
สรุป 15 ข้อคิดเรื่องเงิน จากหนังสือ The Psychology of Money: จิตวิทยาว่าด้วยเงิน
.
.
1) สำหรับเรื่องการเงิน เราอาจถูกสอนมาในเชิงฟิสิกส์ด้วยกฎและข้อบังคับมากเกินไป และน้อยเกินไปสำหรับเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และการรับรู้
ทั้งที่จริง ๆ แล้วพฤติกรรมและการตัดสินใจทางการเงินของเรามักขึ้นอยู่กับอารมณ์
ความเสี่ยง ความมั่นใจ และความสุขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเองก็ล้วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์
.
.
2) ไม่มีใครเป็นบ้าในโลกการเงิน
การตัดสินใจทางการเงิน เช่น ความเต็มใจในการแบกรับความเสี่ยงการลงทุน มักขึ้นกับประสบการณ์ในอดีตมากกว่าระดับรายได้ การศึกษา หรือความฉลาดทางการเงินของแต่ละบุคคล
เพราะแต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ในอดีตที่แตกต่างกันออกไป การจะเข้าใจพฤติกรรมของใครสักคนจริง ๆ ไม่สามารถทำได้จากการดูแค่ข้อมูลตัวเลขพื้นฐาน
.
แม้การศึกษาอดีตจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า ทำไมคน ๆ นั้นถึงตัดสินใจทางการเงินแบบนั้นแบบนี้
แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่ในจุดที่เขาอยู่จริง ๆ เราก็อาจไม่มีวันจะเข้าใจเขา
เช่น เราไม่มีทางเข้าใจคนที่สูญเสียทุกอย่างช่วงเศรษฐกิจถดถอยได้เหมือนตัวเขาเอง
ดังนั้นแล้ว เราไม่ควรตัดสินว่าใครเป็นบ้า หรือตัดสินใจโง่ ๆ ในเรื่องเงิน
เพราะเราไม่มีทางเข้าใจเขาได้อย่างถ่องแท้
แม้แต่ตัวเราเองก็เหมือนกัน บางทีการตัดสินใจของเราอาจขึ้นกับประสบการณ์และปัจจัยอื่น ๆ ที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้
.
.
3) โชคและความเสี่ยงคือพลังงานแบบเดียวกัน แต่ทำงานคนละด้าน
บิล เกตส์ คือนักเรียน 1 ในล้านคนที่ได้เรียนในโรงเรียนมัธยมปลายที่มีคอมพิวเตอร์ และทำให้เขาได้มีโอกาสใช้เวลาศึกษาการศึกษาคอมพิวเตอร์จนกระทั่งเชี่ยวชาญและต่อยอดเป็นบริษัท Microsoft
ในขณะที่เพื่อนมัธยมปลายของเขา คือนักเรียน 1 ในล้านคนที่ประสบอุบัติเหตุตกเขาเสียชีวิตตั้งแต่มัธยมปลาย ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Microsoft ร่วมกับ บิล เกตส์
.
เรื่องนี้สื่อได้ว่า “โชค” กับ “ความเสี่ยง” อาจมีอยู่จริง
เป็นพลังงานที่ทรงอิทธิพลเหมือนกัน
แต่ทำงานกันคนละด้าน โชคให้ผลลัพธ์ที่ดีมากมายมหาศาล ในขณะที่ความเสี่ยงก็ทำลายชีวิตได้ในทันที
.
แต่สิ่งที่เรามักพลาดไปคือ เราให้ค่ากับสองสิ่งนี้น้อยเกินไป
โดยเฉพาะเมื่อเราสำเร็จ เรามักชื่นชมความพยายามของตัวเอง เหมือนที่เราชื่มชม บิล เกตส์
แต่ความจริงแล้ว ทุกความสำเร็จอาจมีโชคเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ซ่อนอยู่เสมอ
ไม่มีทางที่ความสำเร็จ 100% ของเรา จะเกิดจากแรงพยายามของเราเต็ม 100%
.
