รีวิว 11 เคล็ดลับทะยานสู่ความมั่งคั่งในยุค NEXT NORMAL
.
.
‘บ้านที่ขาดเสาเข็มไม่นานคงล้มตึง ระเนระนาด คล้ายคนที่ขาดหลักยึด จะยืนอยู่ได้อย่างไร’
.
โดยรวมแล้วเป็นหนังสือที่นำหลักพุทธศาสนามาผสานเข้ากับคู่มือการใช้ชีวิต เพื่อให้ชีวิตเราทะยานสู่ความมั่งคั่งในโลกยุค New Normal
.
ซึ่งแน่นอนว่าอีกไม่นาน New Normal ที่ว่าก็จะกลายเป็น Next Normal ที่เป็นสิ่งที่พบเจอได้ธรรมดาทั่วๆไปแล้ว
.
ส่วนความมั่งคั่งที่หนังสือกล่าวถึงก็ไม่ใช่เพียงแค่ ความมั่งคั่งด้านสินทรัพย์และความร่ำรวยทางการเงิน แต่เป็นความมั่งคั่งภายในจิตใจของเรา ซึ่งรวมถึง ความร่ำรวยทางความสุข และการให้
.
หนังสือแบ่งออกเป็น เคล็ดลับ 11 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อมีใจความหลักที่เข้ากับยุคสมัย แต่สามารถนำมาผูกเชื่อมกับหัวใจของพระพุทธศาสนาอย่างลงตัว
.
สำหรับคนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในทางศาสนา อ่านๆแล้วอาจมีส่วนที่ไม่เก็ทบ้าง งงๆบ้าง แต่ด้วยความที่หนังสือผูกโยงกับเคล็ดลับทั่วๆไปในการใช้ชีวิตอยู่แล้ว จึงน่าจะพอเกลาๆคอนเซ็ปต์ได้
.
ตัวแอดมินเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธ ความรู้ที่มีอันน้อยนิดก็ได้ถูกเพิ่มเติมบ้างจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่แน่นอนว่าอาจจะไม่ใช่คนที่สรุปเนื้อหาในหนังสือออกมาได้ดีที่สุด แต่ยังไงก็ยังอยากจะมาป้ายยาทุกคนอยู่ดีครับ
.
สรุปแบบคร่าวๆกับเคล็ดลับ 11 ข้อสู่ความมั่งคั่งทางจิตใจในโลกยุค Next Normal
.
เคล็ดลับที่ 1: รู้จักตัวเอง
.
เริ่มจากการหมั่นตั้งคำถามกับตัวเองก่อน ว่า
1) เราเกิดมาเพื่ออะไร
2) ชีวิตของเราที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง และเราได้ทำประโยชน์อะไรบ้างทั้งต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม
3) เมื่อเวลาเราตาย เราจะเอาอะไรกลับไปได้บ้าง
4) อะไรที่เราอยากเห็นในตัวเอง ก่อนตาย
.
การรู้จักตัวเองมักจะเป็นขั้นตอนแรกในทางพุทธจิตวิทยา เพื่อช่วยให้เราได้ตระหนักได้ว่าเราเป็นคนกำหนดเส้นทางการเดินของตัวเอง และถ้าเราเข้าใจมันดี เราก็จะทำมันออกมาได้ง่ายที่สุด
.
การรู้จักตัวเองในทางพุทธจิตวิทยายังครอบคลุมในหลายแง่มุม
- ทั้ง ‘รูปขันธ์’ หรือการรู้จักร่างกายของเราเอง
- ‘นามขันธ์’ หรือการรู้จักจิตใจของเราเอง ซึ่งรวมถึงการรับรู้ จดจำ และคิดแยกแยะสิ่งที่รู้สึกหรือจดจำได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ทั้งปวง
- ‘วิญญาณขันธ์’ หรือการรับรู้อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วมากระทบจิตใจเรา
.
