รีวิว วะบิ ซะบิ
.
.
‘ทุกสรรพสิ่งบนโลก ล้วนไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์ และไม่เสร็จสิ้น’
.
หนังสือที่เขียนอธิบายปรัชญาพื้นฐานของ ‘วะบิ ซะบิ’ สิ่งที่ยากจะอธิบาย แต่คนญี่ปุ่นล้วนรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของสิ่งนี้
.
(1)
สิ่งแรกที่โดนใจผมเมื่อหยิบหนังสือ วะบิ ซะบิ ขึ้นมาอ่านหลังจากได้ยินรีวิวหนังสือเล่มนี้มาสักพักแล้ว คือการที่คนเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นคนอังกฤษ
.
เราต่างรู้ดีว่า ชาติตะวันตกนั้น เน้นเหตุและผล เน้นความมีประสิทธิภาพในการทำงาน เน้นการลงมือทำเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ และเน้นหลักการที่ระบุได้ชัดเจน เช่น หลักhowto
.
ตรงกันข้ามกับปรัชญาหลายๆอย่างในญี่ปุ่น ที่ให้นึกถึงความเรียบง่าย และการยอมรับความสวยงามของชีวิตในแบบที่มันเป็น
.
พอคนเขียน คุณเบธ แคมตั้น ชาวอังกฤษพยายามจับหลักการวะบิ ซะบิ ให้ออกมาเป็นหนังสือ เนื้อหาที่ได้เลยเหมือนเป็นส่วนผสมของทั้งหลักเหตุผล การและความเรียบง่ายอันสวยงามของชีวิตในแบบที่มันเป็น
.
พูดสั้นๆคือ หนังสือผสมปรัชญาวะบิ ซะบิ และหลัก howto ในการเอาไปประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัวมาก
.
ต้องบอกด้วยว่า คุณเบธ แคมตั้น อาศัยอยู่ญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายปี ตั้งแต่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน และได้เข้าทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์ NTV ทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับญี่ปุ่น รวมถึงการมีอยู่ของวะบิ ซะบิ ด้วย
.
.
(2)
หนังสือพัฒนาตัวเองทั้งหมดทั้งปวงบนโลก อาจแบ่งออกได้เป็นเพียง 2 แบบเท่านั้น
.
แบบแรกคือ หนังสือที่กระตุ้นให้คนอ่านลงมือทำตามความฝัน ตั้งเป้าหมาย กำจัดอุปสรรคต่างๆ และมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ
.
แบบที่ 2 คือ หนังสือที่ปลอบประโลมใจนักอ่าน ในวันที่รู้สึกท้อ รู้สึกว่าชีวิตนี้ช่างยากเหลือเกิน กำลังใจเล็กๆจากหนังสือแต่ละเล่มก็ดูจะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยสร้างพลังใจของนักอ่านขึ้นมาได้
.
วะบิ ซะบิ เป็นหนังสือแบบที่ 2
.
เพราะวะบิ ซะบิ เป็นหนังสือที่บอกถึงความเรียบง่าย และสอนให้เรารู้รู้จักยอมรับสภาวะความเป็นไปของชีวิต แน่นอนว่าหลายๆครั้งชีวิต ก็ไม่ได้เป็นดั่งที่ใจเราปราถนาเสมอไป แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า มันจะคงอยู่อย่างนั้นไปตลอด และไม่ใช่ว่าใจเรา ต้องทนทุกข์ทรมานกับสิ่งที่ไม่ได้อยากให้เกิดเหล่านั้น
.
การน้อมรับความเป็นจริงของธรรมชาติคือ สิ่งที่วะบิ ซะบิ พยายามสอนเรา หนังสือเล่มนี้จึงช่วยให้เรารู้จักเปิดใจ และฟังเสียงสิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะด้วย
.
