รีวิวหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว
- หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
- Apr 24, 2020
- 1 min read
Updated: Sep 15, 2021

.
.
รีวิว ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว
The life-changing magic of tidying up
.
.
หนังสือที่เหมาะกับสถานการช่วงนี้มากๆ เพราะหลายๆคนต้องอยู่บ้าน และ work from home ตอนที่พักจากการทำงานเหนื่อยๆหลายชม.ติดต่อกัน ก็อย่ากระนั้นเลยครับ เรามาจัดบ้านกันดีกว่า
.
ความจริงคือผมทนไม่ไหวแล้วกับกระแสความดังของ มาริเอะ คอนโดะ คือต้องยอมรับว่า ผมได้ยินเรื่องราวการจัดบ้านของมาริเอะ คอนโ สาวญี่ปุ่นตัวเล็กหน้าตาสดใสนี่มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือสักที จนกระทั่งล่าสุดคือ ไปดูหนัง How to ทิ้ง แล้วก็แน่นอนว่าต้องมีการอ้างอิง ‘spark joy’ กับมาริเอะ แน่นอน พอดูเสร็จผมก็เลยต้องหยิบหนังสือมาอ่านทันที ฮ่าๆ
.
เรียกว่า มาริเอะ คอนโด และวิธีการแบบคอนมาริ นี่ไม่ได้ดังเฉพาะในญี่ปุ่นกับไทยเท่านั้นนะครับ เพราะอาจารย์ชาวอเมริกันที่สอนคลาสปริญญาเอกที่ผมเรียนอยู่ ก็รู้จักหญิงสาวคนนี้เช่นกัน เขาก็เรียกว่า มารีๆ ตอนแรกๆผมก็นั่งฟังอยู่ว่าหมายถึงใคร (ฮ่าๆ)
.
ต้องออกตัวก่อนเลยครับว่า ผมไม่เคยสนใจเรื่องการจัดบ้านมาก่อนเลย แต่พอมาอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็พบว่า เออมีหลายอย่างตรงกับตัวผมเหมือนกันแฮะ ทั้งเรื่องการชอบเก็บของเพราะความเสียดาย การคิดไว้ว่าน่าจะได้เอากลับมาใช้อีกในอนาคต หรือการทิ้งไม่ลงเพราะของมันมีความผูกพันอยู่กับอดีต จริงๆแล้วผมเองก็มีลักษณะเหมือนคนแบบที่หนังสือบอกเปี๊ยบเลย
.
.

.
.
สรุปเนื้อหาสำคัญๆ ที่ผมได้หลังอ่าน 7 ข้อนะครับ
.
1) ว่ากันด้วยประวัติของคนเขียนกันก่อน มาริเอะ คอนโดะ เล่าตลอดเล่มว่าเธอเป็นคนที่คลั่งไคล้การจัดบ้านมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เวลาเธอเห็นห้องรกๆ ไม่เป็นระเบียบ เธอจะทนไม่ได้ และต้องเข้าไปจัด ไม่เพียงแต่ห้องตัวเองเท่านั้น เธอยังเข้าไปจัดห้องคนในครอบครัว ห้องเรียนในโรงเรียน และตู้ล๊อกเกอร์ในโรงเรียนอีกด้วย พอโตขึ้นมาเธอเลยค่อยๆใช้เทคนิคการจัดบ้านที่ฝึกฝนมา มาเปิดธุรกิจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดบ้านและเปิดเป็นหลักสูตรอบรมการจัดบ้านแบบเต็มตัว ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหลักสูตรที่ดังทั้งในญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ เธอเน้นว่า ลูกค้าทุกคนที่เข้ามาเรียนหลักสูตรของเธอ พอจบหลักสูตรไปไม่เคยมีใครต้องมาเรียนซ้ำแม้แต่คนเดียว
.
2) หลักการในการจัดบ้านนั้น จริงๆมีแค่สองส่วน คือ การทิ้งของที่ไม่จำเป็น และการจัดของเก็บไว้ให้เป็นที่เป็นทาง จำไว้เสมอว่าเราควรทิ้งของออกก่อนเสมอ ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าเราไม่ได้ทิ้งอะไร และของที่เหลือก็ยังคงมีปริมาณมาก ทำให้บ้านยังรกเหมือนเดิม
.
3) ใช้หลักการ ‘spark joy’ หรือในหนังสือใช้คำภาษาไทยว่า ‘ปลุกเร้าความสุข’ คือการให้เราหยิบสิ่งของขึ้นมาถือไว้ในมือ ทีละชิ้นๆและถามตัวเองว่า สิ่งของชิ้นนี้ spark joy กับเราหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ‘ใช่’ ก็แปลว่าเรายังควรเก็บสิ่งนั้นไว้ แต่ถ้าคำตอบคือ ‘ไม่’ ก็แปลว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะทิ้งสิ่งของนั้นไป ให้เราทำอย่างงี้กับสิ่งของทุกๆชิ้น แล้วจะพบว่ามีสิ่งของเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่ทำให้เรา spark joy ได้จริงๆ
.
