รีวิวหนังสือ ป่านนี้เขานั่งกินไอติมสบายใจเฉิบไปแล้ว
.
.
‘ถ้าเรายังรู้สึกแย่กับคนๆหนึ่งอยู่ ให้คิดว่าป่านนี้เขานั่งกินไอติมสบายใจเฉิบไปแล้ว’ แล้วดูว่าเราจะยังรู้สึกแย่อยู่เหมือนเดิมรึเปล่า
.
หนังสือ ป่านนี้เขานั่งกินไอติมสบายใจเฉิบไปแล้ว เป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่นที่มาแชร์เคล็ดลับดีๆในการหนีออกจากความรู้สึกแย่ๆที่เกิดจากคนอื่น โดยเฉพาะจากการใช้โซเชียล มีเดีย
.
ต้องบอกว่าประเทศที่ผู้คนต่างใช้ชีวิตกันอย่าเคร่งเครียดแบบญี่ปุ่น มักไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่จะพบเจอกับเรื่องแย่ๆ ที่กระทบความรู้สึกของพวกเขาในแต่ละวัน ตั้งแต่เรื่องในที่ทำงาน หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน จนมาถึงเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย วิชาการควบคุมความรู้สึก การขจัดความเครียด และการเอาตัวเองออกจากเรื่องแย่ๆที่เกิดขึ้นได้ จึงดูกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมาในสังคมญี่ปุ่น
.
หนังสือเล่มนี้ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ผู้เขียนนามปากกา Jam ก็เป็นคนหนึ่งที่บางครั้งก็รู้สึกต้องเผชิญกับความทุกข์จากการใช้โซเชียลมีเดีย และการท่องโลกออนไลน์ เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นบ่อยและอันตรายกว่าที่คิด แม้แต่เรื่องเล็กๆอย่างการตอบแชทช้า หรืออ่านแล้วไม่ตอบ ก็กลายมาเป็นเรื่องดราม่าชวนกลุ้มใจได้ เธอจึงลองหาเคล็ดลับที่จะเป็นเหมือนเครื่องป้องกันตัวเองไม่ให้ถลำลงไปในเรื่องแย่ๆที่เกิดขึ้น และรวบรวมออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้
.
เนื่องจากผู้เขียนชอบวาดภาพอยู่แล้ว และชอบการนำเสนอโดยการเล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูนน่ารักๆอย่างแมว ทำให้คนอ่านเห็นภาพเหตุการณ์ได้ชัดขึ้น และช่วยให้เรื่องเครียดๆหยักๆดูเบาลงไปพอควร ส่วนเทคนิคที่เธอนำมาแชร์นั้นก็เป็นเทคนิคสั้นๆง่ายๆ จบในตอน พร้อมสรุปใจความสำคัญจบในประโยคเดียว
.
โดยรวมแล้วดูเหมือนเป็นหนังสืออ่านเล่นกึ่งการ์ตูนที่แฝงข้อคิดดีๆไว้หลายอย่าง แต่ด้วยความที่เป็นการ์ตูนนี่แหละ ทำให้เนื้อหาดูเบา และอ่านได้อย่างเพลิน หนังสือไม่หนา อ่านไม่นานก็จบละครับ
.
ส่วนตัวผมคิดว่าหนังสือเหมาะมากกับคนที่ปวดหัวกับการใช้โซเชียล มีเดีย ปวดหัวกับเรื่องมาม่าทั้งหลาย โดยเฉพาะที่รู้สึกว่าไม่น่าจะต้องเป็นเรื่องเป็นราวอะไรเลย เล่มนี้อาจช่วยผ่อนคลายความรู้สึกเหล่านั้นได้ครับ
.
และตามธรรมเนียมเพจอีกเช่นเคยครับ ผมเลือก 5 ข้อที่ชอบที่สุดจากหนังสือมาฝากกัน
.
.
.