แน่นอนว่าคนๆหนึ่งอาจชอบอ่านหนังสือทั้ง 2 ประเภทข้างต้น ขึ้นอยู่กับว่าเขาอ่านมันเมื่อไหร่ อ่านช่วงที่อารมณ์เป็นยังไง ถ้าช่วงที่อยากรุกไปข้างหน้า แน่นอนว่าหนังสือประเภทที่กระตุ้นให้เราลงมือทำคงจะเหมาะมากกว่า แต่กลับกันในช่วงที่เราเหนื่อย และอยากหยุดพักการเดินทางอันยาวไกลดูบ้าง วะบิ ซะบิและหนังสือประเภทที่ 2 เล่มอื่นๆก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีไม่ใช่น้อย
.
.
(3)
หลายคนบอกว่า เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เข้าใจยาก เพราะเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง ลึกขนาดที่ว่า คนเขียนเดินไปถามคนญี่ปุ่นให้ช่วยอธิบายนิยามของคำว่า วะบิ ซะบิหน่อย คนญี่ปุ่นเหล่านั้นก็จะเงยหน้าขึ้น หยุดคิด สักพักก็จะรู้สึกตัวว่านึกไม่ออกจริงๆว่าจะอธิบายความหมายของคำนี้ยังไง
.
แต่ถึงอย่างนั้น คนญี่ปุ่นทุกคนก็รู้จักวะบิ ซะบิ มันเหมือนอยู่ในเลือดเนื้อของพวกเขา อยู่ในการดำรงชีวิตกับธรรมชาติมาอย่างช้านาน
.
ถึงตรงนี้ หลายคนก็คงจะสงสัยต่อว่า แล้วอย่างนี้ เราจะหาคำตอบได้อย่างไรว่า วะบิ ซะบิหมายถึงอะไร
.
แท้จริงแล้ว ถ้าจะเข้าใจวะบิ ซะบิ “เราต้องนึกไปถึงโมเมนต์แต่ละโมเมนต์ในชีวิตเราที่ล้วนเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ เช่น ในตอนที่เราเงยหน้าขึ้นจากมือถือแล้วมองเห็นพระอาทิตย์อัสดงอยู่ที่ปลายขอบฟ้า แสงสีส้มเจือม่วงอ่อน มีสีแดงปนนิดหน่อยช่างเป็นภาพที่ตระการตาอย่างมาก สายตาเราจับจ้องไปที่พระอาทิตย์นั้นไม่มีลดละ ร่างกายเราหยุดนิ่ง หัวสมองหยุดคิดเรื่องอื่นๆ มีเพียงแค่เรากับดสงอาทิตย์ที่ปลายขอบฟ้านั้น เรารู้สึกถึงความสงบในจิตใจ เป็นอารมณ์ที่สุขปนเศร้า เป็นความพอใจ เป็นความยินดีที่ได้พบเจอ แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่าพระอาทิตย์อัสดงนั้นไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป ไม่นานหลังจากนั้น พระอาทิตย์ก็จะตก และแสงบนท้องฟ้าก็จะมืดลง ความเศร้าจึงเกิดขึ้นในใจเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
.
แต่โมเมนต์แบบนี้เองที่อาจเรียกได้ว่ามันคือการที่เราได้สัมผัสกับ วะบิ ซะบิ ความงามของชีวิตที่เกิดขึ้นเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็ผ่านไป พร้อมทิ้งความรู้สึกสุขปนเศร้าไว้เป็นรอยประทับ
.
โมเมนต์เหล่านี้อาจเกิดกับเราได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราได้กอดลูกน้อยที่เพิ่งคลอดออกมาจากท้องผู้เป็นแม่เป็นครั้งแรก โมเมนต์ที่เราได้พบเจอกับคนรักของเราอีกครั้งหลักจากต้องห่างกันออกมาสักพัก โมเมนต์ที่เรานั่งโง่ๆริมทะเลจ้องมองสีฟ้าของทะเลและความเวิ้งว้างเบื้องหน้า ทุกโมเมนต์ล้วนเกิดเป็นวะบิ ซะบิ กับใจเราได้ทั้งนั้น
.
