top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว Man's Search for Meaning



15 บทเรียนหลังอ่านชีวิตไม่ไร้ความหมาย

Man's Search for Meaning

.

.

1. อาจไม่มีฝันใดที่เลวร้ายไปกว่าความเป็นจริงอันแสนหดหู่ในค่ายนาซีอีกแล้ว

ถึงขนาดที่ว่าปล่อยให้เพื่อนนอนหลับฝันร้าย ทุกข์ทรมานต่อไปอีกสักนิด ยังดีกว่าตื่นขึ้นมาเผชิญความเป็นจริงที่โหดร้ายยิ่งกว่า

.

.

2. เมื่ออยู่ในสภาวะที่หมดสิ้นแล้วทุกอย่าง สิ่งที่ยังทำให้มนุษย์คนนึงรอดพ้นสภาวะเหล่านั้นมาได้อาจเป็นอาณุภาพแห่งความรัก

การได้นึกถึงหน้าคนรัก อาจทำให้คน ๆ หนึ่งหลุดพ้นจากสภาวะที่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน แล้วเข้าไปหลับฝันในห้วงแห่งความรักสักครู่นึง

.

.

3. ในช่วงที่จิตวิญญาณของเราแห้งแล้งจากความลำบากยากแค้น และความว่างเปล่า จินตนาการของเราอาจจะโลดแล่นไปสุู่เหตุการณ์ในอดีตที่เป็นความทรงจำที่ดี ที่อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร

เป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เราจะนึกภาพเหตุการณ์เหล่านั้นได้ในทุกรายละเอียด และทราบซึ้งไปกับมันจนน้ำตาไหลพรากได้

.

.

4. เคล็ดลับอย่างหนึ่ึงในการดำรงชีวิต คือการพยายามสร้างอารมณ์ขันและมองสิ่งรอบตัวให้เป็นเรื่องน่าขัน

แม้ชีวิตจะหดหู่สักเพียงใด แต่ถ้าเราสามารถสร้างเรื่องขำขันจากสิ่งนั้นได้ โดยอาจนึกภาพไปยังอนาคต เราก็อาจหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ชั่วคราว

.

.

5. เมื่อเราตกอยู่ในสภาวะนักโทษที่อับจนหนทาง นักโทษหลายคนอาจกลายเป็นคนที่รอคอยแต่โชคชะตาให้คอยช่วยเหลือ

โดยไม่ตัดสินใจทำอะไรเลย เพราะกลัวจะไปทำให้โชคชะตาตัวเองแย่ลง

แต่ความจริงแล้ว พวกเขาควรเป็นคนกำหนดชะตาตัวเองบ้าง แม้จะมีความเสี่ยง แต่ถ้าเดิมพันชนะ มันก็คุ้ม นี่เป็นเรื่องสำคัญในตอนที่พวกเขาต้องตัดสินใจหนีออกจากค่ายกักกัน

.

.

6. สิ่งที่กดชีวิตนักโทษในค่ายกักกันลงไปมากกว่าสภาพร่างกายที่ผอมโทรม ก็คือการด้อยค่านักโทษ

ที่จากการที่เคยเป็นคนสำคัญ กลายเป็นคนที่แทบไม่มีตัวตนอยู่เลย

.

.

7. แม้จะถูกลิดรอนทางเลือกทั้งหมดที่มีหลังจากมาอยู่ในค่ายกักกัน

นักโทษแต่ละคนยังคงมีทางเลือกที่สำคัญของตัวเองในแต่ละวันอยู่นั่นก็คือ

พวกเขาจะยอมให้ถูกลิดรอนตัวตน และเสรีภาพภายในจิตใจไปด้วยหรือไม่

ถ้าใจแข็งพอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็คงไม่มีใครเอาสิ่งนี้ไปจากพวกเขาได้

.

.

8. ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ต่างอะไรกับชะตากรรมและความตาย

สิ่งสำคัญคือเราต้องค้นหาความหมายจากความทุกข์ให้ได้

แม้จะตกอยู่ในสภาพการณ์ที่แสนลำเค็ญ แต่การค้นหาความหมายของความทุกข์จนเจอก็อาจทำให้เราค้นพบความลุ่มลึกของชีวิตได้มากขึ้น

.

.

9. ความหมายของชีวิตคนเราย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา

จึงยากที่จะหาประโยคสั้น ๆ มานิยามความหมายของชีวิตอย่างครอบคลุมได้

และยากที่จะนำความหมายของชีวิตของคนแต่ละคนมาเปรียบเทียบกัน

เพราะต่างคนต่างมีภารกิจชีวิตที่แตกต่างกัน และสร้างโชคชะตาที่เป็นของตัวเอง

สถานการณ์หนึ่ง ๆ ที่เกิดจากการเลือกตอบสนองต่อโชคชะตาแบบหนึ่งอาจนำไปซึ่งความหมายแบบหนึ่ง

ซึ่งตอบไม่ได้ว่าดีกว่า หรือแย่กว่าการตอบสนองอีกแบบ

และการตอบสนองต่อเหตุการณ์หนึ่ง ๆ นั้นก็อาจมีคำตอบที่ถูกต้องมากมายหลายแบบจนไม่อาจนำมาเทียบอะไรกันได้

.

.

10. เมื่อคนเราตระหนักได้ว่า ไม่มีใครมาแทนเราได้ เนื่องด้วยภารกิจชีวิต และความหมายของชีวิตที่แตกต่างกันออกไปทุกคน

เราก็อาจมีความรับผิดชอบที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ และไม่โยนชีวิตทิ้งไปง่าย ๆ

.

