top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด

Updated: Feb 7, 2022




รีวิวหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด . ….. ‘ความทุกข์ทั้งหมดบนโลกล้วยเกิดจาก ความสัมพันธ์’ ได้ยินหรือได้อ่านข้อความนี้ครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นใครจะน่าจะขมวดคิ้ว หรือเกิดความฉงนขึ้นในใจว่า มันช่างเป็นการกล่าวหาที่สุดโต่ง และดูจะไม่ใช่สิ่งที่นำมาอธิบายโลกความเป็นจริงได้ทั้งหมด แต่ถ้าคนเหล่านั้นได้มาอ่านหนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียดแล้ว ก็อาจจะพอทำความเข้าใจในแนวคิดแบบนี้ได้ เพราะจิตวิทยาแบบปัจเจกชน (Individual Psychology) ของ อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfed Adler) นั้นเชื่อในอิทธิพลของสังคมที่ส่งผลต่อความเป็นตัวเรา . …จริงๆผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว และนี่ยังเป็นหนังสือที่ผมแนะนำเพื่อนๆและคนรู้จักต่อเป็นเล่มแรกๆ เพราะตอนที่อ่านจบใหม่ๆ คือว้าวมาก โดยเฉพาะถ้าอ่านตอนที่กำลังเป็นทุกข์กับอะไรบางอย่างอยู่ หนังสือเล่มนี้จะช่วยพาให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจสภาพทางจิตใจ หรือช่วยหาสาเหตุของการเป็นทุกข์ในครั้งนั้นๆได้ พร้อมกับเสนอวิธีแก้ไขในแบบฉบับของอัลเฟรด แอดเลอร์ว่าเราควรจะใช้ชีวิตยังไงให้เป็นทุกข์ เราจะมีหลักในการดำเนินชีวิตยังไงให้ไม่ถูกยึดกับแผลในอดีต และเราจะอยู่บนโลกนี้ยังไงถ้าไม่ต้องไปยุ่มย่ามกับธุระของคนอื่นๆ . ….. สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างแรกๆเมื่อเปิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาคือ ลักษณะการดำเนินเรื่อง ที่ออกมาเป็นบทสนทนาของชายหนุ่มผู้เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ และได้ทำงานเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด กับอาจารย์เฒ่าผู้ซึ่งเห็นโลกมาเยอะ และยึดมั่นในหลักปรัชญาการดำเนินชีวิตแบบอัลเฟรด แอดเลอร์ ทั้งคู่ถกเถียงกันในแนวคิดเชิงปรัชญานี้ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ที่แตกต่างกันของทั้งคู่ การดำเนินเรื่องในลักษณะนี้มีข้อดีอย่างมากที่ทำให้หนังสืออ่านได้แบบไม่เบื่อ มันทำให้ผมจินตนาการไปว่าตัวเองเป็นเหมือนชายหนุ่มในหนังสือ ผู้เพิ่งจบจากรั้วมหาลัย และกำลังออกตามหาความจริงบนโลกใบนี้ด้วยแรงมุ่งมั่นศรัทธา และเมือ่ได้ไปพบกับอาจารย์ท่านนี้ก็เหมือนค่อยๆเรียนรู้การมองชีวิตผ่านคำพูดของอาจารย์ นี่อาจเป็นลักษณะของหนังสือที่ตำราเรียนทั้งหลายควรจะเอาอย่างก็ได้ . .

.

9 ทางลัดสู่ชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ‘ความกล้า’ จากหลักปรัชญาแบบแอดเลอร์

1) เข้าใจว่าอดีตไม่ได้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน

แม้เราอาจเคยได้ยินมาว่า อดีตเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน

แต่แอดเลอร์เชื่อว่า อดีตไม่ได้กำหนดทุกสิ่ง แผลใจไม่มีอยู่จริง ทั้งหมดอยู่ที่ว่า เราให้ความหมายอดีตยังไง

ตัวอย่างเช่น เด็กที่เคยมีแผลใจในอดีต โดยอาจมีพื้นเพมาจากครอบครัวที่มีการหย่าร้างกัน ไม่จำเป็นต้องเติบโตมาเป็นคนในแบบเดียวกัน เพราะพวกเขาให้ความหมายต่อประสบการณ์ในอดีตของตัวเองแตกต่างกัน

.