เพราะฉะนั้นแล้ว สำหรับตัวผม ถ้าจะให้นิยามวะบิ ซะบิตามความเข้าใจ อาจเรียกได้ว่า มันคือ ‘ความรู้สึกอิ่มเอมใจและพอใจไปกับความสวยงามของสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า พร้อมกับยอมรับว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นล้วนไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์ และไม่มีวันเสร็จสิ้น’
.
.
(4)
คราวนี้ลองมาดูความหมายของคำว่า วะบิ ซะบิ ตามตัวอักษรกันบ้าง ‘วะบิ ซะบิ’ ประกอบจากคำ 2 คำ คือคำว่า ‘วะบิ’ และ ‘ซะบิ’
.
‘วะบิ’ เป็นคำที่ใช้อธิบายความรู้ที่เกิดจากการรับรู้ความงามที่เกิดภายในจิตใจ มันเป็นความงามจากความเรียบง่าย หรือจะกล่าวได้ว่ามันคือ ความรู้สึกยกย่อง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเรียบง่าย และการชื่นชมยินดีพร้อมๆกับพอใจกับตัวเราในแบบที่เราเป็น
.
‘ซะบิ’ เป็นสุนทรียภาพที่เกิดเผยตัวออกมาเมื่อผ่านกาลเวลา จะเรียกว่ามันสื่อถึงวิถีทางของสรรสิ่งที่ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลง ซะบิ จึงเป็นเหมือนเครื่องสะท้อนถึงความไม่เที่ยงของชีวิต
.
เมื่อมารวมกันแล้ว วะบิ ซะบิ จึงหมายถึงความงามแบบเรียบง่ายไม่สมบูรณ์แบบของสรรพสิ่งที่ล้วนแล้วแต่อยู่ในตัวมันเอง และล้วนไม่อาจต่อต้านกฎธรรมชาติว่าด้วยเรื่องความไม่เที่ยงและการเปลี่ยนแปลง
.
.
จริงๆแล้วหลักพื้นฐานของ วะบิ ซะบิ มีไม่มาก แต่ด้วยความที่มันเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งทั้งหลายในชีวิตเรา เราจึงสามารถนำหลัก วะบิ ซะบิ มาประยุกต์ใช้กับเรื่องต่างๆในชิวตได้ ไม่ว่าจะเป็น การจัดบ้าน การอยู่กับธรรมชาติ การจัดการความล้มเหลว การรักษาความสัมพันธ์ และการงาน
.
(5)
วะบิ ซะบิ กับการจัดบ้าน
.
ดูเป็นเรื่องแปลกที่บทแรกๆของหนังสือคือการนำหลัก วะบิ ซะบิ มาใช้กับการจัดบ้าน แต่จริงๆแล้วทุกๆอย่างในชีวิตเราอาจเริ่มจากการจัดบ้านที่เราพักอาศัยก็เป็นได้
.
แน่นอนว่าหลัก วะบิ ซะบิ บอกให้เราลดความโอ่อ่าหรูหราของความเป็นวัตถุนิยม และอยู่กับความเรียบง่ายแบบ minimalist เราอาจไม่จำเป็นต้องซื้อของฟุ่มเฟือยเพื่อมาตกแต่งทุกส่วนของบ้าน เราอาจปล่อยให้มีที่ว่างบ้าน และเติมเต็มบ้านด้วยของที่จำเป็น
.
นอกจากนี้เราควรเพิ่มความใกล้ชิดกับธรรมชาติ เพื่อให้เราได้สัมผัสความเรียบง่ายเมื่อพักอาศัย
วัตถุน้อยลง จิตใจมากขึ้น
เร่งรีบน้อยลง ผ่อนคลายมากขึ้น
โกลาหลน้อยลง สงบเย็นมากขึ้น
บริโภคน้อยลง สร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น
ซับซ้อนน้อยลง กระจ่างชัดมากขึ้น
ตัดสินน้อยลง ให้อภัยมากขึ้น
อวดโอ่น้อยลง จริงแท้มากขึ้น
ขัดขืนน้อยลง ยืดหยุ่นมากขึ้น
ควบคุมน้อยลง โอนอ่อนมากขึ้น
ใช้สมองน้อยลง ใช้หัวใจมากขึ้น
.
