สรุป และรีวิว The Intelligence Trap: กับดักคนฉลาด
Why Smart People Make Dumb Mistakes
ทำไมคนฉลาดถึงชอบทำพลาดแบบโง่ๆ
.
ขอขอบคุณหนังสือจากสำนักพิมพ์ Cactus จาก B2S อีกครั้งนะครับ
.
.
สรุปหนังสือ
.
.
‘สวัสดีคนฉลาด คุณเคยทำพลาดบ้างหรือเปล่า?’
.
ผมหยิบ quote สั้นๆข้างต้นมาจากหน้าปกหนังสือ เพราะรู้สึกว่าเป็น quote ที่สามารถใช้แทนเนื้อหาหนังสือได้เกือบทั้งเล่ม
.
หนังสือกับดักคนฉลาด (the intelligence trap) เขียนขึ้นโดย David Robson นักเขียนผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ด้านจิตวิทยา และ neuroscience เป็นหนังสือที่รวบรวมงานวิจัยทางจิตวิทยาอันน่าสนใจมากมาย มาเรียบเรียงและบอกเล่าถึงความผิดพลาดของคนที่ดูเหมือนจะ ‘ฉลาดกว่าคนทั่วไป’
.
หนังสือเล่าเรื่องตั้งแต่ว่าความฉลาดวัดกันยังไง ทำไมกลุ่มเด็ก IQ สูงถึงถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเด็กฉลาดในสมัยก่อน แต่ว่าทำไมงานวิจัยต่างๆมากมายถึงพบหลักฐานว่าเด็กพวกนี้มักประสบความสำเร็จเท่าๆกัน (หรืออาจน้อยกว่า) คนที่ฉลาดระดับทั่วๆไป นอกจากนี้กลุ่มเด็กฉลาดเหล่านี้ยังเติบโตขึ้นไปและทำข้อผิดพลาดต่างๆมากมายอีกด้วย
.
หนังสือให้คำอธิบายน่าสนใจมากมาย ว่าทำไมคนฉลาดถึงชอบติดกับความฉลาดของตัวเอง
- เพราะอคติ?
- เพราะความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป?
- เพราะ fixed mindset?
- เพราะความอวดดี?
- เพราะอีโก้?
- เพราะการไม่ฟังคนอื่น?
- เพราะการยึดติดกับคำว่าผู้เชี่ยวชาญ?
และยังมีข้อสำคัญอื่นๆอีกมากมาย
.
.
หนังสือเต็มไปด้วยงานวิจัยทางจิตวิทยาที่น่าสนใจ และเต็มไปด้วยเรื่องราวแปลกๆมากมายที่ไม่คนอ่านทั่วๆไปคงไม่เคยอ่านเจอมาก่อน บางเรื่องก็เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาเป็นหลายสิบ หลายร้อยปีแล้ว แต่เรายังสามารถใช้หลักการทางจิตวิทยามาอธิบายเหตุการณ์เหล่านั้นได้
. ยังไงผมคงไม่สามารถหยิบเรื่องในหนังสือมาเล่าได้ทั้งหมด เพราะเรื่องราวในแต่ละบทเยอะมาก มีรายละเอียดเยอะ และต้องอธิบายยาว แต่จะขอสรุปใจความสั้นๆของหนังสือแต่ละบทไว้เป็นการแนะนำหนังสือคร่าวๆนะครับ ถ้าใครสนใจอย่าลืมไปซื้อมาอ่านกันต่อ
.
หนังสือแบ่งเป็น 4 ตอนหลักๆ และมีบทย่อยทั้งหมด 10 บท โดยใน 4 ส่วนหลักมีการสื่อสาร message ที่ชัดเจน
.
.
ส่วนที่ 1: ความฉลาดคืออะไร? คือ IQ รึเปล่า? และความฉลาดดังกล่าวอาจนำมาซึ่งผลเสียอะไรได้บ้าง
.
หนังสือเริ่มด้วยคอนเซ๊ปต์ของคำว่าฉลาดกันก่อน ความฉลาดคืออะไร และถูกวัดออกมาได้ยังไงบ้าง
.
