top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว เหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตร




รีวิว เหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตร

.

.

“จงสร้าง passive income แม้จะเหนื่อนชั่วคราว แต่ชีวิตจะสบายชั่วโคตร”

.

ถ้าให้รีวิวหนังสือเล่มนี้สั้นๆคงพูดได้ว่า เป็นหนังสือ Secrets of the Millionaire Mind (ถอดรหัสลับ สมองเงินล้าน) ฉบับภาษาไทยที่พี่พอล ภัทรพล ศิลปาจารย์ เรียบเรียงออกมาได้น่าสนใจ และถูกจริตกับคนไทย

.

ผู้เขียน พี่พอล ภัทรพล ศิลปาจารย์ เป็นอดีตพระเอกชื่อดัง ผู้สนใจด้านการเงินการลงทุน และปัจจุบันยังดำเนินรายการ Money matters ซึ่งเป็นคลิปสั้นๆ ให้ความรู้ด้านการเงินผ่าน YouTube

.

ต้องบอกว่า เหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตร เป็นหนังสือเล่มแรกของพี่พอลที่ทำให้แจ้งเกิดในวงการหนังสือการเงินในไทย เพราะช่วงทีหนังสืออกมาใหม่ๆ ยังไม่ค่อยมีคนไทยสนใจเรื่อง passive income และการลงทุนในระยะยาวมากนัก ช่วงนั้นส่วนใหญ่หนังสือการลงทุนชื่อดังยังเป็นหนังสือแปลจากชาติตะวันตก ที่บางครั้งก็มีบริบทที่ต่างไปจากสังคมไทย

.

การที่พี่พอลเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจึงเป็นการจุดกระแสให้คนไทยหันมาใช้สนใจสร้าง passive income กันเยอะๆ โดยเป็นการเล่าตัวอย่างที่ใกล้ตัวและเข้าถึงได้มากๆ ส่วนตัวชอบจุดนี้มากเพราะหนังสือแปลหลายๆเล่ม แม้จะสื่อสารเนื้อหาออกมาเหมือนกัน แต่ด้วยบริบทที่ต่างออกไป ความอินกับหนังสือเลยไม่เยอะเท่า

.

จริงๆแล้วหนังสือ เหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตร ได้กลายเป็น bestseller ในด้านการเงินการลงทุนไปแล้ว ไม่ใช่แค่ในวงการหนังสือไทย แต่ยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Retired by 40 และพี่พอลก็ได้คลอดหนังสือในซีรีย์การลงทุนต่อมากอีกหลายเล่ม เช่น เหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตรฉบับพนักงานประจำ และ the one%

.

เนื้อหาในหนังสือช่วงแรกจะเป็นการเล่าประวัติของพี่พอลว่า ตอนเด็กๆสถานะทางการเงินของครอบครัวก็ขึ้นๆลงๆ พี่พอลถูกส่งไปเรียน high school ที่อเมริกา แต่ก็ต้องกลับมาเรียนปริญญาตรีที่ไทยเพราะครอบครัวเงินหมด ส่งเรียนป.ตรีที่อเมริกาไม่ไหว แต่พี่พอลยังฝันอยากกลับไปอเมริกาอยู่ เลยเริ่มศึกษาวิธีหาเงินให้ได้มากๆ

.

ไปๆมาๆพี่พอลก็ได้จับพลัดจับผลูมาทำงานพิธีกร และมีแมวมองชวนไปเล่นละครเป็นพระเอก ชีวิตก็เหมือนพลิกผัน เพราะกลายเป็นว่าพี่พอลมีเงินมากมายมหาศาล แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีเวลามากพอที่จะมาใช้เงินเหล่านั้นเพราะต้องทำงานต่อเนื่องกัน 7 วันต่อสัปดาห์

.

แต่ด้วยความที่พี่พอลศึกษาเรื่องการเงินการลงทุนมาตลอด พี่พอลจึงได้หาวิธีหยุดวงจรชีวิตหาเงินสุดเหนื่อย ที่ไม่มีเวลาได้ใช้เงิน และหันมาโฟกัสกับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนในแบบ passive income ซึ่งเป็นวิธีที่จะนำพาชีวิตไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้

.

ต้องเรียกว่าตัวพี่พอลเองศึกษาวิธีการลงทุนมาอย่างสาหัสสากรรจ์ ตั้งแต่อ่านหนังสือ จนไปถึงการเดินทางไปเข้าอบรมกับ T. Harv Eker ผู้เขียนหนังสือ Secrets of the Millionaire Mind ที่ประเทศสิงคโปร์

.

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการกลั่นกรองแนวคิดและวิธีไปสู่อิสรภาพทางการเงินที่พี่พอลได้รวบรวมมาจากความรู้และประสบการณ์ของตัวเองในฉบับที่เข้าใจง่าย และนำไปใช้ได้จริง

.

ต้องเรียกว่าความฝันวัยเด็กของพี่พอลนั้นแรงกล้ามาก เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ที่พี่พอลอยากได้ เขาต้องมีเงินเก็บถึง 300 ล้านบาท เพื่อจะเกษียณตัวเองได้ แน่นอนว่ายังไงเขาก็ต้องมองหาวิธีสร้าง passive income

.