จงสร้างบ้านที่อบอุ่น เรียบง่าย และพร้อมต้อนรับแขกที่มาเยือน ผู้อาจได้พบเจอกันเพียงครั้งเดียว (อิชิโกะ อิชิเอะ)
.
.
(6)
วะบิ ซะบิ กับการอยู่กับธรรมชาติ
.
การอยู่กับธรรมชาตินั้นก็อาจทำให้เราเข้าใจปรัชญา วะบิ ซะบิ มากขึ้น เพราะบางครั้งเราวิ่งไล่หาความสมบูรณ์แบบของชีวิตอยู่ตลอดเวลา เรามุ่งมั่นทำงานเพื่อจะก้าวขึ้นไปสู่จัดที่ต้องการ เราไม่ปล่อยให้ใจตัวเองได้พัก ได้ดื่มด่ำกับสิ่งรอบข้างในแต่ละช่วงเวลาบ้าง
.
ธรรมชาติไม่สนใจเรื่องการวิ่งตามหาความสำเร็จอะไรนั่นเลย ไม่ว่าวันนั้นเราจะทำผมทรงอะไร แต่งตัวยังไง ก้าวหน้าในการงานแค่ไหร โพสต์รูปแล้วมีคนไลค์มากแค่ไหน ธรรมชาติก็ไม่ตัดสิน และดำเนินไปในแบบของมัน เราจึงควรเปิดรับเสียงของธรรมชาติ และหยุดพักจากโลกวัตถุนิยมอันวุ่นวายบ้าง
.
มีเทคนิคดีๆมากมายที่หนังสือนำเสนอ เช่น
- การเดินช้าๆที่ลดความเร็วจากปกติสักครึ่งหนึ่ง
- การอยู่กับปัจจุบันขณะ ปิดโทรศัพท์มือถือ ปิดรับสิ่งรบกวนต่างๆ
- การใช้ทุกประสาทสัมผัสสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
- การลองสังเจตดูวัฐจักรของชีวิต ดูว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้นบ้าง มีอะไรที่เติบโต และมีอะไรที่กำลังโรยรา
.
จงจำไว้ว่า ธรรมชาติคอยเตือนถึงความไม่เที่ยงแท้ในชีวิตเราเสมอ
.
การใส่ใจกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไปยังเป็นหนทางให้เราได้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน และจังหวะในธรรมชาติยังช่วยให้เราปรับจังหวะชีวิตตัวเอง ให้รู้ว่าเมื่อไหร่ควรมุ่งไป และเมื่อไหร่ควรพักผ่อน
.
.
(7)
วะบิ ซะบิ กับการยอมรับและปล่อยวาง
.
คนเรามีทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่งอยู่ 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งคือคนที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทำทุกอย่างเพื่อเหนี่ยวรั้งสิ่งที่เป็นอยู่ไว้ และอีกขั้วคือใช้การเปลี่ยนแปลงเพื่อหลีกหนีจากสิ่งที่เป็นอยู่จนเป็นนิสัย
.
วะบิ ซะบิ สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเตือนใจให้กับคนสองขั้วนี้ โดยเฉพาะคนที่ไม่ยอมปล่อยวาง และยึดเหนี่ยวอดีตไว้สุดขั้วหัวใจ การทำใจยอมรับว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ทุกๆอย่างล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับลงทำให้เราเข้าใจความจริงแท้ของธรรมชาติ
.
เราต้องไม่ฝืน เราต้องรู้จักปล่อยวาง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ก็ไม่ใช่การหนีออกจากทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นแบบคนในขั้วที่ 2
.
