top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว วะบิ ซะบิ ความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ





5 ข้อคิดในวันที่อยากให้ชีวิตช้าลง

จากหนังสือ วะบิ ซะบิ ความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ

.

.

1) ความหมายของ “วะบิ ซะบิ”

ในยุคสมัยปัจจุบัน ได้มีการตีความ วะบิ ซะบิที่แตกต่างไปจากความหมายทางประวัติศาตร์

กล่าวคือ

“วะบิ” หมายถึง ความเรียบง่ายแบบชนบท ความสง่างามเรียบ ๆ ความสดชื่น ความเงียบสงบ

รวมถึงความไม่สมบูรณ์แบบที่งดงาม

.

“ซะบิ” หมายถึง ความสันโดษของการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ความอ่อนล้า อิดโรย

.

เมื่อรวมกัน

“วะบิ ซะบิ” จึงเป็นหลักการในการมองชีวิตและจักรวาล โดยยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ และความไม่ยั่งยืนในทุกสรรพสิ่งที่ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมชาติของโลกใบนี้

รวมไปถึงการมองเห็นถึงความงดงามในความไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ความไม่จีรังยั่งยืน และความไม่สมบูรณ์แบบที่แต่ละสิ่งอย่างเป็นอยู่

.

.

2) หลักความจริง 3 ประการตามหลักพุทธศานาที่เชื่อมโยงกับหลัก วะบิ ซะบิ

1. ความไม่เที่ยง – กุญแจดอกที่ 1 ของชีวิต

ไม่มีสิ่งใดในโลกและจักรวาลที่หยุดนิ่ง ไม่เว้นแม่แต่ความคิด อารมณ์ และตัวตนของเรา

ทุกสิ่งอย่างล้วนเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง

.

2. ความทุกข์ - กุญแจดอกที่ 2 ของชีวิต

ความทุกข์คือ ระยะห่างระหว่างความจริง กับสิ่งที่เราปรารถนา/ สิ่งที่เราคาดหวังให้ได้มา แต่ยังไม่มีในตอนนี้

คล้ายสมการความสุขที่ = ความจริง – ความปรารถนา

.

3. ความว่างเปล่า - กุญแจดอกที่ 3 ของชีวิต

“สุญญตา” เป็นสิ่งตรงข้ามกับ “อัตตา”

สุญญตา เป็นองค์ประกอบที่เป็นจริงของจักรวลานั้น ๆ เป็นสาภวะที่เป็นอยู่ในแต่ละขณะ โดยที่เราไม่ได้ใส่อะไรเข้าไปเพิ่มเติมแต่ง หรือไม่ได้ขจัดอะไรออกมาจากการเป็นอยู่ของสิ่ง ๆ นั้น

.

ถ้าเราไม่ได้ใส่ความคิด อารมณ์ หรือตัวตนของเราเข้าไปในของแต่ละสิ่ง และมองมันในแบบที่มันเป็นจริง ๆ

เราจะรู้สึกได้ถึงความเชื่อมโยงของตัวเรากับธรรมชาติ ตัวเราจะกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม และเราจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติรอบตัวเรา

.

.

3) จงเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะเป็นได้

หลักปรัชญา วะบิ ซะบิ ทำให้เราต้องยอมรับในความไม่แน่นอนของชีวิต

พร้อม ๆ กับยอมรับในศักยภาพที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด

.

หมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องคาดหวังให้ตัวเราเป็นคนสมบูรณ์แบบ เก่งที่สุดในสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำ

แต่ให้มองตัวเราในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุดก็เพียงพอ

เพราะตัวเราอาจมีศักยภาพอยู่อย่างไม่จำกัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นชีวิตจริงก็มีความไม่แน่นอนเข้ามาเกี่ยวพันด้วย

.

.

4) โอบรับความเศร้าโศกที่งดงาม

มีงานวิจัยที่ประเมินว่า คนที่ประเมินว่าตัวเองมีความสุขในระดับ 10 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 หรือระดับ 9 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10

มักประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนที่ให้ระดับคะแนนความสุขอยู่ที่ 8 คะแนนจาก 10

เพราะพวกเขาเว้นที่ว่างไว้ให้ตัวเองได้พัฒนา และหมั่นหาทางปรับปรุงพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

.

ชีวิตจึงไม่ใช่การมีความสุขเต็ม 100%

แต่เป็นการโอบรับความเศร้าโศกที่ชีวิตมอบให้

และมองมันเป็นบทเรียนสอนใจ ทั้งในเรื่อง การรู้จักตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ผ่านภาพสะท้อนในเรื่องที่ตัวเองเศร้าโศก

ทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น เพราะความเศร้าเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์

และทำให้เรามองเห็นความงดงาม และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้มากลุ่มลึกขึ้น จากรสสัมผัสที่หลากหลาย

.

.