ดังนั้นแล้ว เป้าหมายของตัวเราในปัจจุบันต่างหากที่เป็นตัวกำหนดการกระทำและพฤติกรรมของเรา

.

2) เราล้วนใช้ชีวิตโดย ยึดเป้าหมายเป็นสำคัญ

แอดเลอร์เชื่อว่าใน ทุก ๆ การกระทำของเราจะมีเป้าหมายอะไรบางอย่างซ่อนอยู่เสมอ

เช่น เด็กที่กักตัวเองอยู่ในห้อง แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเพราะว่าเขามีแผลใจในอดีต เขาเพียงแต่มีเป้าหมายที่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ จึงเลือกการกักตัวในห้อง ซึ่งจะทำให้ตัวเองเป็นที่สนใจ

.

เมื่อพฤติกรรมของเรายึดโยงกับเป้าหมายในปัจจุบัน พฤติกรรมของเราจึงเปลี่ยนแปลงได้ เพียงเราเปลี่ยนเป้าหมาย

แอดเลอร์เชื่อว่า จริง ๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะกำหนดเป้าหมายแบบไหน

แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมอาจไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะเราต้องมี ‘ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง’ ที่มากพอ

หลายคนใช้ชีวิตโดยยึดติดอยู่กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ มานาน

ทำให้การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายในแต่ละวันทำได้ยาก

.

3) ความทุกข์ทั้งปวงล้วนเกิดจากการที่เรามีความสัมพันธ์กับคนอื่น

ลองจินตนาการถึงโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากคนอื่นก็อาจหายไป ความทุกข์ในใจเราก็อาจมีน้อยลงกว่าเดิมมากด้วย

เพราะส่วนใหญ่ ความทุกข์ในใจเรามักจะเกิดขึ้นจากความต้องการการยอมรับจากคนอื่น

เรามักใช้ชีวิตโดยกลัวที่จะถูกคนอื่นเกลียด

.

การมีความทุกข์ลักษณะนี้มักจำมาซึ่งการเปรียบเทียบ และทำให้เราเกิดความรู้สึกต้อยต่ำในใจ

เช่น เราอาจเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมห้อง แล้วรู้สึกว่าเรามีสถานะทางสังคมที่แย่กว่าเพื่อน ๆ

หรือเราอาจเปรียบเทียบกับเพื่อนมหาลัยที่จบไปพร้อมกัน แล้วรู้สึกว่าเรามีอาชีพการงานที่แย่กว่า

ส่วนใหญ่แล้ว การเปรียบเทียบเหล่านี้มักนำมาซึ่ง การใช้ชีวิตในแบบที่ขาดอิสรภาพ

.

4) ระวังไม่ให้ความรู้สึกต่ำต้อยกลายเป็นปมด้อย

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเคยมีความรู้สึกต่ำต้อย เมื่อเราต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น เราจึงมักแสวงหาความเหนือกว่าอยู่เสมอ

แอดเลอร์เชื่อว่า การแสวงหาความเหนือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันจะทำให้เราเกิดความพยายามในการพัฒนาตัวเองให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

เพียงแต่ว่าเราต้องระวังไม่ให้ตัวเองเอาความรู้สึกต้อยต่ำในตัวมาใช้ในเชิงลบ

และอาจทำให้ตัวเราบ่ายเบี่ยงจากการพยายามพัฒนาตัวเอง เป็นการมี ‘ปมด้อย’ ในใจแทน

โดยเรามักนำปมด้อยเหล่านี้มาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเรียกร้องความใจจากคนอื่น

และถ้าปมด้อยดังกล่าวถูกนำมาใช้ข้ออ้างบ่อย ๆ เข้า มันก็อาจจะถูกพัฒนาขึ้นอีกขึ้นกลายเป็น ‘ปมเด่น’

.

