รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด 2 .
. . .. ถ้าใครยังจำเล่มแรกกันได้ จะนึกออกว่าหนังสือชุดกล้าที่จะถูกเกลียด เป็นหนังสือที่นำหลักปรัชญา กึ่งจิตวิทยาการดำเนินชีวิตของ อัลเฟรด แอดเลอร์ นักจิตวิทยาชื่อดังชาวออสเตรีย มาย่อยให้เข้าใจง่าย และเน้นการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหนังสือใช้การดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาของสองตัวละครคือ ชายหนุ่ม และนักปรัชญา . ความตั้งใจของผู้เขียนก็คือการให้เราผู้อ่านจินตนาการตัวเองเป็นชายหนุ่ม และก็ค่อยๆเรียนรู้หลักปรัชญาของแอดเลอร์ผ่านการถกเถียงกับอาจารย์นักปรัชญาในแต่ละบท . . ... เล่มนี้ก็เป็นภาคต่อที่ใช้ตัวละครเดิมในการดำเนินเรื่อง โดยหนังสือได้เล่าถึงช่วง 3 ปีให้หลัง จากการเจอกันครั้งก่อนของชายหนุ่มและนักปรัชญา ในที่สุดชายหนุ่มก็เดินทางกลับมาหานักปรัชญาอีกครั้ง สำหรับฝั่งของนักปรัชญาแล้ว ทุกอย่างดูจะหยุดนิ่ง ไม่แปรเปลี่ยนไปตามระยะเวลากว่า 1,000 วันหลังพูดคุยกับชายหนุ่มเลย ในขณะที่ชีวิตของชายหนุ่มนั้นเปลี่ยนไปมาก เขาเปลี่ยนอาชีพ จากที่เคยเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดก็มุ่งหน้าไปสู่การเอาดีกับอาชีพ ‘ครู’ ผู้สอนหนังสือเด็กประถม ผู้ที่จะช่วยนำทางเด็กน้อยในโรงเรียนให้ไปสู่แสงสว่างในการดำเนินชีวิต และบัดนี้เขาก็เดินทางหมื่นลี้มาหานักปรัชญาอีกครั้งพร้อมกับปัญหา และความตั้งใจใหม่ .
. .. จากปัญหาที่พบเจอจากการเป็นครู ทำให้ชายหนุ่มมุ่งหวังที่จะกลับมาโค่นล้มหลักปรัชญาแบบแอดเลอร์ที่นักปรัชญาพร่ำสอนเผยแพร่อีกครั้ง เพราะเขาพบว่าการนำหลักปรัชญาเรื่อง ‘การไม่ให้รางวัล’ และ ‘การไม่ลงโทษ’ ทำไม่ได้จริงกับเด็กในชั้นเรียนที่เขาสอนอยู่ เขาจึงคิดว่าหลักปรัชญาของแอดเลอร์นั้นเป็นเพียงหลักทฤษฎีในโลกอุดมคติเท่านั้น ไม่เหมาะกับโลกความเป็นจริงที่มีแต่ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย การถกเถียงกับผู้เผยแพร้คำสอนของแอดเลอร์อย่างนักปรัชญาจึงเริ่มขึ้น .
. .. การเถียงกันครั้งใหม่นี้ นำไปสู่ประเด็นใหม่ๆในหนังสือมากมาย ตั้งแต่เรื่อง ‘การเคารพผู้อื่น’, ‘การสอนเพื่อให้คนอื่นพึ่งพาตัวเองได้’, ‘ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคม’ รวมไปถึง ‘ ความรักและการที่คนสองคนต้องทำสิ่งๆหนึ่งร่วมกันให้สำเร็จ’ ซึ่งผมคงไม่สามารถมาสรุปย่อเนื้อหาได้ทั้งหมด แต่จะพยายามเรียบเรียงเป็นข้อสรุปสั้นๆเป็น 8 ประเด็นสำคัญ ให้ลองอ่านกันดูนะครับ . .
