top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิวหนังสือ: เถื่อนเจ็ด (The Savage Seven)

Updated: Apr 26, 2020




รีวิวหนังสือ เถื่อนเจ็ด (The Savage Seven) .

. …..หลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวทริปดำน้ำกับเพื่อนในช่วงวันหยุดก่อนสงกราต์ที่ผ่านมา นี่แทบจะเป็นหนังสือเล่มแรกที่หยิบขึ้นมาอ่านหลังจากกลับมาบ้านที่กรุงเทพ การเอาตัวลงไปอยู่ใต้น้ำ 18 เมตรซึ่งเป็นความลึกสูงสุดที่ทำได้สำหรับมือใหม่หัดดำที่มาสมัคร entrance เข้ามาเรียนคอร์ส Open Water เป็นอะไรที่เหมือนการได้ไปเยี่ยมเยียนโลกอีกใบหนึ่ง โลกใบที่เงียบ ได้ยินเพียงเสียงหายใจของตัวเอง โลกใบที่ทุกอย่างเคลื่อนไหวแบบ slow motion จะหันซ้ายหันขวาทียังต้องทำแบบช้าๆเพื่อไม่ให้น้ำหลุดเข้ามาใต้หน้ากาก .

. …..ความรู้สึกหลังจากไปทริปดำน้ำมันคือการได้ลองทำอะไรที่แปลกใหม่ ที่เราไม่เคยทำ ลองในสิ่งเหมือนจะน่ากลัว แต่จริงๆแล้วไม่มีอะไร หากเราหายใจเป็น (แต่จริงๆแล้วก็น่ากลัวอยู่ดีแหละ ถ้าดำลงไปครั้งแรก) หนังสือเถื่อนเจ็ดเล่มนี้ก็เหมือนกัน สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสิรฐกุล พาเราไปเที่ยวเปิดโลกแปลกประหลาดมากมายถึงเจ็ดแห่ง ที่ที่ปกติไม่ค่อยจะมีคนไปกันเท่าไหร่ เพราะบางที่ก็จัดว่าเป็นสถานที่อันตราย ไม่เหมาะกับนักท่องเที่ยว บางที่ก็ฟังจากชื่ออ่านจากประวัติแล้ว ไม่ค่อยจะน่าไปสักเท่าไหร่ แต่ด้วยความกระหายใคร่อยากเรียนรู้โลก ทำให้สิงห์ห้ามใจตัวเองไม่ไหว ต้องไปเหยียบสถานที่เหล่านี้ให้ได้รู้รสชาติ แล้วที่สำคัญคือกลับมาเขียนบันทึกถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยเหล่านี้กลับออกมาเป็นตัวหนังสือให้ผู้อ่านทุกคนได้เพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ของเขาด้วย .

. …… การออกไปผจญภัยทุกครั้งล้วนให้อะไรบางอย่างกลับมาเป็นสิ่งตอบแทน คำพูดนี่ดูจะเป็นจริงที่สุดสำหรับวรรณะสิงห์ เพราะนอกจากประสบการณ์ ความทรงจำ ความประทับใจ พร้อมเรื่องราวที่เอาไว้เล่าต่อได้อีกเป็นชั่วอายุคนแล้ว วรรณสิงห์ยังได้มุมมองต่อชีวิต มุมมองต่อสังคม มุมมองต่อวัฒนธรรม และมุมมองต่อความเป็นคนที่แตกต่างออกไปในแต่ละครั้งที่สะพายเป้ backpack และนี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าอ่านมากที่สุด มากไปกว่ารูปถ่ายตลอดเล่ม หรือเรื่องราวของสถานที่แปลกๆที่วรรณสิงห์ไปทิ้งรอยเท้าไว้ซะอีก .