ความล้มเหลวก็เช่นกัน
หลายครั้ง เราอาจรู้สึกท้อกับความผิดพลาดในชีวิตเรา เพราะเราคิดว่าเราต้องรับผิดชอบต่อมันทั้งหมด
แต่ความจริงแล้ว ความผิดพลาดของเราก็อาจไม่ได้เกิดจากฝีมือเรา 100% แต่ความเสี่ยงก็คือส่วนประกอบที่ทำให้ความผิดพลาดเกิดขึ้น
ดังนั้นแล้ว ถ้าเราลงทุนล้มเหลว หรือล้มเหลวในเรื่องอื่น เราอาจต้องเปิดใจให้กว้าง และมองว่าความเสี่ยงก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เราพลาดได้เช่นกัน
.
.
4) ทักษะทางการเงินที่ยากที่สุด คือการทำให้เป้าหมายหยุดเคลื่อนที่
ระบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้น นำพาทั้งความมั่งคั่งและความอิจฉามาพร้อม ๆ กัน
มันทำให้คนเราไม่หยุดที่จะเปรียบเทียบ และไม่รู้จักพอ
เมื่อมีถึงจุดหนึ่ง ก็ยังอยากได้มากขึ้นไปอีก
.
ตัวอย่างเช่น เบอร์นี แมดอฟฟ์ ที่มีเงินอย่างมหาศาล ยังคงหาวิธีที่จะมีเงินมากขึ้นไปอีก แม้การทำสิ่งนั้นจะเป็นธุรกิจสีเทา ๆ ที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็นำมาซึ่งการหลอกลวงผู้คนเป็นจำนวนมาก
เงินที่แมดอฟฟ์มีนั้นทำให้เขามั่งคั่งเกินกว่าที่จะจินตนาการได้ เขามีเกียรติยศ อำนาจ อิสรภาพ ทุกอย่าง ที่คนทั้งโลกอยากมี แต่เขาก็ยังอยากมีเพิ่มขึ้นไปอีก
หลายครั้ง กรณีแบบ แมดอฟฟ์ ก็สามารถทำได้เพิ่มขึ้น แต่อีกหลายคนที่โลภแบบนี้ ก็จบลงด้วยการล้มละลาย
.
คำว่า “พอ” ที่อาจฟังดูเชย จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนยุคนี้
เราต้องมองหาเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง และถ้าเราได้ถึงจุดนั้นแล้ว เราต้องรู้จัก “พอ”
เงินที่มากพอที่จะนำชื่อเสียง เกียรติยศ และอิสรภาพมาให้
เงินที่จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต พร้อมเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว
ถ้าเรามีเงินตามเป้าที่เราตั้งไว้แล้ว เราควรพอ อย่าขยับเป้าหมายการเงินตัวเองออกไปอีก ตามกระแสสังคม
ลดอัตตาของตัวเอง และเราจะมั่งคั่งมากขึ้น
.
.
5) พลังของเวลาและการทบต้น
วอร์เร็น บัฟเฟตต์ ขึ้นชื่อเรื่องความเก่งกาจด้านการลงทุน
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าความลับอย่างหนึ่งที่ทำให้ บัฟเฟตต์ รวยมหาศาล เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก คือ “เขาเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย”
บัฟเฟตต์ เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 10 ขวบ พอตอนอายุ 30 ปี เขาก็มีความมั่งคั่งสุทธิที่ 1 ล้านเหรียญ
ถ้าเขาเริ่มต้นลงทุนตอนอายุ 30 ปี เขาอาจจะมีความมั่งคั่งแตกต่างจากที่เขาได้ถึง 11.9 ล้านเหรียญ
.
ดังนั้นแล้วการเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยถือเป็นข้อได้เปรียบมาก
เพราะมันจะทำให้พลังของการทบต้นทำงานได้เยอะ
.
แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือ การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
และต้องรักษาผลตอบแทนระดับนี้ให้ได้ในระยะเวลานาน เพราะมันจะทำให้พลังของการทบต้นทำงานอย่างบ้าคลั่ง
แต่ถ้าเราลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนก้อนใหญ่ครั้งเดียว แต่ไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้นาน พลังที่ว่าก็คงไม่มีโอกาสได้ทำงาน
.