5) สิ่งที่ดี่ที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิต มักจะห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบเสมอ

ลองมองลึกเข้าไปในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา

เราจะเห็นว่าการเดินทางของเราล้วนผ่านเส้นทางที่ขรุขระ เต็มไปด้วยหลุมบ่อ และหลายครั้งก็ต้องอ้อมไปหลายโค้ง กว่าจะขับขึ้นไปบนยอดเขาได้

หลายครั้ง ชีวิตไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง

แต่เราก็มักได้รับโอกาสใหม่ที่ชีวิตยื่นให้อยู่เสมอ หรือบางครั้งเราก็ได้มองเห็นคุณค่าในบางเรื่องที่เราอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน

.

.

6) ความไม่สมบูรณ์แบบในมนุษย์รวมอยู่ในชิ้นงานที่ถูกสรรค์สร้างออกมา

จินตนาการถึงการเล่นเปียโน

แม้จะเล่นเพลงเดิมจนจำโน้ตและจังหวะได้แม่นยำแล้ว

แต่ทุกครั้งที่เราเล่น อารมณ์และความคิดของเราก็ไม่เหมือนเดิม

วันที่เราเพิ่งตกหลุมรักใครสักคนครั้งแรก กับวันที่เราต้องสูญเสียญาติคนสนิทไป เราก็คงเล่นเปียโนได้ต่างกัน

นั่นก็เพราะตัวตนของเราได้ถูกหลอมรวมลงไปเป็นส่วนหนึ่งของผลงานบรรเลงแล้ว

และนี่คือสิ่งที่ทำให้ การเล่นเปียโนในแต่ละครั้ง เป็นสิ่งสวยงาม มากกว่าการเปิดเพลงฟังจากคอมพิวเตอร์

.

ในทุก ๆ ผลงานที่เราทำ ไม่ใช่เฉพาะเปียโน หรืองานศิลปะ

กีฬา ธุรกิจ การจัดบ้าน เรื่องต่าง ๆ ในชีวิต ล้วนแล้วแต่เกิดจากการที่เราเอาตัวตนของเราใส่เข้าไปด้วย

เราจึงไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์งานให้สมบูรณ์แบบ

แต่การทำงานของเรา ก็เหมือนการแสดงให้ได้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบที่สอดคล้องกับการเป็นอยู่ของธรรมชาติ

.

.

7) สร้างพื้นที่ว่างในชีวิต มองหาสิ่งที่สูบพลังของเราออกไป

หลักปรัชญาแบบ วะบิ ซะบิ ล้วนแตกต่างจากหลักการที่หนังสือพัฒนาตัวเองส่วนใหญ่แนะนำคือ

การให้เราตั้งใจทำแต่ละสิ่งอย่างให้มากขึ้น

- ออกกำลังกายให้มากขึ้น

- อ่านหนังสือให้เยอะขึ้น

- ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

.

หลักการวะบิ ซะบิ บอกชัดเจนว่า “ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย ถ้าเราไมสมบูรณ์แบบ”

เราเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด

การตั้งเป้าหมายยิ่งใหญ่ แล้วรีบเร่งกับชีวิตเพื่อจะไปสู่เป้าหมายนั้นอาจกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเราเอง

.

ดังนั้นต่อจากนี้ ลองใช้ชีวิตให้ช้าลงบ้าง

ลองเริ่มจากการหาพื้นที่ว่างในชีวิตดูบ้าง

หาเวลาอยู่เฉยๆ

ลิสต์รายการที่สูบพลังของเราออกไป

แล้วจัดระเบียบชีวิตเสียใหม่

.

.

8) ในแต่ละวัน ให้เราชื่นชมยินดีกับ 3 สิ่งต่อไปนี้

1. ชื่นชมยินดี กับ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ในแต่ละวัน

ถ้าเจอถ้วยชามที่มีรอยแตก ก็ให้คิดว่ารอยแตกนั้นก็มีเรื่องเล่าขานเป็นของตัวเอง

ไม่ต่างจอะไรจากชีวิตผู้คน ที่ล้วนมีเรื่องราวและประสบการณ์ของตัวเอง

จงโอบรับ เข้าใจ มองเห็นคุณค่าและมอบความรักต่อสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่มันเป็น

.

2. ชื่นชมยินดี กับ “ความไม่เสร็จสมบูรณ์” ในแต่ละวัน

ชีวิตเราไม่มีบทสุดท้ายเขียนไว้ ชีวิตเราเป็นเหมือนงานที่ยังไม่เสร็จเสมอ

เราเข้ามาในโรงเรียนแห่งชีวิตนี้เพียงชั่วคราว แล้วก็ต้อง “ผ่านไป”

ในทุก ๆ วันมีเรื่องให้เราเรียนรู้ใหม่ได้อยู่เสมอ

การยอมรับว่าชีวิตไม่เสร็จสมบูรณ์ ทำให้เราถ่อมตัว และรู้ว่าจะก้าวเดินต่อไปในทิศทางใดได้บ้าง

.