1) คิดซะว่า ป่านนี้เขาไปนั่งกินไอติมสบายใจเฉิบแล้ว
.
เวลาเราเจอคนที่ทำแย่ๆใส่เรา หลายๆครั้งนั้นคนที่ทำก็ลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าเขาทำอะไรไว้ เพราะตามหลักจิตวิทยานั้น คนเรามักจะจำเรื่องที่ตัวเองทำไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าทำเรื่องแย่ๆ แต่คนที่ถูกทำกลับจำเรื่องแบบนี้ได้ขึ้นใจ
.
แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าเราจะลืมไม่ลงยังไง อีกฝ่ายก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรเลน เราจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมานั่งนึกเรื่องของคนที่ทำแย่ๆกับเราทั้งตอนหลับและตอนตื่น
.
เทคนิคนึงที่ผู้เขียนแนะนำคือ ให้เราคิดซะว่า “ป่านนี้เขาไปนั่งกินไอติมสบายใจเฉิบแล้ว” และปล่อยมันไป ช่วยปลดล็อคตัวเองออกจากวังวนแห่งความรู้สึกแย่ๆ และช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งขึ้น
.
.
.
2) กลัวการตกข่าวให้น้อยลง
.
เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยมีอาการกลัวการตกข่าว ทำให้ต้องคอยเช็คนิวฟีดบนโซเชียลมีเดียอยู่เรื่อยๆ แต่ความจริงแล้วหลายๆเรื่องนั้น ไม่จำเป็นต้องรู้ “เดี๋ยวนี้” ก็ได้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร โดยเฉพาะพวกข้อมูลในแง่ลบที่อยู่ไกลตัว แล้วเรายังจัดการอะไรกับเรื่องพวกนั้นไม่ได้อยู่ดี
.
หนังสือแนะนำว่า ทางที่ดีคือเราควรเสพข่าวสารพวกนี้ให้น้อยลง เลือกเฉพาะเรื่องสำคัญๆที่เราต้องรู้จริงๆ โดยเฉพาะช่วงที่เรารู้สึกล้า ก็ยอมตกข่าวบ้างก็ได้ แล้วค่อยมาตามอ่านข่าวในช่วงที่รู้สึกสบายดีกว่า
.
.
3) คิดกับตัวเองว่า จะจ่ายค่าเช่าบ้านเพื่อให้กองขยะอยู่ในบ้านเหรอ
.
อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะคุมตัวเองไม่ให้นึกถึงเรื่องแย่ๆที่คนอื่นทำกับเราได้ ที่สำคัญเวลาคิดถึงเรื่องแย่ๆ เวลาก็มักจะผ่านไปอย่างเชื่องช้า ต่างจากช่วงเวลาแห่งความสุข คนเราจึงมักเสียเวลาไปกับเรื่องไร้ค่าอย่างสูญเปล่า พอคิดแล้วก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
.
วิธีหนึ่งที่จะทำให้เราช่วยควบคุมความคิดคือ “จะจ่ายค่าเช่าบ้านเพื่อให้กองขยะอยูในบ้านเหรอ” โดยเปรียบเรื่องแย่ๆ คนที่ทำกับเราแย่ๆเหมือนกองขยะที่มาอาศัยบ้านเราอยู่
.
จริงๆแล้วคำเตือนข้างต้นเป็นคำเตือนของคนทีไม่ค่อยทำความสะอาดบ้าน แต่ในใจของเราก็ไม่ต่างกัน เราควรจะเลือกเก็บแต่สิ่งดีๆไว้ในใจ อย่าปล่อยให้คนแย่ๆมาครอบครองพื้นที่ภายในใจเรา อย่าให้เราต้องไปจ่ายค่าเช่าบ้าให้เขามาอาศัยอยู่ฟรีๆ และทำให้บ้านโดยรวมดูสกปรกไปด้วย
.
