top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว คิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น 3

Updated: Dec 16, 2021



รีวิว คิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น 3

Book 3: เรียนวิชา ‘คน’ กับเฒ่ายิว

.

‘เราทุกคนล้วนเต้นรำอยู่บนเมทริกซ์แห่งความสัมพันธ์’

.

หนังสือเล่มที่ 3 ในชุด คิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น และภาคจบของสุดยอดมหากาพย์การเดินทางของชายหนุ่มญี่ปุ่น ที่พยายามฝากตัวเองไปเป็นลูกศิษย์ของอาจาย์จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อจะได้เรียนรู้ถึงเคล็ดวิชาความสำเร็จของชีวิต

.

หลังจากเรียนรู้เรื่องการทำงาน และการเงินไปแล้ว เล่มนี้ก็จะเน้นหนักที่ ‘ความสัมพันธ์’

.

เนื้อเรื่องโดยย่อก็จะต่อจากภาคที่แล้ว

หลังจากที่ชายหนุ่มได้ไปเรียนรู้เคล็ดวิชาการบริหารธุรกิจจากอาจารย์ชาวยิวที่อเมริกา ผู้ซึ่งพาเขาไปปล่อยบนเกาะร้างอยู่ 1 คืน

และวิชาการบริการเงินจากอาจารย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ผู้ซึ่งเป็นนายธนาคารที่ยุโรป

เขาก็ได้กลับมาเปิดธุรกิจสอนภาษาอังกฤษ ตั้งแต่เรียนอยู่มหาลัยปี 3

และประสบความสำเร็จทั้งในด้านธุรกิจและการเงินตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30

.

ชายหนุ่มยังได้แต่งงานกับภรรยาสาวที่เป็นเพื่อนร่วมคลาสกันมาตั้งแต่มหาลัย

แต่พอทั้งคู่เริ่มใช้ชีวิตคู่กันไปสักพัก ก็ดูเหมือนว่าจะมีเรื่องไม่ลงรอยเกิดขึ้น

เมื่อภรรยาของชายหนุ่มบอกว่าจะหนีกลับไปอยู่กับพ่อแม่สักพัก

และขอคิดพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งสองใหม่อีกครั้ง

.

ชายหนุ่มผู้ไม่เคยอยู่เฉยจึงออกเดินทางอีกครั้ง

รอบนี้เขากลับมายังอเมริกา ซึ่งจริง ๆ เขาก็ตั้งใจจะมาดีลธุรกิจอยู่แล้ว

แต่เมื่อเรื่องความสัมพันธ์ดูเหมือนจะล้มเหลว เขาก็เลยลองตามหาอาจารย์ด้านความสัมพันธ์มาสอน‘วิชาคน’ อีกครั้ง

.

ห้องเรียนของเขาในรอบนี้อยู่ในป่า และเพื่อนร่วมคลาสของเขาก็มาจากทั่วทุกมุมโลก

เพื่อนของเขาประกอบอาชีพแตกต่างกันมากมาย

อาจารย์คนใหม่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ก็มาจัด workshop เกี่ยวกับด้านความสัมพันธ์ โดยเริ่มจากเรื่องของความรู้สึก

.

.

หลังอ่านจบ นับว่าเป็นอีกเล่มที่ผมชอบมาก

เนื้อหามีความใหม่ ไม่ซ้ำใคร และเอาไปประยุกต์ใช้ได้จริง

การเล่าเรื่องผ่านบทสนทนา 2 คน ยังช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้โดยง่าย

การเล่าเป็นนิทาน มีฉากประกอบก็ช่วยให้จดจำเนื้อเรื่องได้

เล่มนี้แนะนำให้ลองไปหาอ่านกันดูครับ

ส่วนตัวผมอาจชอบมากที่สุดในซีรีย์ คิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น ทั้ง 3 เล่มด้วยครับ

.

.

5 วิชาคนต้องรู้ ถ้าไม่อยากมีความสัมพันธ์แย่ ๆ กับคนอื่น

1) รู้จักเมทริกซ์ความสัมพันธ์

เมทริกซ์ความสัมพันธ์ เกิดขึ้นเมื่อคนเราเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

เมทริกซ์ดังกล่าวมี 2 มิติ คือ พึ่งพาตัวเอง/พี่งพาคนอื่น และ มองโลกในแง่บวก/มองโลกในแง่ลบ

.