หนังสือเล่าถึงการวัดความฉลาดของเทอร์แมน และกลุ่มเด็กที่ฉลาดเป็นพิเศษที่ถูกเรียกว่าเทอร์ไมท์ โดยต้องเรียกว่าความฉลาดแบบเทอร์แมนเป็นการคิดแบบสุดโต่ง คือเชื่อว่าความฉลาดเป็น ‘พลังดิบของสมอง’ ที่มีติดตัวมาแต่เกิด
.
เขาจึงมักแยกเด็กที่มี IQ สูง ออกจากเด็กที่มี IQ ต่ำ ลองจินตนาการดูว่าเขาอาจแยกถึงขั้นว่าให้เรียงแถวการนั่งเรียนตามลำดับ IQ
.
ความฉลาดแบบเทอร์แมนนี้เป็นเกณฑ์ที่ทำให้เกิดการคิดค้นข้อสอบะวก SAT และ GRE ที่ใช้วัดการสอบเข้ามหาลัยของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการสอบเข้าไปเรียนใน graduate school (ป.โท, ป.เอก)
.
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ หลังจากมีการติดตามผลชีวิตของเด็กที่มี IQ สูงของเทอร์แมนไปเป็นเวลาหลายสิบปี ผู้วิจัยก็ได้สรุปว่าเด็กฉลาดเหล่านี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากกว่าเด็กที่ฉลาดระดับทั่วๆไป หรือต่ำกว่าเกณฑ์เลย แนวคิดความฉลาดด้วยพลังสมองดิบของเทอร์แมนจึงค่อยๆเสื่อมถอยลง
.
.
นักวิจัยคนอื่นๆได้พยายามอธิบายความฉลาดของมนุษย์ โดยมีการค้นพบว่าคนรุ่นใหม่มีความฉลาดกว่าคนรุ่นก่อน และมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
.
นักวิจัยอย่างสเติร์นเบิร์ก ได้ลองใช้การวัดความฉลาดแบบอื่นนอกเหนือจาก IQ ได้แก่ ‘การวิเคราะห์’ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘การปฏิบัติ’ เพื่อค้นหาปัจจัยที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดความฉลาดในแบบที่จะช่วยพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้
.
แน่นอนว่า ยังมีการวิจัยถึงเรื่อง ‘ความฉลาดทางวัฒนธรรม’ ซึ่งจะแตกต่างไปตามบริบทสังคมที่เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมา
.
แต่โดยรวมแล้วบทสรุปที่หนังสืออย่างจะบอกก็คือ ‘ความฉลาดกับความสำเร็จห่างไกลจากคำว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างสัมบูรณ์’
.
.
ในบทย่อยต่อมา หนังสือได้ยกตัวอย่างโคนัน ดอยส์นักเขียนชื่อดังของโลกที่มีความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้และพลังไสยศาสตร์ทั้งๆที่ดูเป็นคนฉลาดแต่งนิยายสืบสวนได้มีเหตุมีผลมาก
.
คำอธิบายของเรื่องนี้อาจต้องไปสู่ การใช้ระบบที่ 1 และระบบที่ 2 ในการคิดเร็วและคิดช้า ซึ่งในกรณีของ โคนัน ดอยส์ เขาอาจใช้ระบบ 2 มากเกินไป จนกลายเป็นว่าเขาใช้ระบบ 2 ในการสนับสนุนความเชื่อผิดๆของตัวเอง และยืนยันในเรื่องไสยศาสตร์ที่ตัวเองเชื่อ
.
นี่จึงกลายมาเป็นตัวอย่างของ ‘ความบกพร่องทางการให้เหตุผล’ ในแบบที่เรียกว่า ‘การให้เหตุผลแบบมีแรงจูงใจ’ และ ‘จุดบอดอคติ’ ซึ่งมีงานวิจัยทางจิตวิทยาที่สนับสนุนแนวคิดนี้โดยใช้ความเอนเอียงด้านการเมือง มาตัดสินสิ่งที่ตัวเองให้เหตุผล
.
ดังนั้นเราต้องระวังการให้ดุลพินิจตามสัญชาตญาณแบบมีอคติในการตัดสินใจ และการใช้ความฉลาดปฏิเสธหลักฐานที่ขัดแย้งกับตัวเองเพราะมีการให้เหตุผลแบบมีแรงจูงใจ
.
