top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิวหนังสือ การปฏิวัติคอนเทนต์ ในยุคแห่ง AI


รีวิวหนังสือ การปฏิวัติคอนเทนต์ ในยุคแห่ง AI

.

.

🙏🏻ขอขอบคุณหนังสือดีๆ จากสำนักพิมพ์ Amarin Howto

.

🤖การปฏิวัติคอนเทนต์ ในยุคแห่ง AI เขียนโดย โคชันซู โปรดิเวซอร์สถานี KBS Entertainment ผู้ผลิตรายการบันเทิงในเกาหลี ที่มีความสนใจส่วนตัวในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เป็นพิเศษ จนทำให้เขาเกิดไอเดียรวบรวมการพัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ทั่วโลก และของประเทศเกาหลีใต้ออกมาเป็นหนังสือ 1 เล่ม

.

📚หลังอ่านจบ ผมรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ให้อารมณ์เหมือนการอ่าน white paper หรือบทความที่นำเสนอสถานการณ์ แนวโน้มการพัฒนา และข่าวอับเดทการใช้เทคโนโลยี AI ในประเทศต่างๆทั่วโลก และเน้นเจาะลึกไปที่สถานการณ์การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศเกาหลีใต้ แต่แทนที่จะมาทำรายงานวิชาการ หรือเขียนเป็นบทความส่งนิตยสาร ผู้เขียนนำมารวบรวมเป็นหนังสือ 1 เล่ม พร้อมใส่ความคิดเห็นตัวเองลงในบทสุดท้าย

.

📚หนังสือเล่มนี้จึงเน้นการรวบรวมพัฒนาการของ AI ในหลายอุตสาหกรรมที่ขายหรือเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ โดยเฉพาะพวกอุตสหากรรมความบันเทิงไล่ตั้งแต่ อุตสาหกรรมทีวี อุตสาหกรรมวิทยุและ podcast อุตสาหกรรมกีฬา อุตสาหกรรมภาพยนต์ อุตสาหกรรมข่าว อุตสาหกรรมการศึกษา และอุตสาหกรรมศิลปะ ที่ดูแล้วเป็นพวกอุตสาหกรรมที่มีคนกล่าวถึงน้อยกว่า อุตสาหกรรมที่ดูมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมากว่า อย่างวงการการแพทย์ วงการวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และด้านกฎหมาย

.

⚙ความคิดเห็นส่วนตัวของผมเพิ่มเติม คือ เนื่องจากหนังสือไม่ได้ลงลึกในเชิงเทคนิคเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของ AI (อย่างเช่นพวก เทคนิค supervise learning หรือ reinforcement learning) ทำให้หนังสืออ่านง่าย ใครๆก็เข้าใจได้ หากแต่จะขาดความลึกในการเข้าใจถึงพัฒนาการของ AI ในแต่ละวงการ เช่น ผู้อ่านอาจรู้ว่าในวงการกีฬา AI สามารถใช้ทำงาน A งาน B งาน C ได้แล้ว แต่จะไม่รู้ว่าเบื้องหลังหลักในการพัฒนาและนำ AI มาใช้คือหลักการอะไร

.

🤖ในขณะเดียวกัน ตามคำนิยามของปัญญาประดิษฐ์ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วๆไป รวมถึงตัวผมเองนั้น เทคโนโลยีนี้ต้องสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆขึ้นมาด้วยตัวเองได้ โดยอาศัยเพียงแค่ชุดข้อมูลเบื้องต้นที่มนุษย์ป้อนเข้าไป มิฉะนั้นเทคโนโลยีนี้ก็จะเป็นเหมือนบอทตัวหนึ่งที่เข้าใจชุดสั่งอยู่อย่างจำกัด และเพียงแค่ตอบสนองต่อคำสั่งที่มนุษย์ป้อนเข้าไปเท่านั้น

.

🤖ซึ่งผมยังรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้แยกความแตกต่างของ บอทและ AI อย่างชัดเจน หลายๆตัวอย่างที่หนังสืออธิบายมา เหมือนจะเป็นแค่บอทธรรมดามากกว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่คิดเอง เรียนรู้เอง พัฒนาตัวเองได้

.

.

🤖ที่ต้องโน้ตไว้อีกเรื่องคือ หนังสือเล่มนี้เขียนเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว คือประมาณปี 2018 ทำให้ข้อมูลสถานการณ์และการพัฒนาการของเทคโนโลยีอาจไม่ได้อับเดทใหม่ล่าสุด ในเวลาไม่นาน ความก้าวหน้าของ AI อาจไปไกลกว่าที่รวบรวมไว้ในหนังสือแล้วก็ได้

.

