รีวิว ลุกกะ วิถีความสุขจากทุกมุมโลก
The Little Book of Lykke: The Danish search for the world’s happiest people
.
‘ความเป็นหนึ่งเดียวกัน’ ‘เงิน’ ‘สุขภาพ’ ‘เสรีภาพ’ ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ และ ‘น้ำใจ’ ปัจจัย 6 ข้อที่เป็นองค์ประกอบของการมีชีวิตที่อยู่ดีมีสุข
ว่ากันไปแล้วก็อาจจะเป็นเหมือนกับ การตามหาอัญมณี (infinity stone) ทั้ง 6 ของธานอส ในหนัง The Avenger
ที่ถ้าพบสิ่งเหล่านี้แล้ว ขอเพียงแค่ดีดนิ้ว ชีวิตก็จะพบกับความสุขชั่วนิรันดร์ จริงรึเปล่า?
.
นักเขียนชาวเดนมาร์ก Meik Wiking ผู้ซึ่งอุทิศชีวิตให้กับ ‘การทำวิจัยเรื่องความสุข’ จากคนทั่วทุกมุมโลก พยายามหาคำตอบของคำถามดังกล่าวผ่านหนังสือเล่มนี้
จริง ๆ แล้วเขาก็เคยมีชีวิตเหมือนกับคนอื่นโดยทั่วไป ทำงานรับเงินเดือน เอาเงินเดือนไปซื้อความสุขในรูปแบบการท่องเที่ยว หรือสิ่งของต่าง ๆ
แต่วันหนึ่ง Meik ก็ค้นพบสิ่งที่ตัวเองต้องการจริง ๆ แล้วก็ออกเดินทางตามหาสิ่ง ๆ นั้น
นั่นก็คือการวิจัยความสุข คุณภาพชีวิต และความอยู่ดีมีสุขจากคนจากทั่วทุกมุมโลก
.
Meik เองยังได้ก่อตั้ง ‘สถาบันวิจัยความสุข (Happiness Research Institute)’ ที่เมืองโคเปนเฮเกน และทำงานเป็นผู้อำนวยการสถาบันนี้อยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้เขายังมีผลงานเขียนหนังสือออกมาสองเล่มคือ เรื่อง ‘ฮุกกะ (Hykke)’ ที่เป็นการเผยแพร่วิถีความสุขของคนเดนมาร์ก และ เล่ม ‘ลุกกะ (Lykke)’ หนังสือเล่มที่ผมกำลังรีวิวนี้ ที่เป็นการเผยแพร่ส่วนหนึ่งของผลการศึกษาวิจัยเรื่องความสุขจากทุกมุมโลก
.
.
คำว่า ‘ลุกกะ (Lykke)’ เป็นคำในภาษาเดนมาร์ก แปลว่า ‘ความสุข’ นั่นเอง
.
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เหมือนเอางานวิจัยมาเผยแพร่ และทำให้มันอ่านง่าย เข้าถึงคนทั่วไปได้เยอะ
เนื้อหาจึงมีหลักฐานอ้างอิงถึงตัวตัวเลขหรือตัวชี้วัดต่าง ๆ ในการกล่าวอ้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง พร้อมกับบทวิเคราะห์ของคำกล่าวอ้างนั้น ๆ
.
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย แต่ว่า Meik ก็เขียนเรียบเรียงออกมาในลักษณะหนังสืออ่านเล่น
เรื่องราวถูกแบ่งเป็นบทสั้น ๆ และเป็นเรื่องที่เขียนให้จบในตอน ช่วยให้อ่านง่ายและไหลลื่นมาก
ข้อเสียก็มีเพียงแค่การขาดเนื้อหาเชิงลึกในการวัดผลงานวิจัยแต่ละชิ้นสำหรับคนสนใจเรื่องความสุขอย่างละเอียด
.