หนังสือแบ่งออกเป็นบทย่อยๆ เป็นตอนสั้นๆ จบในตอน เป็นแนวคิดและเทคนิคเรื่องการสร้าง passive income และเหตุผลที่เราทุกคนควรมุ่งไปสู่การได้รับอิสรภาพทางการเงิน นับว่าเป็นหนังสือสร้างแรงบันดาลใจที่ดีมากเล่มหนึ่ง

.

ทั้งนี้ผมขอเลือกแนวคิดที่ชอบเป็นการส่วนตัวและคิดว่าเอาไปใช้ได้จริงแน่ๆมาฝากกันครับ

.

.

.

1. ความสุข 100% มีอยู่จริง

.

มีปัจจัยอยู่ 3 ข้อที่ทำให้เกิดความสุข 100% นั่นก็คือ อิสรภาพทางการเงิน อิสรภาพทางเวลา และสุขภาพที่ดี

.

อิสรภาพทางการเงิน คือการที่เรามีเงินไหลเข้ากระเป๋าอย่างไม่ขาดสาย และเกษียณตัวเองจากการทำงานได้

.

พูดสั้นๆคือ ‘เราใช้เงิน’ ไม่ใช่ให้ ‘เงินใช้เรา’

.

ประเด็นก็คือว่า โดยปกติแล้วการที่เราจะมีเงินที่ไหลเข้ามาไม่ขาดสายนั้น เราต้องใช้เวลา และสุขภาพเป็นตัวแลกเปลี่ยน เพราะเรายังอยู่ฝั่งของ Active income เมื่อวันไหนที่เราหยุดทำงาน เงินก็จะหยุดไหลมาเข้ากระเป๋า

.

เรื่องนี้ยังส่งผลต่อการอยากลาหยุดงานเพื่อออกไปเที่ยวด้วย เพราะถ้าเราลา เงินก็จะไม่มาหาเรา

.

นอกจากนี้แล้ว เงื่อนไขต่างๆก็อาจไม่ทำให้เราลาหยุดงานได้ง่ายๆ เช่นเราเปิดธุรกิจด้วยตัวเอง ลาหยุดปุ๊ป ธุรกิจก็จะไม่เดิน

.

กลับกันถ้าเรามี passive income ซึ่งก็คือการไกลเข้ามาของเงินอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องลงแรงทำงาน เราก็จะมีอิสระ ออกไปเที่ยวเมื่อไหร่ก็ได้ และที่สำคัญ ถ้าเราสร้าง passive income ได้เร็ว เราก็จะออกไปเที่ยวทั้งๆที่ร่างกายเรายังแข็งแรงอยู่ได้

.

เพราะหลายๆครั้ง กว่าเราจะมีเงินมากพอที่จะออกไปเที่ยวต่างประเทศ ร่างกายเราก็อาจจะไม่เอื้ออำนวยแล้ว หรือว่าสุขภาพของคนที่เราอยากไปเที่ยวด้วย เช่น พ่อแม่เรา ก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

.

สรุปแล้ว passive income จึงเป็นคำตอบของการมีทั้ง อิสรภาพทางการเงิน อิสรภาพทางเวลา และสุขภาพที่ดี ซึ่งจะนำมาซึ่งความสุข 100% ที่แท้จริงครับ

.

.

2. BCD – Birth Choice Death

.

ปรัชญาชีวิตข้อหนึ่งจากหนังสือการลงทุนเล่มนี้คือ การที่เราต้องตระหนักอยู่เสมอๆว่า เราเลือกเกิด (birth) ไม่ได้ และเราเลือกตาย (death)ไม่ได้ เราจะตายวันไหนก็ไม่มีใครรู้

.

สิ่งเดียวที่เราเลือกได้คือ ‘ทางเลือก (choice)’

.

และสิ่งสำคัญที่เราต้องเลือกคือ ‘ที่มาของรายได้’ เรื่องอื่นอาจไม่ได้สำคัญอะไรเช่น การเลือกของกินมื้อกลางวัน การเลือกเสื้อผ้า แต่เรื่องรายได้นั้นอาจส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตของเรา

.

ต่อจากนั้นเมื่อเราเลือก ทางเลือกของเราได้แล้ว เราจึงลงมือทำมันอย่างต่อเนื่อง

.

เหมือนที่สตีฟ จ็อบส์เคยบอกไว้ว่า ถ้าเราเลือกแบบเดิม ทำแบบเดิม ชีวิตเราก็เหมือนเดิม แต่ถ้าเราเลือกทางเลือกใหม่ ลงมือทำแบบใหม่ เราก็จะกลายเป็นคนใหม่

เลือก X ทำ X = ผลลัพธ์ = X

เลือก Y ทำ Y = ผลลัพธ์ = Y

.

.

3. Passive income มีหลายแบบ

.

ในหนังสือแนะนำการสร้าง passive income ไว้หลายแบบมาก ไม่ว่าจะเป็น การสร้างด้วยสินทรัพย์ทางการเงิน (financial assets) สินทรัพย์ทางปัญญา (intellectual assets) อสังหาริมทรัพย์ การซื้อแฟรนไชส์ ธุรกิจเครือข่าย และการใช้อินเตอร์เน็ต มาเก็ตติ้ง

.

