top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย "พีระมิดสามสุข"


10 บทเรียนความสุขที่ได้หลังอ่าน

หนังสือ สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย "พีระมิดสามสุข"

.

.

1) รู้จักสารแห่งความสุขทั้ง 3 ชนิด

ความสุขของคนเราทุกคนล้วนเกิดจากส่วนผสมของสารแห่งความสุข 3 ชนิด

.

1. ‘ความสุขแบบเซโรโทนิน’ คือ ความสุขจากการมีสุขภาพดีทั้งทางกายและใจของตัวเองและคนในครอบครัว

.

2. ‘ความสุขแบบออกซิโตซิน’ คือ ความสุขจากความสัมพันธ์ ความผูกพัน การได้รับและให้ความรักกับผู้อื่น มิตรภาพ และการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือสังคม

.

3. ‘ความสุขแบบโดพามีน’ คือ ความสุขจากความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมาย เช่น ทรัพย์สิน เงินทอง และชื่อเสียงเกียรติยศ

.

.

2) ทฤษฎีความสุข 3 ขั้น

สิ่งสำคัญคือ การจะมีความสุขได้ครบทั้ง 3 ชนิดนั้น เราต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้องก่อน

ลำดับที่ว่าคือ ‘ความสุขแบบเซโรโทนิน’ → ‘ความสุขแบบออกซิโตซิน’ → ‘ความสุขแบบโดพามีน’

.

จึงวาดออกมาได้เป็นพีระมิด 3 ขั้น

ขั้นที่เราต้องให้ความสำคัญก่อนคือ ชั้นล่าง แล้วค่อย ๆ ไต่ลำดับขึ้นไปชั้นบน

.

.

3) ถ้าเราให้ความสำคัญกับความสุขผิดลำดับ ความสุของค์รวมของเราก็อาจแย่ไปด้วย

เช่น ถ้าเรามุ่งหวังแต่จะเอาความสำเร็จในด้านการงาน (ความสุขแบบโดพามีน) และละเลยความสำคัญของสุขภาพตัวเอง (ความสุขแบบเซโรโทนิน) สุดท้ายเราก็อาจเจ็บป่วยทั้งกายและใจ

.

เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่แย่ (ความสุขแบบออกซิโตซิน) ทะเลาะกับภรรยา ลูกไม่อยากเจอหน้า

แม้เราจะสำเร็จในหน้าที่การงานมากแค่ไหน สุดท้ายเราก็อาจเป็นคนไม่มีความสุขเลยก็ได้เช่นกัน

.

ส่วนระหว่าง สุขภาพและความสัมพันธ์ ลองจินตนาการว่า หน้าที่การงานของเรากำลังไปได้ดี ชีวิตครอบครัวกำลังไปได้สวย แต่อยู่ ๆ วันหนึ่ง เราตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ความสุขทั้งหมดก็คงพังทลายลงอยู่ดี

หรืออยู่ดี ๆ วันหนึ่ง คนในครอบครัวของเราตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง ชีวิตเราก็คงเต็มไปด้วย ‘ความวิตกกังวล’

.

ดังนั้นแล้ว ‘สุขภาพ’ คือพื้นฐานแห่งความสุขของทุกสิ่งอย่าง

.

.

4) เรามีความสุขอยู่แล้ว ณ ตอนนี้

ความสุขแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือแบบ ‘BE’ กับแบบ ‘DO’

ความสุขแบบ ‘BE’ คือ ความสุขที่เรามักจะมีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่เราหลงลืมไป เช่น มีอาหารกิน มีสุขภาพดี มีคนคอยดูแลใกล้ชิดทุกวัน

‘ความสุขแบบเซโรโทนิน’ และ ‘ความสุขแบบออกซิโตซิน’ จัดเป็นความสุขแบบ ‘BE’

.

ความสุขแบบ ‘DO’ คือ ความสุขที่เราได้รับคืนมาจากการออกไปทำอะไรบางอย่าง ยิ่งเราทำมากเราก็ยิ่งได้รับความสุขแบบนี้กลับมามาก ส่วนใหญ่จะยึดโยงกับเป้าหมายและความสำเร็จ

‘ความสุขแบบโดพามีน’ คือ ความสุขแบบ ‘DO’

.

.

