top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว Live in Peace ไม่เป็นบ้าไปกับโลก



สรุป 17 ข้อคิด ใช้ชีวิตแบบมีสติ

จากหนังสือ Live in Peace ไม่เป็นบ้าไปกับโลก

.

.

1. ในโลกวัตถุนิยมที่เราต่างมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ความสุขอาจไม่ได้หาได้จากการที่เรารวยขึ้น มีมากขึ้น ได้เลื่อนตำแหน่ง ถูกล็อกเตอรี่ หรือเจอรักแท้

แต่ความสุขอาจเกิดจาก “ความรู้สึกพึงพอใจ” ลึก ๆ ภายในใจเรา

ซึ่งเกิดจากการหลั่งสารเคมีภายในร่างกาย ทั้งโดพามีน เซราโทนิน และออกซิโตซิน

.

การควบคุมให้ร่างกายหลั่งสารเคมีเหล่านี้ออกมาอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ในโลกที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความสับสนอลหม่านจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้การควบคุมเป็นเรื่องยาก

สุดท้ายแล้ว เราทุกคนจึงต้องมองหา “ความสงบ”

ซึ่งอาจเป็นสิ่งเดียวกันกับ“ความรู้สึกพึงพอใจ” และที่สำคัญคือเราฝึกทักษะนี้ได้

.

.

2. เราอาจเหนื่อยกับการวิ่งตาม “สถิติ” ที่ตัวเองอยากสร้างมากเกินไป

เราวัดคุณค่าของตัวเองผ่านเป้าหมายมากมายที่ตั้งไว้

ไม่ว่าจะเป็น การวิ่งให้ได้วันละ 10 km การควบคุมปริมาณการกินในแต่ละวัน การโพสต์ภาพอวดลงโซเชียลเพื่อเรียกยอดไลค์

ถ้าวันไหนเราทำได้ดี ร่างกายก็จะหลั่งโดพามีนออกมา แล้วเราก็จะรู้สึกพึงพอใจ

แต่ถ้าวันไหนทำได้ไม่ครบตามเป้า เราก็จะรู้สึกกับตัวเอง

สุดท้ายแล้วเราเองเป็นคนที่ “วัด” และ “ตัดสิน” ตัวเองอยู่ตลอดเวลา

.

วิธีแก้จากอาการเสพติดเหล่านี้คือ เราต้องไม่ยึดติดกับ “เป้าหมาย” แต่เปลี่ยนมาอยู่กับ “หลักการ” ของสิ่งที่ทำ

โดยสิ่งเหล่านั้นต้องทำให้เกิดความสุขในระยะยาว

เช่น ถ้าวันไหนวิ่งไม่ได้ครบ 10 km ก็ไม่เป็นไร วิ่งแค่ 3 km บ้าง 5 km บ้างก็ได้

ขอให้มีความสม่ำเสมอ และทำให้เรามีสุขภาพที่ดีในระยะยาว

และที่สำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องโพสต์โอ้อวดให้ใครรู้ ตัวเราเองที่รู้ก็เพียงพอ

ไม่แน่ว่าเราอาจได้พบความสุขที่เย็นใจมากกว่าความตื่นเต้นจากยอดไลค์ที่ได้ในโพสต์ก็เป็นได้

.

.

3. เราอาจถูกกระตุ้นให้โยกตู้สล็อตแมชชีน อยู่ตลอดเวลา

มนุษย์เรามีความเป็นนักพนันอยู่ในตัว การเล่นพนันก็เพราะว่าเรามีความตื่นเต้นที่อาจได้เงินมากในครั้งนี้ และอาจได้น้อยในครั้งอื่น

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ตู้สล็อตแมชชีน

การโพสต์รูปลงโซเชียลเพื่อหวังไลค์และแชร์ รวมถึงผู้ติดตามต่าง ๆ ก็ใช้หลักการเสพติดแบบเดียวกัน

เพราะมันมีการกระตุ้นให้เราคิดว่า รูปที่เราลงไปอาจได้ไลค์เยอะ

ถ้ายังไม่ได้ ก็ต้องลงรูปอื่นอีก

แต่ถ้าได้แล้ว ก็อยากได้รับความรู้สึกนั้นอีก ก็ยังต้องลงอีกอยู่ดี

.

การเล่น IG ก็ไม่ต่างอะไรกัน เพราะมนุษย์ถูกกระตุ้นจากการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา

แต่สิ่งเหล่านี้สุดท้ายแล้วก็อาจไม่ช่วยเติมเต็มหัวใจเราได้

เหมือนหลายคนที่แม้จะมีคนติดตามกว่าหลักหมื่นแล้ว เราก็ยังรู้สึกเปลี่ยวเหงาที่หัวใจอยู่ดี

.