อันที่ดูจะแปลกใหม่กว่าหนังสือเล่มอื่น และเข้ากับยุคสมัยมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น internet marketing ซึ่งพี่พอลแนะนำให้สร้างเว็บไซต์ขึ้นมา และให้มีคนมาใช้งาน เหมือน Amazon หรือ Visa

.

ปัจจัยหลักคือ เราต้องไม่เสียเวลามานั่งดูการซื้อขายเองทั้งหมด เพียงแค่ตั้งระบบขึ้นมา แล้วให้ระบบมันเดินไปของมันเอง

.

การเป็นเจ้าของเว็บไซต์และทำให้เกิดการซื้อขายก็จะช่วยสร้างรายได้ให้เข้ากระเป๋าเราได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าอยากมีรายได้มาก ก็อาจต้องสร้างเว็บไซต์หน่อย

.

สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักไว้คือ

System (ระบบ) = people (คน) + process (กระบวนการ)

.

สร้างระบบขึ้นมาเพื่อให้คน และกระบวนการทำงานแทน

.

.

4. เกษียณแล้วไปไหน

.

คำถามที่หลายคนน่าจะเคยสงสัย หรืออยากรู้มานาน

.

พี่พอลเกษียณตัวเองตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ และมีโอกาสได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณเร็วกว่าคนอื่น

.

คำตอบง่ายๆเลยก็คือ ‘การช่วยเหลือคนอื่น’ นั่นเอง พี่พอลช่วยอุปการะเด็กด้อยโอกาสหลายคน และช่วยเรื่องทุนการศึกษาให้เด็กเหล่านั้นได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่เพียงพอในการสร้างชีวิตของตัวเอง

.

แน่นอนว่าการนำเอาเงิน active income มาใช้ ก็จะต้องหมดไปในที่สุด แต่การที่พี่พอลสร้าง passive income ไว้เยอะๆ เขาก็อาจสร้างเป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้ต่อเนื่อง แม้ในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว มูลนิธีก็ยังคงสืบทอดเจตนารมย์และช่วยเหลือเด็กคนอื่นๆต่อไป

.

ข้อสรุปง่ายๆคือ ถ้าเราช่วยตัวเองได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เราก็คงจะมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น

.

.

.

5. เหนื่อยชั่วโคตร สบายชั่วคราว หรือ เหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตร

.

สมัยเด็กๆเวลาเรามีการบ้านต้องส่ง เรามีอยู่ 2 ทางเลือก คือทำให้เสร็จตั้งๆแต่เนิ่นๆแล้วรีบเอาไปส่ง จะได้มีเวลาเหลือเฟือในการเล่น กับอีกแบบคือ เล่นก่อน แล้วใกล้ถึงเวลาส่งค่อยมาทำ ถ้าหนักหน่อยก็ค่อยทำคืนก่อนส่งหรือตอนเช้าวันที่ต้องส่ง

.

สิ่งที่ต่างกันของ 2 ทางเลือกนี้ก็คือ ‘ความกังวล’

.

ถ้าเราทำการบ้านไม่เสร็จ แล้วไปเล่น แน่นอนว่าลึกๆแล้วเราจะมีความกังวลในใจ เราคงไม่อาจปล่อยวางความกังวลทั้งหมดได้ ในทางกลับกัน ถ้าเราทำการบ้านเสร็จแล้ว เราก็จะไร้กังวล ออกไปเล่นได้อย่างเต็มที่ มีเวลาไม่จำกัด

.

ในชีวิตจริง ถ้าเราเลือกทำการบ้านวันสุดท้ายของชีวิต เราก็คงจะใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความกังวล เหมือนมีบางอย่างติดอยู่ในใจตลอดเวลา กลับกันถ้าเราทำการบ้านชีวิตให้เสร็จตั้งแต่วันนี้ ชีวิตที่เหลือของเราก็จะปลอดภัยไร้กังวล

.

สิ่งที่ต่างกันก็คือ

ทำการบ้านชีวิตวันสุดท้าย = เหนื่อยชั่วโคตร สบายชั่วคราว

ทำการบ้านชีวิตวันนี้ = เหนื่อยชั่วคราว สบายชั่วโคตร

.

.

สุดท้ายนี้ ถ้าใครอยากได้หนังสือย่อยง่าย ได้แรงบันดาลใจในการเริ่มสร้าง passive income เล่มนี้พลาดไม่ได้จริงๆครับ : )

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

……………………………………………………………………………………………………………………………………….

ผู้เขียน: ภัทรพล ศิลปาจารย์ (พอล), พัศพงศ์ พีรจิรารัตน์

จำนวนหน้า: 256 หน้า

สำนักพิมพ์: สต็อคทูมอร์โรว์, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 2016

……………………………………………………………………………………………………………………………………….

.

.

#หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #เหนื่อยชั่วคราวสบายชั่วโคตร #พอลภัทรพลศิลปาจารย์ #สต็อคทูมอร์โรว์

132 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page