รีวิว ความสุขปัจจุบันสุทธิ
The Happiness
.
.
หนังสือรวมความเรียงของ อ.นภดล ร่มโพธิ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าของ podcast Nopadol’s story
.
หนังสือเล่มนี้มี theme ที่ชัดเจนคือ เรื่องเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต จริงๆแล้วอาจารย์นภดลออกหนังสือมาหลายเล่มมากแล้ว แต่ก่อนหน้าเล่มนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ ความลำเอียงในการตัดสินใจ และเรื่องการปรับแนวคิดการเล่นหุ้น เล่มความสุขปัจจุบันสุทธิจึงเหมือนรวมเล่มบทความด้านการใช้ชีวิตทั่วๆไปเป็นเล่มแรก
.
ใครที่ตามอาจารย์นภดลอยู่แล้วจะรู้ว่าอาจารย์อ่านหนังสือเยอะมาก และเวลาอ่านเยอะๆแล้ว อาจารย์ก็จะตกผลึกความคิดออกมาเป็น output ในรูปแบบความเรียง podcast และการเล่าเรื่องผ่านช่องทางอื่นๆ
.
หนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่าเนื้อหาในหนังสือถูกย่อยมาจากแหล่งความรู้ทั้ง 3 ทาง ได้แก่ ประสบการณ์ส่วนตัวของอ.นภดล, หนังสือกองโตที่อาจารย์ไม่ดองแต่อ่านเลย, และการพูดคุยกับผู้มีประสบการณ์คนอื่นๆ
.
บทความต่างๆบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เคยอ่านเจอในหนังสือเล่มอื่นๆอยู่แล้ว แต่ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่ในภาษาที่เข้าใจง่าย และมีสไตล์ที่เฉพาะตัว
.
ที่ผมชอบที่สุดคือ ความเรียบง่ายของเนื้อหา ที่เหมือนถูกย่อยให้หมดแล้ว คนอ่านเลยดูดซึมและเอาไปใช้ได้ทันที
.
หนังสือเป็นบทย่อยๆกว่า 38 บท เป็นเรียงความสั้นๆ เหมือนเล่มอื่นๆมี theme เรื่องความสุขเป็นตัวเชื่อม อ่านไม่นานก็จบ
.
ทั้งนี้ผมอยากยกเรื่องที่ผมชอบเป็นพิเศษจากหนังสือมาฝากกันนะครับ
.
1. ความสุขปัจจุบันสุทธิ
.
เป็นการล้อแนวคิดมากจากการคำนวณหา Net Present Value (NPV) ที่เป็นเทคนิคการนำมูลค่าผลตอบแทนในอนาคตคูณกลับมาเป็นผลตอบแทนในปัจจุบัน เพื่อเทียบหาว่าการลงทุนที่เรากำลังจะลงทุนนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อได้รับอัตราดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนทบต้นในแต่ละปีหรือในแต่ละช่วงเวลา
.
สิ่งสำคัญคือ ความสุขปัจจุบันสุทธิ Net Present Happiness ก็คล้ายๆกับการคำนวณทางการเงิน คือบางครั้ง เราต้องลงทุนไปก่อนในวันนี้ และรอผลตอบแทนที่ได้กลับในอนาคต เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการมีสุขภาพที่ดีในอนาคตอีก 10 ปี
.
ปัญหาคือ หลายๆครั้ง การคำนวณหาความสุขปัจจุบันสุทธิภายในใจเรานั้น บอกว่าการลงทุนด้านสุขภาพ (หรือเรื่องอื่นๆ) นั้นไม่คุ้มค่า ให้ผลออกมาเป็นลบ ทั้งๆที่มันเป็นแค่การคำนวณตามความรู้สึกเรา แต่ก็ทำให้เราไม่อยากออกกำลังกาย
.
อาจารย์จึงเสนอวิธีการติดเพื่อเพิ่มการคำนวณความสุขปัจจุบันสุทธิให้เป็นบวก
.
วิธีที่ 1: ทำให้ความทุกข์ ความยุ่งยาก ลดน้อยลง เช่น วิ่งในที่ที่ไม่ต้องพยายามเยอะ ถ้าต้องขับรถไปวิ่งไกลๆ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ความทุกข์ก็จะมาก ก็พยายามหาที่วิ่งใกล้ๆบ้าน ให้ลุกขึ้นมาวิ่งได้ง่ายขึ้น
.
