top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว The Power of When





รีวิว The Power of When

พลังแห่ง "เมื่อไหร่"

.

.

‘แค่เปลี่ยนว่าจะทำแต่ละอย่างเมื่อไหร่ ชีวิตเราก็ดีขึ้นได้’

.

หนังสือ จิตวิทยา howto ส่วนใหญ่จะเล่นกับคำถามว่า เราควรทำ ‘อะไร’ หรือ ทำสิ่งต่างๆ ‘ยังไง’ ให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่หนังสือ the Power of When คิดต่าง และเล่นกับคอนเซ็ปต์ว่า เราควรจะทำสิ่งต่างๆ ‘เมื่อไหร่’ ชีวิตเราถึงจะดีขึ้น

.

คำว่า ‘สิ่งต่างๆ’ หมายถึง การนอน การกินข้าว การทำงาน การอ่านหนังสือ การออกกำลังกาย การอาบน้ำ การโทรศัพท์คุยกับเพื่อน การมีเซ็กส์ การขับถ่าย การคิดหาไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ การโทรหาลูกค้า ไปจนถึงการขอขึ้นเงินเดือน

.

ส่วน ‘ชีวิตที่ดีขึ้น’ หมายถึง การมีสุขภาพดีขึ้น การนอนหลับได้เต็มอิ่มมากขึ้น การออกกำลังกายที่ได้ผลมากขึ้น การทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การมีความคิดสร้างสรรค์ที่บรรเจิดขึ้น การเจ็บป่วยที่น้อยลง การมีความสัมพันธ์กับคู่ครองที่ดีขึ้น และโอกาสก้าวน้าในหน้าที่การงานที่เพิ่มขึ้นด้วย

.

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ใช่เรื่องที่คิดขึ้นมาเอง หรือมาจากประสบการณ์ผู้เขียนเพียงอย่างเดียว แต่การทำสิ่งต่างๆตาม ‘เวลาชีวภาพ’ ในร่างกายเรา เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีผลงานวิจัยรับรอง และมีการอ้างอิงความรู้ทางการแพทย์มากมาย

.

ผู้เขียน ไมเคิล บรูซ (Michael Breus) เป็นนักจิตวิยาด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนไม่หลับ และช่วยรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นอาการนอนไม่หลับมาแล้วมากมาย

.

ซึ่งสาเหตุที่บรูซค้นพบว่าทำไมคนไข้หลายๆคนของเขาถึงนอนไม่หลับ มาจากการที่ไม่ได้ทำกิจกรรมต่างๆตามเวลาชีวภาพในร่างกายตัวเอง แน่นอนว่า นั่นหมายถึง เวลาชีวภาพในร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน

.

‘เวลาชีวภาพ’ เป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เพราะมันวิวัฒนาการมากว่า 50,000 ปี ความแตกต่างของเวลาชีวภาพในร่างกายแต่ละคนช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ เพราะต้องมีคนคอยเฝ้าระวังภัยทั้งในยามกลางวันและกลางคืน

.

การแบ่งเวลาชีวภาพออกตามแนวคิดดั้งเดิมคือ แบ่งบุคลิกคนตามนก 3 สายพันธุ์ ได้แก่

1) นกลาร์ก คือคนที่ตื่นตัวตอนเช้า

2) นกฮัมมิงเบิร์ด คือคนที่ตื่นตัวตามเวลาปกติ

3) นกฮูก คือคนที่ตื่นตัวตอนเย็น

.

อย่างไรก็ตาม บรูซได้ค้นพบว่า การแบ่งตามแนวคิดดั้งเดิมนี้ไม่ตรงตามลักษณะคนไข้ที่เขาพบหลายๆคน เหตุผลหนึ่งก็เพราะคนเราเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ใช่นก การแบ่งคนออกเป็นแต่ละประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจเหมาะสมกว่า

.

นอกจากนี้แล้ว บรูซยังนำปัจจัยด้าน ‘แรงขับในการนอน’ ซึ่งหมายถึง ความต้องการนอนที่บางคนอยากอาจอยากนอนเยอะ และบางคนนอนไม่กี่ชั่วโมงก็พอแล้ว

.

สรุปแล้ว บรูซแบ่งบุคลิกคนออกเป็นสี่ประเภท ตามนาฬิกาชีวภาพและแรงขับในการนอน

1. สิงโต - มีประมาณ 15-20%

เจ้าป่านักล่า ผู้อยู่จุดบนสุดของห่วงโซ่อาหาร เจ้าป่าปกติจะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อออกล่า คนที่เป็นสิงโต มักจะเป็นผู้นำที่มีความทะเยอทะยาน หนักแน่นในหน้าที่ มีความจริงจัง มีความรับผิดชอบสูง สิงโตมีแรงขับในการนอนปานกลาง

.