มาเข้าสู่เนื้อหาของหนังสือ อาจกล่าวได้ว่าหนังสือเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ว่า
‘ทำไมเดนมาร์กถึงเป็นประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก’
โดยเดนมาร์คคว้ารางวัลมาได้หลายสมัยซ้อน
.
แต่เอาจริงแล้วหลายคนอาจสงสัยว่า ‘ความสุข’ มันวัดกันยังไง ผู้เขียนก็เลยต้องเริ่มอธิบายก่อนว่า การวัดความสุขนั้นมีอยู่หลักๆสองมิติ คือ
1) มิติด้านอารมณ์ (affective dimension หรือ hedonic dimension) จัดเป็นการวัดความสุขในระยะสั้น เหมือนดูอารมณ์ของคนในแต่ละวัน
- วันนี้เราอารมณ์ดีแค่ไหน
- โกรธใครมารึเปล่า
- เมื่อวานเราหัวเราะบ้างมั้ย
- เรายังรู้สึกซึมเศร้ากับเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานอยู่รึเปล่า
.
2) มิติด้านการนึกคิด (cognitive dimension) เป็นการวัดความสุขโดยรวม เป็นการมองภาพกว้างว่า
- เรารู้สึกพึงพอใจกับชีวิตตัวเองในตอนนี้มากน้อยแค่ไหน
- ถ้าให้จินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ หรือที่เราอยากเป็น มันควรจะเป็นยังไง
- แล้วเรายืนอยู่ ณ จุดไหนแล้วในตอนนี้
.
ในหนังสือบางเล่มอาจเล่าถึงมิติที่ใช้วัดความสุขมิติที่ 3 ตามหลักปรัชญาแบบอริสโตเติล
หรือที่เรียกกันว่า ‘ยูเดโมเนีย (eudaimonia)’
เป็นมิติที่ใช้วัดการใช้ชีวิตทีเปี่ยมด้วยความหมายและเป้าหมาย ซึ่งสำหรับหนังสือเล่มนี้นั้น ผู้เขียนจะมุ่งศึกษาเฉพาะ ‘มิติด้านการนึกคิด’ เท่านั้น
.
.
เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 6 ส่วน ซึ่งทั้ง 6 ส่วนนี้คือส่วนประกอบของการมีชีวิตที่มีความสุขตามการวัดใน ‘มิติด้านการนึกคิด’ ซึ่งจะประกอบไปด้วย
.
1) ‘ความเป็นหนึ่งเดียวกัน’
หมายความถึง การมีชุมชนอันเข้มแข็งที่คอยช่วยเหลือประคับประคองซึ่งกันและกัน และคอยเป็นที่พึ่งพิงในวันที่ตกทุกข์ได้ยาก
เรื่องนี้นั้นถ้าจะพูดให้เห็นภาพง่ายก็คงต้องนึกถึงหมู่บ้านฝรั่งหรือหมู่บ้านในชุมชนต่างจัดหวัดที่คนทุกคนรู้จักกันและคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
มีกิจกรรมร่วมกันบ้างเป็นพัก ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้าน
เช่น การจัดปาร์ตี้น้ำชา การทำอาหารมาแลกเปลี่ยนกัน หรือการช่วยกันเลี้ยงลูก
ในเดนมาร์กนับว่ามีโครงการหมู่บ้านแบบนี้มาก รวมไปถึงในหลายๆประเทศที่ค่าความสุขพุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย
แต่ถ้าเป็นในกรุงเทพ หรือหัวเมืองใหญ่ ๆ คงยากที่จะนึกถึงสภาพหมู่บ้านในลักษณะนี้ครับ
.
.