.
6) การหาเงินได้ กับการรักษาเงินไว้ เป็นทักษะที่ต่างกัน
การหาเงินมาได้ ต้องอาศัย การแบกรับความเสี่ยง การมองโลกในแง่ดี และการเอาตัวเองไปอยู่ให้ถูกจุด
แต่การรักษาเงินนั้น ต้องใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความหวาดกลัวว่าเงินที่หามาได้อาจหายไปอย่างรวดเร็วในวันหนึ่ง
การรักษาเงินไว้ได้นาน ต้องอาศัยความตระหนี่ และการยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ได้เงินมามาจากโชค
ไม่ใช่การมั่นใจในตัวเองจนเกินไป และใช้วิธีการในอดีตทำซ้ำอย่างไม่จำกัด
.
พูดอีกนัยก็คือ การจะรักษาเงินไว้ได้ เราต้องอยู่ให้รอดในระยะยาว
เราต้อง “ฆ่าไม่ตาย” และยืนระยะมากพอให้พลังแห่งการทบต้นได้ทำงาน
ตัวอย่างเช่น ผลตอบแทนการลงทุนหุ้น 10% อาจยั่วยวนให้เราเอาเงินจากธนาคารที่ให้ผลตอบแทนแค่ 1% ไปซื้อหุ้น
แต่ถ้าหุ้นนั้นอยู่ในช่วงขาลง เราอาจสูญเสียมากกว่าส่วนต่าง 9% ที่จะได้รับมาตอนถือหุ้นตัวนั้น
การรักษาเงินของเราไว้ได้ โดยไม่บุ่มบ่าม และเสี่ยงเกินไปจึงเป็นทักษาสำคัญในการรักษาเงินไว้
.
.
7) ปลายหาง (Long tail) ขับเคลื่อนทุกสิ่ง
ทฤษฎีเหตุการณ์ปลายหาง (tail event) นั้นท้าทายกฏพาเรโตอย่างมาก
เพราะกฎพาเรโตบอกให้เราโฟกัสไปที่สินค้าไม่กี่อย่างที่สำคัญที่สุด แล้วเลือกลงทุนไปกับสิ่งเหล่านั้น
ทฤษฎีปลายหางคิดต่างออกไป และบอกว่าเราควรกระจายการลงทุนไปยังสินค้าทุกอย่าง เพราะหนึ่งในสินค้าเหล่านั้นอาจกลายเป็นสินค้ายอดฮิตที่ทำกำไรให้เรามหาศาล
เหมือนการซื้องานศิลปะ คนที่สำเร็จนั้นอาจเป็นคนที่ซื้องานศิลปะจำนวนมาก แล้วหนึ่งในนั้นกลายเป็นงานระดับปิกัสโซ
.
ในโลกการลงทุน คนที่ลงทุนสม่ำเสมอ แล้วต่อขยายส่วนปลายหางให้ยาวออกไปที่สุด อาจเป็นคนที่มีโอกาสมากที่สุดที่ได้ผลตอบแทนสูงสุด เมื่อเทียบกับคนที่เลือกลงทุนเฉพาะช่วงที่ตลาดขาขึ้น และถอนเงินออกไปตอนตลาดขาดลง
เพราะมีปัจจัยเรื่องโชคและความเสี่ยงอีกมากที่อาจเกิดขึ้นกับเหตุการณ์ปลายหางที่ทอดยาวออกไป
.
ดังนั้นแล้วมันสำคัญตรงที่เราอาจโชคดีเจอเหตุการณ์ปลายหางที่ทำให้เราทำเงินได้มหาศาล แต่เราก็อาจโชคร้ายถ้าต้องสูญเสียเงินมหาศาล
ดังนั้นแล้ว เราต้องไม่สูญเสียเงินมากเกินไปในช่วงที่โชคร้าย
เราผิดพลาดได้ครึ่งหนึ่ง เพราะยังอาจมีเหตุการณ์ปลายหางที่ช่วยเราอยู่
แต่เราต้องไม่สูญเสียมากกว่าจะแก้ไข
.
