top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิวหนังสือ โจนาทาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล

Updated: Jul 13, 2020


รีวิวหนังสือ โจนาทาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล

(Jonathan Livingston Seagull)

.

.

ยอมรับว่าหลังอ่านนิยาย โจนาทาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล จบก็ค้นพบว่าเป็นนิยายที่อ่านง่ายแต่แฝงความหมายไว้อย่างลึกซึ้งมาก การตีความของหนังสือเล่มนี้เป็นไปได้ทั้ง

- การตีความทางศาสนา ซึ่งหนังสือนำเสนอแก่นของศาสนาหลายศาสนา ทั้งเรื่องการเป็นอิสระ การหลุดพ้น นิพพาน และเรื่องความเชื่อของการที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นพระเจ้า ได้อย่างน่าสนใจและลึกซึ้งมาก

- การตีความในเชิงการเมือง เรื่องของคนที่โดนขับไล่จากสังคมเนื่องจากการคิดต่าง การยึดมั่นในกฎระเบียบที่สืบทอดกันมา ความศรัทธาต่อผู้ยิ่งใหญ่ หนังสือสะท้อนออกมาได้ชัดเจนและยังคงเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน

- การตีความในเชิงการพัฒนาตัวเอง การหลุดออกจากกรอบความคิดที่ถูกตีไว้ การหมั่นฝึกฝนพยายามที่จะก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดที่ถูกสร้างไว้จากคนอื่น และการร่วมแบ่งปันความรู้ต่อคนอื่นๆเพื่อให้ตัวเองได้พัฒนาต่อไปอีก

.

.

ตอนแรกที่ผมอ่านแอบมีความคาดหวังว่าจะเหมือน Animal Farm ที่เล่าเรื่องผ่านตัวละครสัตว์ทั้งหลาย และมีจุดหักมุมชวนเซอร์ไพร๊ส แต่พออ่านจบแล้ว ก็รู้สึกว่าเล่มนี้ไม่ได้มีเรื่องราวที่น่าติดตามและหักมุมไปมาเหมือน Animal Farm แต่นกนางนวลเน้นการสะท้อนความคิดเชิงเสียเสีนดสีสังคมและศาสนาออกมาในหลายมุมมากกว่า

.

.

[เนื้อเรื่องโดยย่อนะครับ]

.

เนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็น 4 บทสั้นๆ โดยเล่าเรื่องราวของนกนางนวล โจนาทาน ผู้ซึ่งตั้งคำถามกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบของฝูงนกนางนวลที่สืบทอดรุ่นต่อรุ่นกันมาเนิ่นนาน ว่านกนางนวลเกิดมาเพื่อจับปลาหาอาหารเท่านั้น ไม่ได้เกิดมาเพื่อการบินเล่น

.

แต่สำหรับโจนาทาน เขาเชื่อว่าเขาเกิดมาเพื่อการฝึกบิน เขาไม่สนใจออกไปหาอาหารกับฝูง แต่ใช้เวลาวันแล้ววันเล่าไปกับการฝึกบิน ฝึกร่อนลงมาจากที่สูงด้วยความเร็ว เขาอยากบินเร็ว เขาอยากบินในท่าแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เขาไม่กลัวที่จะพลาด เขาไม่กลัวที่จะหิวเพราะไม่ได้หาอาหาร เขาไม่กลัวที่จะแตกต่างจากคนอื่น แต่เขากลัวที่จะไม่ได้ฝึกบิน

.

จนสุดท้ายแล้ว ด้วยความที่ชอบแหกกฎอยู่เรื่อย โจนาทานก็ถูกบรรดานกนางนวลที่เคร่งกฎของฝูง ไล่ออกจากฝูงไป แต่เขาไม่สน โจนาทานรู้ตัวเองดีว่า เขาก็ยังคงฝึกบินต่อไปเรื่อยๆได้ เขาบินได้ด้วยความเร็วที่มากขึ้น บินด้วยท่าที่ประหลาดแปลกใหม่แต่มีประสิทธิมากขึ้น แม้ร่างกายของโจนาทานจะเหมือนนกตัวอื่นๆ และไม่ได้ถูกออกแบบมาเหมือนนกเหยี่ยวที่มีสรีระทั้งการองศาการกางปีก ขนาดปีก หรือสัดส่วนของหัวและจะงอยปากที่เหมาะสมกับการทำความเร็วในการร่อนผ่าเวหามากกว่า

.

