top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว โตขึ้นมาเป็นความสุข





รีวิว โตขึ้นมาเป็นความสุข

.

‘ตอนเด็กเรามีความฝันมากมาย แต่พอโตขึ้นมา คำตอบที่อยู่เบื้องหลังทุกความฝันคือ เราอยากโตขึ้นมาเป็นคนมีความสุข’

.

โตขึ้นมาเป็นความสุข เป็นหนังสือของคุณคิดมาก สุดยอดหนังเขียนขายดีในหมวดหนังสือให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจ

.

เล่มนี้ต่างจากเล่มก่อน ๆ ตรงที่ว่า เล่มนี้เป็นความเรียงขนาดย่อมของคุณคิดมาก แทนที่จะเป็น quote สั้น ๆ เหมือนเล่มก่อน ๆ

แต่ธีมหลักของหนังสือยังคงเป็นบทความสั้น ๆ ที่อ่านแล้วได้ข้อคิด ได้พลังบวก

ส่วนตัวคิดว่าคุณคิดมากทำหน้าที่ตรงนี้ออกมาได้ดีมาก ๆ

.

ต่างจากหนังสือแปลหลาย ๆ เล่ม ที่อาจมีจุดประสงค์ตรงกัน คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่าน

แต่มีการเล่าเรื่อง มีการอ้างอิงงานวิจัย และมีการสาธยายความรู้สึกกันแบบยืดยาว

หนังสือเล่มนี้ เป็นบทความขนาดกะทัดรัด ขมวดประเด็นจบได้รวดเร็ว ตรงประเด็น

แต่ทำหน้าที่ได้ไม่ต่างกัน

.

ในโลกที่คนเรามีเวลาว่างน้อย

การต้องอ่านเนื้อเรื่องยาว ๆ แล้วมาจับใจความเองก็คงจะเหนื่อยเกินไป

การอ่านบทความสั้น ๆ ที่ให้แรงบันดาลใจได้ อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

และผมคิดว่า หนังสือเล่มนี้ของคุณคิดมาก ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีมาก

.

การที่เปลี่ยนจากรวม quote เป็นสไตล์บทความสั้น ๆ มีเนื้อเรื่องนิดหน่อย

เป็นการพาผู้อ่านไปเจอบริบทของเรื่องราวนั้น ๆ ก่อนจะพาไปเจออารมณ์อันหลากหลายจากบทสรุปของบทความ

.

สรุปแล้ว เล่มนี้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมาก

โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบอ่านอะไรยืดยาว

.

เนื้อเรื่องในเล่มครอบคลุมเนื้อหาในหมวดต่าง ๆ ตั้งแต่ เรื่องความรัก พ่อแม่ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนอื่น

แต่ละเรื่องให้ข้อคิดออกมาน่าสนใจมาก

ยังไง ต้องลองไปหาซื้อมาอ่านดูนะครับ

.

สุดท้าย ผมขอเลือก 5 เรื่องที่ผมชอบจากหนังสือ โตขึ้นมาเป็นความสุข มาเล่าให้ฟังกันครับ

.

1) สิ่งที่ต่างกันระหว่าง การได้เลือกชีวิตตัวเอง กับ การยอมให้คนอื่นเลือกชีวิตให้

หลายคนคงอาจสงสัยว่า เราควรเลือกเส้นทางชีวิตตามที่ตัวเองต้องการหรือไม่

ในเมื่อหลาย ๆ ครั้ง เส้นทางที่คนอื่นเลือกให้เราเป็นเส้นทางที่ดีกว่า

.

ไม่ว่าการเลือกนั้นจะมาจากการยินยอมให้คนอื่นเลือกให้ด้วยความเต็มใจของเราเอง

หรือ การถูกบังคับให้เลือกก็ตาม

.

สิ่งที่ต่างกันจริง ๆ อาจเป็น ‘ความรู้สึกค้างคา’

เราจะยังค้างคาใจเสมอ

ถ้าวันนั้นเราเลือกตามที่ใจตัวเองบอกแล้ว มันจะเป็นอย่างไร

.

และในความเป็นจริงแล้ว ก็ใช่ว่าการที่คนอื่นเลือกสิ่งที่ดีกว่าให้เราได้ครั้งหนึ่ง

มันจะต้องเป็นอย่างงั้น ในครั้งต่อ ๆ ไปด้วย

.

สุดท้ายแล้ว คนที่ต้องอยู่กับทางเลือกนั้น ก็คือตัวเราเองอยู่ดี

เราคือคนที่ต้องเผชิญกับผลจากทางเลือกนั้นทั้งหมด

และเราคือผู้รับผิดชอบต่อชีวิตของเราเอง

.

เพราะฉะนั้นแล้ว

เรื่องราวชีวิตของเราเป็นเรื่องราวของเราเอง

เราต้องรับผิดชอบ และอยู่กับมันให้ได้

เราจึงควรทำตัวเองให้แน่ใจว่า ‘ชีวิตเป็นแบบที่เราเลือกเองเสมอ’

.

.

2) เพื่อนที่ไม่ใช่แค่ ‘ผู้คน’

ยิ่งโตขึ้น เพื่อนที่เราสนิทก็ยิ่งมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ

และส่วนใหญ่อาจเป็นเพื่อนมาตั้งแต่สมัยมัธยม หรือมหาลัย

เพื่อนในที่ทำงาน เป็นกลุ่มที่หลาย ๆ ครั้งยากที่จะสนิทด้วยได้

.

แต่เราต้องย้อนกลับมามองก่อนว่า

ในวัยผู้ใหญ่นั้น เพื่อนคืออะไรกันแน่?

.