วิธีหนึ่งที่หนังสือแนะนำคือ ถ้าเราเริ่มตระหนักรู้ถึงความต้องการของตัวเองแล้วให้จดบันทึกไว้ แล้วลองมาเปิดอ่านบ่อยๆเพื่อทบทวนให้ระลึกถึงความหมายของชีวิตตัวเองไว้เสมอๆ
.
.
เคล็ดลับที่ 2: ทำวันนี้ให้มีความสุข
.
ความสุขในทางพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับได้แก่
.
1) กามสุข หรือความสุขทางกาย
เป็นความสุขเบื้องต้นของมนุษย์เกิดจากการได้มีสิ่งที่อยากมี เป็นในสิ่งที่อยากเป็น รวมถึงความปรถนา ความใคร่ต่างๆในชีวิตประจำวันของเรา
.
2) ฌานสุข หรือความสุขที่เกิดจากการตั้งสมาธิที่แน่วแน่ และมีจิตใจที่มั่นคง ตั้งอยู่ในฌาน
.
3) นิพพานสุข ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตใจเราปลอดโปร่ง เป็นอิสระจากความทุกข์ร้อนและวิตกกังวลทั้งหลายทั้งปวง
.
แน่นอนว่าหลายๆครั้งความสุขที่เราได้มาอยู่เพียงแค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เพราะมันเป็นความสุขแบบกามสุขหรือความสุขทางกายในระยะสั้นๆ
.
เราควรตั้งเป้าให้สามารถข้ามพ้นไปสู่นิพพานสุข หรือความสุขที่แท้จริงที่ไม่ยึกติดกับกิเลส ปล่อยว่างสิ่งต่างๆออกจากตัว และมีใจที่สุขสงบ
.
มีหลายเทคนิคที่หนังสือแนะนำในการค้นพบนิพพานสุขของตน เริ่มจากการกำหนดจิตอยู่กับปัจจุบันขณะ ยอมรับในตัวเอง ตามหาเป้าหมายของชีวิตที่ชัดเจน มองหาวิธีการ และบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ
.
.
เคล็ดลับที่ 3: ลับคมคิดในวันที่มีการเปลี่ยนแปลง
.
แน่นอนว่าในยุคสมัย Next Normal มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งโลกภายนอกที่หมุนตามเทคโนโลยี โรคระบาดและเทรนด์ต่างๆ รวมถึงแนวคิดของคนในสังคมที่มีแนวคิดใหม่ๆผุดออกมาทุกวัน
.
หนังสือแนะนำ 2 วิธีหลักๆในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
1) หยุดความคิดลบ
มักเป็นเรื่องปกติที่เวลาเราพบเจอกับความเปลี่ยนแปลง ความกลัวและความกังวลมักจะเข้ามาครอบงำเรา
.
เราจึงต้องรู้จักหยุดความคิดเหล่านั้นไว้ที่นั่น อย่าให้มันลุกลาม
.
มีหลายวิธีที่หยุดความคิดลบได้ ไม่ว่าจะเป็น การตะโกนออกมาดังๆให้ได้สติ การกำหนดลมหายใจเข้าออกเพื่อเรียกสติตัวเองคืนมา การเดินไปสูดอากาศด้านนอกอาคาร รับแสงแดดอ่อนๆ การขยับร่างกายและเปลี่ยนกริยาท่าทางที่ทำอยู่
.
2) เปลี่ยนมุมมองใหม่ (reframing)
พยายามมองหาคุณค่าจากสิ่งที่ผ่านมาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลบหรือบวก
.
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงหลายๆครั้งอาจนำมาซึ่งสิ่งที่เราไม่อยากได้ แต่ถ้าเราเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนสอนบทเรียนให้เราได้ เราก็อาจพยายามมองหาคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นจนเจอ
.
.
เคล็ดลับที่ 4: ทำงานที่ทรงพลัง
.