5) ความสุขเป็น “กระบวนการ” ไม่ใช่ “ผลลัพธ์”

เพราะความสุขเป็นสภาวะที่เกิดขึ้น เดี๋ยวนี้ ตอนนี้ มันจึงเป็นกระบวนการ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงตอนที่เราบรรลุเป้าหมาย

แม้ตอนเราสำเร็จ เราจะได้รับ ‘ความสุขแบบโดพามีน’ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน

สิ่งที่เราเป็นอยู่ ตรงนี้ ตอนนี้ต่างหากคือ สิ่งที่ยืนยาว และความสุขแบบ BE สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

.

.

6) ความสุขที่ยั่งยืนคือ ‘ความสุขแบบเซโรโทนิน’ และ ‘ความสุขแบบออกซิโตซิน’

เหมือนการทดลองเรื่องเงินเดือน ที่พบว่าเมื่อคนเรามีเงินมากถึงระดับหนึ่ง เราจะไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

เพราะ ‘ความสุขแบบโดพามีน’ นั้นสั้น แป๊ปเดียวก็หายไป

.

แต่ความสุขอีก 2 ประเภทนั้นหายไปได้ยาก

เคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้ความสุขที่เราได้รับยืนยาวมากขึ้นจึงเป็น การมี ‘ความสุขแบบโดพามีน’ และ ‘ความสุขแบบออกซิโตซิน’ ไปพร้อม ๆ กันเมื่อสำเร็จหรือบรรลุอะไรสักอย่าง

.

ซึ่งทำได้ง่ายมากด้วยการมี ‘ความซาบซึ้งใจ’ ในสิ่งที่ทำ

.

.

7) วิธีเพิ่ม ‘ความสุขแบบเซโรโทนิน’

1. นอนหลับวันละอย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง

2. ออกกำลังกายทุกวัน ขั้นต่ำคือเดินวันละ 20 นาที

3. ออกมาเดินตอนเช้า สัมผัสแสงแดด

4. ตระหนักรู้ถึงความสุขเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

5. โฟกัสกับปัจจุบัน สนุกไปกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ลองพูดคำว่า ‘วันนี้สนุกจัง’ ทุกวันก่อนนอน

6. สร้าง output ด้วยการคุยกับตัวเองทุกวัน วันละ 3 นาที

7. สร้าง output ด้วยการเขียนบันทึกเชิงบวกกับตัวเองวันละ 3 บรรทัด แม้วันนั้นจะแย่แค่ไหน ก็ให้มองหาเรื่องดี ๆ ในแต่ละวันให้เจอ

8. รู้จักจังหวะผ่อน ช่วงไหนชีวิตรีบเกินไป ลองหันมาทำอะไรช้า ๆ ผ่อนคลาย ชาร์จพลังด้วยการอยู่นิ่ง ๆ บ้าง

.

.

8) วิธีเพิ่ม ‘ความสุขแบบออกซิโตซิน’

1. สร้างความผูกพันกับคนรัก ครอบครัว เพื่อนฝูง และสัตว์เลี้ยง

สร้างปฏิสัมพันธ์

และอย่าลืมการสัมผัสทางกาย เพราะเป็นเทคนิคกระตุ้นให้ออกซิโตซินไหลออกมาได้ดีที่สุด

.

2. สร้างชุมชนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ เพื่อขจัดความรู้สึกว้าเหว่

สำหรับคนเพื่อนน้อย ลองค้นหาความสนใจของตัวเอง และเข้ากลุ่มกับคนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน

.

3. ลดเวลาบนโซเชียล เพิ่มเวลาการพบปะกันซึ่ง ๆ หน้า

4. อย่าเลิกทำงาน ! เพราะเราอาจรู้สึกไร้ค่า และกลายเป็นความว้าเหว่ได้

.

5. สร้างความสนิทสนมกับผู้อื่นแบบลึกซึ้ง โดยอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับได้แก่

ครอบครัว → เพื่อนฝูง → ที่ทำงาน

จัดลำดับความสำคัญแบบพีระมิดเหมือนพีระมิดความสุข และหาคนสำคัญในแต่ละระดับสัก 1-2 คน

.

6. มีน้ำใจกับผู้อื่นเสมอ ๆ เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเอง

และลองจดบันทึกความมีน้ำใจของตัวเองให้ได้วันละ 3 เรื่อง

.