จนวันนึงโจนาทานก็ได้ไปพบกับดินแดนที่มีแต่นกที่ชอบการบินเหมือนกันทั้งสิ้น ดินแดนนี้เหมือนเป็นดินแดนลับที่ไม่ได้อยู่บนโลกเหมือนที่อยู่ของฝูงนกนางนวลตัวอื่นๆ คล้ายเป็นดินแดนสวรรค์ เขาได้พบกับเพื่อนหลายคน และไปฝึกบินอยู่ที่ดินแดนแห่งนี้สักพัก

.

สิ่งที่น่าแปลกก็คือ โจนาทานตัดสินใจที่จะบินกลับมายังบ้านเกิดของเขา และตัดสินใจที่จะเป็นผู้นำฝึกนกตัวใหม่ๆของฝูงที่เริ่มมีการคิดนอกกรอบ แหกกฎไปฝึกบินเหมือนกัน หลังจากเห็นโจนาทานประสบความสำเร็จในการบินอย่างล้นหลา นี่ทำให้เกิดนกรุ่นใหม่ๆหลายตัวที่บินทำความเร็วได้ใกล้เคียงกับโจนาทาน ฝูงนกจึงเหมือนแตกออกเป็นสองฝั่งคือ พวกนกที่มาฝึกบินกับฝูงนกที่ยังประพฤติตัวเหมือนเดิม

.

หลังจากนั้นพอเข้าสู่ ภาคที่ 3-4 นกกลุ่มที่เคยอยากมาฝึกบินกับโจนาทานก็เริ่มลดลง และโจนาทานเองก็ตัดสินใจที่จะกลับไปยังดินแดนสวรรค์และส่งมอบอาชีพการสอนบินให้กับลูกศิษย์คนหนึ่งต่อไป ซึ่งพอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เรื่องราวของนกนางนวลโจนาทานและการบินด้วยความเร็วสูงก็เริ่มเลือนลางหายไปจากความทรงจำของเหล่าฝูงนกรุ่นใหม่ ครูฝึกบินก็อำลาจากฝูงนกไป เหลือเพียงแต่ตำนานสุดมหัศจรรย์ที่เล่าขานกันรุ่นสู่รุ่นว่า นกนางนวลโจนาทานสามารถบินร่อนลงมาจากท้องฟ้าสู่ผืนน้ำเหนือท้องทะเลได้ด้วยความเร็วสูงมาก ช่างเป็นเรื่องราวที่อัศจรรย์และน่าพิศวง เสียดายแค่นกรุ่นใหม่ทุกตัวเชื่อว่า นั่นเป็นเพียงตำนานอภินิหาร ไม่มีใครรู้ว่า อะไรคือความจริงที่เคยเกิดขึ้น

.

.

ผมคาดว่าหลังอ่านจบ แต่ละคนที่อ่านคงจะตีความหนังสือเล่มนี้ออกมาได้แตกต่างกัน แล้วแต่ประสบการณ์และความเชื่อของตัวเอง

.

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเพจ หลังอ่าน รีวิวหนังสือ เน้นเนื้อหาเชิงพัฒนาตัวเองเป็นหลัก ผมจึงอยากนำเสนอข้อคิดที่ได้หลังอ่านหนังสือ นกนางนวล แต่ในมุมของการนำไปพัฒนาตัวเองนะครับ

.

.

5 ข้อที่ได้หลังอ่านหนังสือ โจนาทาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล

.

1) จงอย่ายึดติดกับกรอบที่ตัวเองสร้างขึ้น

.