.

11. ไม่ว่าจะอยู่ในสถาการณ์ใดก็ตาม ชีวิตของมนุษย์ไม่เคยไร้ความหมาย

รวมถึงสถานการณ์นอนรอความตายอย่างเจ็บปวดก็ตาม

เราสามารถมองสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างให้มีความหมายได้เสมอ

.

.

12. ไม่มีเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่บริสุทธิ์โดยสมบูรณ์ มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ล้วนมีดีเลวปะปนกันไป

เพราะทั้งสองด้านมีเพียงเส้นแบ่งบาง ๆ ขางกั้นอยู่

แม้ในค่ายกักกัน ชาวยิวด้วยกันก็อาจทำเลวใส่กันได้

หรือทหารในค่ายกักกันก็มีคนที่มีน้ำใจต่อนักโทษด้วยเหมือนกัน

.

.

13. มนุษย์ไม่ควรจะถามคำถามกับชีวิตว่า ความหมายของชีวิตเขาคืออะไร

แต่ต้องตระหนักว่าตัวเขาเองต่างหากที่ถูก “ชีวิตตั้งคำถาม”

และเขาทำได้เพียงแสวงหาคำตอบนั้นให้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบ

เพราะเขาเป็นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่หาคำตอบให้คำถามของชีวิตตัวเองได้

.

.

14. หลายครั้งเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาได้ เราทำได้เพียงเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อโชคชะตานั้น ๆ

เช่น ชายคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียภรรยาอันเป็นที่รัก

เขามองไม่เห็นความหมายในความทุกข์ครั้งนี้ของเขา

แต่แท้จริงแล้ว ความหมายที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้อาจเป็นความหมายแห่งการเสียสละ

เพราะถ้าเขาตายก่อนภรรยา คนที่มานั่งทนทุกข์กับการสูญเสีย แทนที่จะเป็นตัวเขา ก็กลับมาเป็นภรรยาของเขาแทน

.

.

15. ที่่จริงแล้วเราอาจไม่จำเป็นต้องหาความหมายเลย

แต่ถ้าเราต้องการจะหา เราจะสามารถหาความหมายได้จากทุกอย่าง แม้จะอยู่ในสภาพที่เป็นทุกข์แค่ไหนก็ตาม

.

.

รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน

Man’s search for meaning เป็นหนังสือคลาสสิคที่ถูกอ้างอิงบ่อยที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่านมา

หนังสือเขียนโดย วิคเตอร์ อี. ฟรังเคิล จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ที่ถูกจับเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันของนาซีนานหลายปี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เขาถูกแยกขาดจากภรรยาและครอบครัว และเพิ่งมารู้หลังได้รับอิสรภาพว่า คนรักของเขาได้จากเขาไปหมดแล้ว

เขาเป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวของครอบครัว

.

แต่ค่ายกักกันไม่ได้จำกัดความหมายของใรชีวิตของเขา

หลังจากกลับออกมาสู่อสิรภาพ วิคเตอร์ยังได้กลับมาทำงานเป็นจิตแพทย์ และเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันให้โลกรู้ และที่สำคัญเขาได้เสนอจิตวิทยาการมีชีวิตอยู่เพื่อแสวงหาความหมาย

.

หลังอ่านต้องบอกว่าครึ่งแรกของหนังสือหดหู่มาก เพราะเล่าเรื่องราวของค่ายกักกันนาซี

ที่ทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเหมือนไม่ใช่มนุษย์

ความโหดร้ายเกินจะจินตนาการของนาซีถูกบอกเล่าผ่านเรื่องราวของวิคเตอร์ แต่เขาก็พยายามหาความหมายของสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะความทุกข์ที่เขาต้องเจอตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในค่าย

.

ครึ่งหลังของหนังสือเป็นการสรุปทฤษฎีโลโกเทอราปี หรือการบำบัดที่ใช้แนวทางบำบัดจิตโดยเชื่อว่าแรงขับปฐมภูมิของมนุษย์ไม่ใช่ การไขว่คว้าหาความสุขตามที่ฟรอยด์กล่าว

หรือการแสวงหาความเหนือกว่าแบบที่แอดเลอร์กล่าว แต่เป็นการแสวงหาความหมายในชีวิต

.

ขอเน้นว่า หนังสือค่อนข้างหนัก และอ่านยาก เนื่องด้วยภาษาที่เก่า และอาจเป็นเรื่องของสำนวนการแปล

แนะนำว่าต้องค่อย ๆ อ่านและค่อย ๆ ย่อยเนื้อหา

ค่อยๆ ตีความตัวอักษรที่ผู้เขียนพยายามอธิบาย

.

โดยรวมแล้ว นี่นับเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ควรอ่านสักครั้งหนึ่งในชีวิต

.

.

.......................................................................................

ผู้เขียน: วิคเตอร์ อี. ฟรังเคิล (Victor E. Frankl)

ผู้แปล: นพมาส แววหงส์

จำนวนหน้า: 232 หน้า

สำนักพิมพ์: Sophia

เดือนปีที่พิมพ์: 2022

.......................................................................................

.

.

พิกัดการสั่งซื้อ: https://shope.ee/LCJY9Xmsa

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #ชีวิตไม่ไร้ความหมาย #Man'sSearchforMeaning




69 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page