มองหางานที่มีคุณค่า ลงมือทำอย่างเต็มที่ด้วยเส้นทางที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม
.
ลองมองหาดูว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร งานของเราสร้างคุณค่าให้ใครบ้าง แล้วเราต้องพัฒนาทักษะใดบ้างถึงจะตอบโจทย์งานเหล่านั้นได้
.
.
เคล็ดลับที่ 5: กัลยาณมิตรในโลกใหม่
.
ความมั่งคั่งทางจิตใจของเราเองก็หนีไม่พ้นที่จะมีส่วนประกอบคือคนรอบๆตัวเรา เราจึงควรหมั่นมองหากัลยาณมิตรดีๆไว้เสมอ
.
ถ้าในทฤษฎีของเพลโตสมัยกรีกโบราณ เราอาจแบ่งความรัก และมิตรภาพออกได้เป็น 3 ระดับใหญ่ๆ ได้แก่
1. Eros หรือความรักแบบปราถนา เป็นความรักที่เราต้องการครอบครองสิ่งๆนั้น คนๆนั้น
.
2. Philia หรือ ความรักแบบครอบครัวและแบบเพื่อน ไม่มีความปราถนาที่จะครอบครองมาเกี่ยวข้อง แต่คงไว้ซึ่งความเคารพในตัวบุคคลหรือสถาบันต่างๆ
.
3. Agape หรือความรักระดับปัญญา เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เป็นความรักสูงสุดในทางศาสนาที่คนมีความรักพร้อมจะเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง
.
แน่นอนว่า กัลยณมิตรที่ดดีต้องไม่ใช่เพียงแบบ Eros แต่ต้องความรักในแบบครอบครัว แบบเพื่อน และอยากให้อีกฝ่ายอย่างแท้จริง
.
เราจึงควรค้นหากัลยาณมิตรที่ดีไว้ข้างตัว แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องหมั่นสำรวจตัวเราเองให้ทำตัวเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อผู้อื่นด้วย
.
.
เคล็ดลับที่ 6: โลกใหม่ อารมณ์ใหม่
.
มี 2 เทคนิคพิเศษที่ทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่
.
1) รู้จักซาบซึ้ง สร้างพลังเชิงบวก
รู้จักขอบคุณสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ตื่นเช้าด้วยอารมณ์เชิงบวกเพื่อกำหนดมูดแอนด์โทนของวันนั้น และออกมารับแสงแดดจ้าๆบ้าง
.
2) มีสติรับมือกับอารมณ์เชิงลบที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
ทั้งความกลัว ความโกรธ แม้กระทั่งความตื่นเต้นก็ล้วนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การรู้จักมีสติรู้เท่าทันอารมณ์เหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
.
มีหลายวิธีมากในการช่วยเรียกสติตัวเองกลับมาทั้งการหยิกตัวเองเบาๆ ไปจนถึงการตบหน้าตัวเองเพื่อให้ได้สติ
.
.
เคล็ดลับที่ 7: การจัดการเวลา
.
เวลาคือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุขในโลกยุคใหม่ เราจึงต้องใช้เวลาของเราอย่างคุ้มค่าที่สุด
.
5 ขั้นตอนง่ายๆที่หนังสือแนะนำคือ
1) Prioritising – จัดลำดับความสำคัญของงานแต่ละชิ้น ตามเป้าหมายของตัวเรา
2) Organising – วางแผนสิ่งที่จะทำในแต่ละวัน
3) Streaming – พิจารณาดูว่าสิ่งไหนควรทำอย่างไร
4) Economising – จัดเวลาในแต่ละวันเพื่อทำสิ่งต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพ
5) Contributing – เวลาทำอะไรก็ตาม ให้ทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคม
.
และที่สำคัญที่สุดคือ จงจำไว้ว่าเวลาที่มค่ามากที่สุดคือ ปัจจุบัน
.
.
เคล็ดลับที่ 8: สันติสุขจรรโลงจิตเมื่อความคิดไม่เหมือนเดิม
.