นอกจากนี้แล้วหนังสือยังเล่าไปถึงกรณีความผิดพลาดของ FBI ในการตรวจสอบลายนิ้วมือและจับกุมคนร้ายผิดคน เพราะว่ามั่นใจในดุลพินิจของตัวเองมากเกินไป รวมไปถึงการใช้พฤติกรรมแบบยึดติดโดยอัตโนมัติ ซึ่งล้วนเกิดจากการที่ FBI ยึดมั่นในความเป็นผู้เชี่ยวชาญของตัวเองมากจนเกินไป
.
นอกจากนี้แล้วยังน่าสนใจที่คนเราสามารถส่งต่ออคติที่มีต่อกันได้ เวลาเราต้องพิจารณาในกรณีสำคัญๆ เช่นในกรณีสืบหาตัวคนร้ายของ FBI มันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องตัดสินใจจากข้อมูลที่มีตรงหน้า โยนหมวกความเชี่ยวชาญของเราออกไปก่อน และระวังการส่งต่ออคติจากคนอื่นๆ
.
.
หนังสือปิดบทสวยๆว่า ถ้าเปรียบสมองของเราเป็นรถยนต์ ความฉลาดก็เป็นเหมือนเครื่องยนต์ของเรา การศึกษาและความเชี่ยวชาญก็เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้เราเคลื่อนไปข้างหน้าได้ แต่การเพิ่มพลังการเร่งให้มากขึ้นไม่ได้การันตีว่าเราจะขับรถได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะถ้าเราเรายังมีความบกพร่องทางการให้เหตุผลและอคติต่างๆอยู่ สุดท้ายเราก็อาจเคลื่อนรถเป็นวงกลม หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือตกเหวได้
.
.
ส่วนที่ 2: หนีจากกับดักความฉลาด ชุดเครื่องมือสำหรับใช้เหตุผลในการตัดสินใจ
.
หลังจากที่เราเข้าใจถึงกับดักของความบกพร่องทางการให้เหตุผลแล้ว ในส่วนนี้หนังสือก็เล่าถึงเครื่องมือที่จะช่วยให้เราหนีออกจากกับดักเหล่านั้นเวลาต้องเจอการคิดพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
.
ผู้เขียนนำเสนอ กลวิธีการใช้ ‘หลักฐานเชิงประจักษ์’ มาเป็นกรอบคิดเมื่อเราต้องตัดสินใจ พร้อมกันนั้นผู้เขียนยังระบุถึงวิธี ‘การถ่อมตัวทางสติปัญญา’ และ ‘การคิดแบบเปิดใจ’ ที่จะช่วยให้เราตีความสถานการณ์ได้อย่างยืดหยุ่น และไปยึดติดอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งมากจนเกินไป
.
การลองพิจารณาจากมุมที่แตกต่าง หรือมองจากมุมของบุคคลที่ 3 ก็เป็นตัวช่วยชั้นดีให้เราเปิดใจคิดในแบบไม่ยึดติด และไม่พยายามใช้เหตุผลมายืนยันสิ่งเดิมที่เราเชื่ออยู่แล้ว
.
.
นอกจากนี้แล้ว อาจเป็นเรื่องที่แปลกที่หนังสือเล่าไปถึง ‘การใช้สัญชาตญาณ’ หรือ ‘การรับรู้ถึงอารมณ์’ ของตัวเอง ซึ่งในบางครั้งร่างกายของเราอาจส่งสัญญาณบางอย่างออกมา เช่น ‘การเจ็บจี้ดๆที่แขน’ เมื่อเจอเข้ากับความรู้สึกบางอย่าง หนังสือเรียกความสามารถแบบนี้ว่า ‘การคิดแบบไตร่ตรอง (reflective thinking)’ มันคือการพยายามทำความเข้าใจสัญชาตญาณ ความรู้สึก และความคิดภายในร่างกายของเรา การรับรู้ตัวกระตุ้นต่างๆ รวมถึงการจำแนกแยกแยะและรู้จักควบคุม ซึ่งอาจช่วยให้เราหลุดออกจากคำสาบของการเป็นผู้เชี่ยวชาญได้
.
ลองจินตนาการถึงการรับรู้เรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งโดยที่เรารับรู้ในภาษาแม่ของเรา และภาษาที่ 2 มีงานวิจัยที่ระบุชัดเจนว่าเราจะใช้เหตุผลและคิดวิเคราะห์แบบตรงไปตรงมาได้มากกว่าเมื่อเราได้ยินเรื่องนั้นๆเป็นภาษาที่ 2
.