7. รู้สึกขอบคุณและซาบซึ้งใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

และลองสร้างบันทึกความซาบซึ้งใจกับคนอื่นและสิ่งที่เกิดขึ้นวันละ 3 เรื่อง

.

8. เลี้ยงสัตว์เลี้ยง เพื่อเพิ่มความสำคัญของตัวเอง และการยอมรับนับถือตัวเองให้เพิ่มมากขึ้น

9. เชื่อมั่นในผู้อื่น ไว้วางใจ และสนับสนุนพวกเขาอย่างต่อเนื่อง

.

10. แต่งงาน !! ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

เพื่อสร้างความสุขแบบออกซิโตซิน และก้าวข้ามภารกิจของชีวิตไปด้วยกัน

.

.

9) วิธีเพิ่ม ‘ความสุขแบบโดพามีน’

1. ซาบซึ้งกับทรัพย์สินและเงินทองที่หามาได้

เพราะจะทำให้เราเกิดความพึงพอใจ และเกิดความสุขต่อเนื่องระยะยาว

.

2. ควบคุมความอยากไม่ให้มีมากจนเกินไปจนเกิดอาการเสพติด

รวมถึง การดื่ม การเล่นเกม การใช้สมาร์ทโฟน เป็นต้น

เพราะสุดท้ายถ้าเราทำเรื่องเหล่านี้มากเกินไป เราจะเสียทั้งเวลาและสุขภาพ แถมความสุขก็อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย

.

3. ตระหนักถึงการเติบโตของตัวเองในทุก ๆ วัน

ไม่ต้องไปคิดถึงเป้าหมายใหญ่ เพียงแค่ลิ้มรสความสำเร็จเล็ก ๆ ก็เพียงพอแล้ว

.

4. ออกจากคอมฟอร์ตโซน ท้าทายตัวเองด้วยเรื่องเล็ก ๆ ในทุกวัน

หาสิ่งที่ตัวเอง ‘รู้สึกใจเต้นตึกตัก’ ให้เจอ แล้วใช้มันนำทางการลงมือทำ !

.

5. เพิ่มความภูมิใจในตัวเอง ด้วยการเพิ่มความมุมานะพยายาม

6. ‘ให้’ คนอื่น เท่าที่ตัวเองไหว

.

7. ค้นหางานของชีวิต

Rice-work คือ งานที่ต้องทำเพื่อการดำรงชีพ

Like-work คือ งานที่ทำแล้วชอบ

Life-work คือ งานแห่งชีวิต เป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘เราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้’

จงมองหา Life-work ให้เจอ แล้วสนุกไปกับมัน

.

.

10) เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเงินทอง การเที่ยวเล่น และการกินเพื่อเพิ่มความสุข

1. โฟกัสที่การใช้เงิน แทนการหาเงิน เพราะคนที่ใช้เงินอย่างฉลาดมักจะมีความสุขกว่าคนที่หาเงินได้มาก ๆ

2. ลงทุนกับการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะเงินที่ลงทุนไป อาจให้ผลตอบแทนที่ประเมินค่าไม่ได้

.

3. ซื้อ ‘ประสบการณ์’ แทน ‘การซื้อของ’ เพราะประสบการณ์อาจกลายเป็นอาวุธที่สำคัญได้ในอนาคต

4. ตั้งเป้าว่าจะทำงานเพื่อ ‘ช่วยเหลือคนอื่น’ ไม่ใช่ ‘เพื่อเงินทอง’

.

5. ใช้เงินซื้อเวลาที่มีคุณค่าที่แท้จริง

6. อยากได้ของแบบมีสติ ลองถามตัวเองหลาย ๆ ครั้งว่าของที่จะซื้อ ตัวเราอยากได้จริง ๆ รึเปล่า

.

7. สนุกกับการใช้งาน สิ่งของต่าง ๆ มีไว้เพื่อใช้งาน อย่าเอาแต่เก็บมันไว้เฉย ๆ

8. สละ และสะสาง สิ่งของที่ไม่ได้ใช้ ปล่อยวางและอย่ายึดติด

.

