top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว Harshtag #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา



สรุป 12 บทเรียนสำคัญ จากหนังสือ Harshtag #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา

.

1. ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) หมายถึงการรังแกหรือกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

โดยไม่ว่าผู้กระทำมีจุดประสงค์ในการทำไปเพื่อเหตุใดก็ตาม แต่ผู้ถูกกระทำมักได้รับผลกระทบทางลบต่อจิตใจ รวมถึงผลกระทบเชิงสังคมหรือผลกระทบเชิงกายภาพที่มักตามมา

.

.

2. การทำไซเบอร์บูลลี่มีหลายประเภท เช่น

- การคอมเมนต์รูปร่างหน้าตา

- การเหยียดเพศและรสนิยมทางเพศที่อาจแตกต่าง

- การนำปมด้อยของคนอื่นมาเล่นสนุก

- การคุกคามทางเพศ

- การสร้างข่าวปลอมเพื่อโจมตีคนที่เหยื่อ

- การปลอมปัญชีเป็นคนอื่น (หรือการสร้างแอคฯ หลุม) แล้วสร้างความเข้าใจผิดให้คนอื่น

- การขุดเอารูปเก่า ๆ มาประจาน

- การพูดให้เสียกำลังใจ

- การด่าทอโดยตรง

และอื่น ๆ อีกมากมาย

.

.

3. ปัจจุบันนับว่าประเทศไทย มีไซเบอร์บูลลี่เกิดขึ้นมาก และได้สร้างผลกระทบทางจิตใจให้เหยื่อหลายคน จนอาจเป็นโรคซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งฆ่าตัวตาย

การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในปัญหาไซเบอร์บูลลี่จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน


.

โดยพวกเราทุกคนโดยเฉพาะ คนรุ่น Gen Z ที่ใช้เวลาในโลกโซเชียลค่อนข้างมาก ต้องเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหานี้

อย่างน้อย ๆ ต้องเริ่มแก้จากตัวเองและคนรอบข้างก่อน

.

.

4. ครอบครัวควรจะเป็นสถาบันแรกที่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องไซเบอร์บูลลี่

และถ้าครอบครัวไหนยังอาจเผลอไซเบอร์บูลลี่คนในครอบครัวด้วยกันเอง ก็อาจถึงเวลาที่ต้องหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ และเปลี่ยนความคิดต่อเรื่องนี้เสียใหม่

.

เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นมากกับพ่อแม่ที่ไม่ได้เข้าใจในความรักสวยรักงามของเด็กสาว

โดยเฉพาะเรื่องรูปร่างที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

เด็กในวัยนี้หลายคนต้องสูญเสียความมั่นใจในรูปร่างตัวเอง เพราะถูกพ่อแม่ทำไซเบอร์บูลลี่โดยไม่รู้ตัว

บางครั้งแค่การโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดีย ที่เป็นรูปที่ตอกย้ำรูปร่างที่เด็กสาวไม่ชอบ ก็อาจทำให้ตัวเด็กเองเสียความมั่นใจได้

.

พ่อแม่ควรระวัง ให้เกียรติ เคารพ การนำรูปลูกตัวเองไปใช้ในโลกออนไลน์ที่มีคนไม่รู้จักเป็นจำนวนมาก

การขออนุญาตก่อนก็นับเป็นวิธีหนึ่งในการให้เกียรติกัน

.

นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเสริมสร้างความมั่นใจในหน้าตาและรูปร่างของลูกตัวเอง

ไม่นำรูปร่างหน้าตาที่ลูกตัวเองไม่มั่นใจอยู่แล้ว มาพูดล้อเลียนหรือนำไปประจานให้เกิดความอับอาย

.

.

5. การปลอมตัวเป็นคนอื่น นับเป็นการไซเบอร์บูลลี่รูปแบบหนึ่ง

ในหนังสือ ได้เล่าเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่สร้างแอคเคาต์ปลอมของผู้หญิงคู่อริที่ตัวเองไม่ชอบ โดยเอารูปผู้หญิงนั้นมาใช้ แล้วเอาไปส่งให้ผู้ชายที่ไม่รู้จักที่มักส่งรูปลามกอนาจารมาให้

.