เรื่องนี้ผมเห็นด้วยว่า ความรู้สึกอิน ทั้งเวลาพูดและฟังภาษาอังกฤษไม่ได้มีเท่ากับภาษาไทย ซึ่งก็เป็นตัวช่วยที่ทำให้ควบคุมความคิดและความรู้สึกที่จะประมวลผลและวิเคราะห์สถานการณ์หนึ่งๆได้ดีขึ้น
.
.
อีกเรื่องที่เรามักพบเจอ คือการตีความข้อมูลตามลักษณะแบบ ‘ความน่าจะจริง’ คือการตีความหาความจริงที่มาจากสัญชาตญาณ โดยอาศัย ‘ความคุ้นเคย’ และ ‘ความราบรื่น’ ของความรู้สึกตัวเองต่อข้อมูลนั้นๆ
.
เช่นเมื่อเราเจอประโยคว่า ‘โมเสสเอาสัตว์ชนิดละกี่ตัวไปบนเรือใหญ่?’ เราอาจคิดว่าสัตว์ชนิดละ 1 ตัวเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ความจริงแล้ว คำตอบคือศูนย์ เพราะโมเสสไม่ใชคนเอาสัตว์ขึ้นเรือ แต่เป็นโนอาห์ต่างหาก แต่เรามักอ่านข้อความผ่านๆ และใช้ความคุ้นเคยว่า อ๋อ ก็เป็นชายแก่คนหนึ่งในตำนานความเชื่อของศาสนาคริสต์เท่านั้น
.
วิธีแก้คือ เราต้องรู้จัก ‘การไตร่ตรองความคิด’ โดยพยายามแยกกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมากกว่าสิ่งที่โดนควบคุมโดยอารมณ์ตัวเอง เราต้องไตร่ตรองสัญชาตญาณเหล่านี้ดีๆ และลองค่อยๆไล่สเต็บคิดไปทีละขั้น ตั้งแต่ใครเป็นคนกล่าวอ้างข้อมูลนี้? มีหลักฐานอะไรมายืนยันข้อกล่าวอ้าง? เราต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีกรึเปล่า?
.
.
ส่วนที่ 3: ภูมิปัญญาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ กับการพัฒนาความจำ
.
ในส่วนนี้หนังสือยังเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้และเติบโตของเด็กคนหนึ่ง ว่าจะทำยังไงถึงจะเกิดการพัฒนาความจำที่เป็นเลิศและป้องกันการใช้เหตุผลแบบมีอคติ
.
สิ่งสำคัญอย่างมาก ที่ชาร์ล ดาร์วินสอนเราก็คือ การอ้าแขนรับ ‘ความสนุกที่แท้จริง’ ในการ ‘แสวงหาความรู้โดยปราศจากอคติ’ ซึ่งจะนำเราไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้เรื่องที่เราสนใจอย่างแท้จริง
.
มีอยู่ 2 ปัจจัยที่สำคัญมากในการนำมาซึ่งความสนุกที่แท้จริง นั่นก็คือ
1) ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ ความกระตือรือร้นในการค้นหาสิ่งที่เราสนใจ
2) ‘Growth mindset’ หรือการมีกรอบความคิดแบบเติบโต การที่คิดอยู่เสมอๆว่าเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ ไม่ยึดติดอยู่กับความสามารถที่มี ณ ปัจจุบัน ไม่ยึดติดอยู่กับความล้มเหลวเมื่อประสบพบเจอ แต่รู้จักเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น ถ้าเรามี Fixed mindset หรือกรอบความคิดแบบตายตัว แล้วคิดว่าเราเก่งแล้ว หรือเราไม่มีวันเก่งกว่านี้ได้แล้ว เราก็ไม่คิดจะเปิดรับตัวเองต่อการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
.
2 เรื่องข้างต้นนี้มีส่วนสำคัญมากในการป้องกันการใช้เหตุผลด้านเดียว
.
.