.
8) การควบคุมเวลาคือเงินปันผลสูงสุดที่เงินมอบให้
ถ้าเราหาเงินได้มาก เราก็จะมีเวลาอิสระมากขึ้น เราจะใช้เวลาอยู่กับลูก ๆ ของเรา และคนที่เรารักได้มากขึ้น
ง่านสมัยใหม่ ใช้หัวทำมากกว่าใช้มือ งานจึงมักติดอยู่ในหัวเราตลอดเวลา
ปัญหาก็คือ เราทำงานเพื่อหาเงิน แต่งานกับขโมยเวลาของเราไป
ดังนั้นเปลี่ยนความคิดซะใหม่ เงินที่ปันผลจากการทำงานของเรา ที่ควรได้มากที่สุดนั้นเกิดมาจากการที่เราควบคุมเวลาของตัวเองได้
.
.
9) มั่งคั่ง ไม่เท่ากับร่ำรวย
หลายคนใช้ชีวิตเหมือนคนรวย ขับรถหรู ใช้ของแบรนด์เนม ซื้อบ้านหลังโต แต่เงินที่พวกเขามีอาจไม่ได้มาก
ความมั่งคั่งแตกต่างออกไป ความมั่งคั่งคือเงินที่ยังไม่ถูกจ่ายออกไป มันคือทางเลือกที่เราเลือกได้ว่าจะใช้เงินกับอะไร มันทำให้เรามีความยืดหยุ่น
.
โลกนี้มักเต็มไปด้วยคนที่อวดความร่ำรวย โดยการซื้อรถแพง ๆ มาขับ เพื่อให้คนอื่นชื่นชม เคารพนับถืออ
แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่คนอื่นมองนั้นคือตัวรถที่พวกเขาฝันอยากมีบ้างในสักวัน ไม่ใช่ตัวคนที่ขับรถคันนั้นมา
.
ดังนั้นแล้วจงอย่าใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพียงเพราะ เราต้องการความรู้สึกชื่นชม
แต่จงออมเงินเพื่อให้ตัวเรามีความมั่งคั่งอย่างแท้จริง
.
.
10) จงออมเงิน การออมไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล
เราไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายการออม เพื่อดาวน์รถ ซื้อบ้าน หรือเก็บเงินเพื่อเกษียณ
แต่การออมเงินจะเป็นหนทางสู่ความมั่งคั่งอย่างแท้จริง
การออมไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อตัวเราเองในอนาคต
มันจะทำให้เรามีอิสระมากพอในการเลือกทำในส่งที่เราอยากทำ
และมีความยืดหยุ่นมากพอในการรอโอกาสดี ๆ ที่อาจเข้ามาในอาชีพและการลงทุนของเราได้
.
.
11) คนเราล้วนทำทุกอย่างที่สมเหตุสมผลกับตัวเอง มากกว่าใช้เหตุผล
แม้เหตุผลจะชนะ แต่สุดท้ายเราก็ยังตัดสินใจในสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง
ดังนั้นแล้ว เราควรรักการลงทุนของตัวเอง
ไม่ว่ามันจะเป็นยังไงก็ตาม
เพราะมันได้สะท้อนถึงค่านิยม และแบบแผนที่สมเหตุสมผลของตัวเรา
.
.
12) ประวัติศาสตร์อาจไม่สามารถใช้ทำนายอนาคตได้ เพราะมีเรื่องไม่คาดฝันอยู่มากเกินไป
และเรื่องไม่คาดฝันเหล่านั้น ก็ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอก
สภาวะจิตใจของแต่ละคนที่ต้องฟันฝ่าเรื่องร้าย ๆ มา อาจหล่อหลอมให้เขามีพฤติกรรมที่ยากจะคาดเดาได้ในวันนี้
และโลกใบนี้ก็มีเรื่องเซอรไพร๊สเกิดขึ้นทุกวัน
เราจึงไม่ควรนำประวัติศาสตร์มาใช้ในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
.
