top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว ค้นพบสิ่งมีค่าที่ชื่อว่าตัวเอง (Nice to meet you)



9 เคล็ดลับเข้าใจตัวเอง เพื่อเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด

จากหนังสือ ค้นพบสิ่งมีค่าที่ชื่อว่าตัวเอง (Nice to meet you)

.

.

1) เหตุผลสำคัญที่เราควรรู้จักตัวเองให้ได้ที่สุด

การรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี จะทำให้เราเลือกทางเดินชีวิตได้เฉียบคม

เลือกคู่ครองที่ตรงกับตัวเรา เลือกการงานที่ใช่ในแบบที่เราต้องการ

.

และการได้รู้จักตัวเองยังเป็นขั้นแรกในการก้าวผ่านไปสู่ตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม

‘เพราะคนเรามักเป็นได้มากกว่าที่เราคิด’

ศักยภาพของคนเราจริง ๆ แล้วมีไม่สิ้นสุด

.

.

2) ใช้ชีวิตตามคุณค่าที่ตัวเองยึดถือ แล้วรู้จักปล่อยวาง

เราทุกคนมักมีคุณค่าที่ยึดถือไว้ในใจทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

แต่ลึก ๆ แล้วทั้งสิ่งที่ติดตัวมารวมถึงการเลี้ยงดู ล้วนทำให้เกิดคุณค่าบางอย่างที่เรายึดถือไว้อย่างเหนียวแน่นในส่วนลึกของจิตใจ

เช่น ความยุติธรรม ความมั่นคง ความกตัญญู เสรีภาพ ความสำเร็จ ความคิดสร้างสรรค์ ความตรงต่อเวลา ความใจบุญ และอื่น ๆ อีกมากมาย

.

สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ตัวว่า ‘เราใช้ชีวิตอยู่บนคุณค่าอะไร’

และพยายามดีไซน์ชีวิตให้ตรงกับคุณค่าที่เรายึดถือในใจเราจริง ๆ

เช่น เราให้คุณค่ากับครอบครัว แต่ทุกวันนี้เราทำงานหนักจนไม่ได้กลับไปเจอหน้าลูก

นี่อาจเป็นวิถีทางที่ผิด และไม่ตอบคุณค่าที่เรายึดถือ

.

อย่างไรก็ตาม การยึดมั่นคุณค่าตัวเองไว้จนแน่นเกินไปก็อาจกลายเป็นการทำร้ายตัวเองได้

เพราะหลายครั้งโลกก็ไม่ได้เป็นไปได้ในแบบที่เราต้องการ

สิ่งสำคัญจึงเป็น ‘การรู้จักปล่อยวาง’

ในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้

และทำเท่าที่เราทำได้

.

.

3) เคารพคุณค่าของคนอื่น

เมื่อเราเข้าใจคุณค่าตัวเองแล้ว ก็ลองทำความเข้าใจคุณค่าของคนใกล้ตัวดู

เมื่อเข้าใจแล้ว เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปแตะคุณค่าที่คนใกล้ตัวเรายึดถือ

เพราะการทำแบบนั้นเท่ากับการทำลายความสัมพันธ์ดี ๆ นั่นเอง

.

จงแสดงความเคารพในคุณค่าของคนอื่น เช่นเดียวกับที่เราอยากได้รับความเคารพจากคนอื่น

.

.

4) ชีวิตเราล้วนถูกควบคุมโดยความต้องการพื้นฐาน 6 ประเภท

โดยแต่ละคนมีความต้องการแต่ละประเภทมากน้อยแตกต่างกันไป

1. ความต้องการที่จะรู้สึกมั่นคงปลอดภัย

ชอบแบบแผน ขั้นตอน ชอบมีการวางแผน ชอบรู้สึกว่าตัวเองควบคุมจัดการชีวิตตัวเองได้ดี

ถ้าเติมเต็มความต้องการไม่ได้ ก็จะบังคับคนอื่นให้ทำตามที่ตัวเองต้องการ และอาจกลายเป็นคนขาดความรับผิดชอบ

.

