รีวิวหนังสือ คลื่นลูกที่สามแห่งยุคอินเทอร์เน็ต (The Third Wave: An Entrepreneur's Vision of the Future) .
. … หนังสือบริหารธุรกิจที่เขียนโดย Steve Case อดีตผู้ก่อตั้ง AOL (American Online) ซึ่งจัดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตรายแรกๆของโลก หนังสือเป็นเหมือนการมองไปข้างหน้าในโลกยุคที่ IoT (Internet of Things) เข้ามา disrupt ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆมากมาย ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ธุรกิจต่าง ๆจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วในมุมของผู้ประกอบการ บริษัทใหญ่ หรือจะคนทั่ว ๆไปก็ตามควรจะรับมือกับมันยังไง เพราะ IoT จะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแค่ในบริษัทไอที หรือเกี่ยวข้องเฉพาะในบางกลุ่มอุตสาหกรรม แต่มันจะแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของคนเรา ไม่ว่าเราจะทำงานอะไรก็ตาม หรือที่เรียกว่าเป็น Internet of Everything และที่ผู้เขียนอธิบายว่ามันคือคลื่นลูกที่สาม ( The Third Wave) . ….. Steve Case จัดว่าเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการ Internet มาอย่างยาวนาน เพราะว่าบริษัท AOL ที่ Steve เคยนั่งเก้าอี้เป็นผู้บริหารนั้น ในวันหนึ่งเป็นเปรียบเสมือนทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนใช้กันในวันนี้ ไม่ว่าจะ Google, Facebook, Twitter, Messenger หรือ Line ทุกอย่างใช้บน AOL จบในแพลตฟอร์มเดียว ก่อนที่จะถูกคู่แข่ง อย่าง Microsoft ค่อยๆเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง ตลาดออกไปในตอนหลัง . ….. ผมแอบแปลกใจอยู่ประมาณหนึ่งว่าจริง ๆแล้วหนังสือเล่มนี้เหมือนมีเนื้อหาหลักๆสองส่วนคือ ส่วนที่วิเคราะห์ถึงโลกอนาคตว่าผู้ประกอบการ startup, บริษัทยักษ์ใหญ่ รวมไปถึงภาครัฐควรจะรับมือยังไงกับการมาถึงของคลื่นลูกที่สาม และอีกส่วนหนึ่งคือการเล่าประวัติของตัวผู้เขียน Steve Case เองว่าเติบโตขึ้นมายังไง การตั้งบริษัทครั้งแรกต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง กว่า AOL จะก่อร่างสร้างตัวมาจนโด่งดังเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งเนื้อหาในทั่งสองส่วนนั้นเชื่อมถึงกันไปมา แต่ก็มีการตัดสลับบทไปมาทำให้ผมในฐานะผู้อ่านงงพอสมควร . ... สำหรับเนื้อหาหนังสือนั้น ต้องเริ่มจากการนิยามคลื่นทั้งสามลูกในยุคของอินเตอร์เน็ตก่อน โดยผู้เขียนได้แบ่งยุคสมัยของอินเตอร์เน็ตออกเป็นสามยุค ให้ล้อกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทั้ง 3 ครั้ง คือ
. 1. The First wave (1985-1999) ที่เน้นการวางรากฐานของการสร้างโลกออนไลน์ การใช้งานยังจำกัดอยู่แค่ในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่มักใช้ในสำนักงานและบ้านของชนชั้นกลาง อุปกรณ์หลักในยุคนี้คือ คอมพิวเตอร์ PCs และยังจัดว่าเป็นยุคที่ยังมีความเสี่ยงทางเทคโนโลยีสูงมาก