. ...... ตอนผมไปเที่ยว Full Moon Party ที่เกาะพงันผมเคยนึกสงสัยว่า ทำไมคนเหล่านี้ถึงเต้นกันสนุกจัง การเต้นพร้อมกับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนพื้นทรายสีขาวกับท้องฟ้าสีดำ พร้อมแสงจากพระจันทร์ส่องอร่ามสีส้มแบบนี้มันน่าสนุกตรงไหน คิ้วผมขมวดตลอดคืนเพราะต้องการคำตอบ วรรณสิงห์เองก็เจออะไรเช่นนี้เช่นกัน แต่มันไม่ใช่แค่ริมชายหาด 1 ชายหาด แต่มันคือทั้งเมือง เทศกาลการเฉลิมฉลองของคนบราซิลนั้นเต็มที่กว่านี้อีกมาก การจัดขบวน carnival หรือแม้แต่การออกมาเต้นกันกลางถนน พร้อมถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดูเป็นเรื่องธรรมดาในการหาความสุขของคนบราซิล หรือนี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘การใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า’ วรรณสิงห์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ .

. ...... อินเดียเป็นประเทศที่นอกจากจะโด่งดังในความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่น แตกต่างจากที่อื่น วรรณสิงห์ยังได้สังเกตอีกว่าอินเดียเป็นประเทศที่แสดงออกถึง ‘ความจริง’ มากที่สุด เมืองพาราณสีที่วรรณสิงห์ไปเยี่ยมเยียนเพื่อถ่ายทำสารคดีนั้น คน ‘ขี้’ อยู่ในทุกหนทุกแห่งของเมือง แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ แม่น้ำคงคาที่เป็นเหมือนหัวใจหล่อเลี้ยงตัวเมืองนั้น เราสามารถพบกิจกรรมทั่วๆไปของคนในเมืองได้ที่นี่ ตั้งแต่การใช้ห้องน้ำ การอาบน้ำ การแต่งงาน จนกระทั่งไปถึงการเผาศพ ช่างเป็นภาพความจริงของชีวิตที่ถ้าไม่ใช่อินเดียก็คงไม่มีทางที่จะได้เห็นเรื่องแบบนี้ตามท้องถนน .

. ….. พูดถึงเรื่องของสถานที่ที่กาลเวลาหยุดนิ่ง เชอร์โนบิลดูจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับคำคำนี้มากที่สุด เพราะว่าตั้งแต่เกิดการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อปี ค.ศ. 1986 เมืองทั้งเมืองก็กลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไปเพราะกัมตภาพรังสีที่ยังคงแผ่ปกคลุมบริเวณรอบเมืองเป็นรัศมีหลายกิโลเมตร ณ ปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านมานานแล้ว แต่ว่าวรรณสิงห์และคณะก็ยังคงต้องใส่หน้ากากป้องกันกัมตภาพรังสี พร้อมเครื่องตรวจวัดที่คอยตรวจดูว่าจุดไหนที่มีกัมตภาพรังสีเยอะๆ จะได้เลี่ยง นึกแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ PM2.5 ในภาคเหนือ หรือในกทม.ที่ผ่านๆมาเลยครับ ใส่หน้ากากกันมิดชิด และคอยเอาแอพมือถือขึ้นมานั่งเช็คค่า AQI กลับมาที่คำว่าเมืองที่กาลเวลาหยุดนิ่งนะครับ สิ่งที่วรรณสิงห์สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนที่สุดจากเมืองนี้คือ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ เมืองนี้ก็ยังคงอยู่ในสภาพนี้ไปเรื่อยๆ มันจะต่างจากสถานที่อื่นๆที่เมื่อเราไปเยี่ยมเยียนด้วยระยะเวลาที่ห่างกันสัก 10 ปี เราจะเห็นความแตกต่างของเมืองนั้นมาก เจริญขั้น มีตึกสูงมากขึ้น มีความทันสมัยขึ้น คนที่มาเที่ยวกรุงเทพก็คงจะบอกแบบเดียวกัน แต่มันไม่ใช่กับเมืองที่ชื่อว่าเชอร์โนบิลครับ .

.