เราต้องรู้จักยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั้นด้วย เราอาจไม่ต้องชอบมัน ไม่ต้องให้อภัยมัน เพียงแค่เข้าใจมัน เข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ก็เกิดขึ้นแน่นอน
.
และที่สำคัญ เราต้องเข้าใจด้วยว่า ชีวิตของเราเป็นดั่งกระบวนการที่ไม่มีวันเสร็จสิ้น เราล้วนวิวัฒน์ไปตลอดเวลา ไม่มีจุดสิ้นสุด เราทำได้เพียงดื่มด่ำกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ และขอบคุณในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา
.
เรื่องในอนาคตก็เช่นเดียวกัน การยอมรับในการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ว่าจะห้ามวางแผนอนาคต แน่นอนว่าเราทุกคควรวางแผนอนาคตของตัวเอง วาดภาพสิ่งที่ตัวเองฝันให้ชัด แต่จงปล่อยวาง ปล่อยตัวเองออกจากกรอบพันธนาการของเวลาและอยู่กับชีวิต ณ ปัจจุบันขณะ
.
ไม่ว่าชีวิตจะพาเราไปที่จุดใด เราต้องทำใจให้ผ่อนคลายและโอบรับสิ่งที่เกิดขึ้น
.
.
(8)
วะบิ ซะบิ กับความล้มเหลว
.
ต่อเนื่องมาจากเรื่องการเปลี่ยนแปลง วะบิ ซะบิ สอนให้เราอยู่กับความล้มเหลวได้ เพียงแค่เร้าตองเปิดใจยอมรับมัน ไม่ขัดขืน ไม่โทษตัวเอง ไม่จมอยู่กับความผิดหวัง
.
ชีวิตคือกระบวนการที่ไม่เสร็จสิ้น และอนาคตข้างหน้ามีอะไรอีกตั้งมากมายที่รอให้เราเข้าไปเรียนรู้
.
กราฟชีวิตของคนเราอาจมีช่วงตกต่ำ มีช่วงทะยานขึ้น มีช่วงราบเรียบ แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติของเราว่าเราจะมองมันยังไง มันสอนอะไรเราได้บ้าง และมันช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร
.
วะบิ ซะบิ สอนว่าแม้ในวันที่เราล้มเหลว ความรู้สึกล้มเหลวนั้นก็ไม่ได้คงอยู่กับเราไปตลอด ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ จะต้องมีวันที่เรากลับมาเริ่มต้นใหม่ได้อย่างแน่นอน
.
นอกจากนี้ ในช่วงที่เราล้มเหลว มันอาจเป็นจังหวะให้เราได้หยุด ทบทวน พลิกมุมมอง และหาหนทางอื่นเพื่อเดินต่อแทน
.
.
(9)
วะบิ ซะบิ กับความสัมพันธ์
.
เมื่อเราเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกล้วน ไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์ และไม่เสร็จสิ้น คนรอบตัวเรา คนที่เราพบเจอทั้งหลายก็ล้วนเป็นไปตามกฎธรรมชาติเหล่านี้ด้วย
.
วะบิ ซะบิ จึงทำให้เราได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์และการปฏิบัติต่อคนรอบตัวเราในทุกๆวัน
.
มีหลัก 4 ประการที่วะบิ ซะบิแนะนำ นั่นคือ เราควรปฏิบัติต่อคนอื่นตามหลักการ
1) ความสอดคล้อง ตามจังหวะการสนทนา ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความสบายใจ ปลอดจากอารมณ์รุนแรง
2) ความเคารพ ซึ่งกันและกัน
3) ความบริสุทธิ์ ทั้งจากเจตนาและการกระทำ
4) ความสงบงาม ที่เป็นผลลัพธ์จากการทำ 3 ข้อแรกมาอย่างต่อเนื่อง
.
เวลาของเรามีจำกัด เวลาของคนอื่นก็เช่นกัน ดังนั้นแล้วทุกช่วงขณะ ถ้าเราปฏิบัติต่อกันด้วยความดีงามแล้ว จิตใจเราก็จะสงบผ่อนคลาย และได้พบกับความงามที่แท้จริง
.
