top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว Niksen





รีวิว Niksen

ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย

.

.

‘อยู่เฉยๆบ้างแบบชาวดัตช์ ชีวิตดีขึ้นจริงๆนะ’

.

เรียกว่าเป็นหนังสืออีกเล่มที่สวนกระแสหนังสือพัฒนาตัวเองที่พยายามให้เราใช้เศษเวลามาก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น ระหว่างรถติดก็ฟังพอดแคสท์ ระหว่างรอเข้าประชุม 5 นาทีก็หยิบหนังสือมาอ่าน

.

หนังสือเล่มนี้บอกว่าพอๆ ไอเดียเหล่านั้นบางครั้งก็ดี แต่บางครั้งก็ทำให้ชีวิตเหนื่อยเกินไป ลองดูมุมต่างกันบ้าง เราอาจไม่ต้องเคร่งเครียด และปล่อยตัวปล่อยใจไปกับการไม่ทำอะไรเลยบ้าง

.

นี่แหละที่เรียกว่า นิกเซน (Niksen)

.

นิกเซนถูกใช้เป็นคำกริยากันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวดัตช์ มันหมายถึงการพักเพื่อชาร์จพลัง พักแบบพักจริงๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย

.

ชาวดัตช์ใช้เคล็ดลับการทำนิกเซนเป็นประจำเพื่อช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย ช่วยให้สมองปลอดโปร่งและกลับมาคิดงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยกำจัดสิ่งรบกวนต่างๆออกจากชีวิตของเรา

.

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือออกใหม่ที่อ่านง่าย สบาย รูปภาพประกอบคือดีงามมาก สวยเหมือนรูปแมวบนปกหน้าเลย คือส่วนตัวแอดมินถูกดึงดูดด้วยงานวาดประมาณนี้อยู่แล้ว อ่านละเพลินตา จดจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้น

.

ต้องบอกว่า หนังสืออาจไม่ได้นำเสนอแนวคิดอะไรที่แปลกใหม่ การพักผ่อนเพื่อชะโลมจิตใจตัวเองเป็นเรื่องที่รู้ๆกันอยู่แล้ว แต่หนังสือออกมาในช่วงที่ตรงกับยุคสมัยที่ต้องการมันมากๆ เพราะปัจจุบันนี้เราบูชาความยุ่ง เวลาใครตอบว่าทำอะไรอยู่ ถ้าไม่ยุ่งเหมือนจะเป็นความผิด

.

หลายๆครั้งเราเลยต้องทำตัวเองให้ยุ่งอยู่เสมอ และกดดันตัวเองด้วยงานต่างๆที่ถาโถมเข้ามา เรื่องนี้สุดท้ายแล้วไม่ได้ส่งผลดีกับตัวเราเลย เรากลายเป็นคนเครียด ทำงานได้ไม่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่แย่

.

นิกเซน เข้ามาตอบโจทย์เรื่องพวกนี้ได้ และอาจเปลี่ยนมุมมองของเราต่อการทำตัว busy ตลอดเวลา

.

ทั้งนี้ผมอยากจะนำเทคนิคการทำนิกเซนดีๆมาฝากกัน ย่อยเป็น 5 ข้อดังต่อไปนี้

.

1) เข้าใจความสำคัญของนิกเซน

สิ่งแรกที่เราต้องปรับก่อนคือmindset เราจะติดอยู่กับชีวิตยุ่งๆไปตลอดไม่ได้

.

เราต้องเข้าใจว่า การทำนิกเซน ไม่ได้เท่ากับ ขี้เกียจ

.

นิกเซนเป็นเหมือนการฝึกสติ ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆมากขึ้น ช่วยให้เรามีสมาธิ และเกิดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

.

