
สรุป 10 ข้อคิด หลังอ่านหนังสือ นาโงมิ สุข สงบ สมดุล
.
.
1. นาโงมิ หมายถึง ความสงบ สมดุล และความสบายภายในใจ
นาโงมิอาจเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสิ่งแวดล้อม
นาโงมิอาจเป็นเรื่องของการสื่อสารระหว่างคนสองคน
นาโงมิอาจเป็นส่วนผสมที่สมดุลและกลมกลืนของวัตถุดิบทำอาหารต่าง ๆ
นาโงมิอาจเป็นสภาวะจิตใจโดยรวมของมนุษย์คนหนึ่ง
.
โดยเป็นความรู้สึกตอนที่เรารู้สึกหลอมรวมกับสิ่งภายนอก รู้สึกเป็นหนึ่งเดียว รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย มีความสมดุลทางอารมณ์ มีความผาสุก
.
สิ่งสำคัญคือนาโงมิต้องมีองค์ประกอบที่แตกต่างหลากหลายตอนเริ่มต้น แล้วองค์ประกอบเหล่านั้นค่อย ๆ มาเรียงตัวเชื่อมต่อกันให้ปรองดองกลมกลืน
.
.
2. นาโงมิ เป็นต้นกำเนิดแนวคิดสำคัญอื่น ๆ ของญี่ปุ่น
ไม่ว่าจะเป็น วะบิ ซะบิ, คินสึงิ, เซน, อิชิโกะ อิชิเอะ, และ อิคิไก
นาโงมิจึงเป็นเหมือนเสาหลักที่สำคัญทางวัฒนธรรมญี่ปุ่น และเป็นสิ่งที่หลอมรวมปรัชญาญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน
.
.
3. นาโงมิในอาหาร คือการจัดกล่องเบนโตะที่มีอาหารหลายอย่าง โดยไม่มีอาหารจานหลัก
อาหารทุกอย่างช่วยประสานซึ่งกันและกัน
เมื่อเวลากินอาหารเหล่านั้นพร้อมข้าว ก็จะให้รสชาติที่กลมกลืน
วัตถุดิบสองอย่างจะไม่ตีกันในปาก แต่จะผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน
และช่วยให้ประสบการณ์ในการรับประทานอาหารมื้อนั้นดีที่สุด
.
.
4. นาโงมิในตัวตน คือการผสานด้านต่าง ๆ ของชีวิตอย่างสมดุล และร้อยเรียงออกมาเป็นความสุข
หลายคนมักคิดว่า เมื่อเรียนจบสูง ทำงานเงินเดือนดี แต่งงานมีครอบครัว ซื้อบ้านหลังใหญ่โต แล้วจะมีความสุข
แต่หลายคนมักผิดหวัง เมื่อชีวิตไม่ได้เป็นอย่างนั้น
.
ถ้าเปรียบของสองสิ่ง สิ่งหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่คนเรามักตามหาคือ “กระสุนเงิน”
แต่อีกสิ่งเป็นสิ่งที่คนเรามักหลงลืมไปคือ “พรมวิเศษ”
.
คนเรามักคิดว่า ถ้ามีกระสุนเงิน ซึ่งเปรียบเหมือนวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในโลก สามารถใช้แก้ปัญหาทุกอย่างในชีวิตได้
ถ้าเราเจอกระสุนเงินดังกล่าวแล้ว ชีวิตเราจะมีความสุขตลอดไป
แต่ความเป็นจริงก็คือ กระสุนเงินนั้นไม่มีอยู่จริง และมันได้สร้างความผิดหวังให้กับผู้คนมากมายที่ออกตามหา
.
วิธีที่จะทำให้เราค้นเจอความสุขและสงบในชีวิตได้จริง ๆ คือการใช้พรมวิเศษ
ที่จะช่วยให้ชีวิตในทุก ๆ ด้านมาผสานรวมกันเพื่อพัฒนาชีวิต ทำให้เกิดความพึงพอใจในตัวเอง
ด้านต่าง ๆ รวมถึง การงาน ความสัมพันธ์ และวิถีชีวิต
ซึ่งจะช่วยต่อเติมซึ่งกันและกัน และทำให้เรารู้สึกเติมเต็มจนไม่ต้องการที่จะหนีไปหาสิ่งที่ดีกว่าเดิมอีก
.
.
5. นาโงมิในอิโมจิ
การแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนล้วนอยากทำ
แต่วัฒนธรรมญี่ปุ่นก็มีแนวคิดเรื่อง “เรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับฉัน”
“ฉันไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่มย่ามกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับฉัน”
เรื่องนี้ทำให้คนญี่ปุ่นไม่อยากเปิดเผยตัวตนเพื่อแสดงความคิดเห็น เพราะมันขัดกับวัฒนธรรม “เรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับฉัน”
.
แต่สุดท้ายแล้วคนญี่ปุ่นก็หาวิธีผสานสองสิ่งให้ลงตัวได้ นั่นก็คือ การแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
โดยใช้อิโมจิ แสดงความคิดเห็นแทน
เรื่องนี้นับว่าเป็นนาโงมิแบบหนึ่ง ที่ผสานความต้องการการแสดงความคิดเห็น กับวัฒนธรรมการไม่เปิดเผยตัวตนได้อย่างลงตัว
.
.