‘สันติสุข’ หมายถึง ความสบายทางใจ ปลอดโปร่ง ร่มเย็น มีความเบา ปราศจากความทุกข์ ความกังวลและกิเลสต่างๆ
.
ชีวิตที่ดีที่สุด อาจเป็นชีวิตที่ สงบ ร่มเย็น และเป็นประโยชน์
.
การจะนำมาซึ่งความสงบทางใจและสันติสุขนั้น เราต้องเข้าใจกฏไตรลักษณ์ หรือลักษณะทางธรรมชาติ 3 ประการได้แก่
1) อนิจจัง – ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
2) ทุกขัง – มีความทุกข์ซ่อนอยู่ในทุกๆอย่าง แม้แต่ตอนที่เรามีความสุข ก็ยังมีความทุกข์ซ่อนอยู่ เพราะเราจะกลัวที่จะสูญเสียมันไป
3) อนัตตา - การไม่มีตัวตน ความว่างเปล่า ตรงข้ามกับ อัตตาหรืออีโก้ที่ทำให้เราหยิ่งผยอง
.
การเข้าใจไตรลักษณ์จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้จิตใจเราเข้มแข็ง พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่
.
วิธีหนึ่งที่หนังสือแนะนำมากๆคือการเขียนบันทึกสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในวันแต่ละวัน 3 อย่างก่อนนอน ทำทุกๆวันสัก 30 วันแล้วสังเกตดูการเปลี่ยนแปลง
.
.
เคล็ดลับที่ 9: สร้างภาวะผู้นำในตัวเอง
.
หลังจากที่เรารู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้แล้ว เราก็สามารถพัฒนาภาวะผู้นำในตัวเองให้ดียิ่งขึ้นไปได้
.
เทคนิคที่หนังสือแนะนำเพิ่มเติมคือ การรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆรวมถึง
- รู้หลักการและเหตุ
- รู้จุดหมายและผล
- รู้จักสถานะและความพร้อมของตน
- รู้ประมาณ รู้ขอบเขต รู้จักความพอดี
- รู้เวลา
- รู้ชุมชน รู้สังคม
- รู้จักบบุคคลที่เกี่ยวข้อง คนรอบตัว เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกค้า และคนอื่นๆ
.
.
เคล็ดลับที่ 10: การตระหนักรู้
.
เคล็ดลับนี้รวมการฝึกจิตให้เข้าใจตัวเอง ผู้อื่น สังคม ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งต่างๆตามธรรมชาติ โครงสร้าง องค์ประกอบ เหตุปัจจัยของทุกสิ่ง และการดำเนินไปของกฎแห่งกรรม
.
.
เคล็ดลับที่ 11: พัฒนาใจให้ก้าวทันยุคเพื่อความมั่งคั่งอันเหลือเฟือ
.
เป็นบทสรุปที่ทบทวนเคล็ดลับในข้ออื่นๆ ตั้งแต่เข้าใจตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างมีสติ หมั่นทบทวนอารมณ์ตัวเองอยู่เสมอ และค้นหาคุณค่าในตัวเองที่สามารถส่งต่อให้ผู้อื่นและสังคมได้
.
.
โดยรวมแล้วหนังสือมีความเป็นวิชาการมากระดับหนึ่ง แต่สามารถแสดงการเชื่อมโยงหลักพุทธจิตวิทยาและหลักการทางพุทธศาสนากับการดำเนินชีวิตในยุค New Normal ได้ดีมากครับ
.
.
.
.
.
…………………………………………………………………………………………
ผู้เขียน: พรรณทิพา ชเนศร์
สำนักพิมพ์: ไรเตอร์โซล
หมวดหมู่: จิตวิทยา การพัฒนาตัวเอง,
จำนวนหน้า: 248 หน้า
เดือนปีที่พิมพ์: 2021
…………………………………………………………………………………………
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่:
.
.
Comments