ตามวิวัฒนาการแล้ว สิงโตจะนอนแต่หัวค่ำและตื่นแต่เช้าตรู่ คอยเฝ้าเวรยามตอนเช้า ช่วงที่หมาป่าเพิ่งเข้านอน

.

.

2. หมี – ประชากรส่วนใหญ่ มีประมาณ 50%

สัตว์ที่นอนเต็มอิ่ม ใช้ชีวิตอิงไปตามแสงอาทิตย์ เป็นคนสบายๆ ง่ายๆ ไหลไปตามกระแสสังคม เข้ากับคนง่าย มีแรงขับในการนอนสูง

.

.

3. หมาป่า - มีประมาณ 15-20%

หมาป่าออกล่าเป็นฝูงตอนกลางคืน พระอาทิตย์ไม่ตก ตาก็ไม่สว่าง เหมาะกับคนชอบเข้าสังคม สังสรรค์ ชอบปาร์ตี้ และมีความคิดสร้างสรรค์สูง หมาป่ามีแรงขับในการนอนปานกลาง

.

ตามวิวัฒนาการแล้ว พวกหมาป่าจะเข้าเวรตอนกลางคืน และจะหลับในเวลาที่สิงโตตื่น

.

.

4. โลมา - มีประมาณ 10%

โลกมาไม่ใช่ปลา มีแรงขับในการนอนต่ำ เพราะปกติโลกมาหลับเพียงครึ่งสมอง อีกครึ่งหนึ่งจะจดจ่ออยู่กับการเฝ้าระวังนักล่า และว่ายน้ำ คนกลุ่มนี้ไม่ต้องการการหลับลึก เพราะเขาฉลาด แต่มักมีอาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน คนส่วนใหญ่ที่มาหาหมอบรูซก็คือพวกโลมา

.

ตามวิวัฒนาการ โลมาคือกลุ่มคนที่หลับไม่สนิท เพราะจะคอยเฝ้าระวังภัยและส่งสัญญาณเตือนอันตรายให้คนในเผ่า

.

.

สิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับเรื่องนี้คือ วิวัฒนาการของมนุษย์มีมากว่า 50,000 ปี ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อการธำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ แต่ว่าวิถีชีวิตกลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อไม่กี่ 100 ปีที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดเวลา เข้า-ออกงาน กำหนดตารางชีวิตในแต่ละวันจากเวลาเปิดปิดของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า

.

ซึ่งจริงๆแล้วตารางเวลาในการทำงาน รวมถึงการเปิดปิดสถานที่ต่างๆก็มาจากเวลาชีวภาพของคนส่วนใหญ่นั่นก็คือหมี มากกว่าครึ่งของประชากรมนุษย์เป็นหมี ตารางงานและชีวิตของเราจึงถูกออกแบบมาให้เหมือนหมี

.

ปัญหาจึงมาเกิดกับเหล่าสิงโต หมาป่า และโลมา ที่ไม่ได้มีเวลาชีวภาพเหมือนพวกหมี ตัวอย่างเช่น สิงโตง่วงนอนเร็วเกินกว่าที่จะเข้าสังคมได้ในช่วงเย็น หมาป่าหัวไม่แล่นเมื่อประชุมตอนเช้า และโลมาที่รู้สึกนอนไม่พออยู่ตลอดเวลา

.

บรูซที่ต้องเจอกับคนไข้ที่มีบุคลิกแบบสัตว์ประเภทต่างๆจึงต้องพยายามคิดค้นวิธีในการช่วยให้คนแต่ละประเภทกินอิ่มนอนหลับ และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

.

และนั่นคือที่มาของหนังสือเล่มนี้

.

.

คนที่มีบุคลิกแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้ง 4 ประเภทยังแตกต่างกันดังต่อไปนี้

.

1. สิงโต

ทุ่มเท มุ่งมั่น เน้นปฏิบัติ มองโลกในแง่ดี ชอบวางกลยุทธ์ ชอบทำให้ได้ดีเกินคาด รู้สึกกระฉับกระเฉงตอนเช้า และเริ่มอ่อนล้าตั้งแต่ช่วงบ่ายคล้อย สิงโตหลับง่าย แต่ไม่เคยงีบหลับระหว่างวัน เพราะพวกเขาคิดว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร

.