3. ชื่นชมยินดี กับ “สิ่งที่ดับหายไป” ในแต่ละวัน

ชีวิตเราเป็นสิ่งชั่วคราว เช่นเดียวกับชีวิตของทุกคน และทุก ๆ สิ่ง

เราจึงควรเต็มที่ทั้งกายใจและจิตวิญญาณกับทุกขณะ ของชีวิต

และทำดีกับผู้อื่นไว้ทุกเมื่อที่มีโอกาส

.

.

รีวิวสั้น ๆ

เป็นหนังสือ วะบิ ซะบิ อีกเล่ม ที่ออกปี 2022 และเป็นเล่มที่เขียนโดยคนญี่ปุ่นจริง ๆ !

สิ่งสำคัญอาจเป็นมุมมองที่ต่างกันของคนเขียนแต่ละคน

ถ้าเล่มของ Beth Kempton จะเป็นการหลักวะบิ ซะบิ ไปผสานกับหลักการ self-help ในแบบตะวันตก

ส่วนเล่มนี้ของ โนบูโอะ ซูซูกิ จะเน้นไปที่หลักปรัชญาของวะบิ ซะบิ และมีการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันบ้างพอประมาณ

.

ตัวผู้เขียน คุณโนบูโอะ ซูซูกิ ก็มีความน่าสนใจ

เพราะแม้จะไม่ได้บอกประวัติเขาชัดเจนในหนังสือ แต่จากเรื่องเล่าในเล่มก็พอจะประมาณได้ว่า

เขาเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลาง “ความเรียบง่าย”

อย่างตอนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ เขาก็อยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในชนบท ที่ ๆ คนในหมู่บ้านรู้จักกันหมด

ใช้ชีวิตเรียบง่ายไปตามวิถีธรรมชาติ และมีแมวคู่ใจชื่อทามะ อยู่เป็นเพื่อน

ช่วงนั้นเขาอาจอยู่ประจำวัดเซน หรือบวชเป็นพระก็เป็นได้

.

แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนญี่ปุ่น และได้สัมผัสชีวิตวิถีธรรมชาติ

ทำให้มุมมองที่เขามีต่อหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างน่าสนใจ

.

โดยหนังสือแบ่ง วะบิ ซะบิ ออกเป็น 3 หมวด

คือ

1) วะบิ ซะบิ ในเชิงปรัชญา

2) วะบิ ซะบิ ในงานศิลปะ

3) วะบิ ซะบิ ในชีวิตประจำวัน

.

2 หัวข้อแรกค่อนข้างมีความเป็นปรัชญา และเข้าใจยากพอสมควร

แต่หัวข้อสุดท้ายก็สามาสรถอ่านเสร็จ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทันที

.

นอกจากนี้สิ่งพิเศษ คือคำรำพึงหรือบทภาวณา (mediation) ที่แทรกตัวอยู่ในทุกบท

ใครชอบอ่านพวกกลอน น่าจะเข้าทางพอสมควร

แต่ถ้าใครไม่ใช่สายนี้ ก็อ่านข้าม ๆ ไปได้

.

โดยรวมแล้วหนังสือค่อนข้างบาง

เนื้อหาอาจไม่ได้เน้นการประยุกต์ใช้ที่ครอบคลุมหลาย ๆ ด้านในชีวิตแบบเล่มของ Beth Kempton

แต่เนื้อหามีความเป็นปรัชญาญี่ปุ่นที่นุ่มลึก ละเอียดอ่อน แต่เข้าใจง่าย

.

อ่านจบแล้ว จะอยากทำให้ชีวิตช้าลงอีกหน่อย

โดยเฉพาะคนที่กำลังใช้ชีวิตเร่งให้ไปสู่ความสำเร็จ

หนังสือ วะบิ ซะบิ ทุกเล่มอาจทำให้เราหันมามองหาอีกด้านของชีวิตมากขึ้น

.

ลองใช้ชีวิต ช้า ๆ แล้วอยู่กับปัจจุบัน ขณะ ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

มองความงามของสิ่งรอบตัว ดื่มด่ำไปกับโมเมนต์ต่าง ๆ ที่เข้ามา

อย่าเอาความคิดตัวเองไปผูกโยงกับอดีต หรืออนาคต

และจงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย

อาจเป็นข้อคิดชีวิตที่เราควรย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ ๆ เมื่อได้รู้จักกับ วะบิ ซะบิ

.

.

....................................................................................................

ผู้เขียน: โนบูโอะ ซูซูกิ

ผู้แปล: ศันสนีย์ วรรณางกูร

จำนวนหน้า: 188 หน้า

สำนักพิมพ์ : เนชั่นบุ๊คส์, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 2022

ชื่อเรื่องต้นฉบับ: Wabi Sabi : The Wisdom in Imperfection

....................................................................................................

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #วะบิซะบิความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ




145 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page