รีวิวหนังสือ อิคิไก: ความหมายของการมีชีวิตอยู่ (The Little Book of Ikigai) .
.
. ….. อาจจะต้องทำให้ลูกเพจตกใจนิดหน่อยนะครับ ที่จะบอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนอะไรเกี่ยวกับแผนภาพวงกลมสี่วงที่เป็นส่วนประกอบของ ‘Ikigai’ ที่เรามักจะเห็นตามโพสต์บน Facebook หรือเห็นตามที่แชร์กันมาในกรุ๊ปไลน์ จะเจอวงกลมสี่วงนี้ก็แต่ในหน้าคำนำผู้แปลเท่านั้น ซึ่งอิคิไกตามที่เราเข้าใจกันนั้นหมายถึง จุดตัดของวงกลมทั้งสี่ สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราถนัด สิ่งที่สามารถทำเงินได้ และสิ่งที่โลกต้องการ . …… หนังสือเล่มนี้มีวิธีในการอธิบายคำว่า Ikigai ในแบบที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นแบบญี่ปุ่นแท้ก็ว่าได้ เพราะเป็นการอธิบายที่ผสมผสานกลิ่นไอของความเป็นญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้ ตัวอย่างต่างๆที่ยกขึ้นมาภายในเล่มคือวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นที่มีมาแต่เดิมหลายร้อย หลายพันปีที่ถูกผสมผสานกลมกลืนไปกับโลกที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งผมยอมรับว่า หนังสือเล่มนี้ใช้การอธิบายที่เรียบง่าย แต่ลึกซึ้ง คือสามารถอ่านผ่านๆแบบหนังสืออ่านเล่นทั่วไปได้ แต่การตีความหมายนั้นเป็นอีกเรื่อง ผู้อ่านแต่ละคนก็คงจะตีความหมายที่แตกต่างกันออกไป เพราะเรื่องมันช่างเรียบง่ายเหลือเกิน บางคนอ่านแล้วอาจจะรู้สึกชอบในความลึกซึ้งของอิคิไก . ...... ในภาษาญี่ปุ่น ‘อิคิ’ แปลว่า ชีวิต และ ‘ไก’ แปลว่า เหตุผล อิคิไก จึงเป็นคำสั้นๆแปลความหมายได้ว่าการใช้ชีวิตอย่างมีความหาย หรือเหตุผลในการใช้ชีวิตของคนเรา สิ่งสำคัญที่สุดที่หนังสือเล่มนี้พยายามย้ำบอกคนอ่านอยู่หลายรอบคือ คนเราทุกคนสามารถมีอิคิไกได้โดยไม่ต้องประสบความสำเร็จ เราแค่ต้องควานหาความหมายของสิ่งที่เราทำอยู่จนเจอ . ...... เป็นที่น่าทึ่งมากว่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับอิคิไก ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ. 2008 ชื่องานวิจัยว่า ‘Sense of Life Worth Living (ikigai) and Mortality in Japan’ : Ohsaki Study, Sone et al.’ จัดทำโดยนักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยโทโฮคุ งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์คือ ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างอิคิไกและประโยชน์ต่อสุขภาพ วิธีวิจัยคือส่งแบบสอบถาม 54,996 ชุดไปยังกลุ่มตัวอย่าง โดยในแต่ละชุดมี 93 ข้อ ถามเกี่ยวกับสุขภาพ ครอบครัว การศึกษา และปัจจัยอื่นๆ และอีกหนึ่งคำถามที่ถามว่าคุณมี ikigai ในชีวิตหรือไม่ ให้เลือกว่ามี ไม่แน่ใจ หรือไม่มี . …..ผลปรากฏว่า คนที่มีอิคิไกจะอยู่อย่างมีความสุขและกระฉับกระเฉงมากกว่าคนที่จอบว่าไม่มี และที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มคนที่ตอบว่ามีอิคิไกมี ‘อัตราการเสียชีวิต’ ต่ำกว่ากลุ่มคนที่ตอบว่าไม่มีอย่างมีนัยสำคัญ นี่อาจเพราะว่าคนที่มีอิคิไกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับกับหลอดเลือดและหัวใจน้อยกว่า การมีอายุยืนยาวของคนที่มีอิคิไกในญี่ปุ่นนั้นสามารถสะท้อนได้จากอายุเฉลี่ยของคนในประเทศญี่ปุ่นนั่นก็คือ ผู้ชายญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 80.79 ปี ในขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ 87.05 ปี . ….. ตลอดเล่มก็จะเจอตัวอย่างของคนมากหมายหลายอาชีพที่ผู้เขียนบอกว่าพวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่มีอิคิไกในการใช้ชีวิต พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบมากมาย บางคนก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือในชีวิตระดับหนึ่งแล้ว บางคนกลายเป็น top10 ของสายอาชีพ ในขณะที่บางคนก็ยังทำงานของตนไปเรื่อยๆโดยเทียบแล้วดูช่างห่างไกลกับคำว่าสำเร็จที่พวกเขาตั้งเป้าไว้เหลือเกิน แต่พวกเขาก็ยังจัดว่ามีอิคิไก อย่างที่บอกเลยครับหนังสือมันช่างเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง .
.
.
. ….. หลักในการพิจารณาถึงการมีอิคิไกในการใช้ชีวิต ผู้เขียนเคนโมงิ ผู้ซึ่งประกอบอาชีพนักประสาทวิทยา ได้ระบุไว้ว่า อิคิไกนั้นมีเสาหลักอยู่ 5 ประการ ได้แก่ ประการแรก: การเริ่มต้นเล็กๆ ประการที่สอง: การปลดปล่อยตัวเอง ประการที่สาม: ความสอดคล้องและยั่งยืน ประการที่สี่: ความสุขกับสิ่งเล็กๆ ประการที่ห้า: การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ . .... ลองมาดูการพิจารณาการมีอิคิไกในการใช้ชีวิตของพ่อค้าซูชิ จิโร่ โอโนะ กันนะครับ พ่อค้าซูชิผู้ต้องตื่นตั้งแต่ตีสองเพื่อไปเลือกซื้อปลาในตลาดสดทุกวัน (ถ้าตื่นสาย ปลาเนื้อดีจะถูกซื้อไปจนหมดแล้ว) เขาเลือกเนื้อปลาด้วยความละเมียดละไม เพื่อให้ซูชิที่ปั้นออกมาทุกคำมีคุณภาพและถูกเติมเต็มด้วยจิตวิญญาณของเขา แต่ละขั้นตอนในการหั่นปลา แล่เนื้อปลา และปั้นข้าวปั้นซูชิหน้าปลาต่างๆนั้น ต้องทำอย่างพิถีพิถัน จนแม้กระทั่งการนำไปเสิร์ฟลูกค้าที่มานั่งในร้านก็ต้องตั้งใจเสิร์ฟอย่างดีที่สุด สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ เขาทำอย่างนี้ทุกวัน และทำอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว ดูเหมือนว่าพ่อค้าซูชิคนนี้จะได้ ‘เริ่มต้นสิ่งเล็กๆ’ มาจากความชอบในการทำซูชิของเขา เขาได้ ‘ปลดปล่อยตัวเอง’ คือไม่ยึดติดว่าเขาเป็นใครมาก่อน เขาคิดแค่ว่าตอนนี้มีหน้าที่ในการทำซูชิก็ทำไป การปั้นซูชิของเขามี ‘ความสอดคล้องและยั่งยืน’ กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซูชิของเขามีคุณค่าทั้งในเชิงความอร่อยและเชิงสุขภาพ (รึเปล่า!) แน่นอนว่าพ่อค้าซูชิคนนี้เขามี ‘ความสุขกับสิ่งเล็กๆ’ นั่นคือการปั้นซูชิที่อยู่ตรงหน้าเขา และเขาอยู่กับปัจจุบัน ‘การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้’ หรือที่หนังสือหลายๆเล่มเรียกมันว่า เขาอยู่ใน ‘สภาวะลื่นไหล หรือ Flow’ คือเขาจะถูกตัดขาดจากสิ่งรบกวนต่างๆของโลกภายนอก และใจจดใจจ่อมีสมาธิอยู่กับการปั้นซูชิตรงหน้าเพียงอย่างเดียว . ....ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนมาก พ่อค้าซูชิคนนี้ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะมีคนดังระดับโลกมาเยี่ยมเยียนเขา เขาเพียงแต่รู้สึก happy กับชีวิตทุกๆวันของเขา แต่แล้ววันหนึ่งอดีตประธนาธิปดีของสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา ก็มาเยี่ยมเยียนร้านซูชิแห่งนี้ และสิ่งที่เขาทำมันก็แค่การทำเหมือนที่เขาทำแบบเดิมที่เขาทำอยู่ทุกวัน ไปซื้อปลาในตลาด หั่นเนื้อปลา ปั้นข้าวปั้น แค่นั้นเอง . … อ้อ ลืมบอกไปครับว่า โอบามาถึงขนาดเอ่ยชมว่า ซูชิร้านของจิโร่ เป็นซูชิที่อร่อยที่สุดตั้งแต่เขาเคยทานมา . …. เรื่องราวอีกมายมายในการหนังสือยังแสดงถึงเสาหลักทั้ง 5 ของอิคิไกแบบชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระเซนที่ต้องปลดปล่อยตัวจนอย่างแท้จริงเมื่อเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัด ร้านผลไม้ญี่ปุ่นที่คุณภาพสูงพร้อมกับราคาที่สูงลิ่วตามอย่าง ‘แตงมัสก์เมลอน’ ที่ยังคงขายดิบขายดีมาตลอด ไปจนถึงนักซูโม่ อาชีพนักกีฬาสุดหิน ที่มีเพียงคนที่อยู่ใน top10 