2) ‘เงิน’
แน่นอนว่าเงินคงเป็นสิ่งต้นๆที่คนนึกถึง เมื่อพูดถึงหัวข้อปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข
หนังสือเล่มนี้จึงพยายามหาความสัมพันธ์ของ 2 สิ่งนี้ แล้วก็ค้นพบว่ามันมีความสลับซ้อนอยู่
กล่าวคือ เงินเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่คนเราทุกคนควรจะมีอยู่ในระดับหนี่งถึงจะมีความสุขได้
แต่การมีเงินมากไปกว่าจุด ๆ นั้นไม่ได้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของความสุขเสมอไป
ดังที่สะท้อนผ่านค่า GDP และระดับความสุขในหลายประเทศ
.
คนเรามักจะเข้าใจผิดกันไปเองว่า ความทะเยอทะยานในการหาเงิน หรือการสร้างฐานะเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ความสุขชั่วนิรันดร์ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงแค่ความสุขชั่วขณะ
เมื่อบรรลุเป้าหมายเท่านั้น คนที่ทะเยอทะยานมาก ๆ จึงมักจะต้องควานหาเป้าหมายใหม่อยู่เรื่อย ๆเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่ไม่เคยเต็มนี้
เคล็ดลับจึงอยู่ที่ ‘การมีความสุขกับการไขว่คว้า’แทนที่จะเป็น ‘การไขว่คว้าหาความสุข’
.
สิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นจากการค้นพบว่า คนเราเลือกที่จะ ‘ได้ในสิ่งที่ต้องการในอีก 3 วันข้างหน้า’ มากกว่า ‘ได้มันมาเดี๋ยวนี้เลย’
ช่วงเวลา 3 วันที่รอการได้มาในสิ่งที่ต้องการอาจเป็นช่วงเวลาที่คนเรามีความสุขจริงๆ
แต่พอได้มันมาแล้วก็คงจะมีความสุขอีกชั่วขณะ ก่อนที่จะลืมมันไป
.
เงินกลายเป็นเรื่องสำคัญเพราะเหตุผลอีกประการคือ ฐานะทางสังคม
ที่คนเรามักคอยที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างหรือคนในสังคมใกล้เคียงอยู่เสมอ
ซึ่งคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ตราบเท่าที่ความเหลื่อมล้ำยังคงปรากฏตัวอยู่ในสังคม
.
3) ‘สุขภาพ’
เรื่องนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนและส่งผลโดยตรงกับระดับการมีความสุข
การให้บริการสถานพยาบาลทั่วประเทศ รวมไปถึงสวัสดิการต่าง ๆ ในการรักษาจึงสำคัญมากในการช่วยสุขภาพของคนในประเทศอยู่ในระดับที่ดี
.
ชีวิตชาวเดนมาร์กคุ้นชินมากกับการปั่นจักรยานไปทำงานหรือไปเรียน
มีผู้คนมากกว่า 50% ที่เลือกที่จะปั่นจักรยานและสูดดมอากาศที่บริสุทธิ์ในยามเช้าแทนที่จะไปขับรถ แล้วเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเกิดมลภาวะ
เรื่องนี้คงต้องไปพูดถึงการวางผังเมือง รวมไปถึงถนน และระบบสาธารณะต่าง ๆ
ที่บ้านเราช่างแตกต่างจากปะรเทศเดนมาร์กโดยสิ้นเชิง
แต่การปั่นจักรยานแน่นอนว่ามันช่วยให้คนเดนมาร์กมีสุขภาพที่ดีอยู่แล้ว
.
เรื่องของการสูดดมอากาศอันบริสุทธิ์ในสวนสาธารณะก็มีส่วนสำคัญ
ตัวอย่างเช่น ในญี่ปุ่นมีคำเรียกว่า ‘ชิงริน-โยะกุ’ หรือการอาบป่า คือการเดินสัมผัสธรรมชาติทั้งในทาง ภาพ เสียง กลิ่น และสัมผัสทางกายที่จะช่วยส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
.