6. หัวใจของนาโงมิ คือการแสดงให้เห็นว่าทุกความสัมพันธ์มีคุณค่า และควรค่าแก่การรักษาไว้อย่างยิ่ง
ความสัมพันธ์ที่ว่าหมายรวมถึง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอง คนอื่น และสิ่งแวดล้อม
.
สิ่งนี้ถูกสะท้อนผ่านวิธีสร้างสรรค์ของคนญี่ปุ่น เช่นการจัดสวน
ที่จะมีการตกแต่งสิ่งที่เราเพิ่มเติมเข้าไป (สวนที่เราจัด) ให้ผสมกลมกลืนกับสิ่งที่มีอยู่แล้วรวมถึง ทิวทัศน์ต่าง ๆ แม่น้ำ ภูเขา อย่างลงตัว
.
.
7. นาโงมิในสุขภาพ คือการพยายามรักษาไว้ซึ่งสุขภาพตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างสมดุล
ไม่ใช่การแก้ปัญหาไปที่จุด ๆ เดียวอย่างการกินยาหรือวิตามิน
.
วิธีหนึ่งที่หนังสือแนะนำคือ ชินริน-โยกุ (การอาบป่า) ซึ่งเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นมักทำกัน
คือการเดินในสวนนอกบ้าน พื้นที่สีเขียว และอาบแสงอาทิตย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพได้ในระยะยาว
.
.
8. หลัก 3 ข้อของนาโงมิในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (หลักการโซโดกุ)
1) สร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่จะเรียนรู้ - ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ โค้ดดิ้ง หรือทักษะต่าง ๆ
เราต้องเริ่มจากการการสร้างความคุ้นเคย แม้จะยังไม่เข้าใจในรายละเอียดทั้งหมดก็ตาม
.
2) สร้างสภาพแวดล้อมที่รู้สึกผ่อนคลาย – เช่นการด้วยกันทั้งครอบครัวในบ้านหลังเดียวกัน และสมาชิกแต่ละคนร่วมเรียนรู้สิ่งที่สนใจไปด้วยกัน
.
3) เราจะค้นพบนาโงมิของสิ่งที่เรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบสิ้น
.
.
9. นาโงมิในความคิดสร้างสรรค์ คือการสร้างความสมดุลและความผสานกลมกลืนของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จนก่อเกิดเป็นสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ขึ้นมา
แนวคิดนาโงมิของญี่ปุ่นจะต่างจากโลกตะวันตกที่มองว่าอัจฉริยะที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาได้ มักได้รับพรจาพระเจ้า และต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว
.
สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว อัจฉริยะในงานสร้างสรรค์ คือ ความสมดุลพอดี ระหว่างความเป็นตัวเองที่จะยัดเยียดคุณค่าความอัจฉริยะให้กับการหักห้ามใจตัวเองไม่ให้สุดโต่งจนเกินไป
นาโงมิในความคิดสร้างสรรค์จึงทำให้เกิดจุดสมดุลที่ผสานการแสดงออกซึ่งความเป็นตัวตนของคน ๆ หนึ่งกับความพอดีที่จะอยู่ในโลกใบนี้ได้
โดยต้องแลกมาซึ่งการปฏิเสธตัวตนบางอย่างไป
.
.
10. นาโงมิ กับความเปลี่ยนแปลง เป็นหลักการที่บอกให้เรายอมรับว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นซับซ้อน
และเราต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับความคลุมเครือ ความไม่แน่นอน และความขึ้น ๆ ลง ๆ ของชีวิต
.
นาโงมิสอนให้รู้ถึงความไม่ยั่งยืนถาวรของชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะดีหรือร้ายสุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนไป
เพราะสิ่งเดียวที่ถาวรยั่งยืนในโลกนั้น คือความเปลี่ยนแปลง
.
.
รีวิวหลังอ่านสั้น ๆ
เป็นหนังสือกึ่งปรัชญาญี่ปุ่นอีกเล่ม ที่คนไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไหร่
เพราะค่อนข้างเข้าใจยาก และอาจเอาไปประยุกต์ใช้ได้อยากด้วย
แต่ต้องยอมรับว่า หลักการนาโงมิ สุข สงบ สมดุล ปรากฎอยู่ในวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นจริง ๆ
และอาจเป็นตัวขับเคลื่อนวัฒนธรรมสำคัญ ๆ แบบญี่ปุ่นทั้งหมด
.
หนังสือนาโงมิ เขียนโดยอาจารย์เคน โมงิ ผู้เขียนหนังสือขายดี อิคิไก และเล่มอื่นอีกหลายเล่ม
เล่มนี้เป็นเล่มเล็ก แต่อ่านไม่ง่าย
ตลอดเล่มแฝงปรัชญาญี่ปุ่น ที่เชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอด
.
แต่ถ้าใครชอบอ่านแนวปรัชญาญี่ปุ่นอยู่แล้ว
ส่วนตัวก็แนะนำให้ลองศึกษานาโงมิดูครับ
อาจให้แง่คิดดี ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เหมือนกัน
.
.
พิกัดสั่งซื้อ: https://shope.ee/1AmOEldz4T
.
.
............................................................................................
ผู้เขียน: Ken Mogi (เคน โมงิ)
ผู้แปล: เขมลักขณ์ ดีประวัติ
จำนวนหน้า: 162 หน้า
สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์: 6/2022
ชื่อเรื่องต้นฉบับ: The Way of Nagomi
............................................................................................
.
.

Comments