2. ความต้องการที่จะรู้สึกตื่นเต้น

ชอบทำอะไรใหม่ ๆ ชอบอะไรที่ท้าทาย ชอบความสนุก ไม่ชอบงานประจำ

ถ้าเติมเต็มความต้องการตัวเองไม่ได้ ก็จะกลายเป็นคนเละเทะ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อาจติดพนันหรือสิ่งเสพติดได้

.

3. ความต้องการที่จะรู้สึกสำคัญ

ชอบทำอะไรที่แตกต่างโดดเด่น ตั้งแต่ ท่าทาง การพูด การแต่งตัว ต้องการการยอมรับว่าเก่งและประสบความสำเร็จ

ถ้าเติมเต็มความต้องการไม่ได้ จะกลายเป็นคนขี้อิจฉา ชอบเปรียบเทียบ อยากเอาชนะ ไม่แคร์คนอื่น และชอบเรียกร้องความสนใจ

.

4. ความต้องการที่จะรู้สึกเป็นที่รักและเป็นส่วนหนึ่ง

ชอบช่วยเหลือคนอื่น มักจะประนีประนอม แคร์และใส่ใจความคิดคนอื่น

ถ้าเติมเต็มความต้องการไม่ได้ จะชอบเรียกร้องความรักจากคนอื่น เก็บกด ไม่กล้าพูดความต้องการของตัวเอง ขี้น้อยใจและโดนเอาเปรียบบ่อย ๆ

.

5. ความต้องการที่จะรู้สึกเติบโต

6. ความต้องการที่จะรู้สึกว่าได้เป็นผู้ให้

สองข้อหลังมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เพราะเป็นการเติมเต็มทางสติปัญญาและจิตใจ

.

.

5) จะเห็นคุณค่าตัวเองได้ ต้องมี ‘คุณธรรม’ และ ‘คุณประโยชน์’ ในตัวเอง

คุณธรรมคือ สิ่งที่ทำแล้วดีต่อตัวเองและผู้อื่นในระยะยาว

เช่น ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน ความจริงใจ ความสุภาพ ความขยัน

.

คุณประโยชน์คือ ทักษะหรือความสามารถที่เอาไปช่วยเหลือคนอื่นได้

พูดภาษาอังกฤษได้ดี สอนคนอื่นให้เข้าใจได้ง่าย

.

.

6) หา ‘ขั้วสมดุล’ ของบุคลิกตัวเองเพื่อสร้างเสน่ห์

ขั้วสมดุลของคุณลักษณะที่เรามีเป็นบ่อเกิดของเสน่ห์

เพราะถ้าเรามีคุณสมบัติด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดข้อเสียต่าง ๆ ได้

.

เช่น เป็นคนตลก แต่ลุ่มลึก

เป็นคนอ่อนหวาน แต่แข็งแกร่ง

เป็นคนเด็ดขาด แต่เมตตา

เป็นคนรักอิสระ แต่ใส่ใจคนรอบข้าง

เป็นคนเก่ง แต่ถ่อมตน

เป็นคนมั่นใจ แต่เป็นผู้ฟังที่ดี

.

.

7) เป้าหมาย (goal) ที่ตั้งไว้อาจลบทิ้งได้ แต่คุณค่า (value) ในใจจริง ๆ ลบทิ้งไม่ได้

เราอาจมีเป้าหมายมากมายเช่น การเป็นดอกเตอร์ การไปเที่ยวรอบโลก การร่ำรวย การมีสุขภาพดี การมีความรักที่ดี

แต่ความจริงแล้วทุกอย่างล้วนมีคุณค่าลึก ๆ ซ่อนอยู่ เช่น

จบดอกเตอร์ เพื่อเรียนรู้และเติบโต

ไปเที่ยวรอบโลก เพื่อเรียนรู้ชีวิตที่แตกต่าง

ร่ำรวย เพื่อครอบครัว เพื่อเป็นผู้ให้

มีสุขภาพดี เพื่ออยู่กับลูกหลานและคนรักไปนาน ๆ

มีความรักที่ดี เพื่อมีกัลยาณมิตรร่วมเดินทาง

.