โดยสรุปแล้ว นิกเซนช่วยให้

- มีเรี่ยวแรงมากขึ้น เพราะได้รับการเติมพลังกายและพลังใจ

- สุขภาพดีขึ้น บริหารพลังงานได้ดีขึ้น มีสมาธิ และป้องกันภาวะหมดไฟ

- ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น ใครมีลูกก็ใช้เวลาที่มีค่ากับลูกได้มากขึ้น

- สมองแข็งแรงขึ้น เพราะได้หยุดพักจากความเสียหาย

- เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการทำงานและการบริหารเวลา

- เพิ่มความตระหนักรู้ในตัวเอง ให้เวลาตัวเองได้ทบทวนว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ

- เกิดการตื่นรู้ เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

- มีการวางแผนระยะยาวได้มากขึ้น

- มีการนอนหลับที่ดีขึ้น ความเครียดลดลง

.

.

2) กล้าที่จะเฉื่อย

นอกจากเข้าใจความสำคัญของการทำนิกเซนแล้ว เรายังต้องทลายความเชื่อผิดๆที่เราใช้เป็นข้ออ้างในการขัดขวางการทำนิกเซนอีกด้วย

.

ความเชื่อดังกล่าวมีอยู่ 3 ประการได้แก่

1. ‘ฉันยุ่งเกิดกว่าจะอยู่เฉยๆ’

นั่นก็เพราะเราไม่ให้เวลากับตัวเอง และคิดว่าเวลาที่จะให้ตัวเองได้พักไม่มีความสำคัญ

.

2. ‘อยู่เฉยๆแปลว่าขี้เกียจ’

จริงๆแล้วมันอาจเป็นโลกต่างหากที่บีบให้เราทำอะไรหลายอย่างจนเกินไป ไหนจะตอบอีเมล ไหนจะการประชุม ไหนจะข้อความ ไหนจะแชทต่างๆ ลองหาเวลาปลีกวิเวกออกมาบ้าง มันไม่นับว่าเป็นความขี้เกียจหรอก

.

3. ‘การพักเป็นเรื่องไม่ดี เพราะคนอื่นต้องการฉัน’

เรายืนอยู่บนความต้องการคนอื่นมากเกินไป เราแคร์คนอื่นมากเกินไป อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะหันกลับมาแคร์ตัวเองบ้าง เราควรลงทุนเวลากับคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรานั่นก็คือ ตัวเราเอง

.

.

เพราะฉะนั้นแล้ว เราต้องกล้าที่จะทำตัวเฉื่อยบ้าง

.

.

3) จัดลำดับความสำคัญใหม่

.

เราต้องลองเพิ่มนิกเซนเข้าไปในกิจวัตรประจำวัน รวมไปถึงการจัดห้องให้เราได้นิกเซนอย่างสงบ หนังสือให้ไอเดียไปไกลถึงการวางแปลนบ้านใหม่ โดยให้แบ่งห้องทำงาน ห้องนอน ห้องนั่งเล่นรับแขก ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องนิกเซน!!

.

ห้องนิกเซนคือห้องที่ทำให้เราได้หมั่น ทบทวนตัวเอง ฝัน และอยู่เฉยๆ

.

แต่แน่นอนว่าทุกอย่างต้องสมดุล เช่นเดียวกันกับการจัดห้อง การจัดเวลาก็ต้องสมดุล เราต้องลองให้คะแนนกิจวัตรต่างๆที่เราทำ แล้วดูว่าเราได้คะแนนสูงที่กิจกรรมไหน ต่ำที่กิจกรรมไหน เช่น ดูทีวีให้ 7 คะแนนความสุข นอนให้ 9 คะแนนความสุข ถ้าสิ่งไหนได้คะแนนต่ำกว่า 5.5 ลงไปก็อาจต้องปรับตารางใหม่ โดยอาจเพิ่มเวลาพัก เวลาทำนิกเซนเพื่อให้ตารางสมดุลมากขึ้น

.

.

4) ใช้วิถีแห่งชาวดัตช์ในการทำนิกเซน

วันอาทิตย์เป็นวันที่ชาวดัตช์จะได้พักผ่อนกันอย่างเต็มที่ ร้านค้าปิดหมด ไม่มีใครต้องทำงาน ทุกคนพักผ่อนสบายใจ และทำให้เวลาเคลื่อนผ่านไปอย่างช้าๆ นี่เป็นวิถีแห่งนิกเซนที่แท้จริง

.