การกระทำแบบนี้นับเป็นการสร้างความเสียหายต่อฝ่ายตรงข้ามมาก และอาจทำให้อีกฝ่ายได้รับกระทบทั้งทางกาย

รวมไปถึงอันตรายจากคนแปลกหน้าด้วย

.

ดังนั้นแล้ว เราไม่ควรปลอมตัวเป็นคนอื่นไม่ว่าจะเพื่อความสนุก หรือเพื่อเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ โดยเจ้าตัวไม่อนุญาต

.

.

6. การนำรูปคนอื่นมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียอาจสร้างความเสียหายได้มากกว่าที่คิด

การที่เรามีอิสระในการโพสต์อะไรก็ได้ลงโซเชียลมีเดีย ไม่ได้แปลว่าเราจะเอารูปคนอื่นมาโพสต์ โดยที่ตัวเขาไม่ยินยอมได้

เพราะหลายคนยังคงต้องรักษาภาพลักษณ์ที่ต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมา

รูปเพียงรูปเดียวที่เราโพสต์เกี่ยวกับคน ๆ นั้น อาจไปกระทบต่อภาพลักษณ์ และสร้างความเสียหายต่อทั้งหน้าที่การงานและจิตใจของคน ๆ นั้นอย่างมากก็เป็นได้

.

ดังนั้น คิดให้เยอะ ๆ คิดให้ดี ๆ ก่อนจะโพสต์รูปหรือเรื่องราวเกี่ยวกับคนอื่น

ถ้าเป็นไปได้ ขออนุญาตเจ้าของรูป หรือเจ้าของเรื่องราวนั้น ๆ ก่อนก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

.

.

7. การเผยแพร่ข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง อาจสร้างความเสียหายกับเหยื่อได้มากกว่าที่คิด

หลายครั้งเรื่องที่เราคิดว่าเรารู้จริง อาจไม่ได้เป็นความจริงเสมอไป

ข้อมูลที่เราได้รับมาเกี่ยวกับคน ๆ หนึ่ง อาจไม่ใช่ความจริง

ถ้าเราเอาข้อมูลนั้นไปเผยแพร่ต่อ ก็รังแต่จะทำให้บุคคลนั้นเสียหาย

ดังนั้นก่อนจะเผยแพร่ข่าวลืออะไรก็แล้วแต่ เราควรเช็คความน่าเชื่อถือและที่มาของข่าวให้ดีก่อนเสมอ

.

เพราะข่าวลือที่ไม่เป็นความจริงอาจสร้างผลกระทบต่อคน ๆ นั้นได้มหาศาล

จากเรื่องในหนังสือ ข่าวลือที่ไม่จริงเกี่ยวกับอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่ง อาจทำให้สภาพจิตใจของเขาย้ำแย่

และอยากเลิกรับงานไปสักพัก ซึ่งถ้าไม่หายเขาก็คงอาจจะอยากหนีไปให้ไกลจากโลกความเป็นจริงอันน่ารำคาญแบบนี้

.

.

8. การไซเบอร์บูลลี่อาจเกิดได้จากการที่เราผสมโรงไปโจมตีคนอื่น ทั้ง ๆ เราแทบไม่ได้รู้จักคน ๆ นั้นจริง ๆ

เช่น การที่เราเข้าไปคอมเมนต์ในทางลบกับภาพของคน ๆ หนึ่งเพียงเพื่อตามกระแสคอมเมนต์อื่น ๆ ก่อนหน้า

โดยที่เราแทบไม่รู้ว่าตัวจริงของคนที่เราไปคอมเมนต์เขาเป็นยังไง

.

เราควรหยุดทำตัวเป็นนักเลงคีย์บอร์ด แล้วตระหนักถึงผลกระทบที่ตัวเองอาจสร้างขึ้นจากความคึกคะนอง และการยั้งคิดในการพิมพ์ข้อความหยาบ ๆ ของตัวเราเอง

.

.

9. การบูลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตา เป็นเรื่องที่ควรหมดไปจากสังคม

เพราะเรื่องนี้มีแต่จะทำให้หลายคนเริ่มเสียกำลังใจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นต้องสร้างภาพตัวเองแบบปลอม ๆ ขึ้นมาเพื่อให้ได้รับการยอมรับ

.