. 1) การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นต้องเริ่มต้นด้วยการเคารพในแบบที่ผู้นั้นเป็น หรือคือ ‘การใส่ใจในสิ่งที่คนๆนั้นสนใจ’ ตัวอย่างเช่นในการสอนเด็กนั้น เราต้องเริ่มต้นจากการเคารพในสิ่งที่เด็กเป็น เข้าใจว่าตัวตนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน มองตัวเด็กจากมุมของเขา มีความรู้สึกร่วมไปกับเขา และเคารพเขา วิธีนี้จะทำให้ครูสามารถเข้าถึงตัวตนของเด็กได้ และทำให้เด็กยอมรับ ยอมเชื่อฟังครู .
.
2) ปัจจุบันเป็นสิ่งที่กำหนดอดีต อดีตจริงๆแล้วคือสิ่งที่ถูกเราปรุงแต่งขึ้นให้ตอบเป้าหมายของเราในปัจจุบัน อดีตจึง ‘ไม่มีตัวตน’ เป็นเพียงสิ่งสมมุติของเราเท่านั้น แนวคิดและการมองโลกของเราในปัจจุบันจึงเป็นตัวคอยกำหนดเรื่องราวในอดีตได้ เพราะฉะนั้นหลักปรัชญาของแอดเลอร์คือไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต สนใจเพียงแต่ว่า ‘จากนี้ไปจะทำอย่างไรต่อไป’ เท่านั้น
.
. 3) หลักในการสอนผู้อื่นของแอดเลอร์คือ การไม่ด่า และไม่ชม เพราะเมื่อมามองย้อนไปถึงพฤติกรรมในการก่อปัญหาของเด็กๆแล้ว เป้าหมายจริงที่พวกเด็กๆก่อปัญหาในชั้นเรียนคือ ‘ความต้องการมีที่ทางเป็นของตัวเองในสังคมที่ตัวเองเป็นสมาชิกอยู่’ การด่าเป็นเพียงแค่วิธีการอันรวดเร็วที่จะเข้าไปควบคุมเด็กเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการสอน คือการช่วยให้เด็ก ‘พึ่งพาตัวเองได้’ .
. 4) ส่วนการชมนั้นเป็นบ่อเกิดของการแข่งขัน และจะทำให้เด็กมองว่าตัวเองอยู่ในสนามแข่งตลอดเวลา มองคนอื่นเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรูที่ต้องเอาชนะ แต่ความเป็นจริงแล้วตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น มนุษย์วิวัฒนาการมาได้เนื่องจาก ‘การร่วมมือกันทำงาน’ หรือ ‘การแบ่งงานกันทำ’ การที่จะสอนเด็กในวิธีที่ถูกคือการให้เด็กร่วมมือกับคนอื่น และทำให้ห้องเรียนขับเคลื่อนในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ที่คนเรามองคนอื่นแบบเท่าเทียม และร่วมมือกันทำงาน ซึ่งจัดว่าเป็นหัวใจที่ทำให้องค์กรเคลื่อนที่ไปได้ .
.
. 5) ภารกิจของชีวิตมีทั้งด้านการงาน ด้านการเข้าสังคม และด้านความรัก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะตามหลักจิตวิทยาของแอดเลอร์นั้น ‘ความสุขทั้งหมดในชีวิตคนเรา ล้วนเกิดจากการที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น’ ในขณะเดียวกันนั้น ‘ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรานั้น ก็ล้วนเกิดมากจากความสัมพันธ์กับผู้อื่นเช่นเดียวกัน’ .
. 6) ภารกิจด้านการงาน กับด้านความสัมพันธ์แตกต่างกันที่ ‘ความเชื่อถือ’ หรือการเชื่อในสิ่งที่คนๆนั้นมี คนๆนั้นทำ และ ‘ความเชื่อใจ’ หรือการเชื่อในสิ่งที่คนๆนั้นเป็น ซึ่งความเชื่อใจนี้ก็ย้อนกลับไปที่การเริ่มต้นด้วย ‘ความเคารพ’ อีกทีนึง และสิ่งสำคัญคือเราต้องเป็นฝ่ายเริ่มเชื่อใจอีกฝ่ายก่อน หรือพูดง่ายๆคือ ‘ให้ใจ’ อีกฝ่ายไปก่อน ก่อนที่อีกฝ่ายจะเชื่อใจเรากลับมา .