ย้ำอีกครั้งสั้นๆนะครับว่า อย่าปบล่อยให้ขยะเข้ามากองในบ้านครับ หมั่นเก็บกวาดและกำจัดคนที่ทำตัวแย่ๆออกไปจากใจเราซะ
.
.
4) เราเลือกได้ว่าจะดูสิ่งที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิดบนโลกโซเชียลรึเปล่า
.
หลายๆครั้งที่เราท่องโลกโซเชียลแล้วพบโพสต์ประเภทที่ช่วยหงุดหงิด อารมณ์แบบพวกคนที่ชอบโอ้อวดหรือแสดงจุดยืนของตัวเอง ซึ่งเราคงคิดในใจว่า คนพวกนี้จะป่าวประกาศออกมาทำไมนะ ไม่เห็นจะต้องตั้งโพสต์เลย เรื่องนี้อาจจะเป็นโพสต์อารมณ์แบบ อวดว่างานยุ่ง อวดว่ามีความสุข หรือบ่นนู่นบนนี่อะไรก็แล้วแต่
.
แต่ความจริงแล้วถ้าคิดดีๆ คนพวกนั้นอาจไม่ได้อยากอวดอะไรหรอกครับ เขาแค่โพสต์ตามความพอใจของตัวเอง ซึ่งคนที่ตามอ่านอย่างเราก็มีสิทธิที่จะเลือกว่า จะ ‘อ่าน’ หรือ ‘ไม่อ่าน’ เราเลือกดูได้อย่างอิสระ ถ้าไม่ชอบก็ข้ามไป ปิด notification ของโพสต์คนนี้ โพสต์ประเภทนี้ แล้วเลือกดูเฉพาะโพสต์ที่เราอยากดูดีกว่าครับ
.
เราต้องไม่ลืมว่า คนแต่ละคนมีสิทธิโพสต์อะไรก็ได้ตามความพอใจ แต่เราเองก็มีสิทธิเลือกดูได้ตามความต้องการของเราเองเช่นกันครับ
.
.
5) ลองลบใบหน้าและชื่อของอีกฝ่าย ดูเฉพาะคำพูดและการกระทำ
.
เรื่องนั้นเป็นเทคนิคการแก้อคติครับ เพราะว่าคนเรามักมีอคติตามสิ่งที่เราคิดเห็น และเชื่อไปว่าทุกๆคนที่มีลักษณะแบบที่เราคิดจะต้องเป็นคนประเภทที่เราไม่ชอบไปซะทั้งหมด
.
พูดง่ายๆก็คือคนเราจะตัดสินใจจากความรู้สึกของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ วิธีหนึ่งในการป้องกันการเดอคติพวกนี้ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวก็คือ การลบหน้า ลบชื่อของอีกฝ่าย และทำเหมือนว่าอีกฝ่ายคือคนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จักกัน เราจะได้ดูที่คำพูดและการกระทำของเขาจริงๆ ไม่ใช่ดูจากอคติที่เกิดจากตัวเราเอง
.
วิธีนี้อาจช่วยให้เรามองเห็นอีกฟากหนึ่งของคนๆนั้น หรือด้านอื่นที่แตกต่างจากที่เราเคยคิดไว้ก็เป็นได้
.
.
.
.
.
………………………………………………………………………….
✍ผู้เขียน: Jam
✍ผู้แปล: กัลปพฤกษ์ คงศัต
🏬สำนักพิมพ์: Welearn
📚แนวหนังสือ: จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง
…………………………………………………………………………..
.
.
📚สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
.
.
#หลังอ่าน#รีวิวหนังสือ#หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #reviewหนังสือ#ป่านนี้เขานั่งกินไอติมสบายใจเฉิบไปแล้ว #Jam #กัลปพฤกษ์คงศัต #Welearnbook #สำนักพิมพ์Welearn#หนังสือจิตวิทยา #หนังสือพัฒนาตัวเอง
Comments