.

4. ความกลัวของคนเราไม่ได้มีเพียงแค่ FOMO แต่ยังมี FOBO (โฟโบ) อีกด้วย

FOMO = Fear of Missing Out

FOBO = Fear of a Better Option

ความกลัวประเภทนี้คือการกลัวว่าเราจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดจากการตัดสินใจของเรา

และหลายครั้งมันทำให้เราหยุดชะงัก ไม่กล้าตัดสินใจ

เช่น การเลือกหนังใน Netflix ที่หลายคนเสียเวลาเป็นชั่วโมง

.

เรื่องนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ล้วนเสพติดความสมบูรณ์แบบ

อยากได้ Option ที่ดีที่สุด สุดท้ายก็เลยกลายเป็นคนลังเล ตัดสินใจอะไรไม่ขาด

.

แต่จริง ๆ แล้วลึก ๆ มันอาจเกิดจากการที่เราไม่รู้ว่า “ตัวเองต้องการอะไรจริง ๆ”

เพราะถ้าเรารู้แล้ว เราก็จะเลือกในสิ่งทีเป็นตัวเองที่สุด และตัดสิ่งที่เหลือออกไปได้

ถ้าเป็นแบบนั้น ทางที่ไม่ได้เลือกก็ไม่ได้น่าเสียดายอะไร

.

.

5. แกะสลักสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปจากชีวิต

บทเรียนหนึ่งในการตามหาจิตใจที่สงบ คือเราต้องเริ่มจากการแกะสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปจากชีวิต

ชีวิตที่มีอะไรยุ่งเหยิงไปหมด การ “ลด” จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ

.

เราต้องรู้จัก “เลือกมี” และ “เลือกเป็น”

เลือกมีเฉพาะในสิ่งที่เราอยากมี

และเลือกเป็นในบทบาทที่เหมาะกับเราจริง ๆ

การเลือกยังรวมไปถึง “เลือกคบ” และให้เวลากับคนที่สำคัญกับเราจริง ๆ

.

หลักการนี้คือ การทำให้ชีวิตมีน้อย แต่ได้มาก

คือ เน้นการเสพคุณภาพและดื่มด่ำไปกับรสชาติที่เข้มข้นหอมลึก มากกว่าชีวิตที่มีแต่ปริมาณ

.

.

6. ปกป้องเวลาไว้สำหรับสิ่งสำคัญ

เมื่อเราตัดส่วนเกินของชีวิตออกไปแล้ว

เรายังต้องจัดสรรเวลาให้กับสิ่งที่เหลืออยู่อย่างพอเหมาะ

วิธีหนึ่งที่เราต้องทำคือ การปกป้องเวลาช่วงเวลาไว้สำหรับสิ่งที่สำคัญจริง ๆ อาจจัดเป็นช่วงเวลาหนึ่งในทุกสัปดาห์

ไม่ว่าจะเป็น การใช้เวลากับครอบครัว การพักผ่อน หรือเวลาในการพัฒนาตัวเอง

.

.

7. เพราะโลกนี้ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย

การที่โลกหมุนเร็ว ก็ทำให้เราต้องเร่งความเร็วของตัวเอง ทนอยู่เฉยไม่ได้ อยากจะประสบความสำเร็จเร็ว ๆ

สุดท้ายก็อาจต้อเผชิญกับภาวะ burnout และปัญหาสุขภาพจิต

.

นอกจากนี้สภาพการณ์ต่าง ๆ ทั้งจากเรื่องรถติด โรคระบาด มลพิษ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คนเราวิตกกังวลกันมากขึ้น และมีความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น

มันชวนให้เรากลับมาอยู่ในโหมดสู้หรือหนีอยู่ตลอดเวลา

.

นอกจากนี้แล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่โยนความทุกข์มาให้ อาจเปรียบเหมือน “ลูกดอกลูกที่หนึ่ง” ที่ปามาปักอกเรา

แต่สิ่งสำคัญกว่า คือเราเองต่างหากที่เป็นคนปัก “ลูกดอกลูกที่สอง” เข้าหาตัวเองซ้ำลงไป

มันคือความรู้สึก โกรธ ผิดหวัง ทุกข์ วิตกกังวล

หลายคนจึงแทบจะเป็นบ้าไปกับการใช้ชีวิตในโลกใบนี้

.

.