. 2. Second wave (2000-2015) เป็นอินเตอร์เน็ตในโลกยุคที่เพิ่งผ่านพ้นไป จัดเป็นยุคที่เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเสถียร และมีการนำมาใช้ทั้งในเชิงธุรกิจและเพื่อความบันเทิงอย่างแพร่หลาย ส่วนสำคัญที่สุดสำหรับอินเตอร์เน็ตในยุคนี้คือ เนื้อหา (contents) ที่ทำให้มีการเกิดขึ้นของ platform ต่าง ๆมากมาย และเกิดการปฏิวัติรูปแบบของ Applicationอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การเสิร์ชค้นข้อมูล การซื้อขายผ่าน e-commerce รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ธุรกิจประเภท Startup ได้มีช่องทางในการเกิดและเติบโต อุปกรณ์เด่นสำหรับอินเตอร์เน็ตในยุคนี้คือ Smartphones ที่เข้ามาเป็นเหมือนปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวัน ความเสี่ยงตกไปอยู่ที่เรื่องของ การทำการตลาดบนโลกออนไลน์
. 3. Third wave (2016–>) นับตั้งแต่การกำเนิดของอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อโลกกายภาพ และโลกดิจิทัล ทำให้มีการส่งผ่านข้อมูลขนาดมหึมาบนอินเตอร์เน็ต จัดเป็นการเชื่อมโลกที่ไม่เคยเชื่อมถึงกันให้เชื่อมถึงกันได้ จึงเปิดโอกาสให้เหล่าผู้ประกอบการสามารถนำความสามารถในการเชื่อมต่อ คลังข้อมูลและการส่งผ่านข้อมูลจำนวนมหาศาลมาใช้เป็นโอกาสในการแก้ปัญหาในส่วนต่าง ๆของโลกได้ อุปกรณ์เด่นสำหรับอินเตอร์เน็ตยุคนี้คือ เซ็นเซอร์ ความเสี่ยงตกไปอยู่ที่เรื่องของ พันธมิตร (Partnership) และนโยบายจากภาครัฐในการกำกับดูแลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น . ... เนื้อหาในหนังสือยังมีการวิเคราะห์เข้าไปในบางกลุ่มอุตสาหกรรมเด่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การศึกษา หรือสาธารณะสุข ว่าจะเกิดธุรกิจใหม่ๆรูปแบบใดบ้าง .
.
.
. …. แต่ส่วนที่ผมชอบมากที่สุดของหนังสือจริง ๆแล้วคือ หนังสือวิเคราะห์ไปว่าผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จได้ในโลกยุคแห่งคลื่นลูกที่สามนี้ ควรจะให้ความสำคัญกับอะไรเป็นพิเศษบ้าง คำตอบที่ผู้เขียนอธิบายไว้คือ 3P
.
1) การหาพันธมิตร (Partnetship) ที่ผู้เขียนแนะนำโดยเฉพาะกับ startup ว่า จำเป็นที่จะต้องมองหานักลงทุน หรือคนที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามคงไม่มีทางทำเรี่องต่างๆ สำเร็จได้หมดด้วยตัวคนเดียว การมองหาแหล่งเงินทุน รวมไปถึงการเข้าหาพันธมิตรจากภาครัฐจึงมีความสำคัญมากในการเติบโตระยะยาวของ startup
.
2) นโยบายที่ใช้ (Policy) เนื่องจากในโลกยุคใหม่แห่งอินเตอร์เน็ตนี้ จะเกิดธุรกิจแบบใหม่ขึ้นอย่างมากมายทำให้ เป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ที่ผู้ประกอบการต้องคอยศึกษาดูว่า นโยบายการกำกับดูแลจากภาครัฐส่งผลยังไงบ้างต่อการทำธุรกิจนั้น ๆ การทำงานกับองค์กรภาครัฐกลายมาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายๆครั้งทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐเองก็อาจต้องพยายามหาทางออกร่วมกันว่า จะออกนโยบายการกำกับดูแลธุรกิจยังไง ให้ไม่เกิดการผูกขาดในตลาด เกิดความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลของผิบริโภค รวมไปถึงนโยบายในการสร้างเสริม ecosystem ที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจ startup เติบโตได้มากขึ้น
.
3) ความอุตสาหะ (Perseverance) ข้อนี้เหมือนเป็นพื้นฐานที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องมีคือ พยายามอย่างต่อเนื่อง ไม่ล้มเลิกไปก่อนถ้าเจออุปสรรคใด ๆเข้ามาขัดขวาง
.