การจะให้คน ๆ หนึ่งยอมรับตัวเองได้อย่างแท้จริง เราต้องร่วมกันแสดงให้เห็นว่ารูปร่างหน้าตาไม่ได้เป็นสิ่งชี้วัดว่าเราจะได้รับการยอมรับมากน้อยแต่ไหน และจงภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นให้มากเข้าไว้

เพราะถ้าเรายอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น คนอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ยอมรับเรามากขึ้นเอง

.

.

10. วิธีในการรับมือกับการถูกไซเบอร์บูลลี่ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ “การไม่หยิบมันมาใส่ใจ”

เพราะถ้าเราใส่ใจความเห็นของคนทุกคนที่คอมเมนต์กันมา เราจะไม่มีวันมีความสุขได้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเติมเต็มความต้องการของทุกคน

เราเพียงแค่เคารพตัวเอง และตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุดกับตัวเอง โดยไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อนก็พอ

.

.

11. จงอย่าแกล้งคนอื่นเพียงเพราะความสนุก

เพราะมันอาจสร้างผลกระทบให้อีกฝ่ายได้มากว่าที่เราคิด

จากตัวอย่างในหนังสือ เหยื่อที่โดนถ่ายคลิปประจานการช่วยตัวเอง ถึงขั้นฆ่าตัวตาย

ซึ่งสุดท้ายแล้วคนที่เสียใจที่สุดก็หนีไม่พ้นแม่ของเขาเอง

.

.

12. รู้จักสัญญาใจของคนที่ Gen Z ที่จะมาช่วยกันหยุดไซเบอร์บูลลี่

สัญญาใจข้อ 1: เข้าใจความหมายและรูปแบบอันหลากหลายของไซเบอร์บูลลี่

สัญญาใจข้อ 2: ห้ามกระทำไซเบอร์บูลลี่กับผู้อื่น ไม่ว่าจะมีเหตุจูงใจเป็นเรื่องอะไรก็ตาม

สัญญาใจข้อ 3: ห้ามคอมเมนต์รูปภาพของผู้อื่นในเชิงล้อเลียนให้คน ๆ นั้นเสียเซลฟ์

สัญญาใจข้อ 4: ห้ามบไซเบอร์บูลลี่เรื่องรูปร่างให้ผู้อื่นสะเทือนใจ

สัญญาใจข้อ 5: ห้ามไซเบอร์บูลลี่เรื่องเพศหรือรสนิยมทางเพศเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคน

สัญญาใจข้อ 6: ห้ามไซเบอร์บูลลี่ในความแตกต่าง ตั้งแต่เรื่อง การศึกษา รสนิยม ความชื่นชอบส่วนตัวต่อผู้อื่น

สัญญาใจข้อ 7: ห้ามไซเบอร์บูลลี่ในลักษณะคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะในการใช้ถ้อยคำที่ผู้อื่นรู้สึกถูกคุกคาม

สัญญาใจข้อ 8: ห้ามไซเบอร์บูลลี่ในการขุด หา หรือนำเสนอหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น โดยที่คนผู้นั้นไม่ต้องการ

สัญญาใจข้อ 9: ห้ามไซเบอร์บูลลี่ทั้งการคอมเมนต์เสีย ๆ หาย ๆ หรือส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงต่อคนอื่น

สัญญาใจข้อ 10: ห้ามไซเบอร์บูลลี่โดยการผสมโรง แม้จะทำไปเพื่อตอบสนองต่อความคึกคะนองของตัวเอง

สัญญาใจข้อ 11: ห้ามไซเบอร์บูลลี่โดยการก่อตั้งกลุ่ม เช่นเพจแอนตี้ xxx หรือสร้างแอคฯ หลุม