. 7) การทำภารกิจชีวิตทั้ง 3 ด้านนั้น ด้านการงานจะทำให้เราเกิด ‘ความสุขกับตัวเอง’ เช่นเมื่อเราทำงานได้สำเร็จลุล่วง ในขณะที่การทำภารกิจทางสังคม จะทำให้เราเกิด ‘ความสุขของคนอื่น’ หรือ ‘ความสุขต่อส่วนรวม’ ตัวอย่างเช่นเวลาเราเชื่อใจและให้ใจผู่อื่นไปอย่างเต็มร้อย แต่สุดท้ายแล้วความสุขที่สำคัญที่สุดของมุนษย์คือ ‘ความสุขของเราสองคน’ หรือความสุขที่เกิดจากความรัก เป็นความสุขที่เกิดขึ้นเมื่อเราเปลี่ยนประธานในชีวิต จาก ‘ฉัน’, ‘ผม’ เป็น ‘พวกเรา’ หรือก็คือ ตัวเรากับคู่ชีวิตนั้นแหละ และ .
. 8) การเปลี่ยนประธานของชีวิตในที่นี้จะทำให้เราหลุดพ้นจาก ‘การทำตัวเป็นศูนย์กลางของจักรวาล’ เพราะเมื่อเรายังเด็กนั้น เราเป็นฝ่ายรับทุกอย่างที่พ่อแม่ประเคนให้ เราจึงยึดแต่ความสุขของตัวเอง เราเลือกไลฟ์สไตล์แบบเด็กๆ เพราะว่าต้องการเป็นที่รักของคนอื่น การมีความรักคือการที่เรารักคนอื่นก่อน ให้คนอื่น และไม่มองแค่ตัวเอง จึงเป็นวิธีเปลี่ยนไลฟ์สไตล์แบบเด็กๆ เป็นไลฟ์สไตล์ชีวิตที่พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นไลฟ์สไตล์ในแบบที่ ‘กล้าที่จะมีความสุข’ ครับ . . . ... โดยภาพรวมแล้ว ใครที่ชอบกล้าที่จะถูกเกลียดเล่มแรกมานั้น คงจะพลาดกล้าที่จะถูกเกลียดเล่มที่สองที่เป็นภาคต่อไม่ได้อยู่ละครับ เพราะบทสนทนาของชายหนุ่มกับนักปรัชญายังคงเข้มข้นอยู่เช่นเคย (อาจจะมากกว่าเดิมอีก) และปรัชญาของแอดเลอร์ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ บางประเด็นอาจจะน่าสนใจกว่าเล่มแรกด้วยซ้ำ หลายๆเรื่องก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราผู้อ่านอาจลองเอาไปปฏิบัติดูเองก็ยังได้ . ... แต่ก็ยังคงเป็นหนังสือที่ต้องใช้ความคิด และต้องใช้เวลาในการตกตะกอน เลยอยากให้นักอ่านทุกท่านๆค่อยๆอ่านไปนะครับ ได้ความเข้าใจ หรือมีความคิดเห็นยังไง อย่าลืมเอามาแลกเปลี่ยนกันนะครับ . . …………………………………………………………………………. ✍🏻ผู้เขียน : คิชิมิ อิชิโร, โคะกะ ฟุมิทะเกะ 🏠สำนักพิมพ์ : Welearn 📚แนวหนังสือ : จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง ………………………………………………………………………….. . .
📚สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่
. .
#หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #reviewหนังสือ #กล้าที่จะถูกเกลียด2 #Welearn #คิชิมิอิชิโร #โคะกะฟุมิทะเกะ #หนังสือจิตวิทยา #หนังสือพัฒนาตัวเอง
Kommentare