1. ‘พึ่งพาตัวเอง และมองโลกในแง่บวก’

คนที่อยู่ในตำแหน่งนี้จะมีพลังงานมาก มีความร่าเริง มีเป้าหมาย มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล มีความเป็นผู้นำ ชอบช่วยเหลือคนอื่น

คนกลุ่มนี้มักคอยส่งพลังงานเชิงบวกให้คนอื่น จึงเหมาะที่จะเป็นผู้นำองค์กร

แต่ถ้าอยู่กับคนประเภทนี้มากเกินไปก็อาจรู้สึกเหนื่อย เพราะคนอื่นต้องคอยวิ่งตามเขาอยู่ตลอดเวลา

.

2. ‘พึ่งพาคนอื่น และมองโลกในแง่ลบ’

คนที่อยู่ในตำแหน่งนี้จะเป็นเหมือนคนหมดอาลัยตายอยาก คิดว่าโลกนี้มีแต่สิ่งเลวร้ายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย หรือโรคระบาด

คนในตำแหน่งนี้จะขี้บ่น ไม่พอใจกับสภาพชีวิตของตัวเอง และจมอยู่กับอดีต

แต่คนกลุ่มนี้มีข้อดีคือ การมีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่นสูง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย

.

3. ‘พึ่งพาตัวเอง และมองโลกในแง่ลบ’

คนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่มักมองว่าตัวเองมีความสามารถ และคนอื่นไร้ความสามารถ จึงมักพยายามเข้าไปควบคุมคนอื่น

คนกลุ่มนี้ชอบบงการ สั่งการ และเป็นคนขี้หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย

ถ้าเป็นหัวหน้าก็จะเป็นหัวหน้าที่เข้มงวด จุกจิก

แต่พวกเขามีจุดเด่นคือ เป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบสูง

.

4. ‘พึ่งพาคนอื่น และมองโลกในแง่บวก’

คนกลุ่มนี้มองว่าตัวเองอ่อนแอ ไร้ความสามารถ ทำอะไรไม่ค่อยได้เรื่อง และคนอื่นล้วนมีแต่คนเก่ง มีความสามารถ ดูน่าเกรงขาม

คนประเภทนี้จึงมักขาดความมั่นใจในตัวเอง พูดติดขัด บางทีก็อาจถูกคนอื่นรังแก

แต่จุดเด่นของคนกลุ่มนี้ คือการเป็นคนอ่อนโยนและช่วยสร้างความผ่อนคลายให้คนที่อยู่ด้วย

.

2) เราทุกคนล้วนเข้าไปอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของเมทริกซ์ เมื่อมีความสัมพันธ์กับคนอื่น

เมื่อมีความสัมพันธ์กับคนอื่น เราทุกคนมักจะวางตัวอยู่ใน ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบน 4 ตำแหน่งของเมทริกซ์ความสัมพันธ์

เพื่อให้ ‘รับกับ’ ตำแหน่งบนเมทริกซ์ความสัมพันธ์ของอีกฝ่าย

.

ถ้าคนที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย วางตัวเองในตำแหน่ง พึ่งพาตัวเอง และมองโลกในแง่บวก เราก็จะเผลอวางตัวเองในตำแหน่ง พึ่งพาคนอื่น และมองโลกในแง่ลบ ไปโดยปริยาย

เช่น ถ้าพ่อเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ขี้หงุดหงิด ชอบมองว่าคนอื่นไม่เอาไหน (พึ่งพาตัวเอง และมองโลกในแง่ลบ)

แม่ก็จะเป็นคนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไร้ความสามารถ ขาดความมั่นใจในตัวเอง (พึ่งพาคนอื่น และมองโลกในแง่บวก) ไปโดยอัตโนมัติ

.