🤖อย่างไรก็ตามในบทท้ายสุดของหนังสือที่เป็นส่วนที่ผมชอบที่สุด เพราะเป็นบทวิเคราะห์ถึงการเตรียมการรับมือกับการมาถึงของเทคโนโลยี AI โดยผู้เขียนได้รวบรวมประเด็นสำคัญที่น่านำมาถกเถียง เช่น จริงๆแล้วเราควรมอง AI ในดีหรือแง่ร้าย ความจริงแล้ว AI เข้ามาทำให้คนตกงาน หรือเข้ามาช่วยสร้างงานใหม่ๆ ทั้งนี้ผู้เขียนได้รวบรวมความคิดเห็นของคนดังต่างๆทั่วโลก และใส่ความคิดเห็นของตัวเองลงไปทำให้กลายเป็นวิเคราะห์ที่น่าสนใจมากขึ้น

.

.

.



.

อย่างไรก็ตาม ผมขอรวบรวม 5 ข้อคิดที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ไว้ดังต่อไปนี้ครับ

.


1) AI ใกล้ตัวมาก และสามารถเข้าไปแทรกซึมอยู่ได้ในแทบทุกวงการ

.

AI อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ อย่างระบบการแนะนำหนังที่ดูใน Netflix ที่ทุกๆคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีก็มีเบื้องหลังที่กระบวนการทำงานของเทคโนโลยี AI ที่ใช้ประมวลผลข้อมูลหนังประเภทที่เราสนใจ และเอามาวิเคราะห์เทียบเคียงกับหนังอื่นๆที่มีความใกล้เคียงกัน และนำเสนอออกมาในรูปแบบ suggestion

.

อีกเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ คือการแปลภาษาใน Youtube ที่หลายๆคนคงเคยกดตัวหนังสือ subtitle และเลือก auto-translation จากภาษาที่เราฟังไม่ออกมาเป็นภาษาอังกฤษหรือไทย เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังก็คือ AI เช่นเดียวกัน โดย AI ต้องสามารถฟังเสียงคนพูดในคลิปให้ชัดแล้วแปลออกมาเป็นอีกภาษาทันที นับเป็นความท้าทายในระดับหนึ่ง

.

หรือแม้กระทั่งการตัดต่อตัวอย่างภาพยนต์ หรือ การตัดต่อ highlight การแข่งกีฬานัดสำคัญที่เราชอบดูกันใน Youtube ปัจจุบันก็เริ่มมีบริษัทที่นำ AI มาใช้แทนกำลังคน แล้ว โดย AI จะเรียนรู้จากคลิปก่อนหน้าที่ถูกป้อนเข้าไปว่า จะตัดต่อฉากไหน ช๊อตไหนที่เรียกคนดูได้เยอะ และทำการเลียนแบบคลิปก่อนหน้านั้นๆ เราจึงไม่อาจรู้เลยว่าคลิปที่ดูๆกันอยู่ใน Youtube นี่ใครเป็นคนตัดต่อ มนุษย์หรือ AI

.

.


2) ปัจจุบัน AI ได้เข้าไปเป็นผู้ช่วยในการทำคอนเทนต์ของหลายอุตสาหกรรมแล้ว

.

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า อีกสิ่งที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้คือ AI ได้เข้าไปมีบทบาทในหลากหลายอุตสาหกรรมจากที่เราเคยได้ยินหรือรู้จัก เพียงแต่ว่าการใช้งานเทคโนโลยีอาจยังมีหลายระดับ และโดยส่วนตัวผมยังรู้สึกว่าหลายๆครั้งผู้ช่วยที่หนังสือกล่าวถึงเป็นเหมือนบอทที่ใช้ประมวลผลข้อมูลมากกว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่เรียนรู้และพพัฒนาได้จริงๆ

.

การเขียนข่าวและการวิเคราะห์กีฬาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด การสร้างคอนเทนต์ข่าวหรือการวิเคราะห์การแข่งกีฬานั้นสามารถใช้ AI มาช่วยทำได้ ซึ่งอาจช่วยลดต้นทุน และอาจเพิ่มความแม่นยำในการทายผลการแข่งขันในกรณีวิเคราะห์ผลแพ้ชนะของการแข่งกีฬาด้วย

.



3) AI กับเรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

.