การมีปมเด่นคือ การวางอำนาจให้ตัวเองดูเหนือกว่าคนอื่น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกถึงความเหนือกว่าที่แสวงหา และทำให้คนอื่นยอมรับในตัวเรา

เช่น ในที่ทำงาน หลายคนที่มีปมเด่นอาจอวดอ้างตัวเองว่าเป็นคนใหญ่คนโต หรืออาจใช้ของแบรนด์เนมเพื่อให้ตัวเองเป็นจุดสนใจ

.

ดังนั้นเราต้องใช้ชีวิตโดยตระหนักถึงความรู้สึกต่ำต้อยในตัวเอง และป้องกันไม่ให้มันพัฒนาเป็นปมเด่น จนสร้างพฤติกรรมการวางอำนาจเหนือคนอื่น

.

5) แสวงหาความเหนือกว่าตนเอง

วิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เราใช้ความรู้สึกต่ำต้อยในทางที่ผิดคือ การเปลี่ยนมุมมองจากการแสวงหาความเหนือกว่าคนอื่น เป็นการ แสวงหาความเหนือกว่าตนเอง

เราต้องลองปรับทัศนคติใหม่ โดยมองว่าทุกคนเท่าเทียมกันอยู่บนผืนทราย

เราก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อไปให้ไกลขึ้นกว่าจุดที่ตัวเองยืนอยู่ในปัจจุบัน

เราไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับใคร ไม่จำเป็นต้องสนใจว่าใครจะเดินไปได้ไกลแค่ไหน

.

แอดเลอร์แนะนำว่า เราต้องมอง การแข่งขันในชีวิตเป็นการแข่งกับตัวเอง และเลิกคิดว่าโลกใบนี้เป็นสนามแข่งขัน

เราต้องเชื่อว่าโลกใบนี้เป็นสถานที่ที่ทุกคนเป็นมิตรกัน และพร้อมมอบแต่สิ่งดี ๆ ให้แก่กัน

.

6) สร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม

เมื่อเราไม่ต้องแข่งขันกันเพื่อความเหนือกว่า เราก็คงสามารถสร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกับคนอื่นขึ้นมาได้

มีหลักการ 3 ข้อที่ช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ได้แก่

1. ยอมรับตัวเอง

การยอมรับตัวเอง หมายถึงการยอมรับว่าสิ่งใดที่เราทำได้ และทำไม่ได้

ทั้งนี้จะยอมรับตัวเองได้นั้น เราต้องตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองก่อน

ส่วนใหญ่แล้ว การจะตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองได้ ต้องเริ่มจากการรู้สึกว่าตัวเอง มีประโยชน์ต่อใครสักคน

ซึ่งในความเป็นจริงนั้น เราทุกคนล้วนมีประโยชน์ต่อใครสักคนอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไรก็ตาม

นอกจากนี้ถ้าเรามีเป้าหมายในการทำให้คนรอบข้างมีความสุขอยู่เสมอ ก็นับว่าเราได้ทำประโยชน์ให้กับคนรอบตัวเราแล้ว

.

2. เชื่อใจคนอื่น

การเชื่อใจคนอื่น คือการที่เราเชื่อมั่นในศักยภาพของคนอื่น

เราต้องเชื่อว่าแม้บางคนอาจจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไร้ความสามารถ

เพียงแต่ว่า เขาไม่มีความกล้าพอที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา

การเชื่อใจคนอื่นจะทำให้เราเต็มใจที่จะช่วยเหลือคนอื่นจากใจจริง

.

3. ช่วยเหลือคนอื่น

วิธีช่วยคนอื่น คือการไม่ให้รางวัล หรือลงโทษ แต่เราต้อง ปลุกความกล้าของคน ๆ นั้น

โดยอาจเริ่มจากการให้เขาได้มองเห็นคุณค่าในตัวเอง และเริ่มเกิดการยอมรับในตัวเอง

เมื่อนั้นเขาจะกล้ามีชีวิตที่เป็นตัวเองมากขึ้น

.

การที่เราได้ช่วยให้คนอื่นรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเอง ยังเป็นวิธีเติมเต็มเป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ของเราอีกด้วย

.