ถ้าเรามองว่าเพื่อน คือสิ่งที่มอบความสุขให้เราได้

เพื่อน คือสิ่งที่ทำให้เราเติบโตทั้งทางจิตใจและความคิด

เพื่อนที่ว่านี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเพียง ‘ผู้คน’

.

เพื่อนเราอาจเป็น สัตว์เลี้ยง ที่อยู่กับเรา

อาจเป็น หนังสือ ที่เราชอบอ่าน

อาจเป็น ภาพยนตร์ ที่เราชอบดู

อาจเป็น ดนตรี ที่เราชอบฟัง

อาจเป็น ต้นไม้ ที่เราอยู่ด้วยแล้วสดชื่น

หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจของเรา

.

ถ้าวันใดที่เรารู้สึกเหงา เพราะรู้สึกไม่มีใคร

จงลองมองรอบตัว และสำรวจดูสิ่งอื่นที่อาจเป็นเพื่อนกับเราได้เหมือนกัน

.

.

3) มีส่วนหนึ่งของพ่อแม่อยู่ในตัวเราเสมอ

เมื่อเราโตขึ้น เราก็ค่อย ๆ ออกห่างจากพ่อแม่มากขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ตอนเด็ก เราจะติดพ่อแม่มากแค่ไหน

โตขึ้น เราก็จะเริ่มไปติดคนอื่นแทน

ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน

คนรัก

การงาน

ความสำเร็จ

.

สิ่งเหล่านั้นล้วนดึงดูดให้เราออกห่างจากพ่อแม่

ด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม

.

แน่นอนว่าชีวิตเป็นของเรา

และเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราก็อาจรู้สึกหงุดหงิดใจที่พ่อแม่ยังมองว่าเรายังเป็นเด็ก

ความห่วงใยจากพ่อแม่ หลาย ๆ ครั้งก็อาจสร้างความรำคาญให้เราได้

.

ที่จริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำตามทุกอย่างที่พ่อแม่บอกให้เราทำ

แต่เราควรเปิดใจ รับฟัง

และไม่เอาตัวออกห่างพ่อแม่มากจนเกินไป

.

เพราะในความจริงแล้ว เราเติบโตมาได้ด้วยฝีมือของท่านทั้งสอง

และคงไม่มีใครเถียงว่า ‘มีส่วนใดส่วนหนึ่งของพ่อแม่อยู่ในตัวเราเสมอ’

.

.

4) หาเรื่องเล็ก ๆ ที่ทำให้เรามีความสุขได้บ้าง

เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ความสุขของเราก็เปลี่ยนรูปแบบไป

ตอนเด็ก แค่ได้กินไอติมอร่อย ๆ สักแท่ง เราก็คงมีความสุขมากแล้ว

แต่พอเป็นผู้ใหญ่ ความสุขของเรามักถูกนำไปผูกกับชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ

หรือเงื่อนไขของเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น

.

เรามักอยู่ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าเรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้น

เราจะมีความสุขอย่างแน่นอน

.

มันคือการเอาความสุขของตัวเองไปผูกไว้กับเรื่องไกลตัว

ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีชื่อเสียงได้ในทุกวัน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะหาเงินทองมากมายได้ในทุกวัน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จได้ในทุกวัน

.

แน่นอนว่า การมีฝันขนาดใหญ่ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี

แต่อย่างน้อย

เราควรมีเรื่องราว เล็ก ๆ น้อย ๆ

ให้เรามีความสุข และยิ้มได้ในทุกวันบ้าง

.

ลองเริ่มจากการหาไอติมอร่อย ๆ ให้ตัวเองกินวันละแท่งดูก็ได้นะครับ

.

.

5) ความสุขจากการเป็นผู้ให้ มากกว่า จากการเป็นผู้รับ

ตอนเด็ก ๆ เราคงจะมีความสุขจากการเป็นผู้รับ

แต่พอโตขึ้นมา

เราอาจได้ค้นพบว่า การให้นั้น ทำให้เราพบเจอความสุขได้มากกว่าหลายเท่านัก

.

เหตุผลข้อที่ 1

พอโตเป็นผู้ใหญ่ เราไม่มีวันรู้ว่า เราจะได้รับอย่างที่ต้องการไหม

ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ของขวัญจากคนรัก ชื่อเสียง

และบ่อยครั้ง การต้องรอนาน ๆ หรือความผิดหวังกลับกลายเป็น ความทุกข์ใจเสียเอง

.

แตกต่างจากการให้ ที่เราสามารถให้ได้ทุกเมื่อ

เราให้ทุกคนได้ทุกเวลา

ไม่ต้องคาดหวังอะไร ไม่ต้องร้องขอใคร

และไม่จำเป็นต้องเป็นการให้สิ่งที่ยิ่งใหญ่

แค่มอบรอยยิ้มให้กันทุกวัน ก็นับว่าเป็นการให้แล้ว

.

เหตุผลข้อที่ 2

การให้ เป็นการสะท้อนคุณค่าในตัวเราได้มากกว่าการรับ

เราทุกคนล้วนอยากทำตัวมีค่า ต่อบางคน หรือบางอย่าง

การให้ คือวิธีทำให้เรารู้สึกมีค่า มีความหมาย และภูมิใจในตัวเอง

.

แน่นอนว่า ไม่ใช่ว่าเราต้องทำตัวเป็นผู้ให้อย่างเดียว

สิ่งสวยงามคือ การที่เรารู้จักเป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับกับคนอื่น ๆ ทุก ๆ คน

.

.

.................................................................................

ผู้เขียน: คิดมาก

จำนวนหน้า: 192 หน้า

สำนักพิมพ์: springbooks

เดือนปีที่พิมพ์: 2020

.................................................................................

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #โตขึ้นมาเป็นความสุข




4,391 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page