รีวิวหนังสือ ปัญญาวิชาชีวิต How will you measure your life? .
. ... ตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้มาเพราะชื่อของ Clayton M. Christensen ต้นตำหรับทฤษฎีที่น่าจะคุ้นหูใครหลายๆคน อย่าง Disruptive Innovation และการเกิด technological disruption ที่ว่าด้วยการที่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมซึ่งรวมไปถึง business model รูปแบบใหม่ๆ เข้ามา disrupt หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (คำว่า disrupt หาคำไทยลงได้ยากจริงๆครับ) กับธุรกิจหรือผู้เล่นดั้งเดิมที่อยู่ในตลาด ถ้าใครสนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ ลองหาอ่านจากหนังสือ The Innovator's Dilemma นะครับ . ... จริงๆแล้ว Christensen คิดค้นทฤษฎี disruption มานานแล้ว แต่เรื่องนี้เพิ่งมาบูมในช่วงไม่กี่ที่ผ่านมาเพราะว่าบริษัทที่ใช้ business model รูปแบบใหม่ๆอย่าง amazon uber grab Airbnb และ digital platform ต่างๆ ได้เข้ามาทำลายธุรกิจดั้งเดิมในหลายอุตสหากรรม และก่อให้เกิดความต้องการรูปแบบใหม่ขึ้นในตลาด นอกจากนี้เทคโนโลยีในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เช่น IoT, AI และ blockchain ก็กำลังคืบคลานเข้ามา และอาจจะทำให้โลกธุรกิจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป . ..... งานเขียนของ Christensen จึงได้รับความสนใจมากขึ้นมาก และมีการนำไปพัฒนาต่อยอดมากมาย จริงๆแล้วประวัติของ Christensen ก็น่าสนใจไม่แพ้ทฤษฎีของเขาเลย เขาเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาและผู้ดำเนินการโครงการใน BCG บริษัทที่เด็กไทยมากมายใฝ่ฝันอยากเข้าไปทำ แต่มีเพียงอัจฉริยะที่ถูกเลือกแล้วจริงๆเท่านั้นถึงได้ทำงานที่นี่ หลังจากทำงานในอุตสหากรรมสักพัก Christensen ก็หันมาทำงานในเชิงวิชาการ และได้เขียนตำราการจัดการ และกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายเล่ม ปัจจุบันเขายังสอนหลักสูตร MBA อยู่ที่ Harvard University จากทฤษฎีมากมายที่เขา contribute ให้กับวงการวิชาการและโลกธุรกิจนั้น ทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในด้านการบริการจัดการในศตวรรษที่ 21 นี้ . ..... เกริ่นมาอย่างยาวนาน มาเข้าเรื่องหนังสือกันดีกว่าครับ จริงๆแล้วหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนเป็นหนังสือที่สะท้อนแนวคิดของ Christensen ว่าเขามองชีวิตของตัวเองอย่างไรเมื่อเขาได้ทราบว่าเขาเป็นโรคร้ายและอาจกำลังจะต้องเผชิญกับความตาย เขาได้ทบทวนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา และเปรียบเทียบมันกับกลยุทธ์ธุรกิจที่เขาเชี่ยวชาญ และเขาก็ได้ค้นพบว่าจริงๆแล้ว ชีวิตของคนเราก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการทำธุรกิจ . ... เราต้องบริหารต้นทุนทรัพยากรชีวิตที่เรามีอันได้แก่ พลังงาน (energy) เวลา (time) และ ปัญญาหรือความสามารถที่มี (talent) เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายของชีวิตที่ตั้งไว้ . .... และนี่เองก็คือหัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้ . ... ที่เหลือในเล่มก็คือข้อเตือนใจต่างๆที่ อาจารย์อาวุโสท่านนี้เขียนเตือนใจทุกๆคนที่กำลังต่อสู้กับเส้นทางชีวิตของตน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมาย การยึดเหนี่ยวกับหลักการของตนและหลีกเลี่ยงการทำ ‘แค่หนนี้หนเดียว’ และการรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ข้อคิดเหล่านี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น . .... สิ่งเตือนใจเหล่านี้ยังช่วยให้เราเกิดคำถามกับตัวเองขึ้นมาหลายคำถาม โยเฉพาะคำถามที่ว่า เราจะประเมินชีวิตของเรายังไงว่าเราได้มีชีวิตที่ดีแล้ว คุ้มค่าแล้ว เหมือนในชื่อหนังสือที่ว่า How will you measure your life? อาจารย์ท่านนี้ยังยกตัวอย่างให้เห็นภาพอีกว่าเพื่อนของเขาบางคนที่ประสบความสำเร็จมากมายในหน้าที่การงาน และการเงิน กลับมีชีวิตที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในชีวิตการแต่งงานและการเลี้ยงลูก บางคนขึ้นสู่จุดรุ่งโรน์สุดขีดในด้านการงานแต่ไม่นานด้วยวิกฤตและการตัดสินใจที่ผิดพลาดบางอย่าง เขากลับต้องติดคุกติดตารางเป็นเวลาหลายปี การตั้งคำถามกับตัวเองที่ว่าเราต้องการมีชีวิตแบบไหนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก . .... โดยรวมแล้วจัดเป็นหนังสือที่อ่านง่ายมาก สั้น กระชับ แต่ได้เรียนรู้ข้อแนวคิดดีๆจากปรมาจารย์ด้านการจัดการและการบริหารธุรกิจระดับโลก โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าเขามีมุมมองต่อชีวิตอย่างไร สำหรับผมแล้ว ผมชอบเรียนรู้เรื่องราวของคนสำเร็จอยู่แล้ว เพราะบางอย่างมันสามารถดึงมาใช้กับตัวเราได้จริงๆ บางอย่างที่ไม่ตรงกับตัวเรามากนักก็อ่านประดับเป็นความรู้ไว้ เอาไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนหรือคนรอบตัวได้ ถ้าใครสนใจอยากรู้จักผู้ทรงอิทธิพลศตวรรษที่ 21 ในโลกของการจัดการก็อย่าลืมลองหาอ่านดูนะครับ . …………………………………………………………………………. ผู้เขียน : Clayton M. Christensen ผู้แปล: ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สำนักพิมพ์ : openbooks แนวหนังสือ : พัฒนาตัวเอง ………………………………………………………………………….. . . . #หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือ2019 #หนังสือ2562 #reviewหนังสือ #HowWillYouMeasureYourLife? #ปัญญาวิชาชีวิต #ภิญโญไตรสุริยธรรมา #Christensen #openbooks
Comentários