7) ขจัดอุปสรรคในการเติมเต็มเป้าหมายชีวิตทั้ง 2 ด้าน

คนเรามีเป้าหมายในชีวิตอยู่ 2 ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม และด้านจิตใจ

1. เป้าหมายด้านพฤติกรรม

เราทุกคนล้วนอยาก พึ่งพาตนเองได้ และ ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ดี

2. เป้าหมายด้านจิตใจ

เราทุกคนล้วนอยาก รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ และ รู้สึกว่าคนรอบข้างเป็นมิตร

.

แม้ทุกคนล้วนอยากทำตามเป้าหมายชีวิตทั้ง 2 ด้านได้ แต่หลายคนมักต้องพบเจอกับอุปสรรคขัดขวาง

โดยเฉพาะอุปสรรคเรื่อง ความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับจากผู้อื่น

ซึ่งทำให้เราไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง เกิดข้อกังขาในความสามารถของตัวเอง และรู้สึกถึงความไม่เป็นมิตรของคนรอบข้าง

.

วิธีแก้ปัญหาจึงเริ่มจากการตระหนักว่า เราใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องทำตามความคาดหวังของใคร เพียงแค่ทำตามความคาดหวังของตัวเราเองเป็นพอ

และเราเองก็ไม่ควร ไปคาดหวังว่าคนอื่นจะใช้ชีวิตในแบบที่เราคาดหวังเช่นกัน

.

8) จงแยกยะธุระของแต่ละคนออกจากกัน และไม่เข้าไปก้าวก่ายธุระของคนอื่น

การจะเลิกคาดหวังในตัวคนอื่นได้ ต้องเริ่มจากการแยกธุระของแต่ละคนออกจากกัน

ทุกคนจะมีธุระเป็นของตัวเอง และเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจของตัวเอง

เราในฐานะคนนอก ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายธุระของคนอื่น ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม

.

เช่น ในกรณีที่เด็กคนหนึ่งไม่ยอมเข้าห้องเรียนหนังสือและทำตัวเกเร ไร้สาระไปวัน ๆ

สุดท้ายเด็กคนนั้นก็จะเจอผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระทำของตัวเอง ซึ่งก็คือการสอบตกและเรียนไม่ทันเพื่อน

ทั้งนี้การสอบตก และเรียนไม่ทันเพื่อนก็ล้วนเป็นธุระของตัวเด็กเอง

ถ้าเราเป็นพ่อแม่ของเด็กคนนี้ เราก็ควรแยกแยะธุระเรื่องนี้ และไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายธุระของลูก

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือการปลุกความกล้าให้ลูกเผชิญปัญหาด้วยตัวเองเพียงเท่านั้น

.

การใช้ชีวิตในแบบที่ไม่เข้าไปก้าวก่ายธุระของคนอื่นนั้น ช่วยให้ชีวิตของเราเรียบง่ายขึ้น

เมื่อเราไม่ต้องไปแบกภาระของใคร เราจะใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างมีอิสรภาพมากขึ้น

.

9) จงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง จงกล้าที่จะถูกเกลียด

สุดท้ายแล้ว กุญแจสำคัญสู่การใช้ชีวิตที่เป็นอิสระคือ ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

เราต้องสร้างความเชื่อมั่นกับตัวเองว่า คนเราเปลี่ยนแปลงกันได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความกล้า

ความกล้าที่ว่านี้ หมายถึงความกล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ความกล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

และความกล้าที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเอง แม้อาจถูกคนอื่นเกลียดก็ตาม

.

ถ้าทุกคนได้ใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตัวต้องการโดยไม่กลัวโดนคนอื่นเกลียด ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการมีความสัมพันธ์กับคนอื่นก็คงค่อย ๆ หายไป

ดังนั้น จงกล้าที่จะถูกเกลียด และเริ่มใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการตั้งแต่วันนี้ . . . …………………………………………………………………………. ผู้เขียน Ichiro Kishimi (อิชิโร คิชิมิ), Fumitake Koga (ฟุมิทะเกะ โคะกะ) ผู้แปล โยซุเกะ, นิพดา เขียวอุไร สำนักพิมพ์ : Welearn แนวหนังสือ : พัฒนาตัวเอง, จิตวิทยา ………………………………………………………………………….. . .

สั่งซื้อหนังสือได้ที่




501 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page