4) ‘เสรีภาพ’
เสรีภาพในหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่จะหมายถึง ‘เสรีภาพในการทำงาน’
ตั้งแต่เรื่องของการเลือกงานที่ทำว่าเรามีสิทธิเลือกได้มากน้อยแค่ไหน
เรื่องของเสรีภาพในการเข้าทำงาน ชั่วโมงการทำงานที่มากน้อยแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
ประเพณีการทำงานที่พอถึงเวลาเลิกงานปุ๊ป ทุกคนจะเก็บกระเป๋ากลับบ้าน หรือต้องรอให้เจ้านายกลับก่อน เราถึงจะกลับได้
จำนวนวันที่สามารถลาได้ต่อปี หรือการลาแบบได้รับเงินเดือน แลไม่ได้รับเงินเดือน โดยเฉพาะการลาของผู้หญิงเมื่อตั้งท้องและคลอดลูก
.
ต้องกล่าวว่าแม้เดนมาร์กจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเก็บภาษีที่โหดหินที่สุดในโลก
แต่เรื่องของเสรีภาพการทำงานนั้น เขาคือผู้ชนะเลิศจริงๆ เพราะวัฒนธรรมการรทำงาน
รวมไปถึงเสรีภาพต่าง ๆ ในการเข้าออกงาน การลา
ทำให้คนเดนมาร์กมีชีวิตที่สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต
ไม่ต้องหักโหมทำงานมากเกินไปจนไม่เหลือเวลาในการใช้ชีวิต
และรัฐยังมีเงินสนับสนุนให้เมื่อตกงาน หรือยังหางานทำไม่ได้
ทำให้คนเดนมาร์กค่อนข้างสบายใจและมีความสุขในการทำงาน
.
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องของการเดินทางไปทำงาน จากการวิจัยพบว่า คนเราจะวิตกกังวลและหงุดหงิดงุ่นง่านมากที่สุดเมื่อเราใช้เวลา 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง ในการเดินทางไปทำงาน ซึ่งภาพที่คนเดนมาร์กปั่นจักรยานไปทำงานทุกวันคงจะไม่ได้ใช้เวลามากถึงขนาดนี้
ในขณะที่ชาวเมืองกรุงเทพอย่างพวกเราคงต้องเจอกับสถานการณ์รถติดในทุกๆวัน ทั้งขาไปและขากลับ ผลดังกล่าวจะยิ่งหนักทวีคูณถ้าตื่นสาย
ตัวอย่างอย่างผมที่บ้านอยู่ชานเมืองและต้องขับไปทำงานในอีกมุมเมืองหนึ่งของกรุงเทพ ใช้เวลาในการเดินทางเฉลี่ยรอบละ 2 ชม. หรือวันละ 4 ชม. นั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผม และคนกรุงเทพคนอื่นๆคงหงุดหงิดไม่ใช่น้อยที่ขาดเสรีภาพในการเดินทางอย่างเห็นได้ชัด
.
5) ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’
ประเด็นนี้ต้องลองนึกถึงเหตการณ์การตอนที่เราลืมวางประเป๋าทิ้งไว้ในที่สาธารณะสัก 15 นาที
พอเดินกลับมากระเป๋ายังอยู่ที่เดิม ไม่มีใครหยิบไป เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแค่ในบางประเทศเท่านั้น และคงไม่ใช่เมืองไทยแน่ๆ (รึเปล่า555)
.
ประเด็นเรื่องการไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทุกวันนี้สังคมของคนที่ไม่มีความสุขก็มักจะเป็นสังคมที่คนแก่งแย่งชิงดีกันตลอดเวลา
คอยแข่งขันกันตั้งแต่ยังเด็กยังเล็ก ตั้งแต่เป็นนักเรียน จนกระทั่งพอโตมาก็ต้องแข่งขันกันสอบเข้ามหาลัย
พอทำงานก็ยังต้องแข่งขันกันแย่งที่ทำงานดีๆ และแข่งขันกันเพื่อเติบโตขึ้นไปรับเงินเดือนมากๆอีก เรียกได้ว่าชีวิตคนเรามักพบเจอแต่การแข่งขัน ไม่ใช่การร่วมมือร่วมใจกันทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
.