ในขณะที่ถ้าคู่ความสัมพันธ์ของเราวางตัวเองในตำแหน่ง พึ่งพาตัวเอง และมองโลกในแง่ลบ เราก็จะเผลอวางตัวเองในตำแหน่ง พึ่งพาคนอื่น และมองโลกในแง่บวก ไปโดยปริยายเช่นเดียวกัน

เช่น ถ้าหัวหน้าเป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีพลังล้นหลาม ทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง (พึ่งพาตัวเอง และมองโลกในแง่บวก)

เช่น ลูกน้องก็อาจจะตามไม่ทัน จนรู้สึกว่าสถานการณ์รอบตัวมันแย่ไปหมด แล้วก็คิดว่าโปรเจคต่าง ๆ ของหัวหน้ามันทำไม่ได้จริงอย่างที่คิด (พึ่งพาคนอื่น และมองโลกในแง่ลบ) ไปโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน

.

3) ปัญหาเรื่องคนเกิดจากการพยายาม ‘ดึงคนอื่นเข้าสู่ศูนย์กลางของเมทริกซ์ความสัมพันธ์’

กลไกการวางตัวเองในตำแหน่งตรงกันข้ามกับคนที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย เกิดขึ้นเพื่อถ่วงให้เกิด ความสมดุล ของความสัมพันธ์

เหมือนต่างฝ่ายต่างพยายาม ดึงอีกฝ่ายเข้าหา ‘จุดศูนย์กลาง’ ของเมทริกซ์

หลายครั้งการพยายามดึงอีกฝ่ายเข้ามาหาจุดศูนย์กลางดังกล่าว จึงกลายมาเป็นการไม่เข้าใจกัน

และเกิดเป็นปัญหาความสัมพันธ์เรื้อรัง

.

ดังนั้นถ้าอยากเข้าใจคนอื่น เราต้องเริ่มจากรู้ตัวเองก่อนว่า เรามักวางตัวในตำแหน่งตรงกันข้ามกับคนที่เรามีความสัมพันธ์ด้วยเสมอ และเราต้องลองหาสาเหตุว่า ทำไมอีกฝ่ายถึงวางตัวในตำแหน่งนั้น ๆ ของเมทริกซ์ความสัมพันธ์

.

4) ปมในอดีต ทำให้เรามีตำแหน่งเฉพาะบนเมทริกซ์ความสัมพันธ์

สาเหตุที่แต่ละคนมักมีตำแหน่งเฉพาะบนเมทริกซ์ความสัมพันธ์ อาจเกิดจากปมในอดีต

โดยเฉพาะการถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่

โดยส่วนใหญ่ ถ้าพ่อแม่เราวางตัวตรงตำแหน่งไหนบนเมทริกซ์ความสัมพันธ์กับเรา เราก็มักจะเผลอวางตัวในตำแหน่งตรงกันข้ามเสมอ ๆ

พอเราโตขึ้น เราก็จะติดตำแหน่งตรงนั้น และเมื่อเกิดความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่นเพื่อนร่วมงาน หรือคู่ชีวิต เราก็มักวางตัวในตำแหน่งเดิมที่คุ้นเคยต่อ โดยอาจไม่รู้ตัว

.

ดังนั้น วิธีแก้การมีปัญหาความสัมพันธ์กับคนอื่น ต้องเริ่มจากการเข้าใจปมหลัง และสาเหตุที่คู่ความสัมพันธ์ของเรา ว่าทำไมเขาถึงวางตัวบนตำแหน่งนั้น ๆ

การลองสอบถามเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวในอดีต รวมถึงความรู้สึกของคนที่เรามีความสัมพันธ์ด้วยจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสัมพันธ์ที่ดี

.

5) จงเต้นรำไปบนเมทริกซ์ความสัมพันธ์

สุดท้ายแล้ว ถ้าเราเข้าใจปมในอดีตและความรู้สึกของคนที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย เราก็จะรู้ว่า เราควร ‘เต้นรำ’ ไปกับคน ๆ นั้นบนเมทริกซ์ความสัมพันธ์ยังไง

หลักการคือ การรักษาสมดุลตำแหน่งของเรากับคู่สัมพันธ์ ให้มีระยะจากศูนย์กลางเมทริกซ์พอดี ๆ

ระวังอย่าให้ตัวเอง หรือคู่สัมพันธ์ถลึกลึกเข้าไปในแต่ละตำแหน่งมากจนเกินไป

ในระยะที่ห่างจากศูนย์กลางพอดี ๆ เราจะช่วยดึงข้อดีของคนที่อยู่ในแต่ละตำแหน่งบนเมทริกซ์ออกมาได้

และเป็นการป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายถลำลึกเข้าไปในตำแหน่งนั้น จนมีแต่ข้อเสียปรากฎออกมา

.