.
….. นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ผู้เขียน Steve ยังอธิบายถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆในโลกธุรกิจไว้อีกสามข้อที่คนอ่านควรจะจดจำและระลึกถึงไว้เป็นอย่างดีคือ
.
1) การมีธุรกิจเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ (the rise of the rest) เนื่องจากในปัจจุบันบริษัท startups ด้านไอทีหลายๆบริษัทมักจะกระจุกตัวรวมกันอยู่ที่ Silicon Valley หรือในตัวเมืองใหญ่ของอเมริกาเพียงไม่กี่เมือง แต่เนื่องด้วยความเพิ่มขึ้นองความหลากหลายทางธุรกิจทำให้ คนที่อยู่ใน area of expertise ที่ต่าง ๆกันมองเห็นปัญหาของโลก หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และมองเห็นดอกาสทางธุรกิจที่จะรับมือกับปัญหานั้น ๆได้ดีกว่า คนที่อยู่นอก area นั้น ๆ ทำให้มีโอกาสที่ธุรกิจ startups จะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆที่ไม่ใช่ศูนย์กลางของ startups มากขึ้น โดยคนที่มองเห็นปัญหาจากภายใน area นั้น ๆมากขึ้น
.
2) การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคม เรื่องนี้ผู้เขียนอธิบายว่าในโลกยุคใหม่นี้ ผู้คนจะไม่ได้มองผลลัพธ์ไปที่เรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงผลกระทบ (impact) ที่เกิดจากธุรกิจนั้น ๆต่อสังคม หรือพูดง่ายๆว่าธุรกิจนั้น ๆได้ทำให้เกิดคุณค่าในสังคมมากน้อยแค่ไหน trendของโลกในปัจจุบันจึงจะเห็นได้ว่ามีธุรกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นอย่างมากมาย นักลงทุนเองก็สนใจที่จะลงทุนในธุรกิจที่ทำเพื่อสังคมมากขึ้น
.
3) การทำงานกับรัฐบาล ผู้เขียนพูดถึงการปรับตัวเข้าหากันของภาคธุรกิจและภาครัฐ ที่เหมือนจะมีเป้าหมายในการมีอยู่ขององค์กรที่แตกต่างกัน คือภาคธุรกิจแสวงหากำไร ในขระที่ภาครัฐกำหนดนโยบายเพื่อประชาชนและสังคม แต่จริง ๆแล้วทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายที่ร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การทำให้ชีวิตของมนุษย์เราดีขึ้นไม่ว่าจะโดยรูปแบบไหน หรือวิธีไหนก็ตาม การเข้ามาทำงานร่วมกันแล้วร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (ที่ผู้เขียน Steve mention ถึงในหนังสือคือสหรัฐอเมริกา) การผลักดันให้เกิด startups การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน รวมไปถึงการเพิ่มงบประมาณการทำ R&D ล้วนแต่ต้องอาศัยการร่วมมือกันของทั้งสองฝ่าย จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันให้ได้
.
.
…. โดยรวมแล้วผมเชื่อว่าหนังสือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้อ่านแทบจะทุกประเภท โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการวิเคราะห์ว่าในโลกอนาคตอันใกล้นี้ เราควรจะปรับตัวอย่างไร ทั้งในฐานะของการเป็นผู้ประกอบการ บริษัทใหญ่ ๆ หรือภาครัฐเองก็ตาม
.
.
………………………………………………………………………….
ผู้เขียน : Steve Case
สำนักพิมพ์ : Nation Book
แนวหนังสือ : เทคโนโลยี, บริหารธุรกิจ ………………………………………………………………………….. . .
.
.
สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่
Shopee มีส่วนลดด้วยนะครับ .
. #หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือ2019 #หนังสือ2562 #reviewหนังสือ #Thethirdwave คลื่นลูกที่สามแห่งยุคอินเทอร์เน็ต #SteveCase #หนังสือเทคโนโลยี #หนังสือบริหารธุรกิจ #NationBook
Comments