รีวิวหนังสือ คู่มือสีแห่งชีวิต: การใช้จิตวิทยาของสีเพื่อเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น The Little Book of Colour: How to Use the Psychology of Colour to Transform Your Life .
. .. ขอขอบคุณ สำนักพิมพ์ B2S ที่ส่งหนังสือดีๆมาให้อ่านนะครับ . .... หลังอ่านหนังสือจบแล้ว ผมรู้สึกได้เลยว่า หนังสือแนวจิตวิทยาเล่มนี้ ได้พาผมออกไปไกลจากคำว่า ‘สี’ ที่ผมเคยรู้จักอยู่มาก เพราะว่าตามความรู้สึกผม (และอาจรวมถึงคนทั่วๆไปอีกหลายคนนั้น) สีเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่มาช่วยสร้างสีสันให้เรื่องราวต่างๆในชีวิตมากขึ้น . ... แต่การค้นคว้าวิจัยของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ Karen Haller ได้ใช้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาพฤติกรรมว่า สีต่างๆรอบตัวเรานั้นล้วนแต่ เชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำ วัฒนธรรม รวมไปถึงอัตลักษณ์ตัวตนที่เราเป็น . ... Karen Haller ผู้เขียนหนังสือชาวออสซี่ จัดว่าเป็น specialist หายากคนหนึ่งในโลกก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่เธอสนใจมาตั้งแต่เด็กๆคือเรื่องเกี่ยวกับสี ทั้งๆที่พอโตขึ้นมาแล้ว เธอก็ไปทำงานในบริษัทไอที ซึ่งดูแล้วน่าจะห่างไกลจากเรื่องจิตวิทยาการใช้สีมาก แต่ด้วยความบังเอิญหรือโชคชะตาบางอย่าง Karen ก็ได้ถูกดูดกลืนกลับมาที่สิ่งที่เธอสนใจมากที่สุด คือเรื่อง ‘ความลึกลับของสี’ . .. Karen พยายามหาคำอธิบายด้วยการทำวิจัยชั่วชีวิตและพูดคุยกับผู้คนนับร้อยนับพันจากทั่วทุกมุมโลก ว่าสีคืออะไร เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ยังไง และจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตยังไงได้บ้าง และนั่นก้เป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ . ...บทแรกๆของหนังสือจะพาเราไปทำความรู้จักกันก่อนว่าสีที่แท้จริงคืออะไร และพาเราย้อนอดีตไปถึงอดีตกาลความเกี่ยวข้องกันระหว่างมนุษย์และสีต่างๆ ในหลากหลายวัฒนธรรม ซึ่งแน่นอนว่า สีแต่ละสีนั้น ‘ให้ความหมายที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม’ ทำให้เป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะเห็นคนในประเทศที่ต่างกันมีปฏิกริยาตอบสนองต่อสีๆหนึ่งต่างกัน หรือในอีกมุมหนึ่งคือ สีๆหนึ่งอาจถูกนำมาใช้ในประโยชน์ในลักษณะทีต่างกันในแต่ละประเทศ . ... ตัวอย่างเช่น สีแดง ในชาติตะวันตกจะหมายถึง ความปราถนาและราคะ เห็นได้ชัดจากของที่ขายในช่วงงานวันวาเลนไทน์ที่ใกล้เข้ามานี้ ในขณะที่ในประเทศจีน สีแดงมักถูกใช้ในความหมายของการมีอายุยืน ความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย และมีโชคดี โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีนที่มีการสวมใส่เสื้อผ้าสีนี้กันมาก ส่วนในประเทศอินเดีย สีแดงถูกกล่าวแทนความบริสุทธิ์และความรัก . .... จากประวัติศาสตร์ มุ่งมาสู่วิทยาศาสตร์ พอเราเริ่มรู้จักที่มาที่ไปของสีแล้ว หนังสือก็พาผู้อ่านมาทำความเข้าใจกับหลักจิตวิทยาของสี หรือการที่สีส่งผลต่อร่างกาย อารมณ์และสติปัญญาของเรา โดยที่การส่งผลนี้อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก (subconscious) และจิตไร้สำนึก (the unconscious) ทำให้คนเรามักไม่รู้สึกตัวต่อปฏิกริยาของสีเหล่านี้ . .... ตัวอย่างเช่น สีชมพูมีลักษณะทางจิตวิทยาสีในแง่บวกคือ การทะนุถนอม การดูแล และความรักจากใจที่เมตตา ในขณะที่ลักษณะทางจิตวิทยาในแง่ลบคือ ความอ่อนแอ และการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ . ... ส่วนสีส้มมีลักษณะจิตวิทยาสีในแง่บวก คือ ความสุข ความร่าเริง และการมองโลกในแง่ดี ในขณะที่จิตวิทยาในแง่ลบคือ ความเป็นเด็กและความเหลาะแหละ . ... จะเห็นได้ชัดเจนว่าสีแต่ละสีล้วนมีทั้งลักษณะทางแง่บวกและแง่ลบแตกต่างกันไป การนำสีแต่ละสีมาใช้จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน และควรระวังการใช้สีใดสีหนึ่งมากเกินไป