สัญญาใจข้อ 12: ห้ามไซเบอร์บูลลี่ในเรื่องสีผิว หน้าตา และการแต่งตัวของผู้อื่น

สัญญาใจข้อ 13: ห้ามไซเบอร์บูลลี่โดยการปลอมแปลงบัญชี หรือปลอมตัวเป็นคนอื่น

สัญญาใจข้อ 14: ห้ามคนในครอบครัวทำไซเบอร์บูลลี่ อาจโดยการวิจารณ์รูปร่าง หรือคอมเมนต์ในเชิงลบ เช่น อ้วน ลูกหมู ไม่สวย ไม่เก่ง

สัญญาใจข้อ 15: คนในครอบครัวที่รู้สึกว่าโดนไซเบอร์บูลลี่มีสิทธิบล็อกบัญชีของคน ๆ นั้น

สัญญาใจข้อ 16: คนในครอบครัวที่รู้สึกว่าโดนไซเบอร์บูลลี่มีสิทธิออกจากไลน์ครอบครัว และอาจหยุดให้ความช่วยเหลือในการใช้โซเชียลมีเดีย แล้วแต่คนผู้นั้นจะพิจารณา

สัญญาใจข้อ 17: ห้ามไซเบอร์บูลลี่โดยการโพสต์ลอย ๆ โพสต์แซะ โพสต์ดัก

สัญญาใจข้อ 18: การกระทำไซเบอร์บูลลี่โดยอ้างว่าทำไปเพื่อความสนุก หรือเพราะสนิทสนมกัน เป็นเรื่องที่ไม่อาจให้อภัยได้

สัญญาใจข้อ 19: ถ้าคนที่ทำไซเบอร์บูลลี่เป็นครูในโรงเรียน อาจต้องรับโทษหนักเป็นพิเศษ

สัญญาใจข้อ 20: การรับมือกับการโดนไซเบอร์บูลลี่ ทำได้โดยการ

- ให้กำลังใจตัวเองด้วยข้อความในเชิงบวก

- เคารพและยอมรับความเป็นตัวเอง

- สร้างเกราะในใจตัวเอง โดยบอกว่าไซเบอร์บูลลี่ทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าเราไม่ใส่ใจมัน

- ไม่ส่งต่อไซเบอร์บูลลี่

สัญญาใจข้อ 21: จงรับฟังและช่วยเหลือคนที่ถูกไซเบอร์บูลลี่

สัญญาใจข้อ 22: คนที่เป็นพ่อแม่ต้องรับฟังและทำความเข้าใจถ้าลูกมาปรึกษาเรื่องไซเบอร์บูลลี่

สัญญาใจข้อ 23: หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่

- ปรับแก้ไขทัศนคติของการทำไซเบอร์บูลลี่

- ให้การช่วยเหลือผู้ถูกไซเบอร์บูลลี่

- สร้างบทลงโทษต่อผู้กระทำไซเบอร์บูลลี่

.

.

รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน

เป็นรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับไซเบอร์บูลลี่ที่อ่านสนุกมาก

ขอบอกว่าต้องไปอ่านเล่มจริงเท่านั้นถึงจะได้รสชาติ และเข้าใจถึงความหมายและรูปแบบของการไซเบอร์บูลลี่

นักเขียนทุกคนเขียนดีมาก บางเรื่องนี่ยังคิดว่าเอามาจากเรื่องจริง

ความยาวแต่ละเรื่องก็กำลังดี อ่านไปเพลิน ๆ ไม่นานก็จบเล่มแล้ว

.

ช่วงท้ายของหนังสือยังมีสรุปสัญญาใจทั้ง 20 ข้อ

ช่วยตกผลึกความเข้าใจในเรื่องไซเบอร์บูลลี่ได้ดีขึ้นอีกครับ

.

สุดท้ายนี้แนะนำให้ลองอ่านเล่มนี้กันดูทุกคนเลยครับ

เพราะปัญหาไซเบอร์บูลลี่เป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้

ถ้าเป็นไปได้ทุกคนคงอยากให้ไซเบอร์บูลลี่เป็นเรื่องหนึ่งมที่จบที่รุ่นเราจริง ๆ

.

.

............................................................................................................

ผู้เขียน: รวมนักเขียน

จำนวนหน้า: 256 หน้า

สำนักพิมพ์: SALMON BOOKS

เดือนปีที่พิมพ์: 7/2022

............................................................................................................

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #Harshtag #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา




19 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page