2. หมี

เป็นมิตร รอบคอบ ใจกว้าง คุยง่าย ชอบเข้าสังคม ให้ความสำคัญกับความสุข หลับลึก แต่ไม่ได้ต้องนอนนาน งีบหลับบนโซฟาช่วงสุดสัปดาห์ กระฉับกระเฉงช่วงสายๆไปจนถึงบ่ายต้นๆ และหมดแรงช่วงเย็น

.

3. หมาป่า

ขี้หงุดหงิด หุนหันพลันแล่น มองโลกในแง่ร้าย มีความคิดสร้างสรรค์ มองหาความแปลกใหม่ กล้าเสี่ยง ให้ความสำคัญกับการเพลิดเพลินใจ มีการตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรง ตื่นสายและสมองตื้อไปจนเที่ยง แต่หลังจากนั้นจะไม่อ่อนล้าเลยจนเที่ยงคืน ตื่นตัวมากสุดตอน 19.00น.

.

4. โลมา

รอบคอบ เก็บตัว วิตกกังวลง่าย รักความสมบูรณ์แบบ ย้ำคิดย้ำทำ หมกมุ่นกับรายละเอียด หลายๆครั้งนอนไม่หลับตอนกลางคืนและต้องงีบหลับระหว่างวันเพื่อชดเชย

.

.

.

แน่นอนว่าหนังสือมีแบบทดสอบแนบมาเพื่อให้เราได้ลองประเมินว่า ตัวเราเป็นคนบุคลิกประเภทไหน ถ้าพวกชอบตื่นเช้า ขยันขันแข็งก็เดาได้ว่าเป็นสิงโต ถ้าพวกชอบทำงานกลางคืน หัวแล่นตอนฟ้ามืดก็เป็นหมาป่า

.

บรูซค้นพบว่าบุคลิกทั้ง 4 ประเภท เปลี่ยนไม่ได้!!!!! เพราะมันติดอยู่ในยีนส์ของเรา เป็นกรรมพันธุ์ที่อาจส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เราทำได้เพียงปรับไลฟ์สไตล์ของเราให้ตอบรับกับเวลาชีวภาพของเราเพียงเท่านั้น

.

ส่วนที่เหลือของหนังสือเล่มนี้จึงเหมือน ‘คู่มือวิธีรักษาสุขภาพ’ ของเราให้ดีขึ้น ส่วนตัวหลังอ่านหนังสือผมจึงคิดว่าหนังสือแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

1) ส่วนจิตวิทยา – เข้าใจความแตกต่างของ คน 4 บุคลิกตามเวลาชีวภาพ

2) ส่วนสุขภาพ – คู่มือเพิ่มประสิทธิภาพการทำกิจกรรมต่างๆตามหลักของเวลาชีวภาพ

.

สำหรับส่วนที่ 2 นั้น รายละเอียดเยอะมาก หนังสือเกือบ 500 หน้าแบ่งเป็น ส่วนแรกเพียง 100 กว่าหน้า และส่วนที่ 2 กว่า 400 หน้า

.

ตัวอย่างส่วนคู่มือนั้น มีตั้งแต่

- การตื่นนอนและเข้านอน, การตื่นสายสุดสัปดาห์, การงีบหลับ

- การกินมื้อเช้า มื้อกลางวัน มือเย็น, การกินของว่าง, การดื่มกาแฟ, การดื่มแอลกอฮอล์

- การออกกำลังกาย, ออกไปวิ่ง ฝึกกล้ามเนื้อ

- การทำงาน, การเจรจาต่อรอง, การขอขึ้นเงินเดือน, การโทรไปหาลูกค้า, การตัดสินใจ, การนำเสนอแนวคิด, การเช็คอีเมลล์

- ความสัมพันธ์ การทะเลาะกัน, การมีเซ็กส์, การพูดคุยกับเพื่อน, การวางแผนอนาคต, การคุยกับลูก

- ความคิดสร้างสรรค์, การเขียนนิยาย, ระดมสมอง, เล่นดนตรี

และอื่นๆอีกมากมายที่รายละเอียดแน่นมากและไม่ต้องจำ

.

บอกได้เลยว่า บรูซแทบจะเขียนตารางชีวิตมาให้หมดว่า คนประเภทไหนควรจะตื่นกี่โมง กินข้าวกี่โมง นอนกี่โมง ถึงจะตอบสนองต่อทั้ง ‘เวลาชีวภาพ’ ในร่างกายตัวเองและ ‘การออกไปใช้ชีวิตตามเวลาที่สังคมกำหนด’ ได้ดีที่สุด

.