เพราะสีนั้นอาจทำให้เกิดปฎิกริยาในแง่ลบ และอาจทำให้คนๆหนึ่งเกลียดสีนั้นไปเลยก็ได้ . ... โทนสีก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ เพราะสีเขียว ก็ไม่ได้มีแค่เขียวเดียว แต่แบ่งได้เป็น เขียวน้ำทะเล เขียวมะนาว เขียวมรกต เขียวใบไม้ เขียวมิ้นต์ เขียวหยก และเทอร์คอยส์ (turquoise) จะเห็นได้ด้วยซ้ำว่าบางโทนสีอย่าง เทอร์คอยส์ หรือ ไลแลค (Lilac) ในพจนานุกรมไทยยังไม่ได้ใส่ชื่อไว้ด้วยซ้ำ . ... นอกจากเรื่องลักษณะจิตวิทยาของแต่ละสีแล้ว อีกทฤษฎีที่ส่วนตัวผมคิดว่าน่าสนใจมาก คือเรื่องทฤษฎีความกลมกลืนของสี มันเป็นเรื่องน่าพิศวงมากที่เราเอาสีหนึ่งมาเรียงเข้ากับอีกสีหนึ่ง แล้วมันดูผสมกลมกลืนกันออกมา ในขณะที่เอาอีกสีหนึ่งมาใส่เข้าไปกับอีกสีกับดูน่าเกลียดและเละเทะ ลองนึกถึก เสื้อผ้าหรือรองเท้ากีฬาที่ designer จากแบรนด์ดังมักจะเลือกใช้สี 2-3 สีที่เข้ากัน พอเราเดินเข้าไปใน shop ก็จะเตะตาและรู้สึกว่าสินค้าชิ้นนั้นดูสวยกกว่าการที่มันมีเพียงสีเดียว . .... ทฤษฎีนี้แบ่งการจัดกลุ่มสีดังกล่าวออกเป็น 4 กลุ่มตามอารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แต่ละชุดสีแสดงออกมา เช่น ชุดสีฤดูใบไม้ผลิ แสดงถึงความร่าเริง ความอบอุ่น ความอ่อนโยน ในขณะที่ชุดสีฤดูใบไม้ร่วงแสดงถึงความนุ่มนวล ความเรียบง่าย และพลัง . . .... พอได้รู้จักทั้งความหมายเชิงจิตวิทยา สิ่งแรกที่ผู้เขียนแนะนำให้นักอ่านทุกคนควรทำ คือการสำรวจตัวเองก่อน ว่าตัวเองมีบุคคลิกภาพแบบไหน เพราะคนเรามักจะมีทั้งบุคลิกภาพหลัก และบุคลิกภาพรอง . ...โดยบุคลิกหลักคือสิ่งที่เป็นตัวเราจริงๆ ในขณะที่บุคลิกภาพรองคือ สิ่งที่เราอยากจะเป็น หรืออยากจะให้คนอื่นเห็น บุคลิกภาพเหล่านี้มักเชื่อมโยงกับสีต่างๆ เช่น ตัวผู้เขียนที่เป็นคนชื่นชอบสีส้ม เพราะมีความร่าเริง มีความมองโลกในแง่บวกอยู่ แต่พอทำงานไอที ก็อยากทำให้ตัวเองดูน่าเชื่อถือเลยนำบุคลิกรองออกมาแสดงผ่านการแต่งตัวด้วยโทนสีดำ . .... สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราควรจะเป็นตัวของตัวเอง แสดงบุคลิกใน ‘แบบที่ตัวเองเป็น’ ไม่ใช่ ‘แบบที่อยากเป็น’ หรือ ‘แบบที่อยากให้คนอื่นเห็น’ การเลือกใช้สีทั้งในการแต่งตัว การจัดบ้าน การจัดที่ทำงาน นับว่าเป็นการแสดงออกที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง . .... ส่วนที่เหลือของหนังสือก็คือการแนะนำ การเลือกใช้สีในการแต่งตัว การใช้สีในบ้าน ใช้สีในที่ทำงาน รวไมปถึงการใช้สีในการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่บนพื้นฐานของบุคลิกภาพของเรา หรือสิ่งที่เราเป็นอยู่ โดยสีที่เราเลือกใช้ในสิ่งต่างๆจะเป็นตัวเพิ่มพลัง และส่งถ่ายพลังเหล่านั้นออกไปในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน . ... พออ่านเล่มนี้จบผมก็นึกไปถึงเรื่อง ‘สีเสื้อมงคล’ ที่ควรใส่ในแต่ละวัน ที่มีการแชร์กันมากมายในช่วงปีที่ผ่านมานี้ หนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นส่วนต่อขยายจากสีเสื้อมงคลเหล่านั้น เป็นเหมือนคู่มือเล่มเล็กๆที่ช่วยแนะนำการเลือกใช้สีทั้งในการแต่งตัว การจัดที่ทำงานและการใช้ชีวิตต่างๆ พร้อมทั้งอธิบายในเชิงจิตวิทยาว่าทำไมเราควรเลือกใช้สีเหล่านี้ .
. .. ใครสนใจเรื่องสี หรือเป็นคนชอบเรื่องสีอยู่แล้วก็พลาดไม่ได้นะครับ . …………………………………………………………………………. ผู้เขียน: Karen Haller ผู้แปล: พัดชา สำนักพิมพ์ : B2S Publishing แนวหนังสือ : จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง ………………………………………………………………………….. . . . #หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #reviewหนังสือ #คู่มือสีแห่งชีวิต #การใช้จิตวิทยาของสีเพื่อเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น #TheLittleBookofColour #HowtoUsethePsychologyofColourtoTransformYourLife #B2SPublishing #สำนักพิมพ์B2S #KarenHaller #พัดชา #หนังสือจิตวิทยา #หนังสือพัฒนาตัวเอง
Comentários