ในงานหลายประเภทที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การแต่งกลอน การแต่งเพลง การเขียนนิยาย หรือการวาดภาพจิตกรรมให้เกิดความสวยงาม หรือแม้แต่การทำโฆษณาสินค้าให้ถูกใจผู้ชม ในหนังสือเล่มนี้ก็ยกตัวอย่างว่า AI เริ่มมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นแล้วเหมือนกัน

.

ในหนังสือได้ยกตัวอย่างการจัดแข่งสร้างผลงานโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และปัญญาประดิษฐ์ทั้งการทำโฆษณา การแต่งกลอน และการเขียนนิยาย โดยหลายๆครั้งผลก็ยังออกมาว่าผลงานของ AI ยังแพ้มนุษย์อยู่ จากการตัดสินของกรรมการ และผู้เข้าชม แต่ผู้เขียนเองก็แอบเอนเอียงสนับสนุนว่างานของ AI ก็มีข้อดีในบางมุมที่เหนือกว่าของงานที่มนุษย์สร้าง

.

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ งานความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างโดย AI นั้นแท้จริงแล้วยังเป็นเหมือนการลอกเลียนความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นั่นเอง เพราะสุดท้าย AI ก็ต้องได้รับการข้อมูลป้อนเข้าจากมนุษย์ และผลงานต่างๆของมนุษย์เองก็เป็น input ให้ AI สร้างผลงานออกมา งานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์แท้ๆของ AI จึงอาจยังไม่ปรากฎให้เห็น

.



4) มองโลกในแง่ดี หรือมองโลกในแง่ร้าย

.

เป็นที่ถกเถียงกันมานานว่าการเข้ามาของ AI จะทำให้มนุษยชาติต้องสูญสิ้นรึเปล่า เพราะถ้าวันไหน AI ฉลาดเกินมนุษย์ และหลุดออกจากการควบคุมของมนุษย์ได้ AI ก็อาจจะปฎิวัติและยึดครองโลกใบนี้เอง

.

แนวคิดข้างต้นพบเห็นได้ทั่วไปในหนังดังหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Terminator ที่ Skynet สั่งยิงนิวเคลียร์ถล่มทั้งโลก เหลือแต่ John Corner ผู้กอบกู้, 2001 Space Odyssey หรือ I robot ก็ตาม

.

แต่จริงๆแล้วยังมีคนดังอีกหลายคนที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น สตีเฟ่น ฮอว์กิ้น พ่อมดแห่งวงการฟิสิกส์ศตรวรรษที่ 21 และ อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัท Tesla

.

ในขณะเดียวกัน เจ้าของ facebook อย่าง มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ค เห็นตรงกันข้าม และเชื่อว่ามนุษย์สามารถควบคุมการพัฒนาการของ AI ได้ ส่วนตัวผู้เขียนโคชันซูเองก็เห็นด้วย และมองโลกในแง่บวก

.

.


5) AI กับประชาธิปไตย

.

เป็นอีกประเด็นที่ผมสนใจมากกับการที่ว่าเทคโนโลยีล้ำอย่าง AI ไม่ควรถูกใช้แค่ให้เกิดประโชน์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้สร้างเท่านั้น

.

ตัวอย่างเช่น AI for earth ของ Microsoft มีควรจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อทำกำไรให้ Microsoft เพียงอย่างเดียว แต่ตัวเทคโนโลยีนี้ควรจะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย นำไปใช้แก้ปัญหาในวงกว้าง นำไปใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บกับคนที่ต้องการ นำไปพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแต่ช่วยให้บริษัทยัก์ใหญ่ไม่กี่แห่งมีอำนาจต่อรองในตลาดมากขึ้นและครองตลาดไปเฉยๆ

.

นี่คือประเด็นด้านประชาธิปไตย การใช้งานของ AI อย่างทั่วถึงนั่นเอง

.

.

.

………………………………………………………………………….

✍🏻ผู้เขียน: โคชันซู

✍🏻ผู้แปล: ภัททิรา จิตต์เกษม

🏠สำนักพิมพ์: Amarin Howto

📚แนวหนังสือ: เทคโนโลยี, บริหารธุรกิจ

…………………………………………………………………………..

.

.

📚สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

.

‪#‎หลังอ่าน‬‬‬‬ ‪#‎รีวิวหนังสือ‬‬‬‬ ‪#หนังสือ2020#หนังสือ2563 #‎reviewหนังสือ‬‬‬‬ #การปฏิวัติคอนเทนต์ในยุคแห่งAI#โคชันซู#ภัททิราจิตต์เกษม#สำนักพิมพ์AmarinHowto ‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬‬#หนังสือเทคโนโลยี#หนังสือบริหารธุรกิจ .

.




712 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page