วิธีที่ 2: เร่งความสุขในอนาคตให้เห็นผลเร็วขึ้น เช่น การคิดภาพว่าถ้าเราวิ่งบ่อยๆ น้ำหนักเราจะลด หุ่นเราจะดี สุขภาพจะดี และได้ใช้เวลากับครอบครัวและคนที่เรารักอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
.
วิธีที่ 3: หาผลลัพธ์อื่นที่เกิดขึ้นได้ก่อนผลลัพธ์ในระยะยาว เช่น การเก็บเงิน ถ้าเราต้องรอใช้เงินหลังเกษียณ 60 ปีก็คงะจนานเกินไป คิดภาพไม่ออก ต้องลองคิดกลับมาว่า ถ้าเอาระยะสั้นแค่ไม่กี่ปีข้างหน้า เราอยากมีเงินเก็บเท่าไหร่ แล้วตั้งเป้าไว้ วิธีนี้ก็จะทำให้ผลตอบแทนความสุข ณ ปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน
.
.
2. อดทนในสิ่งที่ควรอดทน
.
สมัยนี้คนพูดกันมากว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน พอเทียบกับสมัยของตัวเอง แต่แท้จริงแล้ว นั่นก็เป็นเพราะปัจจัยต่างๆที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น โลกพัฒนาไปมากแล้ว
.
แต่อย่างไรก็ตาม การอดทนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่กับบางสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตเรา เพียงแต่ว่าเราต้องเลือกอดทนให้ถูกสิ่งแค่นั้นเอง
.
อาจารย์แนะนำว่า เราควรอดทนกับ ‘สิ่งที่นำไปสู่เป้าหมายชีวิตของเรา’ เช่นเรื่องการเรียน ต้องเรียนหนัก อ่านหนังสือมาก หรือเรื่องการทำงาน เจอลูกค้าบ่น ต้องแก้งานหลายครั้ง เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปซึ่งเป้าหมายของการสอบเข้าที่ที่เราอยากได้ หรือการประสบความสำเร็จในการเป็นนักธุรกิจเป็นต้น
.
พูดสั้นๆคือ อดทนในสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตเรา
.
ในทางตรงกันข้าม ถ้าสิ่งไหนไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเรา การอดทนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้นก็ดูจะนำเป็นน้อยลงไป คำแนะนำสั้นๆก็คือ เลิกอดทนซะ แล้วไม่ต้องไปสนใจคำพูดของคนอื่นมากนัก โฟกัสกับโจทย์ชีวิตตัวเองเป็นพอ
.
.
3. ตามหาอิคิไกในเย็นวันศุกร์
.
เย็นวันศุกร์อาจเป็นตัวกำหนดชีวิตเราว่า เราได้เจอกับอิคิไกของเราแล้วหรือยัง
.
เพราะหลายๆคนจะร่าเริงอย่างมากในเย็นวันศุกร์ และเกิดอาการหงอยเหงาในเย็นวันอาทิตย์ เป็นอย่างนี้วนไปเรื่อยๆในทุกสัปดาห์
.
แน่นอนว่าการตามหาอิคิไกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีองค์ประกอบทั้ง 4 ด้าน เหมือนวงกลมสี่วงที่เราเคยเห็นๆกัน
- สิ่งที่รักที่จะทำ
- สิ่งที่ทำได้ดี
- สิ่งที่โลกต้องการ
- สิ่งที่สร้างรายได้
.
วิธีที่อาจารย์แนะนำคือ การลองหาจากวงกลมวงใดวงหนึ่งก่อน แล้วค่อยๆสร้างวงอื่นขึ้นมาเช่น เราอาจเริ่มจากทำในสิ่งที่รักก่อน ทำจนเก่งโดยการหมั่นฝึกฝนพัฒนาตัวเองไปเรื่อย จนสามารถทำเป็นอาชีพได้ซึ่งแปลว่าโลกต้องการสิ่งๆนั้นแล้ว แล้ววันหนึ่งรายได้ก็จะเกิดมาหาเรา
.
หรือเราอาจจะเริ่มทำจากสิ่งที่ทำได้ดี ทำไปเรื่อยๆ จนสร้างรายได้ และพิสูจน์ว่ามันจำเป็นต่อโลกก่อนก็ได้ วันหนึ่งเราอาจจะรักมันขึ้นมาเอง
.
.