8. ลองถอนตัวออกจากโลก

สุดท้ายแล้วเราต้องหาวิธีที่จะไม่จมปลักไปกับโลกที่กำลังเป็นบ้าใบนี้

เราต้องมีวิธีถอนตัวออกมาจากโลก

วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ การฝึกทำสมาธิ

ลองอยู่กับตัวเอง จำกัดและคัดสรร input

ลองจัดหาสถานที่และเวลาที่สงบในการพักผ่อนจิตใจ

เพราะในบ้านที่สงบ เราจะรู้สึกปลอดภัย คลายความกังวล

.

.

9. ลองฝึกเป็นผู้สังเกตการณ์

ลองฝึกมีสมาธิ สังเกตการณ์สิ่งต่าง ๆ ตามแบบที่มันเป็น ไม่ต้องตัดสิน

ไม่ต้องใส่ความรู้สึกเข้าไป ไม่ต้องมีบวกลบ

ปล่อยให้โลกเป็นไปในแบบของมัน

.

.

10. ลงจากเวทีการแสดง

เราควรลองหา “ห้องส่วนตัว” ที่เราสามารถอยู่ได้ตามลำพัง

ไม่ว่าจะเป็น บ้านของเรา ที่ชายหาด ทะเล บ้านพักตากอากาศ หรือที่ไหนก็แล้วแต่

ลองอยู่กับตัวเอง โดยไม่ต้องสนใจคนอื่นดู

ไม่ต้องสนว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเรา ไม่ต้องสนใจจำนวนไลค์ในโซเชียลมีเดีย

ลงจากเวทีการแสดงต่อหน้าคนอื่นบ้าง

สุดท้ายแล้วส่งที่คนเราขาดไปในโลกปัจจุบันอาจเป็น ความรู้สึกตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมายืนยัน

.

.

11. ฝึกอยู่กับปัจจุบัน ตรงนี้ เดี๋ยวนี้

นิสัยหนึ่งที่เราควรฝึกคือ การฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน

พักผ่อนอยู่กับตัวเอง และสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้เต็มที่

หยุดวิ่งหนีอดีต และหยุดวิ่งไล่ตามอนาคต

.

ลองฝึกสติให้รับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา

สังเกตความคิด ความรู้สึก อารมณ์ อคติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ

สมองของเราอาจค่อย ๆ เปลี่ยน และค่อย ๆ รับรู้ประสบการณ์ตรงหน้าได้ดีขึ้น

.

.

12. ฝึกจดจ่อทุกวัน

ฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจ คนที่คุยด้วยตรงหน้า งานที่ทำตรงหน้า หรือธรรมชาติที่กำลังมองอยู่

อาจลองตั้งชื่อให้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นดู

ถ้าเราโกรธ กังวล เป็นทุกข์ เราก็จะรู้ตัวมากขึ้น

วิธีนี้จะทำให้เรามีสมาธิ และลดการเข้าสู่โหมดสู้หรือหนี

และทำให้เรารู้สึกว่าโลกปลอดภัยมากขึ้น

.

การฝึกจดจ่อนั้นอาจทำควบคู่กันไปกับการฝึกนั่งสมาธิวันละ 2 นาที

เป็นการฝึกอยู่กับตัวเอง ให้เกิดความมั่นคงภายใน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างนอกก็ตาม

.

.

13. ปรับมุมมองความสุขว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ไขว่ขว้ามา แต่เป็นสิ่งที่เราต้องอ้าแขนรับ

ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองตรงนี้ เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือแม้แต่ความรัก จะกลายเป็นแค่สิ่งที่เราอยากได้เพียงระดับหนึ่ง

แต่ความสุขที่เกิดขึ้น จะอยู่ในใจของเราเอง

และเรายังถ่ายทอดความสุขนี้ไปให้คนอื่นได้อีกด้วย

.

.

14. หาวันใดวันหนึ่งประจำสัปดาห์มาเป็น “วันแห่งสติ”

ซึ่งจะเป็นวันที่เราจดจ่ออยู่กับตัวเอง

ทำทุกสิ่งตรงหน้าอย่างมีสติ ตั้งแต่อยู่บนที่นอน ลุกขึ้นมาแปรงฟันอาบน้ำ ไปกินข้าว ทำกิจกรรมต่าง ๆ

วันนี้จะเป็นวันที่เราอยู่กับความเงียบ อยู่กับตัวเอง ไม่มีสิ่งรบกวน

เราอาจได้พบกับความสงบเย็นภายในใจ

และรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวไปกับทุกกิจกรรมที่ทำตรงหน้า

.

.