ของเหล่านักกีฬาประเภทนี้เท่านั้นที่จะทำรายได้จนสามารถมีชีวิตที่ดีได้ แต่หนังสือก็อธิบายไว้ว่า ไม่ต้องเป็นพวก ‘Yokozuna’ หรือพวกเหล่าซูโม่เทพๆ นักซูโม่เองก็สามารถที่จะมีอิคิไกได้ . …. อีกเรื่องที่อยากจะเขียนแชร์คือเรื่องของ ‘โคดาวาริ’ ที่ถ้าใช้คำแปลที่ใกล้เคียงที่สุดในภาษอังกฤษคือคำว่า ‘commitment’ และ ‘insistence’ หรือ ภาษาไทยคือคำว่า ‘คำมั่น’ และ ‘คำยืนยัน’ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องของมาตรฐานสินค้าและบริการระดับสูงอยู่เสมอ นั่นอาจะเป็นเพราะว่าคนญี่ปุ่นตั้งมั่นอยู่เสมอๆว่าต้องทำอะไรให้เต็มที่ ต้องใส่ใจในงานที่ทำ ทำมันออกมาอย่างดีที่สุด หรือพูดง่ายๆคือเติมจิตวิญญาณของตัวเองลงไปในงานที่ทำ นักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้าไปเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นสามารถสังเกตเห็นเรื่องเหล่านี้ได้ชัดมาก โคดาวาริเองก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตที่มีอิคิไกของคนญี่ปุ่น อีกมุมหนึ่งนั้น การมีโคดาวาริของคนญี่ปุ่นคือการมีเป้าหมายในการสร้างสินค้าและบริการที่อยู่เหนือความคาดหวังของตลาดมากๆ จึงอาจเรียกได้ว่า ‘Steve Jobs’ เองก็มีโคดาวารินะ . ….. เรื่องสุดท้ายที่น่าสนใจคือเรื่องของความเชื่อที่หลากหลายมากมายของคนญี่ปุ่น ที่เรียกว่าคนญี่ปุ่นมี ‘เทพเจ้าแปดล้านองค์’ คือมีความเชื่อที่มากมายหลากหลายแตกต่างกันมาก แต่คนญี่ปุ่นก็สามารถที่จะมีความสอดคล้องกลมกลืน หลอมรวมเป็นหนึ่ง และยังรักษาความเป็นปัจเจกบุคคลไว้ได้อย่างเหลือเชื่อ คือถ้ามองจากมุมคนนอก คนญี่ปุ่นดูเหมือนจะมีความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันอย่างมาก แต่แท้จริงแล้วนั้น ถ้าเราได้รู้จักคนญี่ปุ่นจริงๆ หนังสือเขียนว่าแต่ละคนนั้นมีความเป็นปัจเจกบุคคล หรือมีความเชื่อและมีวิถีในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคนอย่างมาก แต่เพราะทุกคนมีอิคิไก สังคมญี่ปุ่นจึงถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีความสอดคล้องและเป็นสังคมที่ยั่งยืน . ….. ก็ขอปิดท้ายสั้นๆว่า หนังสือค่อนข้างแทรกวัฒนธรรมและประเพณีของญี่ปุ่นเข้าไปเยอะมาก ถ้าใครไม่ค่อยชอบเรื่องวัฒนธรรมหรือเรื่องรายะละเอียดพวกนี้ก็อาจจะอ่านแล้วเบื่อได้ มันอาจจะไม่ใช่หนังสือสร้างแรงบันดาลใจ หรือหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกกระตุ้นว่า พรุ่งนี้ตื่นเช้าขึ้นมา ฉันจะต้องเข้าใจว่าฉันมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร แต่มันเป็นหนังสือที่นำเสนอการมีอิคิไกในอีกแง่หนึ่ง และนี่เป็นหนังสือที่อาจทำให้เราเข้าใจถึงคำว่าอิคิไก หรือการใช้ชีวิตแบบมีความหมายอย่างแท้จริงจริงๆก็ได้ . . . …………………………………………………………………………. ผู้เขียน: Ken Mogi ผู้แปล: วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ สำนักพิมพ์: Move Publishing แนวหนังสือ : ปรัชญา, จิตวิทยา ………………………………………………………………………….. . .
สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่
. . #หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #อิคิไกความหมายของการมีชีวิตอยู่ #TheLittleBookofIkigai
Comments