นี่อาจทำให้เรามองคนอื่นเป็นศัตรู และไม่เคยมีความสุข เพราะเราไม่ไว้เนื้อเชื่อใจใครเลยนั่นเอง
.
สังคมในเดนมาร์กหรือประเทศอื่น ๆ ที่คนมีความสุขจึงมักต้องสอนเรื่องของความร่วมมือ และการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน แทนที่จะสอนแต่เรื่องของการแข่งขันตั้งแต่เด็ก ๆ
.
6) ‘น้ำใจ’
ปัจจัยสุดท้ายที่จะทำให้คนเรามีความสุขได้คือเรื่องของก ‘การให้’ หรือ ‘น้ำใจ’ นั่นเอง
เรื่องนี้คงอธิบายกันแบบง่ายๆว่า ‘คนที่ให้มักจะเป็นคนได้รับมากที่สุด’ สิ่งที่ได้รับกลับมาก็คือ ความสุขจากการให้นั่นเอง
.
เรื่องนี้ยังโยงไปถึงการให้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การออกไปทำงานอาสาสมัครที่ไม่ได้ค่าตอบแทน
ผู้เขียนจะค่อนข้างกระตุ้นให้เราลองออกไปทำงานอาสาสมัครดูบ้าง อาจเป็นงานง่าย ๆ ที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งต่างๆมากมาย เพียงแต่ได้ทำให้คนอื่นยิ้มได้ก็พอแล้ว
หรือแม้กระทั่งการให้ในรูปแบบง่าย ๆ เช่น ช่วยเก็บปากกาให้คนที่ทำปากกาตกบนถนน การจูงคนตาบอดข้ามถนน ไปจนถึงการยิ้มทักทายและชวนคนไม่รู้จักคุย
ทั้งหมดนี้ก็จัดเป็นการให้ที่ทำให้คนให้มีความสุขได้เช่นกัน
.
.
โดยสรุปแล้วเมื่อประเมินตามองค์ประกอบเหล่านี้ ประเทศที่มีความสุขที่สุดสามอันดับแรกคือ ประเทศเดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศนอร์เวย์ อันดับถัดมาก็ยังอยู่ในทวีปยุโรปทั้งนั้น ส่วนประเทศไทยไม่ต้องพูดถึงครับ ไม่ติดแน่นอน555
.
.
ยอมรับว่าผมอ่านแล้วก็รู้สึกอิจฉาชีวิตของ Meik ระดับหนึ่งที่ได้ออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำวิจัยในสิ่งที่ตัวเองสนใจ มันไม่ต่างอะไรกับความฝันในการไปเที่ยวรอบโลกของคนหลาย ๆ คนเลย
เพียงแต่มันเป็นการเที่ยวตลอดชีวิตเพราะมันคือการเที่ยวพักผ่อนและการทำงาน
ทำให้เขาไม่ต้องเกษียณ หรือไม่มีวันเกษียณอายุ
เขาสามารถทำงานที่สร้างคุณค่าให้ตัวเองและคนอื่นได้อยู่เสมอๆ
.
หรือจริงๆแล้วอาจเรียกได้ว่า Meik เองนี่แหละตัวอย่างของ ‘คนที่มีความสุขที่สุดในโลก’ ก็เป็นได้
.
………………………………………………………………………….
ผู้เขียน : Meik Wiking
ผู้แปล : ลลิตา ผลผลา
สำนักพิมพ์ : Bookscape
จำนวนหน้า: 296 หน้า
แนวหนังสือ : การพัฒนาตัวเอง, ปรัชญา, จิตวิทยา
…………………………………………………………………………..
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน#หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #ลุกกะ #วิถีความสุขจากทุกมุมโลก #TheLittleBookofLykke
Comments