สุดท้ายแล้วเป้าหมายจริง ๆ ของเราอาจเป็นการหาความสุข และการมีสติปัญญา

.

.

9) เปลี่ยนร่างกาย ย้ายโฟกัส คัดคำพูด

3 สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

- เปลี่ยนร่างกายให้กระฉับกระเฉง ให้หลั่งสารแห่งความสุข ลดความเครียด

- ย้ายโฟกัสจากอดีต และอนาคต มาสู่ปัจจุบัน

ย้ายโฟกัสจากข้อแม้ มาเป็นโอกาส

ย้ายโฟกัสจากสิ่งที่เราขาด มาเป็นสิ่งที่เรามี

- คัดแต่คำพูดดี ๆ ให้เกิดสิ่งดี ๆ ‘สมพรปาก’ และใช้คำดี ๆ ต่อจิตใจตัวเอง

.

.

รีวิวสั้น ๆ

เป็นหนังสือที่ทรงพลังมากที่สุดเล่มหนึ่งจากสำนักพิมพ์ I am the best

เนื้อหาที่ครูเงาะเรียบเรียงมา เข้าใจง่าย และเอาไปใช้ได้ทันที

อ่านจบ เหมือนได้เข้าไปเรียนในคลาสครูเงาะเรียบร้อยแล้ว

.

การเปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องเริ่มจากการรู้จักตัวเอง เข้าใจในความเป็นมาของตัวเองจากอดีต ปัจจุบัน

ก่อนจะเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อได้เป็นตัวเองในแบบที่ต้องการในอนาคตต่อไป

.

นี่คือหลักการเรียบง่ายที่ครูเงาะวางโครงสร้างไว้ในหนังสือ ค้นพบสิ่งมีค่าที่ชื่อว่าตัวเอง

อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

มีแค่ 3 ส่วนหลักจริง ๆ

.

หลังอ่านจบ ชอบเนื้อหาหลายส่วนที่ย่อยง่าย และมี howto ในการเอาไปใช้จริงได้

เนื้อหาสอดแทรกหลักการทางพุทธศาสนา และหลักการทางจิตวิทยาที่ช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

บางหลักการน่าสนใจจนส่วนตัวผมอยากจะมาหาอ่านต่อ

หนังสือมีแบบทดสอบให้เราใช้เวลาทดสอบตัวเอง จนรู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย

.

เนื้อหาเป็นการเล่าเรื่องส่วนตัวของครูเงาะแทรกอยู่เรื่อย ๆ

ทั้งเรื่องบุคลิกภาพ ลักษณะ และอดีตกับชีวิตวัยเด็กของครูเงาะ

พร้อมประสบการณ์นักเรียนต่าง ๆ ที่ครูเงาะเคยเจอมาตลอดชีวิตการทำงาน

.

อ่านไปเรื่อย ๆ ก็สนุกดี เพลิน ๆ ดี

ภาษาที่ใช้ก็เป็นแบบของครูเงาะ เข้าใจง่าย มึงมาพาโวยไปตามเรื่อง

เป็นอีกเล่มที่มี่คุณภาพ และคุ้มกับเวลาอ่านครับ

.

.

.....................................................................................................................

ผู้เขียน: รสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ)

จำนวนหน้า: 224 หน้า

สำนักพิมพ์: I AM THE BEST

เดือนปีที่พิมพ์: 2022

.....................................................................................................................

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #ค้นพบสิ่งมีค่าที่ชื่อว่าตัวเอง




136 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page