นอกจากนี้แล้วผู้เขียนยังเล่า วิธีการเรียนของเด็กในโรงเรียนญี่ปุ่นและชาติตะวันออก ให้รู้จัก ‘การดิ้นรน’ และ ‘การกินรสขม’ เช่นการถูกพามาไว้หน้าห้องเพื่อพยายามแก้โจทย์ปัญหาที่ตัวเองทำไม่ได้จนกว่าจะทำได้
.
วิธีแบบนี้เหมือนเป็นการต่อสู้กับความทุกข์ยากลำบากที่นำไปสู่ความสำเร็จ สิ่งที่น่าสนใจคือ พอมีการวัดความฉลาดระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออก ดูเหมือนว่าเด็กญี่ปุ่นและเด็กจากชาติตะวันออกจะทำได้ดีกว่ามาก
.
นักวิจัยที่ถูกกล่าวถึงในเล่มจึงวิเคราะห์ออกมาเป็น 3 ขั้นตอนของการสอนที่ดี
1) การดิ้นรนให้ได้ผล – บังคับให้นักเรียนต่อสู้ทำความเข้าใจแนวคิดที่สับสน
2) การเชื่อมโยง - กระตุ้นให้นักเรียนเชื่อมโยงกับแนวคิดอื่นๆ และเปรียบเทียบกับแนวคิดที่มีความแตกต่าง เพื่อให้ความสับสนนำไปสู่สิ่งที่มีประโยชน์
3) การฝึกอย่างตั้งใจ – ฝึกทำโจทย์ปัญหาอื่นๆที่หลากหลายและท้าทาย
.
.
หนังสือสรุปบทนี้ด้วยเคล็ดลับการฝึกสมองให้เรียนรู้ได้ดี ตั้งแต่การก้าวออกจาก comfort zone, แบ่งช่วงการเรียนรู้, ระวังการเรียนรู้ที่ราบรื่นเกินไป และอื่นๆที่สำคัญอีกมากมาย
.
.
ส่วนที่ 4. ความเขลาและภูมิปัญญาแบบกลุ่ม
.
แน่นอนว่าเรื่องน่าสนใจคือ จะเป็นยังไงในเรื่องผลของความฉลาดต่อกลุ่มคน องค์กร หรือการทำงานเป็นทีม
.
หนังสือเล่าเรื่องที่น่าสนใจไว้หลายเรื่องใน 2 บทสุดท้าย แต่มีสองประเด็นหลักที่ผมอยากจะนำมาแชร์ คือ
.
1. ทีมที่ประกอบไปด้วยคนที่มีพรสวรรค์มากกว่าปกติ มักจะทำผลงานได้แย่กว่าทีมที่ประกอบด้วยคนมีพรสวรรค์แต่พอดี
.
จากงานวิจัยของทีมกีฬาทั้งในการเล่นฟุตบอลและบาสเกตบอล ประสิทธิภาพสูงสุดของทีมคือ การที่มีนักกีฬาพรสวรรค์สูงประมาณ 50-60% ของทีม
.
ถ้ามากไปกว่านี้ อาจจะเกิดการเล่นไม่เข้าขากัน เพราะการไม่ฟังกัน และการที่แต่ละคนยึดติดกับความเชี่ยวชาญของตัวเองมากเกินไป กำให้ผลลัพธ์ในองค์รวมถดถอยลงได้
.
2. ลำดับขั้นของคนในกลุ่ม
.
จะเห็นว่าในบางองค์กรหรือบางทีมมีการจัดลำดับขั้นไว้อย่างชัดเจน หนังสือเล่าว่าวิธีจัดลำดับขั้นที่สูงเกินไปอาจจัดว่าเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดหายนะได้ เพราะ คนที่อยู่ในสถานะสูงกว่า จะไม่ฟังความคิดเห็นของคนด้านล่าง
.
เหมือนในกรณีทีมปีนเขาเอวเอร์เรสต์ที่ต้องลงเอยด้วยการจบชีวิตของนักปีนเขาหลายคน เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่ฟังคำเตือนจากคนที่พวกเขาจัดว่าอยู่ต่ำกว่าตัวเอง
.
.
.
รีวิวหนังสือ
.