นอกจากช่วงเวลาที่แตกต่างกันของคนทั้ง 4 ประเภทแล้ว ยังมีการดูจังหวะเวลาตามเวลาชีวภาพอีกด้วย เช่น การเล่นเกม ก็จะมี จังหวะกลยุทธ์ จังหวะหัวใส จังหวะดวง ส่วนการคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆก็จะมีทั้ง จังหวะการติดต่อ จังหวะเหม่อ จังหวะความแปลกใหม่ จังหวะ REM หรือช่วงหลับฝันที่เราจำข้อมูลได้แม่น และมักจะผุดแนวคิดใหม่ๆขึ้นมาเสมอ

.

ยังไงในส่วนนี้รายละเอียดเยอะมาก ต้องไปตามอ่านกันต่อเองครับ

.

เรื่องสุดท้ายที่น่าจะคาใจใครหลายคนคือ ‘เวลาชีวภาพ’ เปลี่ยนได้รึเปล่าถ้าอายุเราเปลี่ยนไป

.

คำตอบคือ ‘ได้’ แต่จะเปลี่ยนแค่ในวัยเด็ก และตอนแก่ โดย

- เด็กทารก เป็นหมาป่าไม่ยอมนอนตอนกลางคืน

- เด็กประถม เป็นสิงโต ต้องตื่นไปโรงเรียนแต่เช้า

- วัยรุ่น เป็นหมาป่า ปาร์ตี้สังสรรค์ถึงดึกดื่น

- วัยทำงานส่วนใหญ่เป็นหมี ตื่นและหลับตามเวลาที่เข้างาน

- วัยชรา เป็นสิงโตและโลมา ตื่นเช้า นอนไว บางคนก็นอนไม่ค่อยหลับตอนกลางคืน

.

แต่ตามผลวิจัยของบรูซนั้น ช่วงวัยทำงานตั้งแต่ 21-65 ปี เราจะใช้ชีวิตตามแบบเวลาชีวภาพของเรา นั่นหมายความว่าแม้ในวัยทำงาน คนส่วนใหญ่จะเป็นหมีที่ต้องตื่น-เข้านอนตามเวลางาน แต่คนที่มีบุคลิกแบบอื่นก็อาจปรับไลฟ์สไตล์การทำงานที่ตอบโจทย์เวลาชีวภาพในตัวได้มากสุด เช่น พวกสิงโตผู้จัดการสุดขยัน ก็มักจะตื่นแต่เช้าตรู่ เริ่มวันแต่เช้า ส่วนพวกหมาป่าศิลปิน ทำงานคิดไอเดียใหม่ๆมาเสนอ ก็มักจะทำงานกลางคืนเพราะเป็นช่วงที่ไอเดียดีๆมักจะผุดออกมา

.

ดังนั้นแล้ว ช่วงชีวิตส่วนใหญ่ของเราตั้งแต่ 21-65 ปี เราจึงควรรู้จักเวลาชีวภาพของตัวเอง และทำตามคำแนะนำในหนังสือเล่มนี้ เพื่อปรับกิจวัตรประจำวันของเรา ให้เกิดผลดีที่สุดต่อทั้ง สุขภาพของเรา ประสิทธิภาพในการทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

.

.

บอกได้คำเดียวว่าคอนเซ็ปต์เล่มนี้ใหม่มาก แน่นอนว่าไม่ต้องอ่านละเอียด เพราะตัวอย่างเยอะมาก และรายละเอียดคือเหมือนอ่าน case study งานวิจัยหลายๆเล่ม แต่ควรอ่านคอนเซ็ปต์ให้เข้าใจ และเลือกเจาะไปที่บุคลิกแบบที่ตัวเองเป็นหลังจากทำแบบทดสอบ

.

จากนั้นก็เก็บเล่มนี้ไว้เป็นคู่มือในช่วงที่ต้องการปรับสมดุลเวลาการทำกิจกรรมต่างๆ

.

อย่าลืมไปหาอ่านกันนะครับ

.

.

.

………………………………………………………………..

ผู้เขียน: Ph.D. Michael Breus

ผู้แปล: พรรณี ชูจิรวงศ์

จำนวนหน้า: 496 หน้า

สำนักพิมพ์: Welearn

………………………………………………………………..

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

https://bit.ly/3zt3iBB

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #ThePowerofWhen #พลังแห่งเมื่อไหร่ #Welearn

414 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page