15. 5 ขั้นตอนในการตอบสนองต่ออารมณ์ลบ

ขั้นที่ 1: หยุด – สงบสบยเคลื่อนไหว

ขั้นที่ 2: จดจ่อไปที่ลมหายใจ หายใจลึก ๆ เพื่อให้ร่างกายสงบ

ขั้นที่ 3: สังเกต จดจ่อที่ร่างกายตัวเองและสังเกตอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น “ฉันรับรู้ถึงอารมณ์โกรธในตัวฉัน”

ขั้นที่ 4: ไตร่ตรอง คิดหาเหตุผล และพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์

ขั้นที่ 5: ตอบสนอง หลังจากไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบแล้ว

.

.

16. ซึมซึบความรู้สึกดี ๆ

เราจะเจือจางความทรงจำร้าย ๆ ได้ ด้วยประสบการณ์ด้านบวก

เราจึงต้องหมั่นเติมความรู้สึกบวกให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

อาจเริ่มจากการเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่เรามองผ่านให้เป็นความรู้สึกดี ๆ

สิ่งรอบตัว ความสำเร็จเล็ก ๆ

.

และถ้าเราได้เจอประสบการณ์ที่ดี ให้เราซึมซับมันอย่างเต็มที่

อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนความสนใจไปที่สิ่งใหม่

แต่เราควรค่อย ๆ ซึมซับประสบการณ์นั้นให้วึมลึกเข้าไปทั้งทางกายและใจ

ถ้าเราตั้งใจ ประสบการณ์และความรู้สึกนั้นจะเข้มข้นมากขึ้น มีค่ามากขึ้น และน่าจดจำมากขึ้น

.

.

17. แผ่ความรักให้คนอื่น เพื่อความสุขของตัวเอง

เพราะความเห็นอกเห็นใจเป็นสภาวะสูงสุดของความสุข

.

ค่อย ๆ เริ่มจากเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเริ่มเปลี่ยนแปลงผู้อื่น

ถ้าเราทุกคนทำได้มันก็จะค่อย ๆ ขยายวงกว้างไป

และสุดท้ายก็อาจช่วยเปลี่ยนแปลงโลกอันเป็นบ้าใบนี้ได้

.

.

รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน

เป็นหนังสือที่นิ้วกลมเขียนโดยใช้เวลาเพียง 3 วัน 5 ชั่วโมง ตอนไปเข้าถ้ำส่วนตัว เช่นเดียวกับตอนที่เขียน Have a nice life

ต้องบอกว่าเมื่อเทียบกันแล้ว เล่มนี้ไม่เชิงเป็นหนังสือพัฒนาตัวเอง

แต่เป็นหึ่งหนังสือฝึกสติ ฝึกจิตใจให้ผ่อนคลาย ฝึกชีวิตให้ช้าลงกับโลกที่หมุนเร็วและแทบจะเป็นบ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ

.

Live in Peace มีคอนเซ็ปต์ที่ล้อมาจาก Rest in Peace ที่เรามันอวยพรให้ผู้วายชน

แต่คำถามคือ การใช้ชีวิตให้สงบสุขนั้นทำได้ยากมาก ในโลกที่ดูเหมือนจะวุ่นวายมากขึ้นเรื่อย ๆ

การทำความเข้าใจสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เราแทบเป็นบ้ากับชีวิตตัวเอง และการถอนตัวออกมาจากโลกที่วุ่นวายด้วยการฝึกสติ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

.

รู้สึกได้ชัดเจนว่านิ้วกลมทำหน้าที่ประสานเรื่องบ้า ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน กับวิธีปฏิบัติเชิงจิตวิญญาณได้ดีมาก

ยอมรับว่าครึ่งแรกของหนังสือ เป็นจิตวิทยา และเป็นเนื้อหาที่ย่อยง่าย เพราะเป็นการอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

แต่ครึ่งหลังมีความเป็นจิตวิญญาณ และปรัชญา เริ่มอ่านยากขึ้น และต้องใชเวลาในการตกผลึกมากขึ้น

.

แต่โดยรวมแล้ว ก็ยังคิดว่าเป็นเล่มที่แนะนำให้ทุกคนลองอ่านกันดู

เพราะเนื้อหาแฝงข้อคิดสำคัญในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันไว้หลายข้อ

.

.

พิกัดสั่งซื้อ: https://shope.ee/4pfju6n4UK

.

.

...............................................................................

ผู้เขียน นิ้วกลม

จำนวนหน้า: 304 หน้า

สำนักพิมพ์: KOOB, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 2022

...............................................................................

.

.

#หลังอ่าน #LiveinPeace #ไม่เป็นบ้าไปกับโลก




82 views0 comments

コメント


Post: Blog2_Post
bottom of page