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นหัวหน้าและเราค้นพบว่าตัวเองเป็นพวก พึ่งพาตัวเองและมองโลกในแง่ดี

ในขณะที่ลูกน้องคนอื่น ๆ นั้น เป็นประเภท พึ่งพาคนอื่นและมองโลกในแง่ลบ

เราก็ควรลดความทะเยอทะยานของตัวเองลง (ลดไม่ให้ตัวเองถลำลึกในตำแหน่ง พึ่งพาตัวเองและมองโลกในแง่ดี มากเกินไป)

และคอยกระตุ้นให้ลูกน้องไม่มองโลกในแง่ร้ายเกินไป (ลดไม่ให้ลูกน้องถลำลึกในตำแหน่ง พึ่งพาคนอื่นและมองโลกในแง่ลบ มากเกินไป)

นอกจากนี้เราอาจนำจุดเด่นของคนประเภท พึ่งพาคนอื่น และมองโลกในแง่ลบ มาใช้ในการทำงานร่วมกับคนอื่นมากกว่าเดิม เช่น เราอาจฝึกมีอารมณ์ร่วมกับคนอื่น ๆ ให้มากขึ้น

วิธีนี้จะทำให้เราเข้าใจลูกน้องของเรามากขึ้น และช่วยให้การทำงานเป็นทีมราบรื่นขึ้นด้วย

.

สิ่งสำคัญคือ การที่เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ทุกตำแหน่งบนเมทริกซ์ความสัมพันธ์ ล้วนมีข้อดี และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำงานได้

นอกจากนี้ ข้อดีเหล่านี้ยังสามารถเป็นส่วนช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ดี ๆ กับคนรอบตัวเราในระยะยาวได้อีกด้วย

.

.

*สปอยตอนจบ*

สุดท้ายแล้ว ชายหนุ่มก็สามารถบรรลุ ‘วิชาคน’ ได้สำเร็จ

เขาส่งจดหมายกลับไปหาภรรยาของเขาที่ญี่ปุ่น เขาขอโทษที่บ้างานและมองไปข้างหน้ามากจนเกินไป (ชายหนุ่มเป็นประเภท ‘พึ่งพาตัวเอง และมองโลกในแง่บวก’)

ซึ่งทำให้ภรรยาของเขารู้สึกเหนื่อย และถูกละเลยความใส่ใจ

และจะให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์และชีวิตคู่ให้มากกว่าเดิม

เขาจะทำงานให้น้อยลง และตั้งใจเลี้ยงลูกที่กำลังจะเกิด

เหมือนกับการกลับไปแต่งงานใหม่อีกครั้งกับภรรยาคนเดิม

จบบริบูรณ์ !

.

แม้หนังสือเล่มนี้จะเขียนนานแล้ว แต่เรื่องของความสัมพันธ์กับคนก็ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย

ผมรู้สึกว่าหลาย ๆ ครั้ง ตัวเองก็ถูก ‘เต้นรำ’ ไปบนเมทริกซ์ความสัมพันธ์นี้แหละครับ

ซึ่งการพยายามเข้าใจฝ่ายตรงข้ามเป็นเรื่องยาก

แต่ถ้าเราเข้าใจตำแหน่งทั้ง 4 บนเมตริกซ์นี้และเอาข้อดีมาใช้อย่างเกิดประโยชน์ ผมว่ามันก็น่าจะช่วยให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมากขึ้น งานก็จะดีขึ้น ชีวิตของเราก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น และถูกเติมเต็มมากขึ้นครับ

.

จบกันไปแล้วกับซีรีย์หนังสือ คิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น ทั้ง 3 เล่ม จัดว่าเป็นซีรีย์ที่ผมชอบที่สุดเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่อ่านหนังสือแนวนี้มา

.

.

………………………………………………………………………….

ผู้เขียน: ฮอนดะ เคน

ผู้แปล: โยซุเกะ

จำนวนหน้า: 312 หน้า

สำนักพิมพ์ : WeLearn

เดือนปีที่พิมพ์: 2019

แนวหนังสือ : จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง

…………………………………………………………………………..

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

‪#‎หลังอ่าน‪#หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 ‎#คิดแบบยิวทำแบบญี่ปุ่น3



811 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page