. ….. เรื่องของ ‘ความถูกต้อง’ ก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ไม่ได้มีอยู่แค่ในอิหร่าน แต่มันคือประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่างๆมากมายตามมาทั่วทั้งโลก การมาเยือนอิหร่านของวรรณสิงห์ทำให้เขาได้เห็นถึงความเคร่งในศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ของคนในประเทศนี้อย่างมาก ตั้งแต่เรื่องของการแต่งกายที่ผู้หญิงต้องใส่ผ้าคลุมปิดไปทั้งตัว เหลือไว้ให้เห็นแค่ใบหน้า การทำพิธีต่างๆที่มีกฎระเบียบข้อบังคับอย่างชัดเจน จนไปถึงการแสดงออกทางความคิดที่คนทุกคนในประเทศนี้เห็นไปในทางเดียวกันว่า พระเจ้าคือสิ่งศักดิ์สิทธิที่ช่วยนำทางชีวิตของพวกเขา คนที่เคยเรียนมาแต่หลักคำสอนของศาสนาพุทธอย่างวรรณสิงห์เลยเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า แท้จริงแล้วอะไรคือความถูกต้อง การถูกสอนให้คิด ตั้งคำถาม หาเหตุผลให้กับทุกๆอย่างแบบในศาสนาพุทธ หรือว่าการที่เราดำเนินชีวิตตามแบบคำสอนของพระอัลเลาะห์ และใช้ชีวิตโดยมุ่งไปสู่อะไรที่ยิ่งใหญ่ตัวเรามากอย่างการได้ไปอยู่กับพระเจ้า วรรณสิงห์ชวนเปิดประเด็นคำถามสำคัญตรงนี้ ว่าอะไรกันแน่คือ ความถูกต้อง พอโยงกลับมาที่การบ้านการเมืองในประเทศเรายิ่งเห็นผลชัดเจนว่า คนเรามีความคิดที่ขัดแย้งกันจริงๆ เราต่างไม่รู้ว่าอะไรกันแน่คือความถูกต้องที่แท้จริง แต่ทุกคนก็มีหลักที่ยึดความถูกต้องของตัวเอง หลายๆคนจึงแสดงออกทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่อย่างน้อยประเทศเราก็ยังแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้ได้ (แล้วนี่มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องรึเปล่า) .

. ….. มากันถึงเรื่องของ ‘ความขัดแย้ง’ ที่เกิดขึ้นที่รวันดา ประเทศในทวีปแอฟริกา ที่เคยเกิดสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้ว ความสูญเสียนั้นใหญ่หลวง และทิ้งอนุสรณ์ร่องรอยแห่งความบาดหมางไว้ให้เห็นเป็นหัวกระโหลกและเศษซากกระดูกมากมายของคนที่ถูกฆ่าตาย ตัวผมเองก็เคยไปดูสถานที่ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้นั่นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง ที่ประเทศกัมพูชาใกล้ๆเรานี่เอง การได้ไปดูทุ่งสังหาร และตวลสแลงที่พนมเปญ ทำให้ผมเห็นกลิ่นอายของความเหี้ยมโหด ทารุณที่คนฆ่าแกงกันไม่ต่างอะไรกับที่วรรณสิงห์ได้ไปเจอมา และคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในใจก็คือ อะไรกันคือสาเหตุที่ทำให้คนเราเกลียดกันได้ถึงเพียงนี้ .

. .... ยอดเขาสูงหิมาลัย เป้าหมายที่หลายๆคนบนโลกอยากจะพิชิต เป็นอีกที่ที่ทำให้วรรณสิงห์เดินทางไปเพื่อทำความเข้าใจกับการตั้งเป้าหมายของคนเหล่านี้ ทำไมคนเราถึงพยายามมากมายขนาดนั้นเพื่อการเดินขึ้นเขาหลายกิโลเมตรในสภาพที่หนาวเหน็บ เพื่อแค่เอาธงไปปักบนยอดแหลมๆของภูเขา วันก่อนผมเองก็ได้ดูคลิปของสถิติโลกนักดำน้ำทั้งแบบ Scuba Diving และแบบ Free Diving สำหรับ Scuba นี่สถิติโลกที่บันทึกไว้คือการดำลึกลงไปกว่า 300 เมตร เขาต้องแบกถึงออกซิเจนไว้บนหลังถึงหกถึง พร้อมกันการลงแบบพรวดเดียวให้ได้ลึกที่สุด ไม่อยากจะคิดถึงการปรับสมดุลความดันในหูว่าเขาปรับทันได้ยังไง แบบ Free Diving เองสถิติโลกก็คือคนดำลึกลงไปได้กว่า 100 เมตร ด้วยการกลั้นหายใจครั้งเดียว ก็สงสัยว่าเขาทำไปเพื่ออะไร คนพวกนี้อาจตายใต้น้ำได้เลยนะ แต่นี่ก็คือสิ่งที่วรรณสิงห์สงสัยและพยายามหาคำตอบให้กับการตั้งเป้าหมายเพื่อที่จะพิชิตอะไรสักอย่างของคนเหล่านี้ แน่นอนว่า คงยังไม่มีคำตอบอะไรมาตอบตัววรรณสิงห์เอง หรือผู้อ่านได้ง่ายๆ นอกเสียจากว่าเราต้องไปค้นพบเป้าหมายของตัวเองเสียก่อน แล้วเราอาจจะเข้าใจคนเหล่านั้นได้ดีขึ้น .

