไม่อยากเอาไว้
.
แน่นอนว่าองค์กรควรจะสนับสนุนให้คนที่เป็นผู้นำมี mindset แบบสนิฟและสเคอรี่ เป็นคนที่ปรับตัวไว มองหาการเปลี่ยนแปลงของตลาด และตัดสินใจลงมือทำอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะในยุคที่การแข่งขันรุนแรงและสมรภูมิเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
.
ผู้นำที่ฉลาดเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทำให้องค์กรอยู่รอด แต่จะต้องเป็นคนที่ปรับตัวเร็วด้วย
.
.
5) เมื่อต้องเปลี่ยนแปลง จงมีความสุขไปกับมัน อย่าไปจมกับสิ่งที่เคยมีในอดีต
.
เห็นได้จากตัวละครฮอว์ที่ตอนแรกไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ก็ค่อย ๆ ปรับmindset ตัวเองจนยอมโอบรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ช่วงแรก ๆ ฮอว์ยังคงคิดถึงเนยแข็งก้อนเก่า และไม่อยากเดินทางต่อไปในเขาวงกต
แต่เมื่อเขาคิดได้ เขาก็พยายามโฟกัสอยู่กับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน
เลิกสนใจเนยแข็งก้อนเดิมในอดีต
และพุ่งเป้าไปที่การตามหาเนยแข็งก้อนใหม่
.
ชีวิตจริงเราก็ไม่ต่างอะไรกัน ทางเดียวที่จะมีความสุขเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น คือการมีความสุขไปกับมัน
มองมันเป็นเรื่องสนุก และออกผจญภัยไปในเขาวงกตแห่งชีวิตอีกครั้ง
.
.
.
สุดท้ายนี้อาจสรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และมันมักจะมาในเวลาที่เราไม่คาดฝัน
เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้ตลอดเวลา
และที่สำคัญลองอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อตกผลึกเป็นไอเดียในการน้อมรับการเปลี่ยนแปลงกันเถิดครับ
.
.
………………………………………………………………………………………………………………….
ผู้เขียน : M.D. Spencer Johnson
ผู้แปล: ประภากร บรรพบุตร
สำนักพิมพ์ : นานมีบุ๊คส์
จำนวนหน้า: 92 หน้า
แนวหนังสือ: การพัฒนาตัวเอง
ชื่อเรื่องต้นฉบับ: Who Moved My Cheese?
เดือนปีที่พิมพ์: 2001
………………………………………………………………………………………………………………….
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #whomovedmycheese #ใครเอาเนยแข็งของฉันไป
Comments