.
(10)
วะบิ ซะบิ กับการทำงานและการเติบโต
.
หลักการของ วะบิ ซะบิ ช่วยให้เราตระหนักถึงคุณค่าในแบบที่เราเป็น ช่วยให้เรารู้สึกเบิกบานใจ และพร้อมออกไปพัฒนาศักยภาพของเราด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จิตใจที่เบิกบานยังทำให้เราปราศจากอารมณ์ทางลบแลความวิตกกังวล
.
เมื่อศักยภาพของเราสูงขึ้น หน้าที่การงานของเราย่อมดีขึ้นไปด้วย
.
นอกจากนี้แล้ว วะบิ ซะบิ ยังบอกเราว่า คนเรามีทางเลือกมากมายในชีวิต แม้การงานที่เราทำอยู่ในวันนี้อาจจะยังไม่ใช่ แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆรออยู่อีกมาก เราอาจลองหยุดพัก ให้เวลากับตัวเอง และก้าวเดินไปในทางเดินอื่นๆที่เป็นไปได้ เพื่อที่เราจะได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองเป็นอย่างแท้จริง
.
การเติบโตในแต่ละช่วงชีวิตของเราแตกต่างกันไป มีเหตุการณ์มากมายเข้ามาเปลี่ยนผ่านชีวิตของเรา เราต้องรู้จักเรียนรู้ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
.
สิ่งสำคัญคือการหาจังหวะของตัวเอง เราต้องเติบโตไปในจังหวะที่เป็นตัวเรา ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป และเราต้องเข้าใจว่าช่วงจังหวะเวลาในการเติบโตของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน การหาจังหวะที่ใช่ของตัวเองจึงสำคัญมาก
.
.
(11)
วะบิ ซะบิ ให้อะไรเรา
.
คำถามสุดท้ายคือ เราจะรู้ วะบิ ซะบิไปทำไม
.
อาจไม่ได้มีคำตอบตายตัว แต่ที่ผมคิดว่าปรัชญานี้มอบให้กับผู้อ่านแน่ๆคือ การเตือนสติแรงๆให้เราเดินช้าลง อยู่กับปัจจุบัน ขณะ ด้วยสติทั้งหมดที่มี และสัมผัสประสบการณ์ในแต่ละช่วงเวลาด้วยหัวใจทั้งดวง
.
นอกจากนี้วะบิ ซะบิ ยังช่วยเตือนให้เราเข้าใจถึงความไม่สมบูรณ์แบบของสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรสมบูรร์แบบ ไม่มีอะไรเสร็จสิ้น ทุกสิ่งอย่างล้วนดำเนินไปในวิถีทางของมัน และแน่นอนว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ยังไงๆสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าก็ต้องเปลี่ยนไปสักวันหนึ่ง
.
สุดท้ายหลัก วะบิ ซะบิ อาจช่วยปลอบประโลมใจเรา ให้มองเห็นความงาม เห็นคุณค่าในตัวเองในแบบที่เราเป็น โดยเน้นที่ความเรียบง่าย และยึดติดกับโลกวัตถุนิยมน้อยลง
.
.
สุดท้ายแล้วต้องบอกว่า หนังสือดีมากๆจริงครับ เนื้อหาแต่ละบทมีรายละเอียดเยอะมาก เล่ายังไงก็ไม่หมด และต้องอ่านเองถึงจะได้อรรถรส และเห็นถึงความลึกซึ้งของปรัชญาวะบิ ซะบิ ยังไงต้องลองหาโอกาสอ่านเล่มนี้ให้ได้ครับ
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
....................................................................................................................................
ผู้เขียน: Beth Kempton
ผู้แปล: วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
จำนวนหน้า: 432 หน้า
สำนักพิมพ์: Be(ing)
เดือนปีที่พิมพ์: 6/2020
ชื่อเรื่องต้นฉบับ: Wabi Sabi
....................................................................................................................................
.
.
Comentarios