. …… เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องความเวิ้งว้างของทะเลทราย ความเหงา และความรัก ผมคงไม่มีอะไรจะเขียนมากนอกจากอยากให้นักอ่านทุกคนลองไปหาเล่มนี้มาอ่านด้วยตัวเอง จัดว่าเป็นหนังสือที่ผมชอบมากอีกเล่มหนึ่ง อ่านแล้วรู้สึกได้คิดตามประเด็นต่างๆไปตลอดเล่ม และยังเกิด motivation ในการที่จะออกไปค้นหาโลกใบนี้เพิ่มเติมอีกด้วย อ่านจบก็นึกสะท้อนถึงการผจญภัยของตัวเองที่ผ่านๆมา - ไปดำน้ำชมปะการังใต้ทะเลสวยสดใสด้วยความรู้สึกกลัวการจมน้ำชนิดที่ทำให้ใจสั่นที่เกาะเต่า - ไปนั่งทำหน้างงอยู่ท่ามกลางคนที่เต้นรำ ร้องเพลง และดื่มเครื่องดื่มแห่งความสุขที่ Full Moon Party เกาะพงัน - ไปขึ้นขี่มอเตอร์ไซค์เล่นเป็นครั้งในชีวิตที่เมือง Dalat เวียดนาม โดยที่ไม่มีใบขับขี่ และไม่เคยขี่มอเตอร์ไซค์มาก่อน - ไปเดินคนเดียวแบบอินดี้ๆ ดูโศกอนาฎกรรมของโลกที่ ทุ่งสังหาร (Killing Field) และตวลสแลงที่พนมเปญ เขมร - ทิ้งของไว้ในรถกับคนขับรถจีนท้องถิ่น แล้วไปปีนบันไดลิงขึ้นจากเขาเสี่ยงตายกับเพื่อนที่หุบเขาเสือกระโจน มณฑล Yunnan ประเทศจีน - ไปขึ้นรถขนหมูชมพระธาตุอินทร์แขวนในวันที่ฝนตกโครมครามกับครอบครัว ที่พม่า - ไปขึ้นกระเช้าข้ามทะเลสาบสุดโรแมนติคกับแฟน แบบให้ได้ใกล้ชิดกับพระจันทร์มากที่สุดที่ Sunmoon Lake ไต้หวัน - ไปดูทะเลสาบเปลี่ยนสีจากสีฟ้าจืดๆ เป็นสีชมพูแบบโคตรหวาน ในวันที่รู้สึกเหงาที่สุดของชีวิตการเป็นนักเรียนนอก ที่ Melbourne ออสเตรเลีย และยังมีอีกหลายสถานที่ที่ให้ความทรงจำดีๆ แต่นี่เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น การผจญภัยในอีกหลายๆสถานที่ยังคงรอผมและทุกๆคนอยู่ ถ้าเราพร้อมที่จะออกไป . . . …………………………………………………………………………. ผู้เขียน : วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล สำนักพิมพ์ : A Book แนวหนังสือ : สารคดี, เรื่องสั้น, ไดอารี่, ท่องเที่ยว ………………………………………………………………………….. . . . ‪#‎หลังอ่าน‬‬‬‬ ‪#‎รีวิวหนังสือ‬‬‬‬ ‪#หนังสือ2019 #หนังสือ2562 #‎reviewหนังสือ‬‬‬‬ #เถื่อนเจ็ด #abook วรรณสิงห์ประเสริฐกุล #สิงห์ #หนังสือสารคดี #สารคดี #ไดอารี่ #ท่องเที่ยว #หนังสือท่องเที่ยว #พื้นที่ชีวิต #เถื่อนtravel


74 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page