.
13) พลังของการมองโลกในแง่ร้ายและการมองโลกในแง่ดี
การมองโลกในแง่ร้ายนั้นมีข้อดีที่ทำให้เราลดความคาดหวังของสิ่งต่าง ๆ ลง
ทำให้ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นไปได้กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงลดลง
เราจึงมีความสุขได้มากขึ้นกับผลลัพธ์ที่เกิด
แต่ความจริงแล้ว การมองโลกในแง่ดีนั้น ก็มีประโยชน์ แต่จะส่งผลในระยะยาว
เหมือนการวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่ต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษ และเรามักมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป
การลงทุนก็ไม่ต่างกัน ถ้าเรามองโลกในแง่ดีเข้าไว้ และเชื่อในอิทธิพลของเหตุการณ์ปลายหาง
หมั่นเก็บเงินออม จนพลังทบต้นทำงาน
วันหนึ่งการลงทุนของเราจะส่งผลดีต่อเราได้มหาศาล
.
.
14) จงลงทุนในแบบที่นอนหลับสนิททั้งคืน
อย่าใช้แนวทางที่ลงทุนแล้วมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงสุด
แต่จงบริหารเงินให้เราสามารถนอนหลับสนิทได้ทั้งคืน ไม่ต้องกระวนกระวาย
.
.
15) หาต้นทุนความสำเร็จให้เจอ แล้วจ่ายมันออกไป
มองว่ามันมีต้นทุนทางการเงินบางอย่างที่เราต้องจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมของความสำเร็จ เช่น ความลังเล ความไม่แน่นอน ความสงสัย ความเสียใจ
หลายครั้งมันเป็นข้อบังคับในโลกการเงิน
ดังนั้นแล้วทำใจยอมรับค่าธรรมเนียมเหล่านี้ เหมือนจ่ายค่าตั๋วเข้าสวนสนุกดิสนีย์แลนด์
อย่ามองว่ามันคือ ค่าปรับ หรือการลงโทษที่เราควรเลี่ยง
.
.
เนื้อหาจริงมีมากกว่านี้ และละเอียดกว่านี้มาก ต้องลองไปหยิบเล่มจริงมาอ่านกันดูนะครับ
.
.
รีวิวสั้น ๆ
เป็นหนังสือการเงินที่อ่านสนุกมาก
และสามารถเขย่าความคิดทางการเงินที่เคยรู้มาทั้งชีวิตได้ !!
เพราะสุดท้ายแล้ว เรื่องเงินมันซับซ้อนมากกว่า การพยายามนำหลักคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มาจับ
แล้วสร้างเป็นโมเดล
แต่มนุษย์ล้วนถูกขับเคลื่อนทางจากอารมณ์
และยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่เราเห็น
รวมไปถึง โชค ความเสี่ยง และพลังของเวลา
.
ส่วนตัวคิดว่าเป็นหนังสือที่มีความยากกำลังดี ไม่ใช่หนังสือเปลี่ยน mindset ทางการเงินแบบกลวง ๆ
แต่ก็ไม่ใชหนังสือที่อิงงานวิจัยมากเกินไป จนน่าเบื่อ และเสียอรรถรถ
.
หนังสือมีเรื่องเล่าและตัวอย่างที่ยกมาประกอบเยอะมาก
รวมถึงสถิติต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่ทำให้หนังสือน่าสนใจมากขึ้น
.
บอกได้เลยว่า เป็นหนังสือที่อ่านสนุกอันดับต้น ๆ ของปี
และทำให้ได้มุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับโลกการเงินมากมาย
ยังไงอยากให้ทุกคนได้ลองหาอ่านกันดูสักครั้งครับ
.
.
........................................................................................
ผู้เขียน: Morgan Housel
ผู้แปล: ธนิน รัศมีธรรมชาติ
จำนวนหน้า: 272 หน้า
สำนักพิมพ์: ลีฟ ริช ฟอร์เอฟเวอร์, บจก.
เดือนปีที่พิมพ์: 2022
........................................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #ThePsychologyofMoney

Comentarios