เรื่องนี้รวมถึงการต้องพูดตรงๆเพื่อปฎิเสธคนที่มาขอเวลาจากเรา เราอาจลองใช้วิธีของชาวดัตช์คือการพูดตรงๆมากขึ้น ว่าเราต้องการเวลาให้ตัวเอง พูดอย่างจริงใจ เปิดเผย เพราะอีกฝ่ายก็อาจกำลังคิดเหมือนกับเราก็ได้ ว่าไม่ได้อยากเจอกัน อยากใช้เวลากับตัวเองให้มากกว่านี้

.

แต่ถ้าเรามีเวลาน้อยจริงๆ เราก็ยังทำนิกเซนได้ อาจใช้เวลาเพียง 5 นาที 10 นาที หรือ 20นาที ก็ล้วนทำได้ทั้งสิ้น การนั่งเฉยๆแล้วผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ จะช่วยทำให้เรารีเฟรชตัวเองได้ตลอดวัน

.

.

5) นิกเซนด้วยการลดเวลาบนโลกออนไลน์

ภาวะติดโซเชีลยมีเดียแพร่กระจายไปทั่วโลก เราทุกคนต่างหยิบมือถือมาเช็คตลอดเวลาที่เราว่าง เช่นตอนเข้าห้องน้ำ รอนัดหมอฟัน เดินทางไปทำงาน หรือรอประชุม เราอยากติดตามความเคลื่อนไหวของโลกใบนี้ ซึ่งหลายๆครั้งมีแต่จะทำให้เราเกิดความอิจฉา (เมื่อเห็นคนอื่นอวดชีวิตที่ดีของตัวเอง) ความเครียด (เมื่อเห็นข่าวการเมือง ข่าวคนตาย) หรือความกังวล (เมื่อเห็นเรื่องราวต่างๆของคนที่กำลังลำบาก)

.

มันอาจดีกว่าถ้าเราลดเวลาเหล่านี้ลงได้ และพักผ่อน ทำนิกเซนเพื่อผ่อนคลายจิตใจ

.

ทริคดีๆที่หนังสือฝากไว้ก้เช่น

- ปิดการแจ้งเตือนกลุ่ม Line/ Facebook หรือกลุ่มไหนที่อาจไม่จำเป็นต่อชีวิตเรา ก็กดออกมาซะ

- ลดแอบพลิเคชันโซเชียลมีเดียออกให้เหลือน้อยที่สุด

- ตั้งโหมดกลางคืนเพื่อตัดเสียงเรียกเข้าและข้อความรบกวน

- หันกลับมาอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ แทนการอ่านออนไลน์

- ลองใช้แอบพลิเคชันที่ทำให้เราออกจากมือถือ เช่นแอบปลูกต้นไม้ (ถ้าเราเล่นมือถือ ต้นไม้จะตาย) หรือแอบที่ปิดกั้นการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเป็นระยะเวลาพักหนึ่งเพื่อให้เราได้จดจ่อกับสิ่งอื่น

- ทุกครั้งที่เราเช็ค IG story ให้ลองถามตัวเองดูว่า มันคุ้มกับเวลามั้ย มีอะไรอย่างอื่นที่ทำให้เราผ่อนคลายได้มากกว่านี้รึเปล่า

.

.

.

โดยรวมแล้วหนังสือเล่มเล็กๆ อ่านไม่ถึงชั่วโมงก็จบแล้ว แต่ภาพสวย แนวคิดดี น่าลองเอามอ่นากันดูครับ

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

………………………………………………………………………………………………………..

ผู้เขียน: แอนเนท ลาฟไรห์เซน

ผู้แปล: อณรรฆวีร์ เติมสินสุข

จำนวนหน้า: 146 หน้า

สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 6/2021

………………………………………………………………………………………………………..

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #นิกเซน




278 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page