โดยรวมแล้ว เล่มนี้ไม่ใช่หนังสือ howto ที่จะมาบอกวิธีในการพัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งขึ้น แต่จะสะกิดแรงๆกับ ‘คนที่ชอบคิดว่าตัวเองฉลาด’ และชอบหลงลำพองไปกับความฉลาดของตัวเองให้ลองทบทวนความฉลาดดังกล่าวอีกที แล้วพิจารณาว่าตัวเองมีจุดอ่อนจุดไหนที่ยังสามารถปรับปรุงได้อีกบ้าง
.
หนังสือแสดงให้เห็นว่า คนดังมากมายในอดีต ไม่ว่าจะเป็น โทมัส อัลวา เอดิสัน อัลเบิร์ต ไอสไตน์ หรือ สตีฟ จ๊อบก็ล้วนติดกับดักความฉลาดของตัวเอง จนทำให้ชีวิตตัวเองต้องสะดุดมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราเองก็มีโอกาสที่จะพบกับกับดักเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว การหมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอๆจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
.
แต่อีกอย่างที่ผมอยากเล่าก่อนจะปิดการรีวิวคือ หนังสือเล่มนี้เองก็เขียนขึ้นจากมุมมองของตัวนักเขียนเองเช่นกัน หลายๆเรื่องอาจตีความได้เป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ความผิดพลาดจากการติดกับดักความฉลาด ผู้อ่านจึงต้องอ่านแต่ละเรื่องราว และแต่ละบุคคลที่หนังสือยกมาอย่างละเอียดเพื่อการตีความที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ผู้อ่านเข้าใจ
.
เล่มนีก็เป็นอีกเล่มที่เป็นเหมือนหนังสือกึ่งวิชาการ มีการใช้ตัวอย่างงานวิจัยทางวิชาการเยอะมาก (พร้อม reference แนบหลังหนังสืออีกเกือบ 100 หน้า) หนังสือจึงเหมาะกับคนอ่านที่สนใจทำความเข้าใจจิตวิทยาเชิงลึกเกี่ยวกับความฉลาดและสติปัญญา
.
คนที่เป็นสาย howto เน้นเคล็ดลับเพิ่มศักยภาพของตัวเองคงต้องข้ามไป
.
และเป็นอีกเล่มที่ใช้ตัวอย่างที่ไกลตัว และมีความเป็นบริบทของสังคมอเมริกาค่อนข้างมาก ถ้านักอ่านที่ไม่ได้อินกับเรื่องราวประวัติศาสตร์และภูมิหลังของประเทศอเมริกาก็อาจจะไม่อินเท่าไหร่
.
แต่หนังสือถือว่าอ่านเพลิน เมื่อเทียบกับความหนาของหนังสือเกือบ 300 หน้า และเนื้อหาเข้มข้นมากสำหรับเรื่องความฉลาดและสติปัญญาของมนุษย์เรา ยังไงใครสนใจแนวนี้อย่าลืมไปซื้อมาอ่านกันนะครับ
.
อีกเรื่องที่อยากกล่าวชมสำนักพิมพ์ Cactus และ B2S คือเรื่องปกหนังสือที่ทำอออกมาได้สวยมาก การเลือกสีและเลือกลาย พอเปิดเทียบกับต้นฉบับแล้ว ฉบับแปลในบ้านเราน่าอ่านกว่ามากครับ : )
.
.
สุดท้ายนี้ อย่าลืมเข้ามารีวิวหนังสือกันบนแพลตฟอร์ม B2S Club เยอะๆนครับ มีรางวัลมูลค่ากว่า 5,000 บาทรออยู่!!
ถึงวัน พฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคมนี้เท่านั้น!! . สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ https://bit.ly/2S0nkD1 . เข้าไปรีวิวหนังสือได้ที่ https://bit.ly/3ce8hMU . สั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://www.b2s.co.th/9786164992085.html
.
.
.
................................................................................................................................................
ผู้เขียน: David Robson
ผู้แปล: ไอริสา ชั้นศิริ
สำนักพิมพ์: Cactus Publishing
จำนวนหน้า: 376 หน้า
แนวหนังสือ: จิตวิทยา
เดือนปีที่พิมพ์: เมษายน 2564
ISBN: 9786164992085
................................................................................................................................................
.
.
#หลังอ่านxB2S #หลังอ่าน #B2S #รีวิวหนังสือ #TheIntelligenceTrap #กับดักคนฉลาด #DavidRobson
#CactusPublishing #หนังสือจิตวิทยา
Comments