กรอบเหล่านี้แม้บางครั้งเราอาจได้รับมากจากคนรอบข้าง คนใกล้ตัวคนอื่นๆ หรือสังคม แต่สุดท้ายคนที่ตีกรอบว่าจะทำได้ทำไม่ได้ก็คือตัวเราเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากเก่งขึ้น อยากดีขึ้น เราต้องทำลายกรอบนั้นทิ้งไปซะ แล้วลงมือทำสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อว่าทำไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว ทำได้หรือทำไม่ได้นั้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสรีระร่างกายที่เราถูกสร้างขึ้นมา แต่ขึ้นกับกรอบที่เราตีขึ้นมาเองต่างหาก

.

โจนาทานเป็นตัวอย่างของนกนางนวลที่ออกนอกกรอบความคิดของเหล่านกนางนวลส่วนใหญ่ที่ล้วนเชื่อว่า นกนางนวลเกิดมาเพื่อจับปลา ไม่ได้เกิดมาเพื่อบินเร็ว เพราะฉะนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะไปฝึกบินเร็ว เพราะไม่ว่าจะฝึกยังไงก็คงจะบินไม่ได้เร็วไปกว่าเดิมที่ทำอยู่หรอก

.

โจนาทานสามสารถพิสูจน์ไปแล้วว่า การจะเริ่มทำอะไรให้สำเร็จ ต้องเริ่มจากการหลุดออกจากกรอบแนวคิดข้างต้นก่อน แล้วจึงลงมือฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองสู่สิ่งที่เคยเชื่อว่าทำไม่ได้

.

2) จงรักในสิ่งที่ทำ และจะทำมันได้ดี

แม้หนังสือจะไม่ได้สะท้อนออกมาโดยตรงแต่จะเห็นได้ชัดเจนว่า องค์ประกอบหนึ่งที่โจนาทานมีคือ การรักในการบิน การร่อนด้วยความเร็ว เขาฝึกบินทุกวันไม่ใช่เพราะว่าใครบังคับให้ทำ แต่เพราะว่าเขาชอบ เขารู้สึกสนุกกับมัน เขาตื่นเต้นทุกครั้งที่ร่อนลงมาจากท้องฟ้าสู่ผิวน้ำทะเลด้วยความเร็วที่มากขึ้น และสามารถควบคุมการหยุดของตัวเองไว้ได้

.

การรักในสิ่งที่ทำจึงเป็นเหมือนแรงผลักดันที่จะทำให้เราออกไปทำสิ่งซ้ำๆเดิมในทุกๆวันได้ และมันยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้เราเก่งขึ้น ทำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น และมีความสุขกับการลงมือทำสิ่งๆนั้นมากขึ้นอีกด้วย

.

.

3) แบ่งปันสิ่งที่ตัวเองมีให้ผู้อื่น เพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งขึ้น

.

เป็นอีกข้อที่หนังสือไม่ได้สะท้อนออกมาตรงๆ แต่การที่นกนางนวลโจนาทานเลือกที่จะกลับมาฝึกสอนนกนางนวลรุ่นต่อๆไปให้ฝึกบินด้วยความเร็วสูง หลังจากที่ตัวเองทำได้นั้น เป็นการแบ่งปันเทคนิคดีๆ แบ่งปันเคล็ดลับดีๆออกไป เพื่อให้คนอื่นประสบความสำเร็จใจการบินเร็วได้แบบโจนาทาน

.

โจนาทานอาจเลือกเก็บสิ่งเหล่านั้นไว้เพียงคนเดียวก็ได้ แต่การแบ่งปันออกไปก็ทำให้โจนาทานได้ผลตอบลัพธ์ดีๆกลับมาสู่ตัวเองด้วย ไม่เพียงแค่เหล่าลูกศิษย์ที่ช่วยพัฒนาเทคนิคการบิน การร่อนให้ดียิ่งขึ้นไป แต่ตัวโจนาทานเองก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น นกในฝูงบางกลุ่มมากฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และให้ความเคารพนับถือ ต่างจากตอนแรกที่โจนานเป็นเพียงแกะดำในฝูงนกเท่านั้น

.