4) เวลาจัดบ้านให้ทำแบบรวดเดียวเสร็จ ไม่ควรทำแบบกระปริบกระปรอย วันละนิด วันละหน่อย เพราะจะทำให้การทิ้งของไม่บรรลุตามเป้า และของใหม่ที่เข้ามาในบ้านก็จะมีเพิ่มเรื่อยๆจนบ้านรกเหมือนเดิม
.
5) การทิ้งของและจัดบ้านแบบรวดเดียวเสร็จนั้น ควรจะจัดโดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ และควรเริ่มจัดจากหมวดหมู่ที่จัดง่าย จนไปถึงหมวดหมู่ที่จัดยากขึ้น กล่าวคือ เริ่มจาก เสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร ของจิปาถะ (komono) ของที่มีคุณค่าทางจิตใจ และปิดท้ายด้วยภาพถ่าย โดยเราจะเห็นได้ว่า เราควรเก็บของที่มีคุณค่าทางจิตใจและภาพถ่ายไว้ทีหลัง เพราะว่าเป็นของที่เราตัดสินใจทิ้งได้ยาก และเราควรจะฝึกทักษะการตัดสินใจทิ้งด้วยวิธี spark joy จากหมวดหมู่อื่นๆมาก่อน จึงค่อยมาทำกับของที่จัดการได้ยาก (ใครดู how to ทิ้งแล้วจะจำได้ว่า ภาพถ่ายเป็นสิ่งสุดท้ายที่นางเอกตัดสินใจทิ้ง)
.
6) สาเหตุหลักๆ 2 สาเหตุที่ทำให้เราทิ้งของไม่ลง คือ เราคิดว่าของเหล่านั้นเป็นที่ระลึกถึงโมเม้นดีๆในอดีต และ เราคิดว่าเราจะได้กลับมาใช้ของสิ่งนั้นอีกในอนาคต พูดสั้นๆง่ายๆก็คือ เรายังยึดติดกับ ‘อดีต’ และเรายังคงกังวลกับ ‘อนาคต’ ที่มาไม่ถึง มาริเอะ คอนโดะแนะนำเลยว่าเราไม่ควรมีชีวิตอยู่กับทั้งในอดีตและในอนาคต แต่เราควรจะมีชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบันในวันนี้ สิ่งของที่เราควรมีไว้ในบ้านคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ณ ปัจจุบันของเรา ไม่ใช่ตัวเราในอดีต และไม่ใช่กับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
.
7) การใช้หลักการที่มองว่า สิ่งของทุกสิ่งที่เป็นของเรา เกิดมาเพื่อให้เราได้ใช้ประโยชน์อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เราควรจะขอบคุณสิ่งของเหล่านั้นที่ทำให้เรามีชีวิตในวันนี้ได้ และถ้าสิ่งของไหนไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไปแล้ว ก็เหมือนกับว่ามันได้สิ้นสุดการทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว เราจึงควรกล่าวขอบคุณและกล่าวอำลาสิ่งของนั้น ปลดปล่อยสิ่งของนั้นออกไปจากเรา ทิ้งมันไปซะ
.
โดยรวมแล้ว เป็นหนังสือ non-fiction ที่อ่านไปแล้วก็เหมือนมาริเอะมาเล่าเรื่องให้เราฟังเรื่อยๆ ถึงประสบการณ์การจัดบ้านของลูกค้าที่เธอเจอมา ก็มีเคสแปลกๆแบบที่เราเคยเห็นกันใน รายการ tv show ที่ญี่ปุ่นสมัยเด็กๆ (อารมณ์แบบ นอนอยู่กับกองของที่กองพะเนินมาจนล้นห้อง) เธอเล่าว่าแต่ละเคสเป็นยังไง และช่วยให้เธอพัฒนาหลักวิธีการในการจัดบ้านอย่างไรได้บ้าง เหมือนเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของเธอเองเลยครับ
.
ผมว่าเรื่องการจัดบ้าน มันใกล้ตัวกว่าที่คิดมาก ทุกๆคนคงต้องเคยทำสักครั้ง หรือหลายๆครั้งในชีวิต อย่างๆน้อยๆก็จัดห้องที่ตัวเองอยู่ละครับ ผมจึงคิดว่าข้อแนะนำดีๆที่ได้จากหนังสือน่าสนใจ และน่าลองเอาไปใช้จริงครับ
.
ช่วงนี้ใครอยู่บ้านมีเวลาว่างๆกก็อย่าลืมมาอ่านหนังสือ และลงมือจัดบ้านกันละครับ
.
.
.
.
………………………………………………………………………….
ผู้เขียน: คนโด มาริเอะ
ผู้แปล: ปฎิพล ตั้งจักรวรานนท์, โยซุเกะ
จำนวนหน้า: 256 หน้า
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.
แนวหนังสือ : พัฒนาตัวเอง, จิตวิทยา
…………………………………………………………………………..
.
.
สนใจสั่งซื้อหนังสือที่:
.
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อนอายุ30 #ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว #คอนโดะมาริเอะ #สำนักพิมพ์WeLearn
Comments