9. ระวังอาการ ‘ขออีก ขออีก’ ของตัวเอง โดยความรู้สึกซาบซึ้งใจกับสิ่งที่ตัวเองได้รับมา

10. จงจำไว้ว่า ตัวเลขคนดูคลิป ตัวเลขคนกด Like หรือ Share คือ ‘คน’ ที่เอาสิ่งที่เราทำไปเป็นประโยชน์กับชีวิตตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขที่ทำให้เราเสพติดการหลั่งของโดพามีน

.

11. ดื่มด่ำไปกับสิ่งที่ทำตรงหน้า จนเข้าสู่สภาวะลื่นไหล (Flow)

12. แบ่งเวลาเที่ยวเล่นในทุก ๆ วัน และใช้การเที่ยวเล่นเป็นรางวัลให้ตัวเอง

.

13. อย่าคิดว่าจะไปเพื่อกิน แต่เราไปเพื่อเจอคนอื่น เพื่อใช้เวลาดี ๆ ร่วมกัน

14. ใส่ใจในอาหารทุก ๆ มื้อที่ได้กิน

.

.

.

รีวิวหลังอ่านสั้น ๆ

สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วย "พีระมิดสามสุข” เป็นหนังสือคุณภาพอีกเล่ม

จากฝีไม้ลายมือของอาจารย์ ชิอน คาบาซาวะ

เจ้าของผลงาน The power of output และ The power of input

.

เล่มนี้คอนเซ็ปต์เรียบง่ายว่าด้วยเรื่องของความสุข 3 มิติ คือ

ความสุขด้านสุขภาพ ความสุขด้านความสัมพันธ์และ ความสุขด้านความสำเร็จ

ซึ่งความสุขทั้ง 3 ด้าน ก็เชื่อมต่อกัน และเรียงต่อกันเป็นพีระมิดสามสุข

โดยเราจะต้องทำฐานพีระมิดให้แข็งแรงก่อน ถึงจะต่อยอดความสุขที่ขั้นบนของพีระมิดต่อไปได้

.

ต้องแจ้งให้ชัดว่าเรื่องพีระมิดความสุขนี้ ไม่ใช่ทฤษฎี

แต่เป็นแนวคิดที่ผู้เขียนเรียบเรียงออกมาให้เข้าใจง่าย

ผ่านสารแห่งความสุข 3 ชนิดในสมองคือ

เซโรโทนิน ออกซิโตซิน และโดพามีน

.

อย่างไรก็ตาม เมสเสจสำคัญจากหนังสือเล่มนี้ คือการที่เราควรหันไปโฟกัสกับความสุขด้านสุขภาพ และความสุขด้านความสัมพันธ์ให้มากขึ้น

เพราะถ้าเราไม่ทำความสุขทั้ง 2 ด้านนี้ให้แข็งแรงเสียก่อน

เราจะไม่มีทางมีความสุขกับความสำเร็จได้เลย หรือเราอาจไม่สำเร็จตามใจคาดได้เลยด้วยซ้ำ

.

ดังนั้นแล้ว เราควรวางแผนชีวิตตัวเองใหม่

แบ่งเวลาทำความสุขอีก 2 ด้านให้มากขึ้น

ตามคำแนะนำที่หนังสือให้ไว้

.

ต้องบอกว่าหนังสือให้ทริคไว้เยอะมาก

เป็น howto ฉบับสมบูรณ์ สำหรับผู้อ่านในการเอาไปปฏิบัติตาม

คล้ายเล่มก่อน ๆ ที่มีทฤษฎีเกริ่นนำ แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ของเล่มคือแนวทางปฏิบัติ

.

สุดท้ายหนังสือมีความยาวประมาณ 300 หน้า

ควรจะลองอ่านแนวคิดพีระมิดให้เข้าใจก่อน

ส่วนแนวทาง howto ก็เลือกอ่านเฉพาะข้อที่สนใจและเหมาะกับตัวเองได้

หนังสือเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกเพศทุกวัยแน่นอนครับ

.

ขอขอบคุณหนังสือจากสำนักพิมพ์ Amarin howto นะครับ

.

.

.............................................................................................

ผู้เขียน: ชิอน คาบาซาวะ

ผู้แปล: นิพดา เขียวอุไร

จำนวนหน้า: 340 หน้า

สำนักพิมพ์: Amarin howto

.............................................................................................

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #สู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วยพีระมิดสามสุข



797 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page