4. ข้อคิดสำหรับคนที่อายุขึ้นต้นด้วยเลข 3
.
อาจารย์นภดลอายุเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีคำแนะนำให้กับรุ่นน้องช่วงวัยกลางคน ซึ่งหลายๆคนมักต้องเจอกับมรสุมชีวิต
.
จริงๆแล้วอาจเรียกว่าคำแนะนำเหล่านี้คือสิ่งที่อาจารย์นภดลอยากบอกกับตัวเองในวัยหนุ่มว่าควรทำชีวิตให้ดีกว่านี้
.
นักอ่านหลายๆคนจึงน่าจะได้ปนะโยชน์จากข้อคิดที่อาจารย์เอามาแชร์ครับ
- สนใจสุขภาพให้มากกว่านี้
วัย 20 กว่าๆ เรายังโลดโผนได้เต็มที่ แต่พออายุขึ้นเลข 3 สุขภาพก็อาจมีเริ่มทรุดโทรมลงไปบ้าง การหันมาสนใจสุขภาพตัวเองแต่เนิ่นๆจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
.
- ใช้เวลากับพอ่แม่ให้มากกว่านี้
เนื่องจากวัย 30 กว่าๆ เป็นวัยที่พ่อแม่เราเริ่มแก่ตัวลง และเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเหลือเวลากับพ่อแม่อีกเท่าไหร่ สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ใช้เวลาแต่ละวันให้คุ้มค่าที่สุด
.
- ใช้เวลากับลูกๆและครอบครัวเราให้มากกว่านี้
เช่นเดียวกันว่า ในวันที่ลูกเป็นเด็กๆ เขาก็ต้องการใช้เวลากับพ่อแม่อย่างเต็มที่ พอถึงวันหนึ่งเขาก็ค่อยๆเติบโตไปมีชีวิตของตัวเอง ซึ่งมันกลายเป็นคนละอารมณ์กันแล้ว การได้อยู่ตรงนั้นกับเขาในช่วงที่เขาเป็นเด็กจึงเป็นความทรงจำที่มีค่ามาก
.
- ทำงานให้น้อยลง
เรียกสมดุลกับการใช้ชีวิตและการให้เวลากับครอบครัวบ้าง
.
- หาตัวเองให้เจอ
ยิ่งรู้ว่าตัวเองชอบอะไร เราจะได้มีเวลาทำสิ่งๆนั้นมากขึ้น
.
- เลิกกังวลกับเรื่องต่างๆ
บางครั้งก็ใช่ว่าเราจะแก้ปัญหาทุกๆอย่างได้ เราเลยต้องรู้จักปล่อยวางซะบ้าง
.
- ใช้ชีวิตปัจจุบันอย่างมีความสุข
อยู่ที่นี่ ณ ตรงนี้ เดี๋ยวนี้
.
.
5. ถ้าเราในอีก 5 ปีข้างหน้า มาพูดกับเราในตอนนี้
.
จินตนาการถึงอนาคตอาจเป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นจะให้ผลยังไง มีปัจจัยมากมายหลายอย่างเกินการควบคุมของเราได้
.
ถ้าผลลัพธ์ออกมาดี เราในอีก 5 ปีข้างหน้าก็คงอยากบอกตัวเองว่า ‘นายทำถูกแล้ว ทำต่อไปเหอะ’ แต่ในทางกลับกัน ถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เราในอนาคตก็คงอยากจะบอกตัวเองว่า ‘ขยันกว่านี้หน่อยจะได้สบาย หรือ ลาออกได้แล้ว งานนี้มันไม่ใช่’
.
แต่เพราะ ณ วันนี้เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต สำหรับอาจารย์แล้ว สิ่งที่อาจารย์อยากบอกกับตัวเองจึงมีแค่ข้อความให้กำลังใจสั้นๆว่า ‘ขอบใจมากจริงๆ’
.
.
ใครสนใจหนังสืออ่านแล้วได้ข้อคิด พร้อมแรงบันดาลใจ เล่มนี้พลาดไม่ได้จริงๆครับ
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
..............................................................................................................................................
ผู้เขียน: ศ.ดร. นภดล ร่มโพธิ์
จำนวนหน้า: 216 หน้า
สำนักพิมพ์: เอ็นพี อินเทลลิเจนซ์, บจก.
เดือนปีที่พิมพ์: 2019
..............................................................................................................................................
.
.
Comments