.

4) กล้าที่จะแตกต่าง กล้าที่จะถูกเกลียด

.

ความกล้าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่โจนาทานจำเป็นต้องเอามาใช้ก่อนจะสามารถทำตัวแตกต่างจากฝูงนก จนโดนขับไล่ออกมา จริงอยู่ที่เราอาจไม่สามารถทำตัวเด่น แตกต่างจากคนหมู่มากในสังคม เพื่อทำในสิ่งที่เราต้องการ แต่ในบางครั้งการทำตามคนอื่นๆโดยที่มันขัดต่อใจเรา มันขัดต่อสิ่งที่เรามีหรือสิ่งที่เราเป็นก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

.

ลองคิดดูว่า ถ้าโจนาทานกลัวที่จะแตกต่าง กลัวว่านกตัวอื่นในฝูงจะเกลียดตน เขาก็คงจะทำตัวเหมือนๆนกตัวอื่นที่จับปลา หาอาหารไปเรื่อยๆ ตำนานากรบินเร็วของโจนาทานก็คงจะไม่เกิดขึ้น

.

.

5) ความทุ่มเทเป็นส่วนประกอบสำคัญของความสำเร็จ

.

จะเห็นได้ชัดว่าการจะฝึกบินให้เร็วกว่าที่สรีระของนกนางนวลทั่วไปจะเอื้ออำนวยนั้น ต้องใช้เวลาฝึก ต้องใช้ความอดทน ต้องใช้ความขยันหมั่นเพียรในการออกมาฝึกบินทุกวัน ต้องเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มองหาเทคนิคใหม่ๆที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่โจนาทานทำทุกวันเพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในการบินเร็ว

.

ชีวิตจริงของคนเราก็ไม่ต่างจากนกนางนวลตัวดังกล่าว เราควรจะทุ่มเททั้งเวลา พลังงานและทรัพยากรต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ความอดทนและทุ่มเทเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยไม่ว่าเราจะตั้งเป้าไว้ว่าจะทำอะไรก็ตาม

.

การฝึกเล่นกีฬา การเล่นดนตรีชนิดใหม่เป็นตัวอย่างในชีวิตจริงที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้ชัดเจนมาก เราต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เราต้องทุ่มเททั้งหายและใจกับสิ่งที่ทำ เราถงึจะทำมันออกมาได้ดี ถ้าเราทำมันเพียงแค่วันเดียวหรือล้มเลิกด้วยความรวดเร็ว ก็ดูเหมือนจะยากอยู่ที่เราจะทำสิ่งๆนั้นได้ดี

.

.

โดยรวมแล้วเป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก ภาษาที่ใช้ก็อ่านเข้าใจง่าย ทันต่อยุคสมัย เนื้อหาเองก็เข้ากับยุคสมัยนี้ที่ผู้คนถูกล้อมด้วยการตีกรอบทางความคิด

.

ผมจึงอยากแนะนำว่าหนังสือ นกนางนวลโจนาทานเดินทางสู่อิสรภาพนั้น ดีมาก และคุ้มค่ากับการอ่านแน่นอนครับ

.

.

.

………………………………………………………………………….

✍🏻ผู้เขียน : Richard Bach (ริชาร์ด บาร์ค)

✍🏻ผู้แปล : ชาญวิทย์ เกษตรศิริสำนักพิมพ์:

🏠สำนักพิมพ์ : จินต์, สนพ.

👨🏻📚แนวหนังสือ : นวนิยายเชิงปรัชญา

…………………………………………………………………………..

.

.

📚สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

‪#‎หลังอ่าน‪#‎รีวิวหนังสือ‪#หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #‎reviewหนังสือ#โจนาทานลิฟวิงสตัน #นางนวล #JonathanLivingstonSeagull#RichardBach#ชาญวิทย์เกษตรศิริ#สำนักพิมพ์จินต์#นวนิยายเชิงปรัชญา

.

.


205 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page